เธอกับฉัน: เมื่อเราขัดแย้งกัน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 12 กุมภาพันธ์ 2017

สมชายกับสมควรเป็นเพื่อนสนิทที่คบหามาแต่เยาว์วัย เมื่อจบการศึกษาต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันทำงาน จนเมื่อวันหนึ่งทั้งสองตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน  ฝ่ายหนึ่งออกทุนมากกว่า ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าตนเองทุ่มเทแรงกายแรงใจและรับภาระการบริหารงานมากกว่า จะจัดสรรผลตอบแทนเท่ากันได้อย่างไร

ธุรกิจดำเนินไปด้วยผลประกอบการที่ลุ่มๆ ดอนๆ พอไปได้บ้าง ดีบ้าง  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความขัดเคืองในเรื่องท่าที เรื่องผลประโยชน์ รวมกับเรื่องความขัดแย้งอื่นๆ  ในที่สุดพวกเขาก็ไม่ใช่เพื่อนสนิทอีกต่อไป พวกเขาขัดแย้งกันในหลายเรื่อง โจทย์ที่พวกเขากำลังเผชิญคือ จะผ่านพ้นบททดสอบนี้อย่างไร

เรื่องราวของสมชายและสมควรเป็นเค้าโครงเรื่องจริงของหลายๆ ชีวิตในโลกใบนี้  พวกเขาอาจเป็นคู่หญิงชาย คู่รักต่างเพศหรือเพศเดียวกัน คู่สามีภรรยา พี่น้องกัน  สิ่งที่พวกเขาเผชิญคือ ความขัดแย้งซึ่งอาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ ทัศนคติ ความเชื่อทางการเมือง อุดมการณ์สังคม รสนิยม ความคาดหวัง ฯลฯ  พวกเขาจะทำอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง

โดยทั่วไปสิ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งคือ  ๑) ไม่ทำอะไร ปล่อยให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปเอง หรือดำเนินการไปตามเรื่องราว  ๒) การถอยห่าง ไม่สื่อสาร ไม่สัมพันธ์ด้วย  ๓) การปลอบใจ เช่น หาเหตุผลอธิบาย การกดดันตนเองให้ยอมรับสภาพ  ๔) การปะทะโดยตรง ด้วยการกล่าวโทษ ระบายความผิดหวัง ความโกรธไปยังคู่กรณี ซึ่งอาจมีลักษณะความรุนแรง หรือปะทะโดยอ้อม เช่น การพูดจาลับหลัง การนินทาว่าร้าย การต่อต้าน ดื้อเงียบ

ในชีวิตจริง เราอาจเลือกวิธีรับมือกับความขัดแย้งบางเรื่อง บางสถานการณ์ หรือบางโอกาสด้วยการปะทะ  และกับบางคนเราเลือกที่จะยอมหรือเดินออกจากความสัมพันธ์  ขณะที่บางกรณี เราเลือกวางเฉย ไม่รับรู้ ไม่ใส่ใจ

หลายคนมองว่าเบื้องหลังวิธีตอบโต้ที่ต่างกัน เป็นการใช้วิจารณญาณ แต่แท้จริงวิธีที่กล่าวมาข้างต้น ต่างมาจากพิมพ์เขียวของอดีตที่หล่อหลอมเรามา เป็นพิมพ์เขียวตามสามัญสำนึกในตัวเรา โดยที่เราได้แต่เดินหน้าใช้ท่าทีรับมือแบบเดิมๆ ไม่เคยได้ตั้งคำถาม ได้สำรวจทำความเข้าใจตนเองอย่างจริงจัง

เมื่อเกิดความขัดแย้ง และผลกระทบความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น เราแต่ละคนก็จะใช้สัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต ภูมิหลังที่ตนเองสั่งสมมาเป็นแนวทางในการตอบโต้ และบ่อยครั้งแนวทางเหล่านี้ก็มาจากประสบการณ์วัยเด็กที่เติบโตและสั่งสมมา

ตัวเราในปัจจุบัน จึงเป็นการสั่งสมของร่องรอยประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กที่พานพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต เช่น การได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ถูกพ่อแม่ตี ลงโทษ การทะเลาะกันในหมู่พี่น้องและเพื่อนๆ ฯลฯ  เด็กแต่ละคนล้วนสร้างประสบการณ์ความหมาย คำอธิบายบางอย่างให้กับตนเองเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ทั้งบวกและลบ เพื่อปลอบประโลมใจ ปกป้องความเจ็บปวด ทั้งหมดก็เพื่อความอยู่รอดทางจิตใจ

เหตุการณ์ที่ประสบ ความหมายประสบการณ์ที่สร้างขึ้น สร้างร่องรอยในจิตใจ และหากเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำๆ ร่องรอยในจิตใจก็ยิ่งสร้างความเข้มข้นมากขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต กลายเป็นความเชื่อ มุมมองวิธีคิด เป็นพื้นฐานอารมณ์ในตัวเรา จนกระทั่งเรายึดถือกลายเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิต และแบบแผนการอยู่รอดในตัวเรา

และแบบแผนนี้เองที่ทำให้เราเรียนรู้ตอบโต้เมื่อประสบความขัดแย้งในลักษณะที่กล่าวมา คือ การหนี ผ่านการถอนตัว, การสู้ ด้วยการปะทะตอบโต้โดยตรงหรือโดยอ้อม, การแข็งตัว นิ่งเฉย เงียบงัน ปล่อยปละหรือไม่รับรู้

การดำเนินชีวิต เราย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้  เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีและเติบโตในปัจจุบัน การเรียนรู้เรื่องความขัดแย้งจึงเป็นเสมือนการผ่านบททดสอบชีวิตว่า เราจะผ่านพ้นบททดสอบนี้อย่างไร มีทางเลือกอื่นใดบ้างนอกเหนือจากวิธีที่กล่าวมา

เพื่อที่จะเป็นอิสระจากทางเลือกเดิมๆ เราจำเป็นต้องรู้จักความคุ้นเคยเดิมๆ ของเราเสียก่อน ด้วยการถอยกลับมาเรียนรู้เรื่องราวในอดีต เรื่องราวในจิตใจซึ่งอยู่ในตัวเรา ควบคู่กับการเรียนรู้เรื่องราวของตัวเราในปัจจุบัน

การเรียนรู้เรื่องราวภายนอก ช่วยให้เราเข้าใจโลก สังคม และความเป็นไปรอบตัวเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อดำเนินชีวิต

ขณะที่การเรียนรู้โลกภายใน อันมีเรื่องราวภายในจิตใจมากมาย ก็ช่วยให้เราได้รับรู้ ได้สำรวจ ทำความเข้าใจ และตระหนักรู้ว่าเบื้องหลังการกระทำที่สื่อสารสู่โลกภายนอกนั้นว่า เราคิดอะไรอยู่ ความรู้สึกอะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนการแสดงออกนั้นๆ เรามีความคาดหวังอะไรซ่อนอยู่ และโดยส่วนลึกเรามีความต้องการอะไร

ปราศจากการสำรวจ เรียนรู้ ทำความรู้จัก และทำความเข้าใจโลกภายใน  สิ่งที่เราแสดงออกก็จะเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา

ชีวิตเช่นนี้ก็เป็นชีวิตที่เหมือนถูกควบคุมโดยปฏิกิริยา โดยสภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ภายนอก  ดังนั้นเมื่อมีความขัดแย้งเข้ามา การตอบโต้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นได้เพียงปฏิกิริยา ‘หนี สู้ แข็งตัว’ ซึ่งล้วนไม่ช่วยเราให้เกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ถอยกลับมาเรียนรู้เรื่องราวในอดีต ควบคู่กับการเรียนรู้ตัวเราในปัจจุบัน

ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เบื้องลึกคือ ความแตกต่าง และทัศนคติที่มีต่อความขัดแย้งนั้น

แน่นอนว่าเราจะพบความแตกต่างได้ตลอดเวลา โดยตัวความแตกต่างอาจไม่ได้สร้างความแตกร้าว แต่ตัวสร้างความแตกร้าวที่แท้คือ ทัศนคติ และความคาดหวังที่มีต่อความแตกต่าง

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความขัดแย้ง “เธอน่าจะทำแบบนี้ คุณไม่ควรคิดแบบนี้” และโดยไม่ตระหนักรู้ตัว ความผิดหวัง ความโกรธ ความเสียใจ ก็ทำให้เราใช้คำพูดและการกระทำที่ทำร้ายจิตใจ รวมถึงร่างกายของอีกฝ่าย

ความขัดแย้งจึงเป็นบททดสอบให้เราเรียนรู้ที่จะรับฟัง และเปิดใจที่จะสำรวจทำความเข้าใจใน ‘ความแตกต่าง และทัศนคติของเราต่อความแตกต่างนั้น’ เพื่อได้สำรวจโลกภายในว่ามีอะไรขับเคลื่อนอยู่

ดังนั้น เมื่อเราขัดแย้งกัน เราไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยปฎิกิริยาเสมอไป เราเลือกที่จะตอบสนองในทางสร้างสรรค์ได้ และนั่นคือ หนทางการเติบโตของเรา

ขยายความสามารถที่จะฟัง ความสามารถที่จะอยู่กับสิ่งไม่คุ้นเคย แล้วกล้ามเนื้อความสามารถที่จะตอบสนองความขัดแย้งก็จะแข็งแรงมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

เราเลือกได้เสมอว่าจะตอบสนองอย่างไร เมื่อเกิดความขัดแย้ง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน