ท่องเที่ยวไปเพื่ออะไรดี

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 20 กันยายน 2015

ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนรวยว่า พวกเขามีอำนาจจับจ่ายใช้สอยมากถึงขนาดที่ว่า หากเขาอยากกินเป็ดฮ่องกงเป็นอาหารกลางวัน ก็สามารถนั่งเครื่องบินไปห้องกงทันทีในวันนั้นตอนสายๆ แล้วกลับมาทำงานต่อตอนบ่ายคล้อยได้ในวันเดียวกัน น่าอิจฉาไหมครับ?

อำนาจการบริโภค ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ปรารถนา ยิ่งเรามีรายได้มากเท่าไหร่ เราก็อยากจะไต่ระดับการบริโภคให้สูงขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน นี่อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีเงินเก็บเงินออมมากนัก (ซ้ำร้ายบางคนกลับมีหนี้สิน)

ผมเองเพิ่งมีประสบการณ์การบริโภคในลักษณะดังที่กล่าวมา เรื่องเริ่มจากว่า มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้จับกลุ่มชวนกันไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์ ผมเองก็ตกปากรับคำเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้เปิดหูเปิดตาและกระชับสัมพันธ์ แผนการเดินทางท่องเที่ยวสามวันสองคืนจึงถือกำเนิดขึ้น

เมื่อผมร่วมในการเดินทางก็พบว่า พวกเราเดินทางเพื่อบริโภคเป็นหลัก  เราได้บริโภค “มุมมหาชน” ที่มารินาเบย์ อันเป็นที่สถิตย์ของเมอร์ไลออนสัญลักษณ์ของประเทศของสิงคโปร์ เราถ่ายรูปเล่นสนุกกับน้ำพุจากปากเงือกสิงห์ เราเดินผ่านห้างสรรพสินค้ามากมายเพื่อนั่งชิงช้าสิงคโปร์ฟลายเออร์ บริโภคทิวทัศน์ที่ค่อยเคลื่อนขึ้นสูงจนหวิวเสียดฟ้า

วันต่อมาเราไปเดินทางไปเกาะเซนโตซ่า เพื่อบริโภคความบันเทิงจากวัฒนธรรมป๊อป เราเข้าชมสตูดิโอของยูนิเวอร์แซล ค่ายหนังที่แปลงบทและโครงเรื่องให้กลายเป็นเครื่องเล่นเร้าความหรรษาตลอดวัน จากนั้นเข้าซีอะควาเรียมชมวังมัจฉาอันมีปลาแหวกว่ายอลังการเป็นแสนตัว ก่อนจะลองลิ้มอาหารฟิวชันหลากรสใกล้ที่พัก

วันที่สามเราน่าจะยังได้ชมต้นไม้ยักษ์และสวนพฤกษานานาชนิด และสุดท้ายคงได้แวะซื้อของฝากติดมือกลับบ้านที่ไชน่าทาวน์ ก่อนจะขึ้นเครื่องบินหลับกลับไทยในตอนหัวค่ำ เป็นการเดินทางสามวันสองคืนที่กอปรไปด้วยการบริโภคอันเต็มอิ่ม

ใช่หรือไม่ว่า การบริโภคสินค้าและบริการ คือหัวใจสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบัน ที่พักสวยงาม อาหารดี ดนตรีไพเราะ กลิ่นที่สะอาดชวนดม ผัสสะที่แตกต่างแต่ยังคงปลอดภัย สถานที่สำคัญชวนให้ถ่ายรูปเป็นฉากหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นหมุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวของพวกเรา

มันก็สนุกนะครับ เพียงแต่ผมรู้สึกขาดและแคบอย่างประหลาด นำมาสู่การตั้งคำถามบางประการเกี่ยวกับการเดินทาง นั่นคือ จริงหรือที่เราเดินทางต่างแดนเพียงเพื่อที่จะบริโภค และมีความสุข

อันที่จริงผมมีธงคำตอบอยู่บ้างแล้วล่ะครับ ลองพิจารณาเลือกรับตามความเหมาะสมสำหรับแผนการเดินทางครั้งต่อไปของท่านผู้อ่านได้นะครับ

การเดินทางควรจะทำให้เราได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย เราควรรู้ว่าบ้านเมืองอื่นและคนประเทศอื่นไม่เหมือนเรา มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากเรา เราเรียนรู้สิ่งนี้เพื่อที่จะเคารพและยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น

การเดินทางควรจะเป็นโอกาสเปิดใจเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับพื้นที่และผู้คนต่างแดน เราน่าจะทดลองเห็นอย่างที่เขาเห็น ได้ยินอย่างที่เขาได้ยิน ชิมในสิ่งที่เขากิน รู้สึกอย่างที่เขารู้สึกทั้งประสบการณ์ความสุขและความทุกข์ เพื่อที่เมื่อเราในอนาคต เราอาจได้เจอผู้คนที่มาจากดินแดนนั้นอีก เราจะได้เชื่อมโยงกับเขาได้มากขึ้น

การเดินทางควรทำให้เราได้เรียนรู้ในความหลากหลาย เพื่อเปิดใจเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับพื้นที่และผู้คนที่แตกต่าง

การเดินทางควรจะเป็นโอกาสในการให้และบริจาค นอกเหนือไปจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน เราอาจให้รอยยิ้ม ให้ความรู้ เราอาจบริจาคทานให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือในดินแดนนั้น ที่สำคัญเรามีโอกาสที่จะให้อภัยในความผิดพลาดของใครก็ตาม รวมทั้งตัวเราเอง

สุดท้าย การเดินทางไปต่างแดน ควรจะทำให้เราได้พบประสบการณ์แปลกใหม่ พบความไม่คุ้นเคยบางประการ เช่น ของหาย โดนปล้น หลงทาง ผิดแผน สถานการณ์เหล่านี้แม้จะนำพาให้เราพบความทุกข์ ความเจ็บปวด ความอึดอัดใจอยู่บ้าง แต่เหตุการณ์เหล่านี้บางทีก็มีประโยชน์เพราะมันช่วยส่องสะท้อนให้เราเห็นบางแง่มุมของตน อันจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้งเมื่อเราเดินทางกลับบ้าน

มิฉะนั้นแล้ว การเดินทางก็คงไม่แตกต่างอะไรกับวิถีของคนรวยคนที่ผมเกริ่นไว้เมื่อต้นบทความ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher