เธอกับฉัน: ความรัก กับช่างฝีมือ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 26 เมษายน 2015

เอ เป็นวัยรุ่นอายุราว ๑๗ ปี ชีวิตในมหาวิทยาลัยทำให้เอและเพื่อนๆ ได้มาเรียนรู้ได้ทดลองหลายสิ่ง รวมไปถึงเรื่องความรัก

เอได้พบกับบีเพื่อนรุ่นพี่ แล้วประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เอตกหลุมรักเพื่อนคนนี้  ความรู้สึกของเอ ณ ขณะนั้นคือโลกรอบตัวกลายเป็นสีชมพู  หลายอย่างที่เอเคยรู้สึกแย่ ไม่ชอบ ก็ไม่ใช่สิ่งที่รบกวนชีวิตอีกต่อไป  ความกระตือรือร้น ความใส่ใจในตนเอง เสื้อผ้า หน้าผม ข้าวของเครื่องใช้ กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความใส่ใจขึ้นมาทันที  และที่สำคัญ คำว่าเบื่อหน่ายไม่มีอยู่ในพจนานุกรมชีวิตของเอ  ยามที่เอเฝ้ารอบีเดินผ่าน หรือรอคอยเพื่อจะได้พบปะ แม้ว่าช่วงเวลาที่ได้พบปะจะไม่กี่นาที ขณะที่การรอคอยใช้เวลาร่วมหลายชั่วโมง ก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

ในที่สุด เอกับบีก็คบหากันในฐานะคนชอบพอ สมความหวังความตั้งใจ  ช่วงเวลานั้นเอรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตนเอง ในคุณค่า และมีความสุขเหลือเกิน  เพื่อนๆ ต่างยินดีและหยอกล้อกับความเป็นคู่รัก บรรยากาศช่างมีความสุข  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกอันแสนหวานค่อยๆ จางคลายไป  เอกับบีเริ่มมีความขัดแย้ง ความคิดเห็นไม่ลงรอย รวมไปถึงความผิดหวังในมุมมอง ในการกระทำ  ในที่สุดทั้งสองก็เลิกราความสัมพันธ์ไป ทั้งสองต่างไปหาคนใหม่ คบหากัน เลิกรากัน  จนในที่สุดเอแต่งงานกับคนที่คิดว่าใช่ ความสัมพันธ์ก็ลุ่มๆ ดอนๆ  ขณะที่บีก็ยังเป็นโสด คบๆ เลิกๆ กับคนนั้นคนนี้

ชีวิตความสัมพันธ์ของหลายๆ คนมีลักษณะคล้ายๆ กับคู่ของเอและบี  ช่วงเวลาที่ความรักเบิกบาน ทุกสิ่งดูมีความเป็นไปได้ไปทั้งหมด  แต่เมื่อความรักจืดจางทุกอย่างก็ผิดที่ผิดทาง

อีริค ฟอร์ม นักจิตวิเคราะห์ได้ชี้ประเด็นสำคัญว่า การรักนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เฉกเช่นงานศิลปะที่ผลงานถูกสร้างสรรค์ได้ก็ต้องอาศัยช่างฝีมือ

ยามที่ช่างฝีมือไม่ว่าจะเป็นจิตรกร ประติมากร ช่างศิลป์ บรรจงสร้างงานศิลปะนั้น พวกเขาจำต้องมี ๑) ความรู้ ความเข้าใจในงานเป็นฐานสำคัญ  ๒) ทักษะ ประสบการณ์สั่งสมเป็นความชำนาญประจำตัว  และ ๓) การอุทิศตัวเพื่อทุ่มเทกับงานศิลปะนั้น

องค์ประกอบทั้งสามช่วยให้ศิลปิน หรือช่างฝีมือสร้างผลงานศิลปะให้เกิดขึ้น  เราในฐานะผู้ที่มีความรัก และต้องการให้ความรักที่มีถูกสื่อสารแสดงออกมาเป็นการรักใครสักคน เป็นความสัมพันธ์ที่ปรารถนากับใครคนนั้น สิ่งนี้ก็คือ ผลงานศิลปะที่ ๑) เราต้องเข้าใจความรักนั้นว่า คืออะไร  ๒) เราแสดงออก สื่อสารความรักได้ด้วยวิธีการอะไร  และ ๓) เรายอมทุ่มเท เห็นคุณค่า และอุทิศตัวเพื่อคุณค่านั้นได้มากน้อยเพียงใด

ความสัมพันธ์รักของหลายๆ คนเริ่มต้นที่ความรู้สึก ความรู้สึกเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อน พลังความรู้สึกมีความร้อนแรง  แต่เชื้อเพลิงนี้ถึงวันหนึ่งหากว่าไม่มีการต่อเติมเชื้อฟืน ในที่สุดความรู้สึกนั้นก็จะค่อยๆ จางคลายและหายไป ความรักก็หมดไป  ดังนั้นความสัมพันธ์รักที่อาศัยแต่อารมณ์ ความรู้สึกรัก ชอบพอแต่เพียงอย่างเดียว จึงยากที่จะคงทนหรือมีอายุยาวนัก  นี่คือมุมมองสำคัญที่หลายคนไม่ได้ตระหนักรู้  เพราะความรักเป็นการกระทำด้วย หากไม่มีการกระทำ ความรักนั้นก็ไม่มีความหมายนัก  ดังเช่นเรามักบอกกล่าวคนอื่นๆ ให้รับรู้ว่าเรารักสัตว์  แต่การกระทำคือ การปล่อยปละละเลยจนสัตว์เลี้ยงล้มป่วย เช่นนี้คำพูดของเราถึงความเป็นคนรักสัตว์ก็ไร้ความหมาย ความน่าเชื่อถือที่คนอื่นมีต่อเราก็ยากที่จะเกิดขึ้น

ในความสัมพันธ์ที่มีความรัก องค์ประกอบความรักที่สำคัญจึงไม่ใช่แค่ความรู้สึก ทว่าได้แก่

๑) การดูแลใส่ใจ 

คือองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญ  พ่อหรือแม่ที่รักลูก สิ่งสำคัญของความรักที่พ่อกับแม่มีต่อลูก คือการทุ่มเทความใส่ใจ ดูแลสุขภาพกายใจ  สามีและภรรยาทุ่มเทใส่ใจความรักที่มีต่อกัน  ดังนั้นในความสัมพันธ์รักจึงต้องมี

๒) ความรับผิดชอบ 

เพราะหากไร้ซึ่งความรับผิดชอบ การดูแลใส่ใจย่อมเกิดขึ้นไม่ได้  เราจะดูแลใส่ใจได้อย่างไรบ้าง  รูปแบบการให้ คือเครื่องมือสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด เช่น การให้การบริการ ดูแลรับใช้ โดยการดูแลเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน การสัมผัส สื่อสาร การแสดงออกทางภาษากาย โอบกอด จับมือ ฯลฯ หรือการใช้คำพูดยืนยัน คำพูดที่ยืนยันช่วยสนับสนุนให้การกระทำนั้นมีความหมายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การดูแลใส่ใจที่สื่อสารได้อีกก็คือ การใช้สื่อแทนความรู้สึก เช่น ของขวัญในวาระสำคัญ สิ่งของที่มีค่าความหมายแทนความรู้สึกในใจ  และอีกลักษณะคือ การให้เวลาที่มีคุณภาพ เช่น การมีกิจกรรมร่วมกัน การรับฟัง การใช้เวลาร่วมกันโดยไม่มีสิ่งใดหรือคนนอกรบกวนเวลาส่วนตัว  การกระทำที่มีความรัก ยังต้องการองค์ประกอบสำคัญคือ

๓) ความเคารพนับถือ 

การที่คนสองคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ การเคารพอีกฝ่ายในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งที่มีอิสระในการคิดนึก รู้สึก และแสดงออก  ความหมายสำคัญคือ การเคารพในความแตกต่าง เพราะหากความสัมพันธ์รักมีการเรียกร้อง กดดันอีกฝ่ายให้กระทำในสิ่งที่เราต้องการ นั่นอาจไม่ใช่ความรัก มันอาจเป็นการครอบงำได้

กระนั้น ในความรักก็อาจต้องอาศัยการครอบงำ เช่น การอบรมสั่งสอนเด็กๆ หรือลูกหลานของเรา แต่เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ย่อมไม่ใช่วิธีการที่พึงปรารถนานักสำหรับพ่อแม่ที่จะทำกับลูกซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว  องค์ประกอบสำคัญสุดท้ายคือ

๔) ความรู้ ความเข้าใจ 

เรามีความเข้าใจในความรู้สึก ในความต้องการของอีกฝ่าย และรวมถึงตัวเรา  ดังนั้นความรู้สำคัญในที่นี้คือ การรู้จักตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักคนอื่น

องค์ประกอบความรัก จึงประกอบด้วย การดูแลใส่ใจ การมีความรับผิดชอบ การเคารพนับถือ และความรู้

ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้บ้างว่า งานศิลปะของการรักนั้น เรียกร้องอะไร และอย่างไรในการรักได้บ้าง เรามีวิธีการเพื่อสื่อสารความรักได้อย่างไร

สิ่งที่เหลือคือ ประสบการณ์ในภาคปฎิบัติของเราเอง  การลงมือปฏิบัติเป็นภาคส่วนที่ต้องการอุทิศทุ่มเทตัวเองเพื่อสิ่งนั้น เหมือนกับศิลปินที่อุทิศกำลังกาย กำลังใจเพื่อผลงาน  การรักในฐานะที่เรามีความรัก และต้องการให้ความรักสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานนี้เรียกร้องการอุทิศตัว

ในเส้นทางความรัก เราพบว่าเราประสบบทเรียนชีวิตมากมาย พร้อมๆ กับการเติบโตอีกมายมาย หากว่าเราใส่ใจเรียนรู้บทเรียนชีวิต  ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นจำนวนมาก ปัญหาหย่าร้างในครอบครัวของผู้ใหญ่จำนวนมากในครอบครัว รวมไปถึงปัญหาชู้สาว นอกใจ ล้วนสืบเนื่องจากการเป็นศิลปินการรักที่สอบตกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

การรักเป็นศิลปะ และศิลปะนี้เริ่มต้นที่คุณภาพการมีฐานความรู้ ความเข้าใจในตนเอง และความเข้าใจในความรักจึงเป็นก้าวสำคัญ

รักคือชีวิต รักคือศิลปะ และชีวิตก็คือศิลปะที่เราต่างต้องเรียนรู้ ฝึกฝน เก็บเกี่ยวบทเรียน เพื่อเรียนรู้และเติบโตต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน