การเติบโต: จิตรู้เคารพ รู้คุณธรรม

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 5 กุมภาพันธ์ 2012

ในช่วงการอบรมเรื่องเรียนรู้บทเรียนชีวิต กิจกรรมที่มีการใช้คือ การขอให้ผู้เข้าอบรมลองระลึกถึงบุคคลสักท่านหนึ่งที่เราอยากระลึกถึง และขอบคุณบุคคลท่านนี้ ในฐานะที่ท่านมีส่วนไม่มากก็น้อยที่นำพาให้ชีวิตของเรามาเป็นตัวเราในทุกวันนี้  แน่นอนว่าเราทุกคนต่างล้วนมีบุคคลมากน้อยที่ล้อมรอบชีวิตและเกื้อหนุนเรา แต่ขอให้นึกถึงและเลือกเพียงท่านเดียว  สิ่งที่พบคือ ขณะการดำเนินไปของกิจกรรม  พลังงานจากอารมณ์ ความรู้สึกก็แสดงออกถึงความตื้นตันใจ ซาบซึ้ง อบอุ่นในสายสัมพันธ์ที่เราได้รับจากบุคคลพิเศษที่เราได้ระลึกถึง

จากเนื้อหาที่ถ่ายทอดและบอกขอบคุณจากผู้เข้าอบรมแต่ละท่าน สิ่งที่พบคือ การที่เราได้รับความรัก ได้การให้โอกาส การให้อภัย ฯลฯ สำนึกความขอบคุณมาจากความรัก ความเมตตา ทั้งจากการให้และการรับ  สำนึกการขอบคุณนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะบุคคลพิเศษท่านนั้นร่ำรวยหรือยากจน ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ฉลาดเก่งกาจหรือโง่เขลาอะไร  สำนึกขอบคุณเกิดขึ้นเพราะบุคคลพิเศษมีน้ำใจ มิตรไมตรี และความรัก กรุณาเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง  ข้อค้นพบอีกประการคือ ช่วงระหว่างและภายหลังกระบวนการ จิตใจของทั้งผู้ฟังและผู้เล่ามีความอ่อนโยน นุ่มนวล เปี่ยมด้วยความอ่อนโยน ซาบซึ้ง เข้าอกเข้าใจ  และที่สำคัญ สำนึกของภราดรภาพเกิดขึ้นจากการค้นพบร่วมกันว่าเราต่างต้องการความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน

เรื่องของน้ำใจ มิตรไมตรี เป็นเรื่องที่อยู่ในสำนึกในวัฒนธรรมไทย  สำนึกเรื่องของบุญคุณ ระบบอาวุโส การเคารพนบนอบ สะท้อนถึงคุณภาพของจิตใจที่รู้เคารพ  คุณภาพของจิตใจเช่นนี้มีความหมายและความสำคัญ เพราะช่วยจัดระเบียบความสัมพันธ์ภายใต้สายสัมพันธ์ด้วยความเคารพ  อย่างไรก็ดี จิตรู้เคารพนี้ยังมีระดับความลึกซึ้ง  หลายคนคิดถึงสายสัมพันธ์ที่ตนเองมีกับบุคคลรอบข้าง ชุมชน สังคมประเทศ  ขณะที่หลายคนอาจจำกัดแค่สายสัมพันธ์เฉพาะกับตนเอง หรืออาจเผื่อแผ่แค่คนใกล้ชิด คนที่มีผลประโยชน์ร่วม  ขณะที่หลายคนก็อาจเผื่อแผ่สายสัมพันธ์ได้แม้กับคนแปลกหน้า คนด้อยโอกาส คนยากจน อาจรวมถึงกับสิ่งแวดล้อม กับธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สรรพสัตว์ต่างๆ  การดำเนินชีวิตของเราแต่ละคนจึงมีการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ รอบตัว ขึ้นกับระดับความกว้าง ความลึกซึ้งของภาวะจิตใจที่รู้เคารพกับสิ่งรอบตัวทั้งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต สูงกว่าหรือต่ำกว่าชีวิตของเรา

น้ำใจ มิตรไมตรี ก่อให้เกิดความเกรงใจ  เมื่อสายสัมพันธ์เกิดการกระทบกับเรื่องของหลักการ กฎหมาย หรือจริยธรรม กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคุณค่าเราจะทำอย่างไรดี  กรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องความขัดแย้งนี้คือ เปาบุ้นจิ้น ผู้ทรงความยุติธรรม  ในวัยเด็กท่านเติบโตและได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สาวผู้มีพระคุณ ท่านจึงเคารพรักพี่สาวเสมือนผู้ให้ชีวิต  ความยากลำบากเกิดขึ้นเมื่อลูกชายของพี่สาวซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของเปาบุ้นจิ้นทำผิดกฎหมายและศีลธรรม คือ ทอดทิ้งบุตรภรรยา และหลอกลวงเบื้องสูง  เปาบุ้นจิ้นในฐานะผู้รักษากฎหมายต้องเผชิยกับความยากลำบากในระหว่างการต้องเผชิญกับระบบคุณค่าในเรื่องของบุญคุณสายสัมพันธ์ กับระบบคุณค่าที่เป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม  ในที่สุด เปาบุ้นจิ้นยอมที่จะเป็นลูกอกตัญญู และเลือกที่จะเคารพต่อหลักจริยธรรมแทนสายสัมพันธ์บุญคุณส่วนตัว  ผลการตัดสินใจเช่นนี้ เปาบุ้นจิ้นจึงได้รับความเคารพนับถือในฐานะผู้ทรงความยุติธรรม

ภาพวาดเปาบุ้นจิ้น

จิตรู้คุณธรรม รู้จริยธรรม จึงเป็นคุณภาพจิตใจที่เราทุกคนพึงใส่ใจและเพาะหว่านให้งอกเงยในตัวเรา  คุณภาพจิตใจนี้เป็นสำนึกในเรื่องของหลักการ กฎเกณท์ที่มีต่อเรื่องของส่วนรวม ความถูกต้องเหมาะสม  และหลักกฎเกณฑ์นี้ก็ต้องสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ในสังคมให้อยู่ด้วยกันโดยสันติ มีความเป็นประชาธิปไตย  คุณภาพจิตใจนี้ช่วยปกป้องให้เราข้ามพ้นความเห็นแก่ตัวที่มีกับพวกพ้องจนละเลยกฎเกณท์ ความถูกต้องเหมาะสม

เราแต่ละคนมีการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ รอบตัว ตามระดับความกว้าง ความลึกซึ้งของภาวะจิตใจที่รู้เคารพต่อสิ่งนั้นๆ

ภายใต้กระแสบริโภคนิยมก่อให้เกิดการละเมิด ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ภาคการบริโภคจำเป็นต้องสร้างสำนึกในหมู่ประชาชนถึงการตระหนักรู้ในจริยธรรมการบริโภค  จริยธรรม คือธรรมะว่าด้วยการประพฤติ การปฏิบัติในการดำเนินชีวิต จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ  และโดยเฉพาะยามเมื่อตัวเราและหรือสังคมกำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายหรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน และประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คุกคามสังคมประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ  คุณภาพของจิตใจมนุษย์ที่ตระหนักรู้และพัฒนาจิตใจที่รู้คุณธรรม รู้จริยธรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เราจะพัฒนา รื้นฟื้น หรือสร้างสรรค์จิตใจที่รู้จริยธรรม รู้เคารพได้อย่างไร  นี่คือภารกิจที่ต้องการการตระเตรียมปลูกฝังตั้งแต่การศึกษาภาคปฐมวัย และการเลี้ยงดู  ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ก็จำเป็นต้องอาศัยพลังของการเรียนรู้ การตระหนักรู้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม กับชีวิต  จิตใจของเราทุกคนมีความวิเศษ มหัศจรรย์มากในฐานะประธาน จุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลง  แต่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือเลว ก็ขึ้นกับเราได้หยิบยื่น ป้อนอาหารอะไรให้กับจิตใจของเราและคนอื่น ๆ

ณ ขณะนี้เรากำลังป้อนอาหารอะไรให้กับจิตใจของตนเอง จิตใจของคนรอบข้าง ผู้คนที่เราใกล้ชิดด้วย  สอดคล้องหรือขัดแย้งกับจิตใจที่รู้เคารพ รู้จริยธรรมหรือไม่ อย่างไร  ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน