มดแดงแฝงธรรม

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 19 มิถุนายน 2016

ถ้าพูดตามสำนวนนักประวัติศาสตร์ก็ต้องบอกว่า มดแดงเผ่านี้มาจากแถบทวารวดี

เพื่อนชาวนครปฐมสองคนช่วยกันหาเอามาฝาก

ฟังจากที่เพื่อนเล่า บอกว่าเขาต้องต่อตัว ปีนบันได ยืดเขย่งขึ้นไปบนพุ่มมะม่วง จนถึงปลายกิ่งเป้าหมาย ก็ใช้ถุงก๊อบแก๊บสวมรวบรัง ผูกปากถุงแล้วตัดกิ่งร่วงลงพื้น เพื่อนอีกคนเก็บใส่ถุงอีกสองชั้นรัดปากแน่น แล้วใช้ปลายเหล็กแหลมเจาะรูถี่ๆ ให้อากาศผ่านได้

ผ่านคืนผ่านวัน มดแดงฝูงนั้นก็เดินทางไกลจากริมแม่น้ำนครชัยศรี มาสร้างรังใหม่ในซอยบ้านช่างงหล่อ ริมฝั่งเจ้าพระยา

หลังบ้านเรามีผืนดินขนาดราว 1 x 1 เมตร ในวงล้อมของพื้นซีเมนต์และแนวกำแพง แรกสุดมันเคยเป็นที่หยั่งรากของกล้าไม้ผล แต่ดูมันเติบโตช้าจนน่าท้อใจว่าเมื่อไรจะได้กินลูกผลของมัน พาลพาให้ไม่ค่อยจะใส่ดูแล จนในที่สุดมันก็แห้งตาย

เราเคยเปลี่ยนไปปลูกไม้ที่ให้ร่มเงา โตเร็วอย่างมะละกอ แต่อายุมันก็ไม่ยาวนานนัก

เคยปลูกไม้เถาเลื้อยอย่างน้ำเต้า ว่าจะได้กินทั้งยอดทั้งผล แต่พันธุ์ที่ปลูกรสชาติไม่ดีทั้งสองอย่าง

ต่อมาเราลองปลูกพืชสวนครัวอายุสั้นอย่าง พริก มะเขือ ก็พบว่าได้ “ผล” ดี บางช่วงเหลือกิน ได้เก็บไปแบ่งคนอื่นด้วย

ล่าสุดสาวแม่บ้านเอาเมล็ดถั่วฝักยาวลงปลูก พอมันเริ่มเลื้อยเถา ก็หาไม้ไผ่แห้งลำหนึ่งมาปักให้เกาะขึ้นไปแผ่สาขาข้างบน ซึ่งใช้เชือกผ้าโยงไขว้ไว้เป็นข่ายเหมือนโครงร่ม  พอยอดทอดทั่วไม่มีที่ไป ก็จำต้องยกพื้นที่ราวตากผ้าครึ่งให้เป็นค้างถั่วไปด้วย

เถาถั่วงอกงามแต่ที่เลาะเลื้อยจำกัด เราจึงต้องคอยดัดคอยพายอดให้เลื้อยเลี้ยวไปตามที่ว่าง ซึ่งช่วงที่มันกำลังเจริญเติบโตนี้ แค่ผ่านวันผ่านคืนถั่วจะทอดยอดออกไปเป็นคืบ ต้องคอยมองทุกเช้าทุกเย็น

และนั่นเป็นช่วงเวลาของความสุขง่ายๆ ที่ยากจะอธิบาย

เคยได้ยิน “คนปลูกต้นไม้” ทั้งหลายพูดถึงความสุขของการได้อยู่กับพรรณพฤกษา-เราก็แค่รับฟัง จนกว่าจะได้ลงมือทำนั่นเอง ถึงจะสัมผัสมันได้…

ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนแสงตะวัน ก็มาคอยเมียงมองว่ายอดนั้นกำลังพุ่งไปทางไหน แล้วจะไปไหนต่อ เราจะช่วยดัดช่วยพาไปทางไหน ต้องรอให้ยาวออกมาอีกหน่อยถึงจะพาเลี้ยวไปทางนั้นได้ รอให้มีแขนงสาขางอกมาเพิ่มทางนี้ก็จะเขียวสะพรั่งทั้งพุ่ม มองพุ่มใบไม้เขียวตรงหน้าพลางวาดภาพล่วงหน้าไปอย่างสุขใจ พลางนึกเข้าใจคนบ้าวัวชนบ้านกกรงหัวจุกที่เขาเล่าล้อเชิงขำขันกันว่า วันๆ อยู่กับพวกนั้นมากกว่าอยู่กับเมีย

ตอนที่หลานพูดขึ้นมาว่า ท่าจะต้องหาอะไรมาฉีดพ่นค้างถั่วแล้วแหละ  ภูมิปัญญาพื้นบ้านปักษ์ใต้ที่เคยเห็นเมื่อนับ ๓๐ กว่าปีก่อน ถึงวาบขึ้นในหัวข้าพเจ้าอีกครั้ง

ในยุคที่ยาฆ่าแมลงยังเดินทางเข้าไปไม่ถึงบ้านสวนตีนเขาประ (กระบี่) และไม่มีใครที่นั่นพูดศัพท์วิชาการเกษตรอย่างคำว่า ตำห้ำตัวเบียน  ค้างถั่วของชาวบ้านมักถูกรบกวนด้วยแมลงตัวมีกลิ่นฉุน ที่คนปักษ์ใต้เรียก “แมงฉ็อง” มาเจาะกินฝักถั่วลีบแฟบ  กับเพลี้ยตัวสีแดงที่ชาวบ้านเรียก “คร็อม” มาเกาะกินโคนฝักบิดเบี้ยวเสียรูป แลอัปลักษณ์เหมือนรังคลั่งตามกิ่งฉำฉา

ถ้าถั่วโดนแมงฉ็องหรือคร็อมเล่นงาน แม่ก็จะไปหามดแดงมาให้ทำรังอยู่ที่ค้างถั่ว

ออกไปเดินหารังมดแดงตามพุ่มไม้ข้างบ้าน เอาพร้าสับกิ่งแล้วใช้จมูกพร้าเกี่ยวกิ่งถือกึ่งวิ่งไปให้ถึงค้างถั่วก่อนมดแดงไต่ตามด้ามพร้ามาถึงมือ ซุกรังที่เพิ่งตัดมานั้นไว้ในพุ่มถั่ว พอใบไม้ที่เป็นรังเดิมแห้งเหี่ยว มดแดงก็จะย้ายทำรังใหม่ด้วยใบถั่ว

จนกว่าจะได้ลงมือทำนั่นเอง เราถึงจะสัมผัสมันได้ และนั่นเป็นช่วงเวลาของความสุขง่ายๆ ที่ยากจะอธิบาย

ค้างถั่วของสาวแม่บ้าน มีมดแมงมากรุ้มรุมตามช่อดอกตั้งแต่เริ่มออกดอก จึงยังไม่ได้เห็นฝักอ่อนสักฝัก

หลานที่อยู่ด้วยเปรยว่าท่าจะต้องหายาอะไรมาฉีดพ่น

ข้าพเจ้าคิดถึงแม่

แต่ในเมืองจะหารังมดแดงได้ที่ไหน

จนเมื่อเปรยออกไปและเพื่อนจัดหามาให้  มดแดงจากบ้านสวนนครปฐมจึงได้มาสร้างอาณาจักรใหม่ ในซอยบ้านช่างหล่อ ธนบุรี

แต่จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม การอพยพโยกย้ายใหญ่ๆ มักมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นด้วยเสมอ

ตอนที่ข้าพเจ้าเปิดปากถุงใส่รังมดแดงออกทีละชั้นกระทั่งถึงชั้นในสุด ฝูงมดแดงตัวที่แข็งแรงกว่าก็พากันกรูออกมาราวอัดอั้นกับการต้องอยู่ในนั้นมานาน แล้วพากันเดินไปจับจองที่อยู่ใหม่ตามใบถั่ว

ใบมะม่วงที่เคยเป็นรังของมันยังเขียวสดแต่แยกจากกันไม่เหลือรูปรัง บางใบขาดร่วง พอคุ้ยลงไปข้างใต้ถึงได้เห็นว่ามีมดแดงตายรวมกันอยู่ก้นถุงเป็นกอง

พอไปเล่าให้เพื่อนฟังก็มีคนแซวผู้ที่จัดหามาว่า เป็นบุญที่เอาของมาฝากคนอื่น แต่เป็นบาปที่ทำให้บางตัวต้องตายไป

กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมดังว่านั้น คงไม่ได้ตกอยู่แค่คนทำ แต่คนขอหรือผู้ไหว้วานก็ย่อมต้องมีส่วนด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แต่ในรวงรังใหม่ที่ยังได้อยู่อย่างเสรี ไม่ได้ถูกบังคับกักขัง  กับการมาของมันเป็นการช่วยป้องกันการฆ่าสรรพชีวิตในธรรมชาติด้วยยาฆ่าแมลงอย่างมากมายนับไม่ถ้วน

ก็คงพอช่วยไถ่ถอนโทษปาณาติบาตอันมิได้มีเจตนาลงไปได้บ้าง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ