สันติภาพย้อนศร

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ 14 เมษายน 2013

บุรุษทิเบต ในชุดลำลองแต่สุภาพ ขึ้นกล่าวปาฐกถา ในงานปาฐกถาเสมพริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ 19 ด้วยกิริยาท่าทางที่ผ่อนคลายเป็นกันเอง  แม้ว่าก่อนการปรากฏตัว ได้มีการกล่าวแนะนำท่านผู้นี้ในบทบาทของการเป็นนักการทูต นักเจรจาสันติภาพกรณีจีน – ทิเบต กระทั่งการเป็นผู้แทนพระองค์ของท่านทะไลลามะ ผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวทิเบต บทบาทหน้าที่อันสำคัญทั้งหลาย แต่ดูเหมือนท่านไม่ได้หอบหิ้วบทบาทหน้าที่เหล่านั้นขึ้นเวทีไปด้วย

“พุทธธรรม มรรคาสู่ปัญญาและสันติภาพ” หัวข้อปาฐกถาที่ดูยิ่งใหญ่ แต่บุรุษผู้นี้กลับเลือกที่จะเกริ่นกล่าวถึงในสิ่งสามัญ ท่านเปิดเผยว่า ท่านได้ลืมแว่นตาไว้ จึงทำให้ไม่ได้ตระเตรียมเนื้อหามามากนัก หากแต่จะเป็นการบอกเล่าถึงประสบการณ์ และบทเรียนจากการทำงานของตัวท่านเอง …ตลอดระยะเวลาราว 2 ชั่วโมงเศษ ที่ท่านถ่ายทอดเรื่องราว แนวคิดการทำงานของท่าน ทำให้เราเห็นว่า พุทธธรรมได้เอื้อต่องานที่ยากยิ่งได้อย่างไร

ในฐานะชาวทิเบต ผู้ร่วมชะตากรรมกับพี่น้องร่วมชาติ แน่ละ! ท่านย่อมรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทนที่ชนชาวทิเบตถูกจีนรุกรานล่วงละเมิดสิทธิความเป็นคนเช่นเดียวกับคนทิเบต ที่ไม่เพียงแต่ไม่อาจเป็นมิตรกับรัฐบาลจีนเท่านั้น แม้แต่ประชาชนชาวจีนก็ยังรู้สึกแบ่งแยก และผลักให้ไปอยู่คนละฟากฝั่งกับตนเองด้วยซ้ำ

กระทั่งวันหนึ่ง ขณะที่ท่านไปบรรยายที่มาเลเซีย ท่านได้พบกับสาวมาเลย์เชื้อสายจีนคนหนึ่ง นางเข้ามาสวมกอดท่าน ร้องไห้สำนึกเสียใจที่พี่น้องร่วมชาติของนางได้กระทำรุนแรงต่อชาวทิเบต  ณ นาทีนั้นเอง ท่านโลดี้บอกว่า กำแพงในใจที่เคยขวางกั้น แบ่งเขาแบ่งเราระหว่างคนจีนกับคนทิเบต ทะลายลงเสียสิ้น  ท่านรู้สึกผิดที่ได้โกรธ เคียดแค้นชาวจีนตลอดมา และท่านก็รู้ได้ทันทีว่า ในนามของรัฐชาติ แม้ว่าจีนจะกระทำการใดๆ ต่อชนชาวทิเบตก็ตาม หากแต่ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาสามัญ แม้จะเป็นเพียงคนจีนคนหนึ่ง ก็ย่อมเกิดความสะเทือนใจต่อชะตากรรมร่วมของมนุษย์ไม่ว่าจะสังกัดรัฐชาติใดก็ตาม ความเห็นอกเห็นใจในความยากลำบากย่อมไม่มีพรมแดนแห่งรัฐขีดกั้น

นับแต่นั้นมา ท่านโลดี้ก็รู้สึกเป็นมิตรกับคนจีนได้โดยสนิทใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นเป็นบทเรียนสำคัญที่ท่านชี้ให้เห็นว่า แม้ว่า ตัวท่านจะทำงานในกระบวนการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพระหว่างรัฐ แต่ในใจยังคงกรุ่นไปด้วยความรู้สึกร้าวลึกต่อชนชาติคู่กรณี การสะสางความรู้สึกภายในของตัวเอง ทำให้ท่านชัดแจ้งในสันติภาพภายในใจของตัวท่านเอง

ท่านโลดี ยัลเซน เกียรี ระหว่างออกรายการ Voice of America ภาคภาษาทิเบต เมื่อปี ค.ศ. 2010

อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ กรณีที่รัฐบาลจีนปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989 (พ.ศ.2532) ครั้งนั้น การกระทำที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนต่อประชาชนจีนเอง ถูกจับตามองจากทั่วโลก ท่านทะไลลามะ ประมุขแห่งทิเบต ได้ขอให้ท่านออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลจีน แต่ตัวท่านเองกลับรู้สึกขัดแย้ง เนื่องจากขณะนั้น กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างทิเบตกับจีนกำลังมีความคืบหน้าด้วยดี หากมีการออกแถลงการณ์ประณามจีน ย่อมต้องมีผลต่อกระบวนการเจรจาเป็นแน่

ระหว่างที่ยังลังเลใจอยู่นั้น ท่านทะไลลามะได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า การกระทำของรัฐบาลจีนที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทิเบตควรต้องมีจุดยืนและความกล้าหาญทางศีลธรรม โดยไม่ยึดเอาผลประโยชน์เฉพาะหมู่พวกตนเป็นที่ตั้ง ต้องกล้าที่จะประณามสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มากกว่ารักษาผลประโยชน์ที่ชาวทิเบตจะได้จากการเจรจา  การกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะต่อคนจีน หรือคนทิเบต ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมดุจเดียวกัน มนุษย์เราต่างต้องการเสรีภาพและสันติสุขเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม

ท่านเกียรี (ที่สองจากซ้าย) ขณะติดตามท่านทะไลลามะไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1973

บทเรียนจากการทำงานในกระบวนการเจรจาสันติภาพกับจีนมาตลอด 40 ปีของบุรุษผู้นี้ ท่านได้เรียนรู้ถึงความเคารพนับถือกันและกัน การมองคู่กรณีอย่างเป็นมิตร เป็นการก้าวข้ามพ้นความโกรธเกลียดชิงชังและอคติทั้งปวง  ที่สำคัญและยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทำงานด้านกระบวนการเจรจาระดับรัฐ ก็คือ การสร้างสันติภาพในใจของตนเอง

การที่สามารถมองข้ามทะลุความแข็งกร้าวของจีนเข้าไปจนพบว่า แท้ที่จริงจีนมีเพียงความรู้สึกกลัว ความรู้สึกไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคนทั้งโลกพากันยกย่องความเป็นมหาอำนาจของจีน ก็ยิ่งทำให้จีนจำต้องรักษาความยิ่งใหญ่ของตนเองมากขึ้น นั่นทำให้รัฐบาลจีนยิ่งต้องมีท่าทีอันแข็งกร้าวมากขึ้นตามไปนั่นเอง

มนุษย์เราต่างต้องการเสรีภาพและสันติสุขเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม

การทำงานระดับรัฐชาติที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เวลาอันยาวนาน แท้ที่จริงแล้ว สำหรับท่านคือการเดินทางย้อนศร กลับมาสู่การฝึกฝนปัญญาและสันติภาพในใจตน

ปาฐกถาจบลงอย่างง่าย งาม แต่คงความลึกซึ้ง แม้ว่าเนื้อหาจะมิได้ผ่านการตระเตรียมเพียงเพราะผู้พูดลืมแว่นตาไว้ สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังในวันนั้น จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อในตัวในความรู้สึก และสื่อออกมาจากใจอย่างมิต้องเตรียมการใดๆ ท้ายที่สุดก็เห็นว่า พุทธธรรม ความดีงาม เป็นสิ่งจำเป็นเพียงใด ในภาวการณ์แห่งความขัดแย้งที่ตึงเครียด


ประวัติท่านโลดี ยัลเซน เกียรี Lodi Gyaltsen Gyari

เกิดเมื่อปี 1949 ในครอบครัวที่ทรงอิทธิพลที่ Nyarong ภาคตะวันออกของทิเบต และถือว่าเป็นลามะที่กลับชาติมาเกิด (หรือที่เรียกว่า ‘รินโปเช’) การศึกษาปฐมวัยเป็นไปตามแบบจารีตสงฆ์ของทิเบต และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโศกนาฏกรรมในแผ่นดินแม่ จนต้องลี้ภัยไปอินเดียเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติ

ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2533 ได้ดำรงตำแหน่งอาวุโสสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐบาลพลัดถิ่นแห่งทิเบตในอินเดีย ทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาด้วย เป็นประธานรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งด้วยอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น และยังเป็นผู้มีอายุน้อยสุดที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านทะไลลามะให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ของรัฐบาลทิเบต และยังได้ปฏิบัติงานที่กรุงวอชิงตันดีซีตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา ในฐานะผู้แทนพระองค์ของท่านทะไลลามะ เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการเจรจากับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามด้านการทูตที่จะส่งเสริมให้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง

เป็นประธานฝ่ายบริหารของโครงการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อทิเบต (International Campaign for Tibet) เป็นนักการทูตที่มีสีสันและความสามารถ ทุ่มเททั้งจิตใจให้แก่ประชาชนชาวทิเบต เป็นที่นับถือยกย่องของบรรดาผู้นำโลกและบรรดานักการทูตทั้งหลาย


ภาพประกอบ

นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

ผู้เขียน: นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ

หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ