ม่านหมอกในจิตใจ (๑)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 5 ธันวาคม 2010

ในท่ามกลางความแตกต่าง และความหลากหลายของสรรพชีวิตในป่า ถือเป็นความงามและความสมบูรณ์ แต่สำหรับในมิติความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ความขัดแย้งง่ายที่จะนำไปสู่ความร้าวฉาน ความรุนแรง และความแตกร้าว  กระนั้นความขัดแย้งก็เป็นหนทางนำไปสู่การเติบโต และความเข้มแข็งในความสัมพันธ์  ขึ้นอยู่กับว่าเราแต่ละคนจะก้าวข้ามความสัมพันธ์ที่กระทบกระเทือนต่อกันอย่างไรบ้าง

ชายหนุ่มโทรหาหญิงสาวหลายครั้ง หมั่นเพียรสอบถามความเป็นไปของหญิงผ่านอีเมล  ภายหลังความเพียรพยายามหลายครั้ง โดยที่ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหญิงสาว ชายหนุ่มเสียใจมาก รู้สึกผิดหวัง และโกรธเกรี้ยวกับสิ่งรอบตัว  ชายหนุ่มสรุปเองในใจว่าหญิงสาวหลอกลวง พร้อมกับคิดนึกอธิบายเหตุผลให้กับตนเองว่า คงเป็นเพราะฐานะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก คงเป็นเพราะหน้าตาที่ไม่น่าสนใจ คงเป็นเพราะตนเองไม่เอาไหน  เหตุผลแท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร คงเป็นเรื่องซับซ้อน แต่สิ่งที่พึงพิจารณา คือ ในความขัดแย้งนี้มีฐานะความคิดบางอย่างซ่อนตัวอยู่ และความคิดนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึกตามมา และก่อความทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ในจิตใจ

หรือในอีกกรณี  วิทยากรท่านหนึ่งได้รับเชิญให้ไปบรรยายพิเศษ และด้วยความสัมพันธ์พิเศษวิทยากรท่านนั้นทุ่มเทความตั้งใจอย่างเต็มที่  หลังเสร็จงาน วิทยากรท่านนั้นก็พบว่าค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นจำนวนที่น้อย และคลาดเคลื่อนจากที่ได้รับรู้มาเบื้องต้น  เสียงตะโกนที่กึกก้องในใจ คือ “ทำกับฉันแบบนี้ได้ยังไง” “ไอ้คนหลอกลวง เอาเปรียบ” ฯลฯ สารพัดเสียงของความโกรธเกรี้ยว ความอับอาย ผิดหวังสาดใส่จิตใจของวิทยากรท่านั้น ตัวตนแสดงออกอย่างเต็มที่ พลางร้องตะโกนถึงความจำเป็นและความชอบธรรมที่จะทวงถามความถูกต้อง ความยุติธรรม

ในท่ามกลางความสัมพันธ์ ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ อาจเนื่องมาจากความคิดเห็นที่ไม่ลงรอย การได้รับการปฏิบัติที่ทำร้าย หรือทำลายคุณค่ามนุษย์ หรือความต้องการที่จำเป็นของมนุษย์โดยเฉพาะในทางจิตใจ เช่น การตำหนิ หยามเหยียด ทำร้ายร่างกาย จิตใจ การละเลย ทอดทิ้ง รวมไปถึงการแย่งชิง การต่อสู้เนื่องจากข้อจำกัดของทรัพยากร ฯลฯ  กระนั้นความขัดแย้งก็อาจจัดแบ่งได้ออกเป็นระดับขั้น ตั้งแต่ระดับความขัดแย้งทั่วไป ความขัดแย้งในระดับความเครียด ความคับข้องที่พอรับได้ และระดับขั้นที่เป็นความรุนแรง  ความขัดแย้งในระดับต่างๆ จึงสามารถนำไปสู่ทางออกได้ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ และในเชิงทำลาย

สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความขัดแย้ง คือ เราแต่ละคนต่างมีม่านหมอกในจิตใจในการรับรู้ ตีความ รวมถึงประเมินตัดสินสิ่งที่เข้ามาสัมผัส เกี่ยวข้อง  ม่านหมอกนี้เปรียบเหมือนเจตคติ สิ่งปรุงแต่งจิตยามที่สัมผัสรับรู้สิ่งต่างๆ ดีใจ เสียใจ ชอบใจ ผิดหวัง  ในอีกทาง ม่านหมอกนี้เปรียบเสมือนข่ายใยที่ช่วยปกป้องและนำพาชีวิตไปสู่หนทางที่ปรารถนา และเป็นแนวทางเพื่อบรรลุสู่หนทางของความพึงพอใจส่วนบุคคล  ดังเช่น เราทุกคนต่างปรารถนาในการเป็นที่ชื่นชมยินดี การได้รับความปลอดภัยมั่นคง การได้รับเกียรติ การยอมรับและการเป็นส่วนหนึ่งสังคม หมู่คณะ การเชื่อมโยงและมีมิตรไมตีต่อกัน  ในอีกทาง ม่านหมอกนี้ก็เป็นเสมือนเงามืดที่ก่อความทุกข์และร้าวรานให้กับชีวิตด้วย  ม่านหมอกจึงเป็นได้ทั้งเสมือนเกราะปกป้องชีวิต พร้อมกับเป็นคุกกักขังชีวิตด้วย

ม่านหมอกในฐานะเงามืด เกิดขึ้นเนื่องจากเราต่างเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ชีวิต  เราเรียนรู้ที่จะกำหนดท่าทีและจัดวางแบบแผนชีวิต พฤติกรรม วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว  ผลพวงที่เกิดขึ้นคือ เรามักใช้บทสรุปทั่วไปกับทุกเรื่องราวโดยไม่แยกแยะรายละเอียด ใช้บทเรียนในอดีตมาตัดสินเรื่องราวที่เกิดขึ้นปัจจุบัน รวมถึงการวางความคาดหมายในอนาคตไว้ด้วย ดังเช่น เรื่องราวของชายหนุ่มที่สรุปเรื่องราวด้วยการกล่าวโทษตนเอง แทนการสืบเสาะความจริง  หรือกรณีของวิทยากรที่ถูกตัวตนกัดกิน ทำร้าย เนื่องจากความรู้สึกตัวกู ของกู ที่ถูกกระทบ แทนการเผชิญหน้าหรือการใช้ท่าทีที่ผ่อนคลาย เมตตา อ่อนโยน ในรูปของการให้โอกาสเพื่อการสอบถาม และทำความเข้าใจกับอีกฝ่าย

ความขัดแย้งสามารถนำไปสู่ทางออกได้ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในเชิงทำลาย

ในท่ามกลางความเลวร้ายเนื่องจากความขัดแย้ง  แท้จริงความขัดแย้งก็เป็นสิ่งสร้างสรรค์ในฐานะโอกาสที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาแก้ไข การเรียนรู้ตนเองและผู้อื่น รวมถึงบทเรียนที่เกิดขึ้น  พร้อมกับเป็นโอกาสของการจัดวางความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามความผิดพลาด  แต่การที่ความขัดแย้งจะเป็นสิ่งสร้างสรรค์ได้ ก่อนอื่นสิ่งสำคัญคือ การตระหนักรู้และเท่าทันถึงม่านหมอกตัวตน และพิษภัยของตัวตนที่คอยชักชวนให้ตอบโต้ ทำลาย ผ่านความโกรธแค้น ขุ่นเคือง อับอาย  หนทางสำคัญของการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือ การเอาชนะและมองให้ทะลุถึงม่านหมอกโดยกลับมาระลึกรู้ถึงคุณค่าที่เราปรารถนา คือ ความสุข สงบเย็น ซึ่งมาจากการมองเห็นมิติของความชื่นชมยินดี การให้อภัย การมีความกล้าหาญ รวมถึงคุณธรรมอื่นๆ  และหากเราทำได้ ม่านหมอกนั้นจะกลับกลายเป็นอาภรณ์ที่คุ้มครองเสมือนธรรมะคุ้มครองตัวเรา


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน