เพื่อนหลายคนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ทำงาน เลี้ยงชีพแบบคนเมือง บางคนก็มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ นั่นก็ว่ากันไป พวกเขาแทบไม่มีเวลาว่างเอาเลย ยิ่งพอทำงานนานเข้า งานที่เขาทำก็กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในชีวิต เป็นมากกว่าหน้าที่ เป็นมากกว่าความรับผิดชอบ จนบางครั้งอาจจะแยกไม่ออกว่า เขาดูแลงาน หรืองานต่างหากที่ควบคุมชีวิตพวกเขา เรื่องนี้จะมีอะไรเสียหายกันเล่า เพราะดูเหมือนจะเป็นความธรรมดา และดูจะเป็นความสำเร็จ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเสียด้วย
หลายครั้ง ที่เราได้มีโอกาสเข้าเมือง นัดเพื่อนบางคน แค่ได้พบ สนทนา แต่การนัดกับพวกเขาทั้งหลายนั้นช่างเป็นเรื่องยากเย็น พวกเขาหาเวลาแม้เพียงได้เจอเพื่อนสักชั่วโมง สองชั่วโมง ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เราเคยคุยกับบางคนถึงเรื่องนี้ เมื่อเขาบอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นสำคัญ และเขาไม่สามารถปลีกตัวออกไปไหนได้เท่าไหร่เลย ถึงแม้เขาอยากจะไปเที่ยวต่างเมืองบ้าง การไม่มีเขาในกระบวนการของงานนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งไม่มีลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ ที่จะให้ดูแลแทนได้เลย เราถามเขาว่า “ทำไมถึงคิดว่าตัวเองสำคัญขนาดนั้น”
คราวที่แม่ยังป่วย เราคุยกันเรื่องความตายอยู่เสมอ ถึงแม้แม่จะยังกลัวอยู่ และเราก็หวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย ในสถานะของปุถุชน นั่นก็คงเป็นธรรมดา ที่เราต่างย่อมยังมีความกลัว อย่างที่ว่า ความกลัวตาย คือความกลัวที่สุดของมนุษย์ เรามองเห็นว่า การเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่รู้ตัวว่าชีวิตจะไม่ได้ยืนยาวแบบแม่ มักจะมีเรื่องราวมากมายที่ยังอยากเห็น เรื่องราวมากมายที่ห่วงใย ว่าก็โดยเฉพาะลูกหลาน เมื่อเราคุยกันมากๆ แม่ก็มักจะบอกว่า แม่วางได้เยอะแล้ว ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่แล้ว เราเห็นถ้อยคำนั้นของแม่ ว่าไม่ได้ลดห่วงนั้นลงมาเลย เพียงแต่แม่พูดให้เราสบายใจเท่านั้น
หลายครั้งที่เราคุยกันเรื่องห่วงทั้งหลายของแม่ แม่มักจะบอกว่า ถ้าแกไม่อยู่เสียแล้ว นั่นจะเป็นยังไง นี่จะเป็นยังไง โดยเฉพาะหลานๆ ใครจะดูแลได้ดี หลายเรื่องคงถูกละเลย เราก็เลยได้คุยกันเรื่องนี้ว่า เราจะต้องปลดความสำคัญของเราออกไปเสีย เพราะความจริงเราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ทุกอย่าง ทุกชีวิต มีหนทางของตัวเอง จะดีจะร้ายก็คงต้องปล่อยให้แต่ละคนมีชีวิตของตัวเอง หลายครั้งประเด็นนี้ถูกนำมาสนทนา ยิ่งเมื่อแม่เข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่รู้จริงๆ หรอกว่า ในวาระสุดท้ายแม่วางอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ความตายของแม่ก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสเกินไป ทั้งสำหรับแม่ และพวกเรา
เณรน้อยวัดป่า ครั้งหนึ่งโลกทั้งโลกของเขาคือวัด แน่นอนว่าเขาไม่ใช่ส่วนสำคัญอะไรนักหนา แต่การเป็นคนตัวเล็กที่สุด จึงได้รับความสนใจอยู่เสมอ นี่เป็นสิ่งที่ยึดเขาเอาไว้ ว่าเขาเป็นของที่นี่ และที่นี่เป็นของเขา จนเวลาล่วงเลยไป ในวัยหนุ่ม อดีตเณรน้อยวัดป่า กลับมาที่วัด และเขากลายเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่ไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว ตัวตนของเขาถูกสั่นคลอน เขาเริ่มรู้สึกว่า ที่นี่ไม่ใช่ของเขาอีกต่อไป และเขาก็ไม่ใช่ของที่นี่แล้ว
เขาบอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นสำคัญ การไม่มีเขาอยู่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เราจึงถามเขาว่า “ทำไมถึงคิดว่าตัวเองสำคัญขนาดนั้น”
ครูดอย ใช้ชีวิตในหมู่บ้านกลางป่ามาหลายปี ชาวบ้านทุกคน เด็กๆ ทุกคน ต้นไม้ใบหญ้า ห้วย ภูเขา ทั้งหมดนั้นเขาผูกพัน จนเขารู้สึกว่าเขาเป็นของที่นี่ และเมื่อเขาต้องลงจากดอย เขาเพียรกลับไปเยี่ยมหมู่บ้านอยู่เสมอ ให้เขาได้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วเขายังไม่ได้ไปไหน เหมือนกับเขายังอยู่ และออกไปทำงานเป็นครั้งคราวเท่านั้น นานวันเข้า เขารู้สึกเหนื่อย กับความรับผิดชอบว่าต้องกลับมา ความยากลำบาก ทำให้ไม่อาจกลับมาได้บ่อย และเริ่มรู้สึกว่า เขากำลังจะสูญเสียมันไป
“เราต้องปล่อยให้เรื่องราวทั้งหลายกลายเป็นอดีตไป เราย่อมยึดถือมันอยู่อย่างนั้นไม่ได้” ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ วันหนึ่งอดีตเณรน้อยวัดป่า ก็สามารถกลับไปที่วัดด้วยฐานะของผู้มาเยือน วันหนึ่งอดีตครูดอย ก็กลับไปเยี่ยมหมู่บ้านในฐานะของเพื่อนเก่า การกลับไปเหล่านั้นก็ย่อมเป็นความรื่นรมย์ โดยไม่มีความรู้สึกสูญเสียอะไร และแม้ไม่ได้กลับไป ก็ไม่ใช่ความผิด
ว่าถึงที่สุดแล้ว ในฐานะผู้ฝึกฝนน้อย การเป็นคนสำคัญนั้นย่อมให้โทษมากกว่าคุณ และไม่ใช่เพียงทางโลกุตรธรรมเท่านั้นกระมัง เฮมมิงเวย์ ยังเคยกล่าวด้วยเช่นกันว่า นักเขียนยิ่งเป็นที่รู้จักของมหาชนมากขึ้นเท่าไหร่ เขาจะยิ่งเขียนได้น้อยลงเท่านั้น
ยามที่เราโกรธ เราก็หาเหตุผลให้กับความโกรธนั้น หลายครั้งเราได้เหตุผลที่ดี มันก็ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นคนสำคัญของเราเอง เรามักคิดว่า ถ้าไม่มีเราอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะก้าวหน้า และดีอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้หรือ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ถึงพร้อมสำหรับความโกรธ หรือเวลาผิดพลาด เราก็มีเหตุผลมาลบล้างความผิดพลาดของเรา ก็เพราะเราเป็นคนสำคัญ เราจึงสมควรถูกยกเว้นจากการตำหนิติเตียน
ในหนังสือ หยุดโลก (Journey to ixtlan:The lessons of Don Juan) ของ Carlos Castaneda (แปลโดย พยัพแดด) เล่าเรื่องการเรียนรู้ของคอร์ลอส คาสตาเนดา กับหมอผีอินเดียน ฮวน มาธุส ตอนหนึ่ง ดอนฮวนกล่าวกับคาร์ลอสว่า “คุณยึดถือตัวเองเอามากๆ คุณคิดว่าคุณเป็นคนสำคัญที่สุด สิ่งนี้ต้องเปลี่ยนแปลง คุณมีความสำคัญเหลือล้น จนกระทั่งคุณรู้สึกว่ามีเหตุผลสมควรที่จะหงุดหงิดกับทุกสิ่งทุกอย่าง คุณมีความสำคัญเสียเหลือเกิน จนกระทั่งคุณพร้อมที่จะผละหนีไป ถ้าหากว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่สอดคล้องเป็นไปตามที่คุณต้องการ ผมเข้าใจว่า นั่นคือสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นเครื่องแสดงบุคลิกภาพของคุณน่ะสิ นั่นมันเรื่องเหลวไหล คุณเป็นคนอ่อนแอและยึดมั่นในตัวเองมาก” นั่นเป็นบทเรียนแรกๆ ของคาสตาเนดา เมื่อเขาเรียนรู้วิถีแห่งหมอผีจากหมอผีชราอินเดียนแดง