1. การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง
การคิดถึงแต่ตนเอง ทำให้จิตใจคับแคบ อัตตาหรือตัวตนใหญ่ขึ้น ทำให้ถูกกระทบหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นคนสุขยาก เพราะได้เท่าไรก็ไม่พอใจเสียที ใน ทางตรงข้ามการคิดถึงผู้อื่น ช่วยให้ตัวตนเล็กลงเห็นความทุกข์ของตนเองเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไรก็ยิ่งมีความสุข เพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขของเราย่อมไม่แยกจากความสุขของผู้อื่น
2. การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว
วัตถุนั้นให้ความสุขเพียงชั่วคราว แต่ก่อให้เกิดภาระทางจิตใจต่าง ๆ มากมาย การยึดติดความสุขทางวัตถุทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ แท้จริงที่มาแห่งความสุขนั้นมีอยู่ มากมาย และสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น ความสุขจากมิตรภาพ จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น จากการทำงาน จากการทำความดี และจากสมาธิภาวนา เป็นต้น การตระหนักว่าความสุขมีหลายมิติและสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ จะช่วยให้มีสุขได้ง่ายขึ้นและเป็นสุขที่ยั่งยืน
3. การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค
การหวังลาภลอย คอยโชค หรือการหวังความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งในระดับบุคคลและสังคม การหันมาตระหนักว่า ความสุขเกิดขึ้นได้จาก ความเพียรพยายามของตน ทำให้ความสุขอยู่ในอำนาจของเราเอง และทำให้เราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โชควาสนา หรือหันเข้าหาวิธีการที่เป็นโทษ เช่น อบายมุข การพนัน และการฉ้อโกง
4. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
แม้คนทุกวันนี้จะคิดเก่ง แต่ก็มักเอาอารมณ์เข้ามาเจือปน ทำให้มองคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และโน้มเอียงไปในทางเข้าข้างตนเอง การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึง เหตุผลยิ่งกว่าอารมณ์ จะช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน สามารถแยกแยะถึงความแตกต่างระหว่าง “ถูกใจ” กับ “ถูกต้อง” ได้ ซึ่งช่วยให้สามารถคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลต่อส่วนรวม อีกทั้งยังสามารถลดทอนอคติ นำไปสู่การเป็นอยู่ด้วยปัญญา และสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง
“สุขภาพ” ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก หมายถึง “สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา มิใช่เพียงการปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น”
“สุขภาพทางปัญญา” ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หมายถึง “ความรู้ทั่วรู้เท่าทัน และความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่”
เป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมุ่งเน้นและจำกัดเฉพาะเรื่องสุขภาวะทางกาย (การรักษาสุขภาพและการออกกำลังกาย) ประกอบกับสังคมไทยที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยม ได้นำมาซึ่งปัญหาทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาวะด้านอื่นๆ (กาย จิต สังคม) ตามมา
“โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา” มุ่งหมายให้ผู้คนแสวงหาความสุขที่แท้ คือความสุขที่เกิดจากการมีทัศนคติที่ถูกต้อง รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและโลก สามารถคิดถูก คิดชอบ และรู้จักแก้ทุกข์ได้ด้วยปัญญา รวมทั้งมีความสุขจากการดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม จากการเป็นผู้ให้และการทำความดี เพื่อคนอื่นหรือส่วนรวม
การมีทัศนคติที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้วางใจถูกต้อง เมื่อวางใจได้ถูกต้อง ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และทุกเวลาก่อให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การพัฒนาสุขภาพองค์รวม
ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา โดยร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคีในหลายพื้นที่และหลายรูปแบบกิจกรรม ทั้งที่เป็นโครงการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมที่ทำได้ผลดี พร้อมไปกับการสร้างและพัฒนาทั้งคนและเครือข่าย รวมทั้งสื่อสารเผยแพร่ให้สังคมไทยได้รับรู้และเห็นคุณค่าในเรื่อง “สุขแท้ด้วยปัญญา” (ฉลาดใช้ชีวิต ฉลาดมีความสุขด้วยการมีทัศนคติที่ถูกต้อง) มากยิ่งขึ้น