ระหว่างที่รอรถประจำทางเพื่อไปยังที่หมาย สาวประเภทสองวัยกลางคนเดินทักทายไหว้ผู้คนตามรายทาง พร้อมกับยิ้มทักทายสื่อสารราวกับพนักงานต้อนรับ ผู้คนรอบข้างบางส่วนเลือกที่จะเดินหลีกห่าง บางส่วนเลือกที่จะอยู่เงียบ ยิ้มและรับรู้ เธอค่อยๆ เดินไปตามทาง ไม่ได้ทำร้ายหรือแสดงอะไรที่เป็นภัย มองปราดเดียวทุกคนต่างรับรู้ว่าเธอผู้นี้คงวิกลจริต เธอมีครอบครัวหรือไม่ เธอเป็นใคร มาจากไหน ป่านนี้ญาติๆ (ถ้ามี) กำลังทำอะไรเพื่อเชื่อมโยงกับเธอได้อีกครั้ง
สายสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงตัวเรากับผู้คนรอบข้าง กับบริบทรอบตัวในชีวิต สายสัมพันธ์เป็นเสมือนเส้นเชือกที่ร้อยรัด ผูกพันตัวเรา คุณภาพและลักษณะของเส้นเชือก คือสิ่งที่บ่งบอกคุณภาพของสัมพันธภาพ และคุณภาพสัมพันธภาพนี้ก็ต้องการอาหารเพื่อบำรุงและหล่อเลี้ยงคุณภาพ ยิ่งกรณีของคนสำคัญ คนที่มีความหมายกับชีวิตของเรา การดูแลสัมพันธภาพถือเป็นภารกิจแห่งชีวิต
ผู้เขียนคิดว่า ผู้อ่านหลายท่านคงมีประสบการณ์การเข้าใจเรื่องการดูแลสัมพันธภาพในเรื่องเส้นสายทางธุรกิจ การสร้างเครือข่ายในเชิงพวกพ้อง หรือเครือข่ายสถาบัน จนนำไปสู่การมีผลประโยชน์ร่วมกันทางธุรกิจ อันสร้างผลร้ายต่อระบบสังคมและวัฒนธรรม เป็นการกีดกันทั้งโอกาส การพัฒนาความสามารถ และการเติบโตในหลายๆ ด้าน เนื่องมาจากความเป็นพวกพ้อง เครือข่ายสัมพันธภาพเช่นนี้ ถือเป็นพยาธิสภาพที่ทำร้ายสังคม และสักษณะนี้ไม่ใช่ความหมายการดูแลสัมพันธภาพที่ผู้เขียนมุ่งกล่าวถึง
สัมพันธภาพที่ดีต้องการการบำรุงหล่อเลี้ยงจากอาหาร และอาหารบำรุงหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ที่ว่านี้คือ “ภาษารัก” ซึ่งก็คือ ท่าทีการสื่อสารและการกระทำที่สร้างเสริม ต่อเติม และยืนยันในความรัก หรือความเชื่อมโยงในสัมพันธภาพ
กล่าวได้ว่า ภาษารัก ก็คือรูปธรรมของความเมตตากรุณา ที่เราส่งมอบให้กับผู้คน สัตว์ และสภาพแวดล้อม อันเริ่มต้นด้วย
คือ การบอกความรู้สึกเชิงบวกให้กับคนสำคัญได้รับรู้ เช่น ฉันรักเธอ แม่รักลูก พ่อเป็นห่วงแกนะ ฯลฯ การบอกกล่าวคำพูดยืนยันเชิงบวกเช่นนี้ เป็นเสมือนการหยิบยื่นน้ำฝนใสสะอาดให้อีกฝ่ายได้ดื่มกิน สร้างความชุ่มชื่นในจิตใจ
ในบางกรณี ภาษารักนี้ถูกสื่อสารในรูปของคำถาม บางคนใช้การถามไถ่ บางคนใช้การสนทนา ข้อพึงระวังของการใช้ภาษารักในรูปของคำถามหรือการชวนสนทนา จะต้องไม่สร้างผลกระทบทางลบโดยไม่เจตนา เช่น สร้างความหงุดหงิดรำคาญให้อีกฝ่าย หากว่ามีการใช้มากเกินไป หรือเจือปนด้วยความคาดหวังกดดันที่จะได้คำตอบ จนอีกฝ่ายเสียอิสรภาพ
ความรัก ความใส่ใจ ถูกสื่อสารด้วยการกระทำในรูปของการปรนนิบัติ การดูแลให้บริการ เพื่อส่งมอบความสะดวกสบาย ความสุข และความพอใจ เช่น การดูแลยามเจ็บป่วย พ่อแม่ทำอาหารดูแลซักล้างเสื้อผ้า เด็กๆ ทำความสะอาดบ้านช่วยแบ่งเบาภาระผู้ใหญ่
ภาษากาย ถือเป็นภาษารักที่มีความหมายและความสำคัญ เช่น การโอบกอด การบีบนวดที่เด็กทำให้ผู้ใหญ่ คู่ชีวิตทำให้อีกฝ่าย
เราสามารถมองเห็นผลลัพท์ของการสื่อสารภาษารักนี้ได้ง่ายมากในเด็กๆ ที่ได้รับการโอบกอดด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ
ของขวัญในฐานะสื่อแทนน้ำใจไมตรี การส่งมอบความระลึกถึงและคุณค่าที่มอบให้ต่อกันในรูปของรูปธรรม สิ่งของที่จับต้องได้
สิ่งที่พึงระวังคือ ภาษารักเช่นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่พึงตระหนักในสังคมทุนนิยมที่ให้ความสำคัญในเชิงวัตถุ การให้ของขวัญกลายเป็นเครื่องมือหลักและสำคัญที่พ่อแม่ให้กับลูกๆ เช่น การให้ของขวัญราคาแพง ซึ่งหากของขวัญนั้นปราศจากภาษารักอื่นๆ มาประกอบ การให้ของขวัญอาจไร้ความหมายที่จะรับรู้ความรักในสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงนั้น
ภาษารักนี้เป็นทั้งที่ง่ายสุดและยากสุดในเวลาเดียว เวลาคุณภาพคือ ช่วงเวลาที่แต่ละฝ่ายต่างได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ โดยผ่านกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมวันครอบครัว การมีกิจกรรมสร้างเสริมสัมพันธภาพ เช่น การเล่านิทาน การเล่นสนุก การรับประทานอาหารร่วมกัน การมีกิจกรรมสังสรรค์ สิ่งสำคัญคือ บรรยากาศของช่วงเวลาคุณภาพคือ ภาษาผ่อนคลาย อิสระ ต่างฝ่ายมีอิสระและเคารพในความเป็นอีกฝ่าย
สิ่งที่ยากคือ สภาพชีวิตที่เร่งรีบจนเวลากลายเป็นทรัพยากรหายาก ความเครียด แรงกดดันจากการงานและชีวิตประจำวัน ทำให้ช่วงเวลาในครอบครัวมีความเครียด จนแม้อยู่ร่วมกันแต่ไม่ใช่เวลาคุณภาพ หากเป็นเวลาที่เครียด ถูกตัดสิน เวลาเช่นนี้ไม่ได้ช่วยบำรุงเลี้ยงความสัมพันธ์ แต่กลับบั่นทอนความสัมพันธ์
ท่าทีการสื่อสารและการกระทำที่สร้างเสริมความเชื่อมโยงในสัมพันธภาพ คือรูปธรรมของ “ความเมตตากรุณา”
ภาษารักทั้ง ๕ ลักษณะนี้ช่วยเติมเต็มและบำรุงเลี้ยงสัมพันธภาพ สัมพันธภาพที่ดีต้องการภาษารักมากกว่า ๓ ลักษณะ หากน้อยกว่านี้คุณภาพสัมพันธภาพอาจไม่มั่นคง และแต่ละคนก็อาจมีความถนัดและชอบที่จะสื่อสารภาษารักในแบบของตนเอง
บ่อยครั้งในคู่สัมพันธ์อาจมีช่องทางรับรู้และตีความภาษารักต่างกัน เช่น มองว่าการบริการดูแลรับใช้เป็นหน้าที่ มุมมองนี้อาจทำให้ไม่เห็นความรัก ความใส่ใจที่ซ่อนอยู่ หรือความถนัดหรือการให้คุณค่าในภาษารักบางตัวมาก จนไม่เห็นภาษารักของอีกฝ่ายที่สื่อสารมา เช่น สามีสื่อสารความรักในรูปของความรับผิดชอบในหน้าที่ของสามีและพ่อ ขณะที่ภรรยาคาดหวังภาษารักในรูปการกระทำที่สร้างความโรแมนติค เช่น การมีดอกไม้ การใช้คำพูด ฯลฯ การเรียนรู้ความแตกต่างในความถนัด ก็เป็นโอกาสที่ดีของการมีเวลาคุณภาพด้วยกัน ด้วยการสนทนาเปิดใจ
ครอบครัวถือเป็นสถาบันรากฐานสำคัญของสังคม เราแต่ละคนต่างเติบโตจากครอบครัว หัวใจสำคัญคือ ความแข็งแรงของสายสัมพันธ์ในครอบครัวต้องการภาษารักหล่อเลี้ยง
ดูแลสัมพันธภาพ ดูแลการสื่อสาร เติมเต็มความสุขในครอบครัว เติมเต็มภาษารักในชีวิต