สมศรีสูญเสียแม่ของเธอไปเมื่อราว ๔ เดือนที่ผ่านมา แม่ของเธอป่วยด้วยโรคมะเร็ง ความทุกข์ทรมานจากโรคภัยทำให้เธอรู้สึกทุกข์ร้อนกับแม่ของเธอมาก หลังจากแม่ของเธอจากไป สิ่งที่ตกค้างในจิตใจของเธอคือ คำตัดสินที่เธอเฝ้าตำหนิตัวเองว่า เธอดูแลแม่ได้ไม่ดี ทำให้แม่ของเธอทุกข์ทรมาน เธอน่าจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ เธอน่าจะเลือกทำสิ่งนั้นมากกว่าสิ่งนี้ พร้อมกับความรู้สึกที่มีในใจคือ ความรู้สึกผิด โกรธ เสียใจ ที่ลอยกรุ่นตามมาปั่นป่วนในจิตใจของเธอ พร้อมกับความรู้สึกผิดหวังในตนเองที่ทำไมจึงปล่อยวางไม่ได้ ทำไมเป็นแบบนี้ และผลที่ตามมาคือ เธอรู้สึกเบื่อ ท้อแท้ ไม่มีพลังในการดำเนินชีวิต
หนูน้อยธาราอายุราว ๒ ขวบได้รับของขวัญเป็นตุ๊กตาม้าทำด้วยผ้า ตอนที่ได้ของขวัญ หนูน้อยก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่เมื่อแม่ของเธอสาธิตวิธีเล่น หนูน้อยก็เริ่มสนุก พยายามไขว้คว้ามาเล่นบ้าง และไม่นานหากมีใครมาแตะต้องตุ๊กตาของเธอ หนูน้อยก็แสดงอาการหวงของขึ้นมาทันที
เรื่องราวของสมศรีและหนูน้อยธาราเป็นเรื่องราวสากลที่เกิดขึ้นกับทุกคน เราต่างเรียนรู้ที่จะยึดถือ เป็นเจ้าข้าวเจ้าของในสิ่งใดก็ตามที่เราถือว่า “มันคือของฉัน” เริ่มต้นจากง่ายที่สุดคือ สำนึกการยึดถือในความเป็นเจ้าของ ซึ่งเรามีมาตั้งแต่เราเป็นเด็กเล็กๆ นี่คือพ่อแม่ของฉัน นั่นคือของเล่นของฉัน กระทั่งเราเติบโตขึ้น การยึดถือเป็นเจ้าของก็เริ่มขยายใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น จากรูปธรรมมาเป็นนามธรรม นี่คือตำแหน่งของฉัน นี่คืออำนาจหน้าที่ของฉัน และการต้องสูญเสียสิ่งที่ยึดถือก็เป็นเรื่องราวแสนเจ็บปวด และทุกข์ทรมาน
จุดเริ่มของการยึดถือ เริ่มที่จิตใจของเรานั่นเอง เรามีความรู้สึกนึกคิด มุมมอง อคติที่เกิดขึ้นในจิตใจ สังเกตได้ง่ายๆ คือ การมีคำตัดสินกับตัวเอง คนรอบตัว และสิ่งรอบตัว และเราก็ยึดถือคำตัดสินจนกลายมาเป็นตัวเรา เป็นของเรา “ฉันเป็นคนดี” “เธอเลว” เรากับคำตัดสินกลายเป็นสิ่งเดียวกัน จนกลายเป็นว่าทั้งตัวเราและคำตัดสินต่างตกเป็นเจ้าของควบคุมกันและกัน และการยึดถือนี้ก็ทำให้เราต้องปกป้อง ต้องสู้ตายเพื่อรักษาไว้ เพื่อครอบครองเอาไว้ให้ได้ อย่าได้สูญเสียมัน
เกิดอะไรขึ้นเมื่อเรายึดถือความเป็นตัวเรา ความเป็นของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความไม่เป็นอิสระ ภาวะการยึดมั่นถือมั่นทำให้เราต้องกลายเป็นทาสของสิ่งนั้น กระแสชีวิตถูกกัดกร่อน ถูกทำร้ายจากความทุกข์ อันเนื่องจากความผิดหวัง โกรธ เสียใจเมื่อต้องสูญเสียสิ่งที่ยึดถือเป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันเราก็ถูกหลอกล่อกับความสุข ความพอใจ เมื่อได้ครอบครองสิ่งที่ยึดถือ สิ่งที่อยาก แรงผลัก แรงดึงดูด รวมไปถึงความสุข ความทุกข์ จากการได้ครอบครองและจากการสูญเสีย ก็ทำให้ความรู้สึกทั้งบวกและลบกลายเป็นตัวควบคุมชีวิตให้ต้องดิ้นรนกับเกมชีวิตนี้
หลายคนอึดอัดคับข้องใจกับความรู้สึกโดยเฉพาะความรู้สึกเชิงลบ หลายคนอาจรู้ตัวหรืออาจไม่รู้ตัวกับภาวะที่เรายึดถือคำตัดสิน มุมมอง อคติที่มีอยู่ในจิตใจ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวความรู้สึก ตัวความคิด ความเชื่อที่เรามีอยู่ แต่อยู่ที่ปฏิกิริยาที่เรามีต่อสิ่งเหล่านี้ ทั้งความยินดีและความยินร้าย รวมไปถึงการยึดถือเป็นเจ้าของ และที่สำคัญเรามักไม่รู้ตัวกับปฏิกิริยาเหล่านี้จนกว่าจะมองเห็นมัน และเมื่อเรามองเห็นปฏิริยาเหล่านี้แล้ว เราก็อาจพบว่าบางเรื่องราวเราสามารถหยุดยั้งปฏิกิริยาให้ไม่ลุกลามต่อไป แต่ในบางเรื่องราวเราตกเป็นทาสปฎิกิริยา เราได้แต่เฝ้าอดทนกับความทุกข์เจ็บปวดนี้
เมื่อเราโตขึ้น การยึดมั่นก็เริ่มขยายใหญ่มากขึ้น จากรูปธรรมมาสู่นามธรรม “นี่คือตำแหน่งของฉัน นี่คืออำนาจหน้าที่ของฉัน” และการต้องสูญเสียมันไปก็แสนเจ็บปวดทรมาน
หนทางของการปล่อยวางจึงอยู่ที่ตัวเรา ในกรณีที่เราหยุดยั้งปฏิกิริยาความยึดมั่นได้ ก็คือการมีความสามารถปล่อยวาง แต่กรณีปล่อยวางไม่ได้ นั่นหมายถึงการต้องทำงานกับเพื่อนคนนี้ เพื่อนที่ชื่อ “ความรู้สึกนึกคิด” ดังต่อไปนี้
เศร้า โกรธ หดหู่ แค้น ร่าเริง แช่มชื่น ฟุ้งซ่าน ฯลฯ การรู้จักชื่อของเพื่อนเหล่านี้ย่อมหมายถึงความสามารถในการสังเกต
เพื่อนเหล่านี้กำลังบอกข่าวสารข้อมูลอะไร เพื่อนเหล่านี้เลือกที่จะปรากฎตัวในรูปลักษณ์ใดก็ตาม หมายถึงเพื่อนคนนี้มีข้อมูลสำคัญที่จะสื่อสารกับตัวเรา นั่นคือความต้องการที่ซ้อนเร้นอยู่ ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และหากเราสามารถค้นหารหัสลับของคำตอบที่ปรากฎในรูปความรู้สึกนี้ได้ ก็จะช่วยเราไปสู่ขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนนี้คือการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ความจริงที่ว่าเรามีความต้องการบางอย่างที่ต้องการการดูแล และความจริงที่ว่าเราไม่สามารถตอบสนอง ไม่สามารถดูแลความต้องการที่ปรารถนานั้นได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ หลายคนไม่สามารถยอมรับ ก็จะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้ แต่ในเมื่อไม่ได้ ภาวะค้างคาจึงเป็นสภาพที่เกิดขึ้น ไม่สามารถไปต่อได้ในขั้นตอนสุดท้ายคือ
คือขั้นตอนที่เราเลือกปล่อยวางด้วยการยอมรับและไว้อาลัยกับสิ่งที่พลาดหวัง กับสิ่งที่สูญเสีย การไว้อาลัยจึงเป็นเสมือนการให้เกียรติ เป็นการมองเห็นคุณค่าของความต้องการที่พลาดหวังนั้น เหมือนกับการไว้อาลัยเพื่อนรักที่จากไป
ชีวิตเราทุกคนหนีไม่พ้นทั้งการยึดถือและการปล่อยวาง เปรียบเหมือนเท้าทั้งสองที่เคลื่อนไหวก็ต้องสลับไปมาระหว่างการยึดอยู่กับที่ กับการเคลื่อนที่ไป หลายชีวิตก้าวต่อไปไม่ได้เพราะเลือกยึดติด
จะก้าวต่อไป ดำเนินชีวิตต่อไป การปล่อยวางจึงเป็นทางเลือกสำคัญในชีวิตเราที่ต้องเรียนรู้