ระบบสังคมที่มนุษย์อยู่ร่วมกันมีการพัฒนาศาสตร์ความรู้ต่างๆ มากมายเพื่อให้การดำเนินชีวิตและสัมพันธภาพของมนุษย์เป็นไปอย่างมีความสุข สันติ สะดวกสบาย โดยใช้ศาสตร์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ฯลฯ เอาชนะโรคภัย ข้อจำกัดทางธรรมชาติ ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือสังคม ศาสตร์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ต่างๆ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ ก็ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมเป็นสังคมภายใต้ระบบระเบียบสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมได้อย่างมีความขัดแย้งให้น้อยที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยการเรียนรู้และพัฒนาสร้างสรรค์ระบบสังคมที่ดีกันอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันสังคมมนุษย์ก็มีศาสตร์ในทางศิลปศาสตร์ เช่น ปรัชญา ภาษาศาสตร์ ศิลปะ จิตวิทยา ฯลฯ เป็นองค์ความรู้ที่ทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะตนเองและเข้าถึงศักยภาพบางอย่างภายในตัวมนุษย์เอง เช่น การใช้ภาษา ระบบเหตุผล การทำงานของจิตใจ ฯลฯ
ศาสตร์ความรู้เหล่านี้ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งมีคุณประโยชน์มาก แต่ศาสตร์ความรู้เหล่านี้ มีข้อจำกัดหรือไม่ในการทำความเข้าใจมนุษย์และสังคม หรือใช้ประโยชน์เพื่อนำทางมนุษยชาติ ไม่ว่าในระดับใดให้ไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาได้
ศาสตร์สาขาต่างๆ เหล่านี้เป็นความรู้ที่สังคมมนุษย์นับแต่บรรพบุรุษได้สั่งสมและสืบทอดต่อๆ มาโดยการสืบทอดเล่าเรียน อาศัยสติปัญญาและวิจารณญาณ แต่ในอีกด้านหนึ่งการดำรงอยู่ของสังคมมนุษยชาตินั้นก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาหรือการสร้างสรรค์องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว องค์ประกอบปัจจัยในเรื่องของวุฒิภาวะทางอารมณ์ความรู้สึก การมีจิตใจที่พร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติปฎิบัติตามของคนในสังคม ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์และการดำรงอยู่ของสังคมมนุษยชาติด้วย และเช่นเดียวกัน สติปัญญาที่ล้ำเลิศ จิตใจที่หนักแน่นมีคุณธรรม ก็ต้องอาศัยร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนสติปัญญาความคิดนึก และอารมณ์ความรู้สึกจากจิตใจให้เกิดเป็นรูปธรรมที่แท้จริง
ตัวอย่างอุปมาอุปไมยจะทำให้เราเห็นตัวอย่างความสำคัญขององค์ประกอบที่กล่าวมา หากว่าเราในฐานะเป็นเจ้าของกิจการ เป้าหมายที่เราต้องการจากลูกจ้าง คือ การทำงานอย่างเต็มความสามารถภายใต้ทิศทางและแนวนโยบายที่คุณต้องการ สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ คือ การบริหารจัดการต่างๆ เช่น การให้ข้อมูล แนวทางการทำงาน คำแนะนำ สิ่งจูงใจ ฯลฯ แล้วเราก็คาดหวังว่าลูกจ้างของเราจะทำงานได้อย่างที่เราต้องการ แต่ในความเป็นจริง เรารู้ได้เลยว่าลูกจ้างของเรานั้นก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีชีวิตของตัวเอง ซึ่งบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของนายจ้าง เช่น ความพอใจ เต็มใจในการทำงาน ความศรัทธาเชื่อมั่นในนายจ้าง ฯลฯ ผลสำเร็จของกิจการจึงมีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของนายจ้าง
ในอีกด้านหนึ่งหากพิจารณาตัวเราในฐานะที่เป็นนายจ้างของตัวเอง และมีลูกจ้างที่มีชื่อเรียกต่างๆ ประกอบอยู่ด้วยกันในตัวเรา เช่น เหตุผล อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ สัญชาตญาณ สุขภาพ คุณธรรม ค่านิยม ฯลฯ เราก็จะพบความเป็นจริงภายในตัวเราได้ว่า ความขัดแย้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในตัวเราบ่อยๆ นั้นคือ ความไม่สัมพันธ์ ไม่สามัคคีกันของเหล่าลูกน้องที่มีอยู่ภายในตัวเรา เช่น เหตุผลบอกเราว่าการมีวินัยเป็นสิ่งที่ดี แต่จิตใจของเราเกียจคร้านที่จะทำตามวินัยนั้นๆ หรือความต้องการลึกๆ เราต้องการชีวิตเรียบง่าย แต่ค่านิยมบางอย่างบอกเราว่าเราควรมีฐานะที่ร่ำรวยกว่านี้ ทำงานหนักกว่านี้และหรูหรากว่านี้ ความไม่สามัคคีของบรรดาลูกจ้างภายในตัวเราก่อเกิดเป็นความขัดแย้ง ความทุกข์ ที่เจ้าของกิจการคือ ตัวเรา ได้รับความเสียหาย และตัวเราต้องรีบเร่งแก้ไข
ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงต้องอาศัยองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ ๑) ปัญญา การคิดนึกด้วยสมอง สติปัญญา ที่มีวิจารณญาณ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เปิดกว้าง ๒) เมตตา กรุณา อารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจที่วางพื้นฐานอยู่ที่ความรัก ความปรารถนาดี พร้อมด้วยคุณสมบัติ คือ ความหนักแน่น มีวุฒิภาวะ และ ๓) การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพลังชีวิตที่สามารถขับเคลื่อนให้ปัญญาและเมตตากรุณาเกิดสิ่งงอกเงยที่เป็นประโยชน์รูปธรรมแก่สังคมมนุษย์
หากพวกเราระลึกได้ในบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณที่พุทธบริษัททั้ง ๔ มักพร่ำสวดเสมอๆ ก็มีบทบรรยายคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ที่แท้ของพระพุทธเจ้าที่ประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นคือ ๑) พระปัญญาคุณ ปัญญาที่นำไปสู่การตรัสรู้ สามารถสั่งสอนสรรพสัตว์ให้เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ๒) พระกรุณาคุณ ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ในการทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเพื่อทำหน้าที่สั่งสอนสรรพสัตว์ตลอดเวลา และ ๓) พระวิสุทธิคุณ ความบริสุทธิ์ของพลังงานชีวิตที่ขับเคลื่อนไปเพื่อการทำหน้าของพระพุทธเจ้าในการสั่งสอนธรรมะ ในการวางรากฐานพุทธศาสนาแก่สังคมมนุษย์
ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องอาศัยองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ ความคิดนึกที่ถูกต้อง อารมณ์ความรู้สึกที่ดี และสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
เพราะสังคมหรือชุมชนหนึ่งๆ ประกอบด้วยบุคคลหนึ่งๆ ความเป็นมนุษย์ที่แท้ของบุคคลจึงมีความหมายต่อสังคมนั้นๆ ความอยู่รอดของสังคมมนุษยชาติจึงต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ ลำพังเพียงการคิดนึก หรือการมีวีธีคิดนึกที่สร้างสรรค์งดงามเพียงใดก็ตาม ยังไม่เพียงพอ แม้ว่าเรื่องราวหรือสาระที่คิดนึกจะเป็นเรื่องจิตสำนึก จิตวิญญาณ ก็ตาม เพราะแม้เราจะมีจิตสำนึกใหม่ในเรื่องประโยชน์ส่วนรวม เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องความรัก ความเป็นหนึ่งเดียว ฯลฯ แต่จิตสำนึกใหม่นี้จะมีความหมายต่อชีวิตอย่างแท้จริงต้องอาศัยการฝึกฝน บำเพ็ญภาวนาทางจิตใจ (โดยรูปแบบหรือนอกรูปแบบของการปฏิบัติธรรมก็ตาม) และการฝึกฝนภาวนาทางจิตใจ การพัฒนาด้านสติปัญญาก็ต้องอาศัยความพร้อมของสุขภาพร่างกายเป็นรากฐาน เหตุใดจึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ คำตอบที่เราพบได้ในชีวิตและที่กล่าวมา คือ ความนึกคิด อารมณ์ความรู้สึก และสุขภาพร่างกายมักไม่สามัคคี ไม่เชื่อฟังตัวเรา รวมถึงหลายๆ ครั้งก็พยศและอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราเสมอๆ
ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับทัศนคติของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ก้องโลกที่บอกว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ มนุษย์จำเป็นต้องมีวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” บางทีพวกเราอาจต้องเร่งขวนขวายเพื่อศึกษาวิธีคิดใหม่ของมนุษย์ที่ต้องระลึกรู้ต่อความสำคัญของการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว และลงมือปฏิบัติที่จะน้อมให้ความรู้ ความเข้าใจทางสติปัญญา หลอมรวมกับอารมณ์ความรู้สึกที่มีความรัก ความเมตตา บนพื้นฐานการกระทำหรือลงมือปฏิบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาร์ลี แชปลิน คนยากจนที่กลับกลายมาเป็นศิลปินแห่งศตวรรษได้ให้คำเตือนที่หนักหน่วงแก่พวกเราและควรค่าแก่การย้ำเตือนตนเองเสมอ เพื่อไม่หลงลืมบางมิติของชีวิต นั้นคือ
“เราใช้ความคิดมาก ในขณะที่ใช้ความรู้สึกน้อยเกินไป ความรู้ทำให้เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัวและไม่เคยปรานีต่อใคร”