คำปกาเกอะญอโบราณกล่าวไว้ว่า “ไผ่ลำเดียวไม่เป็นแพ ข้าวเม็ดเดียวไม่เป็นเหล้า” ถ้อยคำนี้ดูเหมือนจะเชื่อมโยงอยู่ด้วยความเชื่อทางวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ที่ว่า ลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมสำหรับโลกใหม่ คือการบริหารโดยคณะบุคคล ไม่ใช่ตัวบุคคล ในหมู่นักกิจกรรมเพื่อสังคมทั้งหลายก็พูดเรื่องนี้กันมานาน ด้วยถ้อยคำที่ถือเป็นคำสำคัญคือ การมีส่วนร่วม แม้จะมีชุดคำที่แตกต่างกัน แต่นี่เป็นสิ่งที่พูดกันมานานมากแล้ว ตั้งแต่อดีต บางคำอาจใหม่ แต่สาระของเรื่องนี้ก็สืบทอดกันมานาน นานพอๆ กับที่มนุษย์ต่างเรียกร้อง และแสวงหาเสรีภาพ
ธรรมดาอยู่เองที่ปุถุชนคนทั้งหลาย จะมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า อย่างมั่นอกมั่นใจว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องเสมอ คนอาจกล่าวว่า สิ่งที่เราเชื่อนั้น ผ่านมาจากความรู้ ประสบการณ์ มันจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดแน่นอน แน่นอนว่าถ้าตัดภาพไปอีกมุมหนึ่ง มันย่อมจะมีคนอีกหลายคนในโลกที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเลย ไม่ว่าใครพูดอะไร นำเสนออะไร ก็พร้อมจะคล้อยตามเสมอ ว่าอันที่จริง นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นความธรรมดาของปุถุชนคนทั้งหลายเช่นเดียวกัน
โลกแยกย่อยออกไปได้อย่างซับซ้อน โลกที่เกี่ยวพันกับจักรวาล ดินฟ้าอากาศ พลังงาน โลกที่เกาะเกี่ยวกันระหว่างคนกับโลก คนกับสิ่งแวดล้อม ถึงคนกับคน หรือโลกที่เกี่ยวพันกันระหว่างโลกภายนอก กับโลกภายในแต่ละมิติ ก็มีความเป็นไป เกาะเกี่ยว เชื่อมโยงกัน เป็นเครือข่ายของชีวิตที่สลับซับซ้อน ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ชีวิตเราจะยืนยันสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่ง ความเชื่อ หรือความยึดว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ในทางการแพทย์โบราณก็ว่าไว้ว่าไม่ควรยึด เพราะแต่ละช่วงเวลา แต่ละสถานการณ์ ร่างกายเราก็จำเป็นต้องได้รับบางสิ่งบางอย่าง แทนการรับอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เราไม่ควรบอกว่าเราชอบกินเปรี้ยว เพราะบางครั้งร่างกายก็ต้องการรสหวาน เป็นต้น
ดังนั้นเองที่เราอาจสามารถกล่าวได้ว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม มันยังไม่ใช่ความจริงโดยสมบูรณ์ ทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะกลั่นกรองมาจากประสบการณ์เข้มข้นเพียงใด ก็ให้ถือว่า นั่นเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ยืดหยุ่นไปตามกาลและปรากฏการณ์
เป็นเรื่องธรรมดา ที่ปุถุชนคนทั้งหลายจะเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ความเห็นของตนนั้นถูกต้องเสมอ
เพราะความมีหน้า เราจึงกลัวการเสียหน้า และการมีหน้า ก็คือความยึดมั่นในอัตตานั่นเอง หลายครั้ง ในสถานการณ์ที่ต้องแสดงความเห็น และมันเต็มไปด้วยความเห็นที่แตกต่าง เราจึงพร้อมทำทุกวิถีทาง ที่จะให้ความเชื่อความเห็นนั้นชนะ เพราะถ้าแพ้ เราก็จะรู้สึกเสียหน้า ถึงแม้บางครั้งเราจะเริ่มมองเห็นเรื่องราวนั้นๆ ในแง่มุมที่ต่างไป แต่หน้า กลับสำคัญมากกว่าสิ่งที่ควรเป็น และนั่นก็ไม่มีอะไรอื่น นอกจากเป็นธรรมดาของปุถุชน แน่นอนว่า เมื่อไหร่ที่ความเชื่อเราพ่ายแพ้ นอกจากเสียหน้ามันก็ก่อร่างเป็นความโกรธ แค้น ขุ่นมัว หนักหน่อยก็ทำลายความสำพันธ์ที่ดีไปเสีย นั่นก็ว่ากันไป
ประเด็นนี้มีการพูดกันมากในหลายแวดวง ในหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่มันกลับเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยแก้ไขได้เลยในเกือบทุกแวดวง หรืออาจจะทุกวงการก็ว่าได้ สาระสำคัญของการแก้ไข อาจไม่ใช่สร้างกฏระเบียบปฏิบัติอะไรมากมายนักก็ได้กระมัง แน่นอนว่ามันมีการสนทนาที่ทำให้เราฟังกันได้มากขึ้น มากมายหลายแบบ แม้รูปแบบเหล่านั้นจะได้ผลดี แต่สิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในใจมนุษย์นั้นเล่า ยากเกินกว่ารูปแบบใดใดจะเข้าไปจัดการได้
สำคัญกว่าสิ่งใด คือการมองเห็นคนอื่นเท่าเทียมกับตน เสียงหนึ่งเสียงของเขาก็มีค่าเท่ากับเสียงของตน ข้ามผ่านเรื่องตำแหน่ง อำนาจ อายุ และฐานะทางสังคม เมื่อเราข้ามเรื่องนี้ไปได้ เราจะไม่เสียหน้า แม้จะยังมีหน้าอยู่ แต่การเสียหน้าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ความเท่าเทียมคงมีความหมายอย่างนี้ ว่า คนต่างเคารพคนด้วยกัน ไม่ว่าเขาจะมีสถานะเช่นไร ต่อให้คนหนึ่งคนมีความรู้มากมายแค่ไหน ก็ต้องมีบางเรื่องที่เขาไม่มีวันเข้าใจ ดังนั้นเอง เราอาจพอสรุปได้ว่า ไม่มีคนดีที่สุดในโลก ไม่มีคนฉลาดที่สุดในโลก ไม่มีคนเลวที่สุดในโลก และไม่มีคนโง่เขลาที่สุดในโลก
เมื่อเราเคารพคน เห็นคนเท่ากันเมื่อนั้นเราจะได้ยินเสียงอื่นๆ เราจะเห็นความคิด เห็นความเชื่อที่ต่างไป เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย และเมื่อเราเคารพคนได้มากพอ เราจะเห็นอย่างแท้จริงว่า การมีส่วนร่วมที่แท้จริงเป็นเช่นไร ที่สุดแล้ว เป้าหมายจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว และสำคัญกว่านั้นก็คือกระบวนการ นี่อาจไม่ใช่เพียงปัญหาใหญ่ของโลก หรือสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่นี่คือปัญหาใหญ่ในโลกภายในของแต่ละคนด้วย ไม่ง่ายนักที่จะแก้ไข แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะลงมือทำ