ในเส้นทาง: เราใช้อำนาจอย่างไร

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 1 พฤศจิกายน 2015

“สตรีผู้ถือตะเกียง” หมายถึง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล  เธอมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกและปฏิวัติงานการพยาบาล เธอสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากภัยสงครามขณะนั้น ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราการตายสูงมากจากการติดเชื้อ และขาดการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น  ผลงานและความสำเร็จของเธอมิใช่ได้มาโดยโชคช่วย หรือด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว จากฝ่ายแพทย์ หรือจากใคร แต่มาจากความปรารถนา การอุทิศตัว ทุ่มเท  และที่สำคัญเธอสร้างผลงานจากการทำงานในฐานะผู้ประกอบการ ที่อาศัยทักษะการสื่อสาร การประสานงาน วิชาการ ข้อมูลสถิติ และการใช้อำนาจที่มีอยู่ในตัวอย่างสร้างสรรค์

ในยุคสมัยของเธอ ความเป็นสตรีสูงศักดิ์มิได้ทำให้เธอมีอิสระในทางเลือกนัก  เธอต้องถกเถียงทำงานความคิดหว่านล้อม เพื่อให้ครอบครัวเห็นชอบการเลือกตัดสินใจที่จะทำงานด้านการพยาบาล ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นงานที่ไม่น่าชื่นชมหรือยกย่องนัก  แต่ความเป็นตัวของตัวเอง และการมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความสำคัญและความจำเป็นของงานการพยาบาล ทำให้เธอเลือกที่จะเรียนรู้ เข้าฝึกอบรม รวมถึงการฝึกหัดงานภาคสนามเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่งานการพยาบาล

โชคไม่ได้ช่วยเธอ แต่เป็นเธอที่เรียนรู้และใช้โอกาสที่เข้ามาให้เป็นประโยชน์  ในภาวะสงครามสมัยนั้น ทหารจำนวนมากบาดเจ็บและล้มตายไม่ใช่เพราะสงคราม แต่ตายเพราะไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงปัญหาด้านการขาดสุขอนามัยในสถานรักษาพยาบาล และการแพร่ระบาดของโรคระบาด สภาพดังกล่าวทำให้อัตราการตายพุ่งสูง  ไนติงเกลเข้ามามีบทบาทสำคัญเริ่มจากการทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ดูแลสถานพยาบาลให้เป็นที่น่าอยู่น่าอาศัย ด้วยการสร้างห้องอ่านหนังสือ ห้องสันทนาการ มีกิจกรรมสังคม มีการเยี่ยมเยียนพูดคุยปลอบขวัญจิตใจด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

และที่สำคัญ ไนติงเกลนำเอาการบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดมาประกอบเพื่อบันทึกข้อมูลสำคัญ เช่น สาเหตุการเจ็บป่วย การตาย ปัจจัยที่กระทบสุขภาพ ทำให้งานการพยาบาลมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีข้อมูลสถิติสนับสนุนการตัดสินใจและวางทิศทางระบบงาน  ดังนั้นแท้จริงแล้ว อาวุธของเธอจึงไม่ใช่ตะเกียงตามภาพลักษณ์ที่สื่อสาร แต่คือ เอกสารรวบรวมข้อมูล รวบรวมสถิติด้านสุขอนามัย ไนติงเกลเชื่อว่า วิชาสถิติคือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเข้าถึงพระประสงค์ของพระเจ้า

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “สตรีผู้ถือตะเกียง”

ไนติงเกลเป็นสตรีในครอบครัวที่มีฐานะดี ขณะที่ค่านิยมกรอบทางสังคมซึ่งกำหนดเส้นทางชีวิตของผู้หญิงสมัยนั้นคือ การแต่งงานมีครอบครัว เป็นแม่และภรรยา ส่วนการมีอาชีพการงานเป็นไปได้เท่าที่สังคมจะเอื้ออำนวย  แต่ความปรารถนาและความรักในอาชีพการงาน ทำให้เธอเลือกกำหนดเส้นทางชีวิตเอง เลือกที่จะไม่แต่งงานเพื่อสามารถอุทิศตัวทำงานได้อย่างเต็มที่

ไนติงเกลใช้สิ่งเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ในตัวเธอ คือ การอุทิศตัว การมีความรักในอาชีพการงาน ในวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่นตั้งใจและสติปัญญา  ทั้งหมดนี้คือ “อำนาจภายใน” ช่วยขับเคลื่อนจนงานด้านการพยาบาลมีบทบาทสำคัญในวงการการแพทย์  อำนาจภายในนี้แท้จริงมีอยู่ในตัวเราทุกคน และอำนาจเหล่านี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจนเรื่องราวของเธอกลายเป็นตำนานด้านการพยาบาล  ปราศจากอำนาจภายใน โลกนี้ก็อาจไม่ปรากฏชื่อของฟลอเรนส์ ไนติงเกล

เธอใช้อำนาจที่มีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำประโยชน์แก่สังคม

ยุคสมัยที่สังคมชายเป็นใหญ่ ค่านิยมทางสังคม แรงกดดันของครอบครัวเป็น “อำนาจเหนือ” ที่มุ่งบังคับ กดดัน สั่งการเพื่อให้อีกฝ่ายต้องยอมทำตาม ปฏิบัติตามโดยใช้อำนาจบังคับด้วยความกลัว ด้วยการลงโทษ  ดังนั้น การมีส่วนร่วม ความเสมอภาค การรับฟัง การเปิดใจรับรู้ เรียนรู้ รวมถึงการตรวจสอบ จึงเป็นสิ่งที่อำนาจเหนือไม่ต้องการ

และการที่ใครสักคนต้องยอมทำตาม ปฏิบัติตามในสิ่งที่อำนาจเหนือต้องการ ก็หมายถึงภาวะ “ไร้อำนาจ” ของอีกฝ่ายซึ่งคือ “อำนาจล่าง” เป็นภาวะที่อีกฝ่ายยอมยกอำนาจในตนให้กับฝ่ายอำนาจเหนือ  สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีเพียงการเชื่อฟัง การกดดันบังคับ และความหวาดกลัว

ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายอำนาจเหนือกับอำนาจล่าง แม้ภายนอกจะดูสงบ แต่ไม่ได้เป็นความสงบแท้จริงแต่อย่างใด  ภายใต้พื้นผิวที่ดูสงบ เต็มไปด้วยแรงกดดัน ความเครียด ความคับแค้น และคับข้องใจ ที่รอโอกาสปะทุ  ผู้มีอำนาจมักชื่นชอบการมีอำนาจเหนือ เพราะเหมือนตนมีความสามารถในการควบคุม บริหารจัดการ  แต่แรงกดดันที่ซ่อนอยู่ ในที่สุดก็จะระเบิดปะทุจนแตกหักรุนแรงจากความกลัวที่กลายเป็นความโกรธ และเกลียดในที่สุด

ภาพวาดฟลอเรนซ์ ไนติงเกล โดย Augustus Leopold Egg

สตรีผู้ถือตะเกียง ผู้นี้ เลือกใช้อำนาจภายในจนกลายเป็นตัวอย่างบุคคลสำคัญ ที่สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้กับวงการพยาบาลและสังคมโลก  ขณะที่หน่วยงานรัฐ ผู้บริหารประเทศ โครงสร้างสังคมส่วนบน เป็นผู้มีอำนาจเหนืออยู่ในมือ แต่อาจไม่มีอำนาจแท้จริงในตน คือ อำนาจภายใน  เพราะความเปราะบางในสติปัญญาจนมีแต่การพึ่งพิงอำนาจที่ระบบหรือสิ่งภายนอก  ที่สำคัญเมื่อใครมีอำนาจเหนือในตัวมาก ภาวะที่มักเกิดขึ้นคือ ความหลงตัวและยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่การถูกทำลายในที่สุด

อำนาจ คือ ความสามารถในการเคลื่อนย้ายทรัพยากร  เราทุกคนต่างมีอำนาจภายในตนเอง เรามีสติปัญญา มีความเมตตากรุณา และเราเรียนรู้ได้ รวมถึงความมีคุณค่า คุณธรรมในตนเอง  สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจภายใน ที่เราสามารถใช้นำทางชีวิตทำสิ่งถูกต้องดีงามให้กับตนเองและสังคมรอบตัว

อย่าหลงโง่ไปกับอำนาจเหนือที่จะลากจูงไปสู่หายนะ  แต่ใช้อำนาจภายในนำพาตัวเรา นำพาอำนาจเหนือหากว่าเรามี เพื่อนำทางไปสู่สิ่งสร้างสรรค์ ก็จะก่อคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่กับตนเองและสังคมรอบตัวได้  ทั้งหมดจึงอยู่ที่ “เราใช้อำนาจอย่างไร”


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน