ในเส้นทาง: สัตว์ร้ายในตัว

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 18 กันยายน 2011

ภาพยนตร์เรื่อง Good Will Hunting นำเสนอภาพชีวิตของ วิลล์ ฮันติ้ง ชายหนุ่มที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ  เขาเติบโตมาในสภาพครอบครัวบ้านแตก สิ่งที่เขาเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตคือ “อย่าไว้ใจใคร” หลักชีวิตที่เขายึดถือนี้ทำให้ชีวิตเขาเลวร้ายลงเรื่อยๆ เนื่องด้วยพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทะเลาะวิวาท ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ  โชคยังเข้าข้างที่ความเป็นอัจฉริยะทำให้เขาได้รับความใส่ใจ และให้โอกาสเขาที่จะปรับปรุงตัว ภายใต้เงื่อนไขว่าเขาต้องผ่านการบำบัดรักษาจิตใจกับจิตแพทย์  กระทั่งในที่สุดเขาได้พบจิตแพทย์ที่มีภูมิหลังไม่ต่างจากเขา และนั่นเป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น นำไปสู่ความไว้วางใจ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามบาดแผลในชีวิตได้ เพื่อไปสู่ชีวิตและอนาคตที่ดีกว่า  วิลล์ ฮันติ้งเรียนรู้ที่จะยอมรับบาดแผลเพื่อก้าวข้ามมันไป

เราทุกคนต่างมีบาดแผลในชีวิต บาดแผลจากความรัก ความสัมพันธ์ในอดีตที่ผ่านมา สาเหตุคงมีมากมาย  สำหรับวิลล์ ฮันติ้งบาดแผลชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่คือ การถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว การไม่ได้รับความรัก ถูกทำร้ายให้เสื่อมศรัทธาในความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ บาดแผลนี้ส่งผลกระทบให้เขาเป็นชายหนุ่มที่ไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์ใดๆ ปฏิเสธและต่อต้านหากมีใครเข้ามาชิดใกล้ตัวเขามากขึ้น  เมื่อคนรักบอกเล่า และเชิญชวนให้ชายหนุ่มมาร่วมใช้ชีวิตและสร้างอนาคตด้วยกัน ปฏิกิริยาของชายหนุ่มคือ การโวยวาย ปฏิเสธ เนื่องเพราะหลักชีวิตที่สร้างจินตนาการให้ชายหนุ่มมองว่า ในที่สุดหญิงสาวก็จะยอมรับเขาไม่ได้ ละทิ้ง เลิกรัก และทอดทิ้งเขาไปในที่สุด  มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ชายหนุ่มขอเป็นฝ่ายเลิกราความสัมพันธ์ก่อนเสียเอง

บาดแผลในชีวิต ก็คือ สัตว์ร้ายในตัว  เรากับสัตว์ร้ายอยู่ด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งของกันที่แยกจากกันไม่ได้ เหมือนกับตัวเรากับอดีตความเป็นมาที่แยกขาดจากกันไม่ได้  แต่เพราะมันเป็นสัตว์ร้าย ความกลัว ความระแวงจึงเป็นปฎิกิริยาที่สืบเนื่องตามมา  ภาพชีวิตของสัตว์ร้ายในตัววิลล์จึงสื่อผ่านในรูปของการทะเลาะวิวาทกับคนรอบข้าง การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และเลือกการมีความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยกับพวกพ้อง พอใจกับชีวิตโดดเดี่ยว

จิตแพทย์ช่วยให้วิลล์ได้พบว่า ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตจนกลายเป็นบาดแผลในชีวิต ทั้งหมดทั้งปวงมันไม่ใช่ความผิดของเขาแต่อย่างใด  ประโยคอมตะที่มีคุณค่าและความหมายกับชีวิต ช่วยปลดปล่อยชายหนุ่มให้เป็นอิสระจากบาดแผล คือ “มันไม่ใช่ความผิดของคุณ” (it’s not your fault) ประโยคนี้มีความหมายและก่อเกิดพลังได้ เนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และที่สำคัญคือ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ท่าทีบุคลิกรวมถึงความจริงแท้ในตัวตนของจิตแพทย์นำพาให้ชายหนุ่มกล้าไว้วางใจ ก่อเกิดสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและเปิดรับให้กระบวนการเยียวยารักษาจิตใจเกิดขึ้นได้ ความเป็นกัลยาณมิตรของจิตแพทย์สื่อผ่านทั้งการกระทำ ตัวตน จิตใจ จิตวิญญาณ ที่มุ่งปรารถนาดีกับชายหนุ่ม

เราทุกคนต่างมีบาดแผลในชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่

ไม่ว่าเราจะมีกัลยาณมิตรที่ดีงามเฉกเช่นจิตแพทย์ในภาพยนตร์หรือไม่ก็ตาม เรามีหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองด้วยการเรียนรู้และเข้าใจตนเอง และเราเริ่มต้นได้กับบทเรียนชีวิตผ่านบาดแผลในตัวเรา  บาดแผลที่ยังติดค้างเป็นเสมือนสัตว์ร้ายในตัว นักจิตวิเคราะห์ คาร์ล ยุง เรียกสิ่งนี้ว่า “เงา” ในฐานะส่วนเสี้ยวในตัวที่ไม่สามารถจัดการได้ วิ่งหนีจากมันก็ไม่ได้  เงาเป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เงา ปัญหาที่แท้จึงอยู่ที่ปฏิกิริยาต่อสัตว์ร้าย ต่อเงาของเรา ด้วยท่าทีปฏิเสธ ต่อต้าน ดิ้นรนต่อสู้ ไม่ยอมรับส่วนที่เป็นเงาหรือสัตว์ร้ายในตัว

สัตว์ร้ายของบางคนมีชื่อว่า ความเหงา  ความเหงาทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตกับธุระการงาน ผู้คน คนรัก กิจกรรม งานอดิเรกมากมาย ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อหนีหายจากความเหงา  ผลตอบรับคือ ไม่ค่อยได้ผลนัก เนื่องเพราะหลายกิจกรรมแม้จะให้ความสุขแต่ก็เป็นความสุขเพียงขณะนั้น ความสุขผ่านไป ความเหงาก็มาเยี่ยมเยืยน  หรือสัตว์ร้ายที่ชื่อว่า ความกลัวต่อการถูกปฏิเสธ  ความกลัวนี้ทำให้เราเลือกมีความสัมพันธ์ที่จะเป็นฝ่ายควบคุมจัดการ ปิดกั้นซ่อนเร้นความเปราะบาง พร้อมกับเลือกบทบาทการเป็นฝ่ายควบคุม ฝ่ายที่ปฏิเสธผู้อื่นก่อน ไม่ยอมมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจริงจังกับใคร รวมถึงไม่กล้ารักใคร

ในแง่หนึ่ง สัตว์ร้ายในตัว จึงเป็นเสมือนผู้ปกป้องไม่ให้เราต้องบาดเจ็บ ต้องเจ็บปวดจากบาดแผลนั้นซ้ำซ้อนอีก แต่สัตว์ร้ายในตัวก็ทำให้เราต้องติดจมกับพฤติกรรมเดิมๆ กับหลักชีวิตที่ปกป้องและทำร้ายตัวเราไปด้วยพร้อมกัน  บาดแผลจึงมีความหมายกับตัวเราทั้งในฐานะสิ่งคุกคามทำลายชีวิต และเป็นศักยภาพให้ชีวิตเติบโตงอกงาม  กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่ทัศนคติและท่าทีของเราที่มีต่อบาดแผล

หากว่าร่างกายเรามีบาดแผล เพียงให้เวลา รักษาความสะอาด ในที่สุดบาดแผลก็จะค่อยๆ หายได้ในที่สุด  ร่างกายของเรามีกระบวนการเยียวยารักษาโดยตัวมันเอง เพียงอาศัยเงื่อนไขเวลาคือ รอคอย  เหมือนกับบาดแผลในจิตใจ เวลาคือยารักษา  สิ่งสำคัญคือ ปล่อยให้เวลาได้ทำหน้าที่ แทนการยึดติดหรือการมุ่งแต่ปกป้องบาดแผล บาดแผลจึงไม่ถูกรักษาเสียที  เหมือนกับการยึดติดอดีตและหลงลืมภาวะปัจจุบัน  สัตว์ร้ายคลายความดุร้ายหากเราเลือกที่จะสันติกับบาดแผล กับสัตว์ร้ายในตัว  เหมือนกับวิลล์ ฮันติ้งที่ยอมรับอดีต ไม่ถือเป็นเรื่องที่เขาต้องแบกรับอีกต่อไป

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน