นิทานเซนเรื่องหนึ่ง เล่าเรื่องราวบทสนทนาฉากหนึ่งของอาจารย์กับศิษย์คู่หนึ่ง ที่มีอาชีพเป็นนักแสดงกายกรรมผาดโผน พวกเขาออกแสดงตามตลาด รายได้ของพวกเขามาจากเศษเงินที่ผู้ชมหยิบยื่นให้ด้วยความพอใจภายหลังรับชมการแสดง พวกเขาทำงานด้วยกันและหารายได้พอกับการเลี้ยงชีพ แต่ในวันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจเลือกการแสดงกายกรรมที่มีความเสี่ยงอันตราย ท่ามกลางความกดดันของการแสดงคราวนี้ พวกเขาพยายามดำรงสติและตั้งใจประกอบอาชีพของตนให้ดี
“การแสดงคราวนี้เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ขอให้เจ้าจงระมัดระวังภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นให้แก่อาจารย์ อาจารย์เองก็จะระมัดระวังภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเจ้า เมื่อเราทั้งสองต่างระมัดระวังภัยอันตรายให้แก่กันและกันเช่นนี้ ภัยอันตรายก็จะไม่เกิดขึ้น เราทั้งสองก็จะสามารถประกอบอาชีพทำการแสดงได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี”
“ในระหว่างการแสดงขอให้อาจารย์ดำรงสติ ดูแลรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายที่อาจพึงเกิดขึ้นกับตนด้วยตนเอง ส่วนข้าพเจ้าในฐานะศิษย์ก็จะดูแลรักษาตนเอง ระมัดระวังภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าด้วยตนเอง เมื่อเราทั้งสองต่างดูแลรักษาตนเอง ก็เท่ากับได้ดูแลรักษาผู้อื่นไปพร้อมกัน เช่นนี้แล้วพวกเราทั้งสองก็จะสามารถประกอบอาชีพให้สำเร็จลุล่วงตามที่ปรารถนา ขออาจารย์ได้โปรดทำตามข้อแนะนำของข้าพเจ้าเถิด”
ในที่สุดด้วยคำแนะนำของศิษย์ ทั้งสองก็สามารถประกอบการแสดงกายกรรมสำเร็จลุล่วง ได้รับค่าตอบแทนสมกับเรื่ยวแรงและความตั้งใจแต่แรกเริ่ม
เราทุกคนต่างล้วนมีความรัก ความเมตตา และความปรารถนาที่ดีให้กับคนอื่น เพียงแต่คนส่วนใหญ่มักหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ในรูปของการมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงคนอื่น เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดี ประสบความสำเร็จ คู่รักปรารถนาให้อีกฝ่ายมีสุขภาพดี มีความสุข ฯลฯ คำพูดที่แสดงออกและคนส่วนใหญ่คุ้นเคยก็คือ “เธอน่าจะ คุณควรจะ เธอต้อง” เหมือนกับความปรารถนาดีตามข้อเสนอของอาจารย์ในนิทานเซน
อย่างไรกีดี การสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงที่แท้ไม่ได้มาจากความปรารถนา หรือความคาดหวังที่ใครคนหนึ่งมีต่ออีกคนหนึ่ง จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากตนเองก่อน และสิ่งดีที่สุดที่เราพึงให้กับผู้อื่นนั้น แท้จริงก็คือ คุณภาพการเติบโต คุณภาพในความเป็นตัวเรา
“ของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่คุณมอบให้กับใครก็ตาม สิ่งนั้นคือ การเติบโตภายในของตัวคุณเอง
ฉันเคยพูดว่า ถ้าเธอดูแล ใส่ใจฉัน ฉันก็จะดูแล ใส่ใจเธอ
ณ ขณะนี้ ฉันขอพูดใหม่ว่า ฉันดูแลตัวฉันเองเพื่อเธอ ถ้าเธอยินดีดูแลตัวเธอเองเพื่อฉัน”
นี่คือ บทกวีที่ จิม รอห์น (Jim Rohn) ได้สื่อสารไว้
อาจารย์กล่าวว่า “เมื่อเราต่างระวังภัยให้แก่กัน อันตรายก็จะไม่เกิดขึ้น” ขณะที่ศิษย์เห็นว่า “เราควรดูแลรักษาตนเอง ซึ่งเท่ากับการดูแลรักษาผู้อื่นไปพร้อมกัน”
การดูแล ใส่ใจ และการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นการดูแลใส่ใจผู้อื่นด้วยเช่นกัน การดูแลใส่ใจในที่นี้ก็คือ การไม่เบียดเบียนตนเอง มีเมตตา สร้างสันติภายในตนเอง และนั่นก็จะเป็นจุดเริ่มของการไม่เบียดเบียนผู้อื่น รวมถึงสร้างสันติในความสัมพันธ์กับผู้อื่นไปพร้อมกัน การดูแลรักษาใส่ใจตนเองไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่คือกระบวนการเรียนรู้เพื่อการไม่เบียดเบียนตนเอง ขณะที่ความเห็นแก่ตัว คือการเบียดเบียดตนเอง
ดอกไม้มอบความสวยงาม มอบความรื่นรมย์ให้กับโลก กับผู้พบเห็นที่มองเห็นและชื่นชมความงามด้วยคุณค่าในความเป็นดอกไม้ของตนเอง สิ่งสำคัญของดอกไม้คือ การมีชีวิต เติบโต และเบ่งบานของตนเอง โดยที่ดอกไม้ไม่ต้องทำสิ่งอื่นใดเกินไปกว่านี้ นี่คือสิ่งเรียบง่ายที่หลายคนมองข้าม แต่ในส่วนของเราทุกคน การเติบโตของเรานั้นมาจากการเรียนรู้ และสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจของตน
หากเปรียบชีวิตของตัวเราเป็นเหมือนพรวิเศษที่มีคุณค่าในตนเอง โจทย์ข้อเดียวที่เราพึงทำการบ้านของตนเองคือ เราจะฉายภาพ หรือเบ่งบานพรวิเศษเพื่อเกื้อกูลโลกใบนี้ และผู้คนที่พบพานได้อย่างไรบ้าง เหมือนเช่นดอกไม้ทำหน้าที่ของตนเอง ที่เบ่งบานความสวยงาม ความรื่นรมย์ให้กับโลกนี้
เราแต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่ สิ่งนี้เปรียบเหมือนภาชนะที่บรรจุพรวิเศษ ให้เรามีโอกาสได้แสดงออกผ่านบทบาทในทางสังคม เช่น พ่อแม่ หน้าที่การงาน หรือแสดงออกด้วยการดำเนินชีวิตในฐานะที่เรามีชีวิต
ดังนั้นการช่วยเหลือผู้อื่น กรณีที่ผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากหรืออยู่ในภาวะมืดมน จึงไม่ใช่การเข้าไปกระทำแทน หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งภายนอกอะไรให้กับคนผู้นั้น แต่เราช่วยเหลือด้วยการช่วยให้อีกฝ่ายพบ และสามารถใช้ศักยภาพ ทรัพยากร รวมถึงความสามารถภายในตัวเขาเพื่อช่วยเหลือตนเองได้ ในที่นี้ ตัวเราผู้ช่วยเหลือก็ต้องเรียนรู้และทำงานกับการเติบโตเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง ความแตกต่างระหว่างเรากับดอกไม้คือ เราสามารถเบ่งบาน เติบโต และสื่อสารพรวิเศษให้กับผู้อื่น
ปราศจากความเข้าใจการเติบโตและการเปลี่ยนภายในเช่นนี้ ความปรารถนาดีที่มอบให้ผู้อื่นก็จะเป็นเพียงการครอบงำ บังคับผู้อื่นด้วยความถือตัวถือดี เบียดเบียนผู้อื่นด้วยข้ออ้างหลอกลวง การเกื้อกูลผู้อื่นที่แท้ จึงต้องมาจากการเติบโต เรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงภายในของเราเอง