ระหว่างเดินทางอยู่ในถิ่นชนบทของแคว้นอัสสัม ริมขอบแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ข้าพเจ้าเกิดปวดฟันขึ้นมาในเย็นวันหนึ่ง

ไม่ใช่ปวดแบบฟันผุ ฟันคุด ฟันโยก แต่เป็นอาการเหงือกอักเสบที่โคนฟันล่างซี่ในสุดข้างขวา

ปวดมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ข้าพเจ้านึกไปถึงหญิงชาวอีสานบางคนที่เคยบอกว่า สำหรับเธอการคลอดลูกไม่ได้เจ็บเท่าตอนปวดฟัน

เคยได้รู้ได้ยินพระสอนเรื่องธรรมโอสถ ก็ได้นำมาใช้ในยามนั้น ว่าไม่ให้เอาความเจ็บความปวดมาเป็นของเรา ไม่ใช่เราเป็นผู้เจ็บ แต่ให้เป็นผู้เฝ้าดูความเจ็บ และวางใจจดจ่ออยู่กับการตามลมหายใจ ก็พอเผลองีบหลับไปได้บ้าง แต่ก็ต้องตื่นมาพบกับความเจ็บปวดทุกชั่วโมงสองชั่วโมงตลอดทั้งคืน

ใจเฝ้าแต่คิดวนเวียนว่าจะหายาที่ไหนมาบรรเทา เพราะอีกตั้ง 2 วันกว่าจะเข้าเมือง ที่นั่นมีหมอที่รู้จักกันอยู่ แต่ในแถบที่เราอยู่ตอนนี้คงหาที่ซื้อยาได้ยากนัก ถึงตอนเช้าเราจะเคี้ยวข้าวกินได้ไหม แล้วพรุ่งนี้มีแผนการจะเดินป่าด้วย หากกินข้าวไม่ได้จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปเดิน

เช้ามาข้าพเจ้าลองถามหายาแก้ปวดจากเพื่อนร่วมทีม ทั้งที่ใจไม่อยากจะกิน เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้ว มันไม่ใช่ยารักษา

ความเจ็บป่วยของข้าพเจ้าได้ยินไปถึงหูหมอต้อม เธอถามกลับมาเสียงใส “วี-ปวดฟันหรือ”

“ครับ…หนักเลย” ข้าพเจ้าแทบอ้าปากไม่ได้แล้วในตอนนั้น เหงือกบวมจนดันข้างแก้มนูนออกมา

“เดี๋ยวทำยาให้”

เหมือนว่าเธอมองไว้หมดแล้ว แม้เป็นในต่างถิ่น แต่ต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นรอบๆ ตัวคงถูกจดจำไว้ในสายตาของเธอหมดแล้วว่าต้นไหนรักษาโรคใดได้  ประสบการณ์หลายสิบปีของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หรือหมอต้อม เภสัชกรโรงพยาบาลที่หันมาสนใจทุ่มเทให้กับการเก็บความรู้ด้านยาสมุนไพร ทำให้เธอกล้ากล่าวอย่างมั่นใจว่า สำหรับโรคพื้นฐานทั่วๆ ไป-ความจริงเราพึงตัวเองได้มาก!

เธอหายไปข้างบ้านชั่วครู่ก็กลับมาพร้อมผักคราดหัวแหวน หรือผักเผ็ด ที่คนภาคเหนือใช้ใส่แกงแค  หมอต้อมเด็ดเอาแต่ตุ้มดอกสีเหลืองเหมือนตุ้มหูหรือหัวแหวน ได้หยิบมือหนึ่งเอาใส่ลงครกตำจนแหลก แล้วตักส่งให้ข้าพเจ้าบอกให้เอาโปะทับไว้บนเหงือกที่ปวดบวม

หมอสมุนไพรเตือนไว้ก่อนแล้วว่าจะรู้สึกร้อนซ่าและชาในปาก กับผลอีกอย่างคือจะทำให้น้ำลายออกมาก  เธอบอกด้วยว่า ด้วยสรรพคุณดังกล่าวนี้ทำให้เธออยากใช้ยาสมุนไพรชนิดนี้กับคนไข้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากยาบางชนิดแล้วทำให้ปากแห้งไม่มีน้ำลาย แต่ยังไม่ได้ทำเพราเธอว่าไม่อยากทะเลาะกับหมอ

ไม่นานนาทียาสมุนไพรเดี่ยวก็ออกฤทธิ์ดังว่า น้ำลายไหลออกมามากจนต้องบ้วนบ่อยๆ รู้สึกร้อน ซ่า ไปทั่วบริเวณที่โดนยา แล้วตามด้วยความรู้สึกชายุบยิบ

หายปวด อ้าปากได้ รู้สึกโลกยามเช้าสดใสขึ้นมาทันที และกินมื้อเช้าได้แทบเป็นปรกติ

อย่างไรก็ตาม หมอต้อมบอกว่านั่นเป็นเพียงยาชาเพื่อบรรเทาอาการปวดไว้ก่อนเท่านั้น สำหรับยามื้อเที่ยงจะหาใบพลู กับมะเขือพวงเข้ามาร่วมด้วย เพื่อช่วยในการรักษา

ยามื้อเที่ยงและเย็นรสเบาลงเพราะมีมะเขือพวงมาช่วยเจือจางความเผ็ดร้อน  ความปวดเกือบหายสนิท แต่รอยบวมยังยุบไม่หมด  หมอต้อมยังคอยถามไถ่ติดตามอาการอยู่เป็นระยะ เหมือนเป็นคนไข้พิเศษ หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นหนูลองตำรับยาของเธอด้วย

“มีฟ้าทะลายโจรแคปซูลติดมาด้วยไหม?” เหมือนหมอต้อมจะนึกอะไรขึ้นได้ เธอถามข้าพเจ้า

เวลาเดินทางข้าพเจ้ามักพกขมิ้นชันแคปซูลกับฟ้าทะลายโจรแคปซูลติดตัว  ขมิ้นชันนั้นเสมือนเป็นสมุนไพรที่เป็นแรงบันดาลใจให้หมอต้อมทำยาสมุนไพรตราอภัยภูเบศรขึ้นมาก็ว่าได้  รุ่นพี่ของเธอไปศึกษาเรื่องยาสมุนไพรจากชาวบ้านแล้วพบว่า พวกพรานจะพกหัวขมิ้นติดไว้ในย่ามเสมอยามเดินป่า เผื่อฉุกเฉินเรื่องท้องไส้ก็จะพึ่งสมุนไพรชนิดนี้  ส่วนฟ้าทะลายโจรเป็นยาลดไข้ที่ข้าพเจ้าพบว่ากินแทนพาราเซตามอลได้ดี

ยามเดินทางไกลจึงพกขมิ้นชันติดตัวไว้อย่างพรานโบราณ โดยเพิ่มฟ้าทะลายโจรเข้ามาด้วย ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการรับมือกับโรคปวดท้องปวดไข้แบบเฉพาะหน้า

ในแถบที่เราอยู่ตอนนี้ หาที่ซื้อยาได้ยากนัก แต่ที่จริงแล้วสำหรับโรคพื้นฐานโดยทั่วไป เราสามารถพึ่งตัวเองได้มากกว่าที่คิด

เพิ่งมารู้จากหมอต้อมในตอนนั้นว่า ฟ้าทะลายโจรนั้นยังช่วยรักษาอาการอักเสบด้วย  พอเธอรู้ว่าข้าพเจ้ามีพกติดตัว ก็บอกให้แกะแคปซูลแล้วเอาผงยาเทลงบนรอยบวม ขบกรามเอาไว้อย่ายอมแพ้ต่อความขมของมัน  หมอต้อมบอกว่าเธอเองยังเคยทำเป็นยาสีฟันใช้เองเห็นผลดี จนอยากจะทำเผยแพร่ด้วยแต่ถูกลูกน้องทักท้วงว่าจะขายไม่ออก เนื่องจากรสขมของมัน

แต่ก็จริงดังคำเขาว่า “ขมเป็นยา” ฟ้าทะลายโจรช่วยมาบรรจบการรักษาให้อย่างลงตัว  หายปวดมาด้วยผักเผ็ด แล้วมาหมดอักเสบด้วยยาฟ้าทะลายโจรนี่เอง

เมื่อกลับเข้าเมืองดีบรูการ์ ข้าพเจ้าก็หายปวดเหงือกเป็นปรกติ ไม่ต้องพึ่งคลินิกหมอแผนปัจจุบันที่เป็นพรรคพวกกัน

การเจ็บป่วยในสถานการณ์จริง และ(ถูกสถานการณ์บังคับให้)ได้ทดลองรักษาด้วยยาสมุนไพรจนหายจริง เป็นเสมือนอีกหลักหมุดหนึ่งที่ช่วยย้ำความมั่นใจให้กับทั้งหมอยาและคนไข้

ว่าความจริงแล้วเรายังพึ่งตัวเองได้มากในเรื่องยา เพียงแต่ต้องมีความรู้

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ