ปัญหาชีวิตกับการรู้จักตนเอง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 26 สิงหาคม 2007

การตัดสินใจเรื่องหนึ่งๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เราให้ความสำคัญและมีความหมายกับชีวิตเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  หากปัญหาชีวิต ปัญหารอบตัวเป็นปัญหาเชิงเทคนิค หรือปัญหาที่มีความลงตัว เช่น เงินไม่พอใช้ อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้เสียหาย สุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วย ฯลฯ เราสามารถตัดสินใจและหาวิธีการแก้ไขได้ไม่ยากนัก เช่น การขอความช่วยเหลือจากผู้ช่วยชาญ การใช้เงินซื้อบริการ หรือสินค้ามาทดแทน หรือการทำงานหนักมากขึ้น การบริหารจัดการบางอย่าง

แต่ในบางปัญหาที่มีความไม่ลงตัว เช่นปัญหาในเชิงระบบคุณค่า เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  เช่นผู้บริหารควรบริหารงานและองค์กรอย่างไรดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งงานและลูกน้อง  พ่อแม่จะเลี้ยงลูกอย่างไรดี เน้นกรอบวินัย และควบคุมดูแลเพื่อให้ลูกรู้จักดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบวินัย หรือเน้นเสรีภาพความรับผิดชอบต่อตนเองให้ลูกได้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นอิสระและมีความสุขกับการเป็นตนเอง จะเลือกอะไรระหว่างเป้าหมายและวิธีการ ฯลฯ  ปัญหาเช่นนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป มีแต่การเรียนรู้ไปตามจังหวะเวลา เงื่อนไข และเหตุปัจจัยขณะนั้นๆ

ฮิโดริ (นามสมมุติ) เป็นหญิงสาวชาวญี่ปุ่น เธอเดินทางและมาอยู่ที่เมืองไทยได้ประมาณเกือบ ๑๐ ปีแล้วเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม  เธอจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ทำงานอยู่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งประมาณ ๓-๔ ปี ก่อนที่จะลาออกด้วยเหตุผลว่าเธอไม่ได้รู้สึกชอบอาชีพและสังคมเช่นนี้นัก  จากนั้นเธอก็หันเหมาศึกษาเศรษฐศาสตร์เพราะรู้สึกว่าความรู้เรื่องนี้ทำให้เธอเข้าใจสังคม เปิดโอกาสให้เธอมีบทบาทต่อสังคมผ่านแวดวงงานวิชาการ  แต่แล้วเธอก็พบว่าแม้เธอจะมีความสามารถมากเพียงใด บทบาทที่เธอทำได้ ก็คือ ฐานะผู้ช่วยวิจัยเท่านั้น เนื่องเพราะเธอไม่ได้จบปริญญาเอก ไม่มีวิทยฐานะพอที่จะเป็นนักวิจัย ทั้งที่เธอมั่นใจว่าเธอทำงานหนักไม่ต่างจากนักวิจัยคนอื่นๆ  แต่แล้วชีวิตก็หันเหให้เธอได้พบพุทธศาสนาในเมืองไทย  ความศรัทธา ความประทับใจในชีวิตเรียบง่ายของชุมชนวัดป่า ความประทับใจต่อครูบาอาจารย์ทางธรรม  เธอตัดสินใจลาออกจากงาน ร่ำลาพ่อแม่มาใช้ชีวิตเป็นอุบาสิกาเต็มที่

หลายปีผ่านมา เธอก็ยังพบว่าเธอยังไม่ได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับธรรมะ  เธอรู้สึกผิดหวัง เครียด เธอรู้สึกโกรธกับสิ่งรอบตัว และเศร้าเสียใจในบางครั้ง เธอกำลังครุ่นคิดว่าจะอยู่เมืองไทยต่อไปดี หรือว่ากลับบ้าน  เธอรู้สึกว่าเรื่องนี้ตัดสินใจลำบาก มันเหมือนภาวะที่คล้ายกับ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” เธอไม่รู้ว่าจะตอบคำถามคนรอบข้างที่ญี่ปุ่นอย่างไรดีกับคำถามว่า เธอได้อะไรบ้างจากการใช้ชีวิตที่เมืองไทยร่วมสิบปี  ขณะเดียวกันการอยู่ต่อที่เมืองไทย นอกเหนือจากการต้องเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องวีซ่า เธอรู้สึกท้อแท้กับการไปให้ถึงความหวังที่ยังดูเลื่อนลอย

ฮิโดริเป็นคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง เธอมีท่าทีรับฟัง แต่ภายในเธอก็คิดและเชื่อตนเองมากกว่า  เราทุกคนต่างมีความเป็นฮิโดริในตัวเอง และเราก็พบคนรอบข้างมากมายที่คล้ายๆ ฮิโดริ  เราอาจมีความรู้สึกต่างๆ กับเรื่องราวชีวิตของฮิโดริ แต่นั่นก็เป็นปฏิกิริยาของเรา เป็นความจริงของเรา ไม่ใช่ความจริงของโลก  ชีวิตของฮิโดริเป็นภาพชีวิตที่เราคงตัดสินแทนไม่ได้ว่า เธอตัดสินใจถูกหรือผิด เธอรู้จักตนเองหรือไม่รู้จักตนเอง เราทุกคนต่างล้วนมีคำตอบอยู่ในใจว่าเรารู้จักตนเองและเข้าใจตนเองดีพอหรือไม่  สิ่งที่พอเป็นแนวคำตอบ คือ ชีวิตที่ผ่านมาของเรา เรารู้สึกอย่างไร ชีวิตกัดข่วนเรามากน้อยเพียงใด เพราะชีวิตที่รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง โอกาสที่จะถูกทำร้าย ถูกกัดข่วนจากชีวิตก็จะมีน้อยลง

ปัญหาชีวิตและเรื่องราวรอบตัวทำให้เราเดือดร้อน ผิดหวัง เสียใจ สูญเสีย พลัดพราก ขุ่นเคือง ฯลฯ ผลักไสให้เราตกจมกับความทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ทางจิตใจ  แล้วเพราะอะไรการรู้จักตนเองจึงช่วยให้เราไม่ถูกกัดข่วนจากชีวิตที่ดำเนินอยู่ เนื่องเพราะการรู้จักตนเอง คือประตูนำไปสู่การพบว่าแท้ที่จริงเรามิใช่อะไรอื่น นอกเหนือจากการปล่อยวาง

มีคำกล่าวจากนักปราชญ์ว่า “การรู้จักสิ่งต่างๆ เป็นผู้รอบรู้  การรู้จักคนอื่นเป็นคนฉลาด  การรู้จักตนเองเป็นผู้บรรลุแล้ว”  ผู้เขียนมีแนวคิดเรื่องการรู้จักตนเองที่มองว่า การรู้จักตนเองคือ การเรียนรู้ที่จะสามารถปล่อยวางสิ่งที่เรายึดถือ และแบกหามอยู่ ไม่มากก็น้อย  เราแบกทรัพย์สินที่เราหามา เกาะกุมสายสัมพันธ์ที่เรามี ร่ำร้องเสียใจเมื่อสายสัมพันธ์หลุดลอยไป เรายึดถือและให้คุณค่ามากกับภาพลักษณ์ ใส่ใจและกังวลกับความอยู่รอดปลอดภัย  เราจะปล่อยวางสิ่งใดได้ ก็ต่อเมื่อเราตระหนักรู้ตัวในความเป็นเรา ความเป็นตัวเราที่เราอาจยังไม่รู้ตัวว่า เราแบกยึดบางสิ่งจนสิ่งนั้นกลายเป็นคุกคุมขังเราให้เรารับรู้และมองสิ่งต่างๆ อย่างบิดเบือน  เมื่อเรายึดกับความถูกต้อง เราก็หลงลืมความรู้สึก  เมื่อเราใส่ใจกับความปลอดภัย เราก็มองสิ่งต่างๆ ด้วยความระแวง สงสัย  เมื่อเราเอาแต่สนุกกับสิ่งบันเทิงเริงใจ เราก็เห็นแต่ความพอใจในความสนุกของตนเอง

ชีวิตที่รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง โอกาสที่จะถูกทำร้าย ถูกกัดข่วนจากชีวิตก็จะมีน้อยลง

ความตระหนักรู้นำเราไปสู่การพบว่า สิ่งที่เราคิด รู้สึก พูด หรือกระทำนั้น เรากระทำภายใต้แรงจูงใจอะไร  บ่อยครั้งเมื่อเราอยู่ในเกมหมากรุก เราเห็นแต่คู่ต่อสู้ แต่หากเราตระหนักและฝึกฝนที่จะรับรู้เกมหมากรุกจากมุมมองที่ไม่ได้อยู่เพียงในเกม เราอาจพบมิติใหม่ เหมือนกับเรามักเคยชินกับการมองสิ่งต่างๆ ออกนอกตัว การฝึกหัดมองเข้ามาภายในเพื่อเรียนรู้โลกภายในจิตใจของเรา ต้องอาศัยความตระหนักรู้

ขอเราทุกท่านได้จัดการกับเรื่องราวปัญหาชีวิต ไม่ให้ถูกกัดข่วน ด้วยการเริ่มต้นฝึกฝนความตระหนักรู้ในตนเอง อันนำไปสู่การรู้จักตนเองเพื่อการมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ สิ่งนี้เป็นพันธกิจที่เราต้องกระทำ เพราะหากเราละเลย ราคาที่ต้องจ่ายก็คือ ความทุกข์ที่รุมเร้าในจิตใจ

เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุขได้ จากการรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน