ทุนวัฒนธรรมกับอัตลักษณ์เทียม

สมเกียรติ มีธรรม 20 กันยายน 2003

ในระบบทุนวัฒนธรรม แม้ว่าสังคมจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่ก็อุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา ทำให้การกินการอยู่ การเดินทางไป-มารวดเร็วทันใจ จะติดต่อกับใครก็ง่ายแสนง่าย สะดวกสบายไปหมด ยิ่งมีเงินใช้จ่ายไม่ขัดสน จะบันดาลสิ่งใดก็ได้ตามใจปรารถนา ฯลฯ

ความพรั่งพร้อม ความสะดวกสบาย ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นความมุ่งหมายของชีวิตในระบบทุนวัฒนธรรม ซึ่งมี “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสุขที่ได้จากการเสพ ถ้าบุคคลใดและประเทศใดมีเงินมาก ซึ่งนั่นก็หมายความว่าร่ำรวยและรุ่งเรืองไปด้วยวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นมาจากทุนมหาศาล และวัฒนธรรมเหล่านั้นก็อำนวยสุขแก่ผู้คนในสังคม  ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลใดประเทศใดไม่มีเงินหรือมีเงินน้อย โอกาสที่จะใช้เงินสร้างวัฒนธรรมของตนให้รุ่งเรืองแก่สังคมจึงเป็นไปได้ยาก

เพราะเหตุดังนี้กระมังที่ปัจเจกบุคคลและประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับรายได้มวลรวมประชาชาติ ให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับตลาดหุ้น ฯลฯ ในระดับปัจเจกบุคคล ก็ให้ความสำคัญกับรายได้ต่อหัวต่อคน และยังหยั่งลงไปถึงการมีชีวิตอยู่ได้อีกด้วยว่า วันหนึ่งๆ จะใช้เงินเท่าไหร่ที่จะซื้อหาอาหารมาประทั่งชีวิตให้อยู่ได้ไม่ขัดสน

แต่การได้มาซึ่ง “เงิน” ในระบบทุนวัฒนธรรมนั้นมีความซับซ้อนมาก พัฒนาไปไกลกว่าการว่าจ้างแรงงานทั่วไปเสียอีก กิจกรรมที่เป็นเรื่องของชีวิตและสังคมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การแต่งกาย บุคคลิกภาพ ผิวพรรณ การศึกษา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอย เทคโนโลยี ฯลฯ และการพักผ่อนหย่อนใจหาความสุขให้กับชีวิต ก็ล้วนแล้วแต่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาให้เป็นอัตลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมทุน และสมคล้อยหรือเอื้อให้กับการได้มาซึ่ง “เงิน” แทบทั้งสิ้น อาทิเช่น ความทันสมัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นผู้ชนะ ความเป็นสุภาพบุรุษ ความสุขจากการดื่ม ฯลฯ แม้กระทั่งความรักความเมตตา ความเสียสละ หรือว่าความเป็นนักสู้ ฯลฯ ก็ถูกออกแบบมาให้สมคล้อยกับวัฒนธรรมทุนทั้งสิ้น

อัตลักษณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ กลุ่มทุนวัฒนธรรมจะเป็นผู้กำหนดและชี้นำแทบทุกอย่างก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าและราคา โดยสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ให้สมคล้อยและเอื้อให้กับการได้มาซึ่งเงิน อาทิเช่น อัตลักษณ์ของความทันสมัย ก็เน้นในเรื่องการแต่งกาย ผิวพรรณ บุคคลิกภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ หรือไม่ก็หยิบเอาส่วนที่ขาดหายไปจากจิตใจของผู้คนในสังคมมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ใหม่ในระบบทุนวัฒนธรรม อาทิเช่น อัตลักษณ์ของความเป็นคนรักผู้อื่น ความเป็นผู้เสียสละ ความเป็นคนอารมณ์ดีมีความสุข ฯลฯ

การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้สมคล้อยหรือเอื้อให้กับการได้มาซึ่งเงินในระบบทุนวัฒนธรรมนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือช่วยกระตุ้นสังคมให้รู้จักเสียสละ แบ่งปัน รู้จักให้ผู้อื่น ฯลฯ ขณะเดียวกันการสร้างอัตลักษณ์ใหม่นี้ ก็เป็นการยากที่จะให้ครอบคลุมครบทุกด้าน จึงทำให้สังคมปัจจุบันรู้จักและคล้อยตามอัตลักษณ์เพียงด้านใดด้านหนึ่งตามการชี้นำของทุนวัฒนธรรม จนทำให้สังคมเข้าใจผิดไปว่า เพียงบริโภคสินค้าก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเสียสละ เป็นคนที่มีความรักเต็มเปี่ยมในหัวใจ เป็นคนอารมณ์ดีมีสุข ฯลฯ โดยที่บุคคลคนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือใคร ไม่จำเป็นต้องเมตตาสงสารปรารถนาดีต่อใครก็ได้ และผู้ที่จะเข้าใกล้อัตลักษณ์ได้มากที่สุดก็คือบุคคลที่มีเงินมากเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ทุนวัฒนธรรมจึงผูกพันอยู่กับเงินอย่างแนบแน่น เงินจึงเป็นที่มาแทบทุกอย่างในวัฒนธรรมนี้ เป็นการใช้ทุนต่อทุน (ให้กับผู้มีทุน) และการใช้ทุนต่อทุนนี้แหละจึงเกิดวัฒนธรรมการใช้ทุนขึ้นมาในระบบทุนอีกมากมาย อาทิเช่น การกีฬา คอนเสิร์ต การประกวดความงามและแข่งขันอะไรต่อมิอะไร งานแสดงสินค้าต่างๆ และอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดีคละกันไป แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ไปกันคนละทิศคนละทางเลยก็ว่าได้

กิจกรรมที่เป็นเรื่องของชีวิตและสังคมทั้งหลาย ล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นมาให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรมทุนแทบทั้งสิ้น แม้กระทั่งความรักความเมตตาและความเสียสละ

วัฒนธรรมชุมชนนั้น เกิดขึ้นจากความจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชน ขณะที่วัฒนธรรมทุนเป็นไปในทางตรงกันข้าม ดังนั้นวัฒนธรรมชุมชนจึงไม่มีความซับซ้อน ไม่มีการแข่งขัน การผลิตและบริโภคก็ผลิตและบริโภคกันแต่พอกินพอใช้ ไม่ผลาญทำลายธรรมชาติ ภาษาก็ไม่ซับซ้อน ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ก็เล็กๆ และงดงาม เรื่องของจิตวิญญาณก็ยังไม่ขาดหาย ขณะที่วัฒนธรรมทุนมีความซับซ้อนเหลือประมาณ ใหญ่โตมโหฬารจนไร้พรมแดน การผลิตและการบริโภคก็เพื่อขาย ภาษาก็มีความซับซ้อนแยกซอยออกไปเป็นส่วนๆ ฯลฯ

ความแตกต่างของวัฒนธรรม 2 กระแสดังที่กล่าวมานี้ ประหนึ่งดังว่าไปคนละทิศคนละทาง แต่ในที่สุดก็มาสมคล้อยกันจนได้ วัฒนธรรมชุมชนซึ่งเป็นกระแสรองก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลัก จนอาจจะกล่าวได้ว่า ถูกกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมทุนเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น การละเล่นต่างๆ ในชุมชน หรือหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลที่รัฐบาลยกขึ้นสู่ระดับสากลในขณะนี้ ก็เป็นตัวอย่างอันดีที่วัฒนธรรมชุมชนถูกกลื่นเข้าสู่วัฒนธรรมทุน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการปรับตัวของวัฒนธรรมชุมชนให้สมคล้อยกับวัฒนธรรมทุน อาทิเช่น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จัดตั้งร้านค้าชุมชน ตั้งโรงเรียนสอนภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดงานแสดงสินค้าชุมชน ฯลฯ เหล่านี้เป็นการปรับตัวของวัฒนธรรมกระแสรองให้สมคล้อยกับวัฒนธรรมกระแสหลัก

แต่การปรับตัวดังกล่าวของวัฒนธรรมชุมชนให้สมคล้อยกับวัฒนธรรมทุนนั้น แม้จะได้เงินกลับมาสู่ชุมชน แต่ก็สูญเสียคุณค่าและความมุ่งหมายของวัฒนธรรมชุมชนไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณที่หายไปกับการปรับตัวของวัฒนธรรมชุมชนให้สมคล้อยกับวัฒนธรรมกระแสหลัก

ความเป็นคนทันสมัย เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ชนะ ฯลฯ เป็นผู้รักท้องถิ่น เป็นผู้อนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนนั้น จะว่าไปแล้วไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบ หรือถูกกระตุ้นจากสื่อของทุนวัฒนธรรม หากแต่เกิดมาจากข้างใน (จิตใจ) เกิดมาจากความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ เกิดจากการเห็นคุณค่าแท้ จึงคิดสร้างอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาสนองความต้องการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความจริง ความดี ความงาม ลำพังการได้บริโภคสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งดังวัฒนธรรมทุนอุปโลกน์ให้นั้น จะได้จะมีจะเป็นเช่นนั้นโดยการปฎิบัติเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

ดังนั้นปัจเจกบุคคลจึงต้องรู้จักแยกแยะหาคุณค่าแท้คุณค่าเทียมให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ถูกครอบงำและชี้นำจากอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมทุนอีก


ภาพประกอบ