มาสร้างสรรค์อำนาจภายในกันเถอะ

ปรีดา เรืองวิชาธร 17 กรกฎาคม 2004

“อนงค์เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่ง เมื่อแรกก้าวเข้าไปทำงานที่บริษัทก็เริ่มรู้สึกกังวลใจเพราะไม่แน่ใจอยู่เกือบตลอดเวลาเลยว่า จะสามารถรับผิดชอบงานได้ตามที่หัวหน้างานต้องการ ขณะทำงานไปก็รู้สึกอยู่เรื่อยๆ ว่า ทำได้ไม่ดี และไม่ดียิ่งขึ้นเมื่อถูกหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานพากันตำหนิผลงาน  แม้ตนเองจะพยายามเรียนรู้อยู่เสมอว่าจะปรับปรุงหรือฝึกฝนทักษะไปในทางใด แต่ลึกๆ ก็ยังกังวลใจจนบางครั้งรู้สึกดูถูกตนเองว่า ด้อยความสามารถ เป็นความทุกข์ที่กัดกร่อนจิตใจหนักเอาการอยู่ ความทุกข์ใจนี้กินเวลานานถึง ๒ ปี จึงเริ่มรู้สึกไม่ไหวคิดจะขยับขยายไปหางานที่อื่นทำ เผื่อจะพบองค์กรที่มีบรรยากาศดีกว่านี้

เย็นวันหนึ่งอนงค์มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนที่มหาวิทยาลัยเดิมของตน มีรุ่นน้องคนหนึ่งสนใจถามว่า ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในการเรียน อนงค์ตอบคำถามได้อย่างฉะฉานเต็มไปด้วยความมั่นใจและชัดเจนตามประสบการณ์ที่ตนเองมี เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ฉุกใจคิดขึ้นมาว่า ทำไมทีตอนเรียนแม้จะรู้สึกว่า การเรียนให้ดีนั้นยาก แต่ก็สามารถทำได้โดยไม่ถึงกับรู้สึกด้อยเหมือนในเวลานี้ จึงเกิดกำลังใจและเริ่มทบทวนบันไดขั้นต่างๆ ในการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะนำไปปรับใช้ในการงานให้ดีขึ้น เช้าวันใหม่อนงค์ก็เริ่มก้าวเข้าไปทำงานด้วยใจที่มั่นคงและเบิกบานขึ้นกว่าเมื่อก่อน”

เรื่องนี้ไม่ได้บรรยายต่อไปว่า อนงค์จะยังคงรู้สึกกังวลใจต่อไปอีก หรือความกังวลใจคลี่คลายขึ้น พร้อมกับทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้เราจะไม่รู้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนบอกว่า สำหรับคนที่กำลังขาดความเชื่อมั่นตนเองหรือเป็นอย่างเรื้อรังจนรู้สึกด้อยนั้น หากได้ฉุกคิดขึ้นมาบ้างว่า ที่ผ่านมาเราเคยเผชิญกับความยากในชีวิต ซึ่งตอนนั้นก็เคยคิดว่า คงจะผ่านอุปสรรคไปได้ยาก แต่แล้วก็มีอย่างน้อยสักครั้งที่เราก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี

ดังนั้นยามใดที่รู้สึกขาดความเชื่อมั่นวางใจในศักยภาพตนเอง ก็ควรหมั่นระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยก้าวพ้นอุปสรรคมาได้ หมั่นทบทวนเหตุการณ์นั้นเพื่อกลับมาฟื้นฟูความภาคภูมิใจในตนเอง  เราอาจใคร่ครวญต่อไปอีกว่า เราได้ทำสิ่งใดไปบ้างหรือมีเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เราเอาชนะอุปสรรคนั้นได้ เราอาจพบคำตอบบางส่วนที่เราหลงลืมไปนาน แต่สามารถนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้านี้  ถึงแม้ใคร่ครวญแล้วยังมองเห็นทางออกไม่แจ่มชัดนัก แต่กำลังใจที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกภูมิใจภายใน ย่อมเป็นบันไดขั้นแรกๆ ที่จะหนุนช่วยให้เราฮึกเหิมฝึกฝนพัฒนาทักษะความสามารถได้อย่างหนักแน่นและต่อเนื่อง

การตระหนักรู้อยู่เสมอว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างแม้จะยากเย็นเพียงใด แต่หากเราเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำได้หากได้มีการฝึกฝนพัฒนาอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับตนเอง” ย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จูงใจให้เราคิดและทำอะไรได้อย่างสร้างสรรค์ และทำได้โดยไม่พรั่นพึงกับปัญหาอุปสรรคที่มากางกั้น ความเชื่อมั่นลักษณะนี้ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า ตถาคตโพธิศรัทธา คือการเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ซึ่งขยายความได้ว่า แม้ว่าการบรรลุหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวงนั้นจะยากแสนยากก็ตาม แต่พระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาก็สามารถทำได้ก็เพราะการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ถือเป็นตัวอย่างให้เราได้ศึกษาเป็นบทเรียน

ดังนั้นคนเราลองได้เชื่อมั่นในศักยภาพตนเองว่าทำได้ ก็ย่อมเป็นต้นทุนที่ใช้ทำกิจสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ยิ่งหากตระหนักชัดเจนด้วยว่า สิ่งที่จะทำนั้นสอดคล้องกับฉันทะหรือความสนใจ สอดคล้องกับกำลังความสามารถที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ยิ่งมีแนวโน้มทำสำเร็จได้ไม่ยาก แม้ทำไปแล้วพบว่าไม่เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเอง ความมั่นใจภายในที่มีอยู่เป็นพื้นก็ยังช่วยพยุงให้เรามุ่งแสวงหาศักยภาพภายในอันแท้จริงได้ในไม่ช้า

ยามใดที่รู้สึกขาดความเชื่อมั่นวางใจในศักยภาพตนเอง ก็ควรหมั่นนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยก้าวพ้นอุปสรรคมาได้ เพื่อฟื้นฟูความภาคภูมิใจในตนเอง

อีกด้านหนึ่ง บางคราวเราอาจใคร่ครวญเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องภาวะขาดความมั่นใจตนเอง หรือความรู้สึกด้อยว่า มันเกิดขึ้นและงอกงามได้อย่างไร หากหมั่นสังเกตอยู่เสมอๆ เราอาจพบว่า เวลาที่เราต้องทำอะไรที่เรายังไม่คุ้นเคย ยังไม่มีทักษะมากพอ มันมักทำให้จิตใจไม่มั่นคงมีความขลาดกลัวได้ง่าย  จริงหรือไม่ว่า เพราะเรามักคิดปรุงแต่งอย่างยึดมั่นถือมั่นว่า “เราผิดพลาดล้มเหลวไม่ได้” ยิ่งมีคนอื่นที่เขาทำได้ดีแล้วเราเกิดรู้สึกเปรียบเทียบความสามารถ หรือมีหัวหน้ากับเพื่อนร่วมงานคอยจับจ้องคาดหวังเราอยู่ (โดยเฉพาะคาดหวังแบบสูงเกินเหตุ ดังเช่นคาดหวังว่า ทุกคนจะต้องทำได้เหมือนๆ กัน หรือทุกคนต้องมีพัฒนาการออกมาดีเหมือนกัน)

สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นแรงกดดันให้เราหวาดวิตกได้ง่าย ซึ่งการคิดอย่างนี้ดูไม่ค่อยยุติธรรมเลย เพราะอย่างน้อยที่สุด บางคนกำลังยืนอยู่เพียงจุดเริ่มตนของการพัฒนา ย่อมต้องการโอกาสกับเวลารวมถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อฝึกฝนพัฒนาตนเอง  และที่สำคัญแต่ละคนต้องมีวิถีทางในการเปลี่ยนแปลงเติบโตแตกต่างกัน ดังนั้นตัวเราเองและคนรอบข้างทั้งหลายควรตระหนักรู้ว่า เราจำต้องใจกว้างโดยให้โอกาสกับเวลาและปัจจัยต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงการเปลี่ยนแปลงเติบโตของคน

โอกาสและปัจจัยต่างๆ ที่ว่านี้ หมายถึง ทัศนคติที่เชื่อว่า การพัฒนาศักยภาพควรควบคู่ไปกับความสุขกายสุขใจที่ได้ทำอะไรจากความสนใจ (ฉันทะ) ของแต่ละคน ดังนั้นการได้เลือกทำเลือกพัฒนาอย่างสอดคล้องกับความสนใจแล้ว การพัฒนาศักยภาพย่อมไปได้ไกลเพราะมีแรงพากเพียรที่จะทำอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้เราควรใจกว้างต่อความผิดพลาดล้มเหลวได้เสมอ แม้ว่าเราจะมีการเรียนรู้ฝึกฝนดีพร้อมเพียงใด เพราะปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นมีมากมายเกินกว่าที่เราควบคุมให้อยู่ในอำนาจของเรา ด้วยเหตุนี้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างควรปลุกปลอบให้เกิดกำลังใจขึ้นมาเสมอเมื่อต้องประสบกับความผิดพลาดล้มเหลว

สำหรับคนรอบข้าง ไม่ว่าคนในครอบครัวหรือคนในองค์กรเดียวกันควรทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร โดยเปิดใจรับฟังเขาอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าถึงความรู้สึกทุกข์กังวลใจ การเปิดโอกาสให้เขาได้ปรับทุกข์สุขจะช่วยให้เกิดความไว้วางใจที่จะค่อยๆ กล้าเปิดเผยปมปัญหาที่แท้จริงออกมา อันจะนำไปสู่การร่วมกันแสวงหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม ดังนั้นการอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเพื่อคอยรับฟังและให้กำลังใจ จึงเป็นกระบวนการติดตามผลที่ได้ผลดีชนิดที่ไม่สร้างแรงกดดันว่า กำลังถูกมองอย่างจับผิด  ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้น่าจะมีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงความมั่นใจซึ่งเป็นอำนาจภายในของบุคคลได้บ้างไม่มากก็น้อย


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน