เราถูกสอนมาตั้งแต่จำความได้ว่า เราต้องมีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถวัดผลได้ตามมาตรฐานของสังคมนั้นๆ เช่น เป็นเศรษฐีเงินล้าน มีบ้านมีรถมีคอนโด เป็นผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ หรือเป็นข้าราชการชั้นสูง ผลก็คือเราเอาสายตาและหัวใจไปฝากไว้ในที่ไกลโพ้นจนลืมสิ่งที่มีอยู่ข้างกายซึ่งให้ความสุขแก่เราได้ แต่ แซม เบิร์นส ไม่ได้คิดและทำเช่นนั้น
แซม เบิร์นเกิดมาพร้อมกับโรคความผิดปกติทางยีนชื่อโรคโปรจีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ 1 คนในทุก 4 ล้านคน โดยปัจจุบันมีเด็ก 350 คนทั่วโลกที่เป็นโรคนี้ โรคนี้ทำให้เขาตัวเล็กจิ๋วน้ำหนักแค่ 20 กิโลกรัม ใบหน้าเล็กและแก่กว่าวัย โดยเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ เด็กโปรจีเรียจะมีสภาพกระดูก ผิวหนัง และหลอดเลือดหัวใจเท่ากับคนแก่อายุ 70 ปีนั่นเลยทีเดียว พวกเขาจึงต้องทนทุกข์ทรมานกับความเสื่อมถอยทางกายก่อนวัยอันควร เช่น โรคหัวใจ โดยคนเป็นโรคนี้จะมีอายุเฉลี่ยเพียง 13 ปีเท่านั้น
แซมไม่เคยปล่อยให้ข้อจำกัดทางกายมีอิทธิพลเหนือความคิดหรือทำให้เขาทุกข์ใจ แซมบอกว่าโรคโปรจีเรียทำให้มีอุปสรรคในชีวิตมากมาย แต่เขาไม่อยากให้ผู้คนรู้สึกแย่ไปกับเขา เพราะโปรจีเรียเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ในชีวิตเขา เขาไม่ได้คิดถึงมันตลอดเวลาและเขาสามารถเอาชนะมันได้ ตอนที่มารดาของเขาและทีมนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ผลงานการรักษาโรคโปรจีเรียเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อสองปีที่แล้ว มีนักข่าวถามเขาว่ามีสิ่งใดที่สำคัญที่สุดที่ผู้คนควรรู้จักเขา เขาตอบสั้นๆ ว่า “ผมมีชีวิตที่มีความสุข”
แซมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนหลักการที่เขาพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า “ปรัชญาความสุขของผม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนที่สมบูรณ์แข็งแรงที่วิ่งหาความสุขอันไกลลิบอย่างขาขวิดและบางครั้งเสียหลักหัวทิ่มในสังคมบ้านเราควรเอาเป็นตัวอย่างอย่างยิ่ง
เพราะยังมีสิ่งที่คุณทำได้อีกมากมาย ผู้คนชอบถามเขาว่าเป็นโปรจีเรียลำบากมากมั้ย แต่เขาอยากจะบอกว่าเขามีชีวิตอยู่โดยแทบไม่ได้คิดถึงโปรจีเรียเลย มันไม่ได้หมายความว่าเขาเพิกเฉยต่อผลลบที่มีอยู่ เขาเพียงแค่รับรู้ แล้วพุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ตัวเองรักและอยากทำ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา หรืออ่านการ์ตูน และบางทีเขาก็เขียนสิ่งที่เขาทำได้ไว้ในบัญชี “สิ่งที่ฉันทำได้” หนึ่งในความฝันที่เด็กตัวเล็กจิ๋วอย่างเขาทำได้และภาคภูมิใจคือ การเป็นคนตีกลองแต้กในวงโยธวาทิตของโรงเรียน และเข้าร่วมการแสดงใหญ่ในชุมชน
แซมโชคดีที่มีครอบครัวและเพื่อนที่ดี แม้เขาจะเคยออกสารคดีระดับประเทศซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของชีวิต แต่เขาคิดว่าการแวดล้อมด้วยผู้คนในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างแท้จริง ดังนั้นเขาจึงอยากให้ผู้คนรักครอบครัว รักเพื่อน รักพี่น้อง รักครู และชุมชน และเขาหวังว่าเขาจะมีอิทธพลในเชิงบวกต่อคนรอบข้างเช่นนั้นด้วยเช่นกัน
สำหรับเขา การเคลื่อนไปข้างหน้าอาจเป็นแค่การอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดให้จบ การไปพักร้อนกับครอบครัวขนาดใหญ่ของเขา หรือไปดูฟุตบอลกับเพื่อนๆ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขามีจุดสนใจเฉพาะ ทำให้เขามุ่งไปข้างหน้า และผ่านความยุ่งยากในชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การเคลื่อนไปข้างหน้ารวมถึงในเชิงจิตใจด้วย นั่นคือเขาจะไม่เสียพลังงานไปกับการคิดถึงเรื่องแย่ๆ เพราะมันจะไม่มีพื้นที่สำหรับความสุขหรืออารมณ์อื่นๆ เลย เขาย้ำว่าเขาไม่ได้เพิกเฉยกับความทุกข์ เขาเปิดรับมันเข้ามา รับรู้มัน และทำสิ่งที่ควรทำเพื่อเคลื่อนผ่านมันไป
หากตามไปดูสารคดีชีวิตและครอบครัวของแซมในเรื่อง Life According to Sam จะพบว่าเขาได้รับอิทธิพลการมองและใช้ชีวิตจากพ่อแม่ของเขานั่นเอง…ซึ่งตรงกับที่แซมบอกว่าคนที่อยู่ใกล้เราจะมีอิทธิพลต่อเราอย่างจริงแท้แน่นอนที่สุด… ก่อนหน้านี้พ่อแม่ของเขามีชีวิตดุจเทพนิยาย หลังจบโรงเรียนแพทย์ก็แต่งงานมีลูกมีครอบครัวแสนสุข แต่แล้วเหมือนสวรรค์ล่มเมื่อลูกน้อยอายุสองขวบถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ไม่เคยมีการศึกษาวิจัยและวิธีการรักษามาก่อน
แม่ของแซมบอกว่าเธอยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่โดยดี “เราไม่สามารถควบคุมได้ ต้องยอมจำนน และปล่อยให้เป็นไป…ไม่เกิดมรรคผลเลยที่จะคิดว่ามันไม่ยุติธรรม แค่ปล่อยมันไป” ส่วนพ่อของแซมบอกว่า “ผมเปลี่ยนไป พุ่งความสนใจกับปัจจุบันมากขึ้น คุณไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น”
ทั้งคู่พุ่งความสนใจไปที่ปัจจุบันคือ การดูแลแซม และเป้าหมายข้างหน้าคือ การหาวิธีรักษาแซมและเด็กที่เป็นโปรจีเรียทั่วโลก มารดาของเขาซึ่งเป็นแพทย์และทีมงานนักวิทยาศาสตร์ใช้เวลา 4 ปี ค้นหายีนโปรจีเรียและการทำงานของมัน จากนั้นใช้เวลาอีกหลายปีต่อมาเพื่อพัฒนายาและทดลองกับเด็กที่เป็นโปรจีเรียทั่วโลก กว่างานวิจัยจะได้รับการยอมรับและองค์กรภาครัฐให้นำไปใช้กับเด็กที่เป็นโรคโปรจีเรียทั่วโลกได้เมื่อแซมอายุ 16 ปี ก่อนแซมจากโลกนี้ไปเพียง 1 ปี เท่านั้น…
พ่อแม่ของแซมทำเช่นเดียวกับที่แซมทำคือ พุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำได้มากกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้
จงโอเคกับสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่คุณทำได้อีกมากมาย… ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดว่ามันไม่ยุติธรรม เราก็แค่ปล่อยมันไป
มกราคมปีนี้ (พ.ศ. 2558) ครบรอบหนึ่งปีที่แซม เบิร์นจากไปด้วยวัย 17 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สูงกว่าอายุเฉลี่ยของเด็กที่เป็นโรคโปรจีเรียคือ 13 ปี เขาจากไปภายหลังการขึ้นพูดบนเวทีปาฐกถาเท็ดเรื่อง “ปรัชญาชีวิตที่มีความสุขของผม” เพียงไม่กี่เดือน
ในเวทีนั้นเแซมกล่าวว่า ตอนเป็นเด็กเขาอยากเป็นวิศวกรหรือนักประดิษฐ์เพื่อสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร เขาเชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และเมื่อเขาเปลี่ยนแปลงโลกได้ เขาก็จะมีความสุข ซึ่งเราก็เชื่อว่าเขาจากไปอย่างมีความสุขแน่ๆ เพราะคนอย่างแซม เบิร์นส ไม่เคยยอมเสียพลังงานให้กับอารมณ์เชิงลบและได้ทำในสิ่งที่เขาทำได้แล้ว และเรื่องราวของเขาสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสุขไปทั่วโลก
ดูปาฐกถาเท็ด ปรัชญาชีวิตแสนสุขของผม ที่นี่
ดูสารคดีเรื่อง Life According to Sam ที่นี่
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง