อนาคตพุทธศาสนาไทย: เราจะฝ่าวิกฤตได้อย่างไร

เครือข่ายพุทธิกา 1 ตุลาคม 2003

ตัดทอนจากการอภิปรายในการสัมนาประจำปีของ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย เรื่อง “อนาคตพุทธศาสนาไทย: เราจะฝ่าวิกฤตได้อย่างไร” ดำเนินรายการโดย กิตติศักดิ์ ปกติ  เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖  ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร

 

พุทธศาสนากำลังเผชิญวิกฤตหรือไม่?

 

วีระ สมบูรณ์

คำถามที่ว่าพุทธศาสนาเผชิญหน้ากับวิกฤตหรือเปล่า ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน มองจากมุมไหน  ขึ้นอยู่กับการคิดของเรา มีจุดยืนอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา ผมมีเรื่องหนึ่งที่จะเล่าเป็นเหตุการณ์ที่พบด้วยตนเอง  เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อนได้ไปพบกับพระท่านหนึ่ง ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยชาวแคนาดาบวชเป็นพระป่าได้หลายพรรษา ไปพบท่านที่เชียงใหม่ในเขตชนบทในหมู่บ้าน สนทนากับท่านพอสมควร  มาถึงช่วงหนึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านมานิมนต์ท่านร่วมพิธีสงกรานต์รดน้ำดำหัว ท่านบอกผมว่าไม่อยากไป ท่านคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเหลวไหล งมงาย การรดน้ำดำหัวไม่ใช่พุทธศาสนา อันนี้มันเป็นเรื่องของพิธีกรรมที่ชาวบ้านทำและท่านก็ไม่เห็นด้วย ท่านไม่อยากไปแต่ในที่สุดก็ไป  ท่านไปร่วมพิธีแต่ท่านบอกว่ามันเป็นพิธีกรรมที่ไม่ถือว่าเป็นพุทธศาสนา ท่านไม่ค่อยเห็นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเนียมต่างๆ เช่น การไล่ผี การสวดร้องเป็นกลอน งานรื่นเริงบันเทิง ท่านไม่เห็นด้วย

ต่อมาผมก็ได้คุยกับท่านอีก เป็นเรื่องสังคมตะวันตก ท่านพูดถึงพุทธศาสนาเริ่มจะมีผู้นับถือ  ผมก็ถามท่านว่า สังคมตะวันตก เมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองนิวยอร์ค หรืออย่างคานาดาที่ท่านมาจากเมืองโตรอนโตจะมีชาวพุทธหรือชุมชนชาวพุทธเข้าไปเกิดขึ้นได้ไหม ในลักษณะใด  ดูเหมือนว่าท่านคงไม่เข้าใจคำถามหรือว่าท่านตีความคำถามไปอีกแบบหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกอะไรบางอย่างของท่าน  ท่านตอบว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากล ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ทำไมคนตะวันตกจะเข้าถึงพุทธศาสนาไม่ได้ ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านก็เป็นคอเคเชียน  ผมพยายามอธิบายให้ท่านฟังว่าคำถามของผมไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องของเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์อะไร เป็นคำถามในเชิงสังคมมากกว่า

เรื่องที่ผมเล่านี้จะเห็นได้ว่ามุมมองของท่าน  ต่อกรณีแรกที่เป็นเรื่องของชาวบ้าน ท่านมองตัวท่านเองในฐานะที่อยู่นอกวัฒนธรรมไทย ท่านมองตัวท่านเองเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย แล้วก็ใช้มุมมองอันนั้นจากจุดยืนของพุทธศาสนาที่ท่านว่าบริสุทธิ์มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น  แต่ในสายตาของผมต่อเรื่องของชาวบ้านเรื่องของพิธีรดน้ำดำหัวต่างๆ พิธีกรรมแบบนั้นคือวิธีการที่ชาวบ้านนำเอาสาระเนื้อหาต่างๆ เข้าไปใส่ไว้ในขนบธรรมเนียมประเพณี คือวิถีชีวิตในชุมชนของเขา ฉะนั้นในการเข้าไปผนวกเข้าไปผสมผสาน ก็คงจะต้องมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้าไปเจือปนอยู่ด้วย แต่การมองของสายตาคนนอกมักจะไม่เข้มข้นบริสุทธิ์นัก

ฉะนั้นอย่างแรกที่สุด เวลาเรามองว่าพุทธศาสนาเผชิญวิกฤตหรือไม่ จุดสำคัญก็คือว่าเรามองจากมุมไหน ที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือในหนังสือเรื่อง พุทธศาสนาไทยในอนาคต ของท่านไพศาล ที่ผมได้คือวิธีการพิจารณาปัญหา การหยิบยกประเด็นขึ้นมา  การพิจารณาต่างๆ เป็นการฝึกให้ตัวผมได้ใช้ความคิดเปิดมุมมองหลายแบบด้วยกัน คือเวลาอ่านหนังสือไปก็เหมือนกับเราสนทนากับผู้เขียนไป  วิธีการที่ท่านไพศาลหยิบยกประเด็นขึ้นมา จะเห็นได้ว่าท่านพยายามที่จะใช้มุมมองอีกอันหนึ่ง แล้วเวลาเราสนทนากับท่าน เราจะรู้สึกว่ามันมีจุดยืนหรือมุมมองอันหนึ่งเกิดขึ้น  มุมมองที่ท่านไพศาลพยายามเชื่อมโยงหลายๆ อย่างเข้าไป  คือไม่ได้มองในแง่ที่ว่าพุทธศาสนาคือศาสนาที่เป็นศาสนาสากลล้วนๆ และต้องหลุดออกไปจากกระแสวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม เรื่องทางสังคมที่สืบรากมานั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวพัน ท่านพยายามจะชี้ให้เห็นว่ามันเข้ามาเกี่ยวพันอย่างไร  ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมเรื่องสังคมจนลืมแก่นสารอะไรหลายอย่างของพุทธศาสนาไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางด้านโลกุตตรธรรมเรื่องของการบรรลุธรรม  นอกจากนี้ในลักษณะที่เป็นงานวิจัย ทั้งในแง่ของการเป็นพระภิกษุ รวมทั้งการที่ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้และได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี ทำงานได้อย่างดีเลิศในทางประวัติศาสตร์ด้วย  หนังสือเล่มนี้จึงเป็นงานซึ่งพยายามที่จะอธิบายโดยให้แง่มุมความเป็นมา และชี้ให้เห็นความเป็นมาของปัญหาต่างๆ โดยใช้หลักฐานข้อพิจารณาทางประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ผมเห็นด้วยกับท่านไพศาลว่าพุทธศาสนาไทยในขณะนี้ประสบกับวิกฤตจริง แต่ว่าวิกฤตนั้นถ้าจะมองแล้วผมคิดว่าไม่ควรจะมองด้วยการคิดว่าเราอยู่ลอยตัวเหนือความเป็นพุทธศาสนาไทย  ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องมองในลักษณะที่มีความเกี่ยวพัน ความสอดคล้องอยู่  ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่ามองแบบคนในไม่ใช่มองแบบคนนอก  เพราะถ้ามองแบบคนนอกแล้ววิกฤตอันนี้มันก็จะเป็นวิกฤตที่เราอาจเห็นเป็นปัญหาที่ไม่มีรากฐานทางวัฒนธรรม รากฐานของประวัติศาสตร์หรือความเป็นชุมชนของไทย

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใครจะแปลวิกฤตว่าอย่างไรก็ตามแต่ ตามความคิดของผมเมื่อไรที่เราเรียกว่าวิกฤตก็คือเมื่อตอนที่มันไม่สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้  ระบบอะไรก็แล้วแต่มันปรับตัวของมันเองเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งตัวเราด้วย เมื่อไรตัวเราเองไม่สามารถจะปรับตัวเองให้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาทุกวัน เมื่อนั้นแหละระบบนั้น คนนั้น สิ่งนั้น สถาบันนั้นเผชิญวิกฤต  ถ้าถามว่าพุทธศาสนาไทยในปัจจุบันเผชิญวิกฤตไหม ผมว่าเผชิญ

ผมเห็นด้วยกับท่านไพศาลที่เขียนไว้เกี่ยวกับเมื่อครั้งที่เราเผชิญกับฝรั่ง ท่านเขียนไว้ค่อนข้างดี ผมคิดเองและก็ทื่อๆ กว่าท่าน เพราะว่าผมไม่มีวิธีที่แนบเนียนแบบท่าน ผมคิดว่าครั้งนั้นเราเผชิญหน้ากับวิกฤต แล้วก็พยายามปรับตัวเอง ปรับพระพุทธศาสนาเพื่อเผชิญหน้าสองสิ่งด้วยกัน และก็ประสบความสำเร็จพอสมควรทีเดียว

อันที่หนึ่ง เราเผชิญกับวิทยาศาสตร์ของตะวันตก อย่านึกว่าเรื่องเล็ก วิทยาศาสตร์ตะวันตกโผล่เข้ามาในประเทศไทยท่ามกลางพุทธศาสนาของชาวนา คุณจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรเพื่อจะรักษาความเป็นศาสนาสำคัญของสังคมไทยต่อไป  มีความพยายามมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่จะปรับแนวคิดปรับสิ่งต่างๆ เพื่อเผชิญกับการเข้ามาท้าทายของวิทยาศาสตร์ตะวันตก  ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยที่ศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียเผชิญกับฝรั่ง พวกชนชั้นนำในสุมาตราต้องเดินทางไปเรียนที่ชวา แล้วหนึ่งในบรรดานักเรียนมุสลิมจากสุมาตราที่ไปเรียนในมเตลีหรือจาการ์ต้าในปัจจุบันนี้ แกกลับมาเยี่ยมบ้าน รับความคิดฝรั่งเข้าไปหมดเลย  แกบอกพ่อว่าตั้งแต่บัดนี้ผมเลิกนับถือพระเจ้าแล้ว  พ่อแกนี่ร้องไห้เลย ร้องไห้ว่าในชาตินี้เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะลูกไปอยู่ในจาการ์ต้าตลอดเวลา ชาติหน้าเราก็จะไม่ได้พบกันอีก เพราะลูกนับถือพระเจ้าคนละองค์แล้ว  ลูกนับถือพระเจ้าที่ฝรั่งสอน ในขณะที่พ่อยังนับถือศาสนาอิสลามอยู่  ฉะนั้นเวลาที่ฝรั่งเข้ามาอย่านึกว่ามันไม่กระทบต่อความคิดของผู้คน มันกระทบแรงมากและก็ผมคิดว่าชาวพุทธไทยต้องยกย่องว่าเก่ง ในฐานะที่สามารถทำให้นักเรียนนอกไม่ว่าจะเป็นลูกเจ้าลูกไพร่เป็นอะไรก็แล้วแต่ที่ไปเรียนเมืองนอกกลับมา ไม่อายที่จะเป็นชาวพุทธต่อไป  ในขณะที่ผู้นำจากสุมาตราไปแค่จาการ์ต้ากลับมาอาย อายที่จะถืออิสลาม  แสดงถึงการถูกท้าทายจากวิธีคิดแบบใหม่ ซึ่งดูประหนึ่งว่ามันมีประสิทธิภาพมากกว่า  ครั้งนั้นเป็นการเผชิญวิกฤตครั้งหนึ่ง

อันที่สอง ต่อมาที่เขาปรับตัวเขาเอง คือปรับให้พุทธศาสนาไทยซึ่งเป็นศาสนาชาวนากับระบบกษัตริย์แบบราชาธิราช คือพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจสูงสุดแต่อยู่ห่างๆ ไม่มาอยู่ใกล้ๆ ให้กลายเป็นศาสนาหรืออุดมการณ์ที่รองรับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพุทธศาสนาไทยนับตั้งแต่มีการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งที่แล้วสืบมาอีกนานมากเลย  รองรับสนับสนุนส่งเสริมปกป้องเป็นกำแพงป้องกันระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแข็งแรง ตลอดมาเป็นเวลานาน

แต่โลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ โลกมันเปลี่ยน  ผมคิดว่าศาสนาพุทธไทยในปัจจุบันนี้เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เลย หรือยังไม่ได้ขยับตัวเพื่อมาเผชิญกับสิ่งเหล่านี้  ทั้งๆ ที่สี่อย่างที่เกิดขึ้นผมคิดว่ามันกระทบชีวิตของทุกๆ คนตั้งแต่ชาวนา ชนชั้นกลาง พ่อค้า นักศึกษา อาจารย์ มหาวิทยาลัย เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่ทางตรงก็โดยทางอ้อม

หนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์ตะวันตกซึ่งครั้งหนึ่งเรายกย่องเชิดชู ในปัจจุบันนี้หันไปรับใช้พาณิชยนิยม รับใช้อำนาจทางธุรกิจ ไม่ได้สนใจอะไรอย่างที่กาลิเลโอสนใจ เรื่องกาลิเลโอที่มาเล่าให้เราฟังสมัยเราอยู่มัธยม เป็นเรื่องหลอกกันทั้งเพ ไม่มีใครสนใจอยากจะรู้ความจริงตามธรรมชาติหรอก เขาอยากจะรู้ความจริงที่สามารถทำกำไรได้เท่านั้นถึงจะได้การสนับสนุน  และด้วยเหตุอันนั้นอำนาจอันมหึมาของวิทยาศาสตร์ซึ่งหันมารับใช้พ่อค้า มันทำอันตรายต่อชีวิตคนทุกๆ คน  ถามว่าพุทธศาสนาไทยสามารถที่จะบอกชาวพุทธให้มีท่าทีอย่างไรในการอยู่ในโลกที่วิทยาศาสตร์ซึ่งตะวันตกมีอำนาจเต็มเปี่ยมครอบงำเราอยู่  ผมว่าไม่มีคำตอบในทัศนะผม ท่านอาจจะว่ามีก็ได้

สอง สืบเนื่องมาจากอันแรก การส่งเสริมทั้งวิทยาศาสตร์และระบบเศรษฐกิจเป็นการส่งเสริมบริโภคนิยมที่ทำลายฐานทรัพยากร แล้วกระจุกรายได้ด้วยบริโภคนิยมที่ไม่กระจายรายได้  ทำให้รายได้กระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อยลงๆ ทุกวันในทุกประเทศ  ในประเทศไทยพบว่ารายได้ทรัพย์สินของคน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ข้างล่างลดลง ในขณะที่ทรัพย์สินที่อยู่ในมือ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ข้างบนเพิ่มมากขึ้น  ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในประเทศไทย เกิดขึ้นทั้งโลก ที่ไหน ๆ ก็พบอย่างนี้  ถามว่าพระพุทธศาสนาไทยที่เราเรียนกันอยู่ในทางทีวี ตอบคำถามนี้อย่างไร บอกเราในฐานะชาวพุทธว่าเราจะอยู่ในโลกที่ไม่มีความเป็นธรรมแบบนี้ได้อย่างไร เราต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร มีศีลข้อไหนข้อไหนที่จะช่วยให้เราอยู่ได้ในโลกแบบนี้บ้าง ที่จะต่อสู้กับบริโภคนิยมได้ พระเองท่านยังใช้โทรศัพท์มือถือเลย  ฉะนั้น จะไปหวังอะไร ผมว่าเพราะทุกอย่างมันครอบงำหมด จึงเป็นวิกฤตที่ผมคิดว่าพุทธศาสนาไม่มีคำตอบให้สังคมไทย

สาม ผมคิดว่าที่เราเรียกประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้แปลว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวคืออำนาจของประชาชนในการตรวจสอบและควบคุมรัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่  สองอย่างนี้มันกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปแล้ว  อำนาจของประชาชนในการควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐไม่มี ลดลงไป และไม่ใช่ลดลงเฉพาะแต่ในประเทศไทย ลดลงทั้งโลกเหมือนกันหมด  ศาสนาพุทธในสมัยหนึ่งที่มีพิธีกรรมที่อาจารย์วีระบอกว่าหวงแหนเอาไว้อะไรต่างๆ นานา  สมัยนั้นรัฐมีอำนาจอยู่บนตัวหนังสือ อยู่บนพิธีกรรม เราสามารถหนีอำนาจได้คือเดินหนีออกจากบ้าน หนีออกไปจากการเกณฑ์ทหาร เข้าป่าอะไรก็ได้ อำนาจรัฐไปไม่ถึง  แต่บัดนี้ไม่ใช่แล้ว เราอยู่ในรัฐแบบใหม่ ถ้าเราไม่มีความสามารถในการตรวจสอบและควบคุมรัฐกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เราถูกรังแกตลอดเวลา กลายเป็นเบี้ยล่าง มีชีวิตที่ทุกข์ระทม  ถามว่าพุทธศาสนาไทยตอบสิ่งเหล่านี้ไหม ผมว่าไม่ได้ตอบ

สี่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ขาดความสมดุลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร มีองค์กรโลกบาลที่คอยกำหนดชีวิตของคนเล็กคนน้อยไปหมดแล้ว แต่ไปอยู่ภายใต้มหาอำนาจบางประเทศ มีวัฒนธรรมที่ครอบงำคนอื่นๆ ทั้งหมด  ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้โลกอยู่ในความตึงเครียด เกิดสงครามขนาดย่อมๆ ใครถล่มใครได้อย่างสบายๆ ใครสามารถสั่งให้ใครส่งทหารไปช่วยได้อย่างสบายๆ สันติภาพไม่มี  คุณไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้เช้าตื่นขึ้นมา เราจะถูกเกณฑ์ไปรบที่ไหนหรือเปล่า หรือคนอื่นจะมารบกับเราหรือเปล่า หาความมั่นคงอะไรก็ไม่ได้  ยูเอ็นก็เป็นองค์กรไม่มีน้ำยาไปแล้ว ไม่สามารถจะยุติสงครามหรืออะไรได้ คนสามารถทำสงครามได้โดยไม่ต้องผ่านมติของยูเอ็นก็ได้ สภาพเช่นนี้เป็นสภาพที่คุกคามทุกๆ คนหมด  ถามว่าพุทธศาสนาไทยมีคำตอบอะไร  ผมเชื่อว่าไปถามพระจำนวนมาก ท่านบอกว่ามาถือศีลห้า  ถ้าทุกคนถือศีลห้าหมดก็ไม่มีวันไปเกิดสงครามขึ้นอย่างที่ท่านว่า แต่ทำอย่างไรให้ทุกคนถือศีลห้าหมด ไม่มี  เพราะฉะนั้นถามว่ามันเป็นวิกฤตไหม ผมว่าเป็นวิกฤตอย่างยิ่งเพราะว่ามันไม่มีคำตอบจากพุทธศาสนาไทยต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก และก็เข้ามาครอบงำชีวิตคนทุกๆ คนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่

“เมื่อไรตัวเราเองไม่สามารถจะปรับตัวเองให้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาทุกวัน เมื่อนั้นแหละเรากำลังเผชิญวิกฤต  ถ้าถามว่าพุทธศาสนาไทยในปัจจุบันเผชิญวิกฤตไหม ผมว่าเผชิญ”

 

อุทัย ดุลยเกษม

ถ้าเรายึดเอากรอบแนววิเคราะห์ที่พระไพศาลเขียนไว้ในหนังสือ ท่านบอกว่าความเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนาทั้งทางเจริญและทางเสื่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญสามประการ  หนึ่ง ความประพฤติและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนที่อยู่ในแวดวงสังคมของศาสนาพุทธเป็นอย่างไรในขณะนี้ มีพฤติกรรมหรือศีลเสื่อมลงหรือไม่ หรือดีขึ้น  สอง การพัฒนาทางด้านสุขภาพจิต คือสมาธิ  สาม ความเข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนา รวมทั้งท่าทีต่อชีวิตและโลก ก็คือเรื่องของปัญญา

ถ้าเอากรอบดังกล่าวมาดู สาเหตุทั้งหลายของสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมีความโน้มเอียงไปในทางเสื่อม พระไพศาลใช้หน่วยของการวิเคราะห์สถานการณ์ศาสนาพุทธไทยคือพุทธบริษัท  ถ้าเขียนแบบสมการอย่างง่าย Y เท่ากับฟังก์ชั่นของ A + B + C   A คือเรื่องของศีล เรื่องของความประพฤติความสัมพันธ์  ตัว B คือเรื่องของการพัฒนาสุขภาพจิต  และ C เป็นเรื่องของความเข้าใจหลักธรรมพุทธศาสนาและท่าทีต่อชีวิตโลก  ตรงนี้มันจะเป็นวิกฤตหรือไม่ ผมคิดว่าตัวที่มันเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมของคนที่เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท  การมองเช่นนี้ผมคิดว่ามันถูกต้อง มองจากทัศนะพุทธ พระไพศาลยังตั้งประเด็นที่น่าสนใจ ท่านพูดแบบฟันธงด้วยซ้ำไป ในหนังสือบอกว่าถึงอย่างไรคนไทยก็ยังต้องการศาสนา เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางที่จะกู้หรือหาทางออกให้กับพุทธศาสนาในประเทศไทย

ผมมีคำถามเกิดขึ้นเมื่ออ่านเล่มนี้รู้สึกว่าถ้าคนไทยต้องการศาสนาจริง หรือพุทธบริษัทต้องการพุทธศาสนาจริง  คำถามมีอยู่ว่าศาสนาที่คนไทยต้องการที่พระไพศาลกล่าวถึงต้องเป็นพุทธศาสนาในรูปแบบที่เคยเป็นมาในอดีตหรือไม่ และถ้าจะเป็นศาสนาอื่นได้หรือไม่ด้วย  ที่เราไปห่วงกังวลว่าจะต้องฟื้นฟูขึ้นมา และที่อ้างว่าความต้องการศาสนาพุทธของคนไทยนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการอะไรก็แล้วแต่ในระดับปัจเจกบุคคล  ความต้องการดังกล่าวมีความหนักแน่นในหัวใจของพุทธบริษัทเพียงใดที่จะทำให้เราลุกขึ้นมาช่วยกันธำรงพระพุทธศาสนาในสังคมไทย  และความต้องการศาสนาพุทธของคนไทยนั้น เพราะเราเห็นว่าพุทธศาสนามีสิ่งเกื้อกูให้สังคมไทยเป็นปึกแผ่นและผาสุก ใช่หรือไม่  ถ้าใช่ ความรู้สึกดังกล่าวมีความหนักแน่นเพียงใดในบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย

และในแง่ของพระสงฆ์ มีคำถามว่าบรรดาพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายได้มองว่าพระพุทธศาสนามีความหมายอะไรกับท่านบ้าง  จริงๆ แล้วท่านมองพุทธศาสนาเป็นช่องทางของการศึกษาเล่าเรียนใช่ไหม หรือมองว่าเป็นช่องทางในการที่จะยกตัวตนขึ้นมาในสังคม หรือว่ามองว่าพุทธศาสนาเป็นตัวที่จะช่วยให้การพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์แม้กระทั่งในทางจิตวิญญาณ  เรามองพุทธศาสนาด้วยความรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาสำคัญกับตัวพระสงฆ์เองขนาดไหน มีความหนักแน่นเพียงใดที่จะทำให้พระสงฆ์ต้องการลุกขึ้นมาอย่างจริงจังและธำรงรักษาและพัฒนาองค์กรของคณะสงฆ์ หรือแม้แต่ตัวเนื้อหาของพุทธธรรม

ผมคิดว่าถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ ในทางบวกศาสนาพุทธก็อาจจะยังไม่วิกฤต แต่ขณะนี้ผมเกรงว่าการตอบคำถามนี้อาจจะไม่เป็นไปในเชิงบวกนัก ไม่ว่าในระดับของปัจเจกบุคคลที่เป็นพุทธบริษัท หรือในแง่ของสังคมส่วนรวม  นอกจากพูดกันลอยๆ ว่าเราต้องการพุทธศาสนา เราต้องหาทางออกให้กับพุทธศาสนา  คำถามก็คือว่าเราต้องการจริงหรือเปล่า ถ้าต้องการจริงผมคิดว่ายังไม่ตีบตัน ยังมีทางออกแต่ต้องตอบคำถามที่ถามนี้ให้ได้ก่อน

 

สุวรรณา สถาอานันท์

เวลาเราถามว่ามีวิกฤตของพุทธศาสนาในสังคมไทยหรือไม่ ดิฉันคิดว่าวิกฤตเกิดขึ้นเมื่อเรายึดไว้สิ่งหนึ่งไว้แต่ชื่อ แต่เราเอามาใช้ไม่ได้จริง  เราได้ชื่อว่าเป็นสังคมพุทธแต่ว่าเราเอาพุทธศาสนามาใช้ไม่ได้จริง สักครู่จะอธิบาย  ประเด็นคำถามวิกฤตของพุทธศาสนา ดิฉันอยากจะแจกแจงพุทธศาสนาใน ๓ ฐานะบทบาทคือ  ๑) พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นกรอบอธิบายความจริง  ๒) พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นระบบศีลธรรมของสังคมไทย  และ ๓) พุทธศาสนาในฐานะสถาบันศาสนา

พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นระบบ อธิบายความจริง ดิฉันคิดว่ามีวิกฤตเพราะเรายังเรียกสังคมเราว่าเป็นสังคมพุทธ แต่เราไม่ได้ใช้แนวคิดของพุทธศาสนามาอธิบายความเป็นจริงของสังคม  ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนที่มีข่าวเรื่องซาส์ ถ้าเราสังเกตวิธีการนำเสนอข่าวในโทรทัศน์ สื่อมวลชน ข่าวจะถูกนำเสนอในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลขการท่องเที่ยวที่ฮวบไป ไม่ว่าจะเป็นสายการบินที่รายได้ลดลง  เท่าที่จำได้ไม่มีข่าวไหนเลยที่เสนอภาพความทุกข์ของผู้ที่ติดโรค มิติความทุกข์ยาก มิติความเอื้ออาทร มิติต่างๆ ซึ่งพระพุทธศาสนาสามารถจะอธิบายปรากฏการณ์เดียวกันกับสังคมนั้น เราไม่พบในสื่อมวลชนและดิฉันยังไม่เจอที่ตรงไหน ถ้ามีเดี๋ยวก็ลองเสนอให้ด้วย  นี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ แต่ดิฉันคิดว่าทุกๆ เรื่องในระบบการศึกษา หรือระบบอธิบายสังคม  สมมติถ้าคิดจากมุมมองของพุทธ เราไม่น่าจะอธิบายสังคมจากแง่ของความสำเร็จ หรือความล้มเหลวทางตัวเลขเศรษฐกิจในตลาดหุ้นใช่ไหม  ถ้าสมมติเราสร้างกรอบวิเคราะห์สังคมไทย ถามว่าจะรู้จักสังคมไทยผ่านความทุกข์ของผู้คนไหม เราสร้างภาพเกี่ยวกับสังคมที่ดีคือสังคมที่รู้จักความทุกข์ของตนเอง  สมมติเราเสนอภาพแบบนี้ได้ ดิฉันคิดว่าพุทธศาสนาก็จะมีบทบาทจริง ถ้าเรายึดเชื่ออย่างนั้น

ฉะนั้นในส่วนนี้ดิฉันคิดว่ามีวิกฤต เพราะไม่สามารถเอามาใช้อธิบายความป็นจริงซึ่งถูกทุนนิยมโลกาภิวัตน์ยึดเอาความจริง หรือวิธีอธิบายความจริงเหล่านั้นไปหมดแล้ว

อันที่สองในฐานะระบบศีลธรรม ตรงนี้ดิฉันไม่ค่อยสบายใจนิดหนึ่ง คนในสังคมเราเวลาพูดถึงระบบพุทธศาสนากับศีลธรรมเรามักจะคิดว่าสมัยก่อนดีงามกว่าสมัยนี้มาก เดี๋ยวนี้คนเสื่อมศีลธรรม  ดิฉันคิดว่ามันเป็นการสร้างภาพโรแมนติกเกี่ยวกับอดีตมากเกินไปในหลายๆ ครั้ง  ดิฉันคิดว่าปัญหาหรือวิกฤตมีในทุกยุค ลักษณะอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าถามว่าในส่วนวิกฤตทางศีลธรรมซึ่งเกี่ยวกับพุทธในแง่นี้อยู่ตรงไหน ดิฉันคิดว่าพุทธศาสนามีบทบาททั้งในทางบวกและลบกับวัฒนธรรมไทยมาตลอด  ทางบวกเช่นดิฉันคิดว่าการที่คนไทยมีขันติธรรมมีความเอื้ออาทร ส่วนหนึ่งน่ามาจากคุณค่าทางพุทธ แต่ในทางลบบางครั้งคำสอนเกี่ยวกับกรรมเก่าในความหมายที่แคบ และถูกรัฐเอาไปใช้มาตลอด บางครั้งทำให้กรรมเก่าถูกใช้ในการอธิบายสร้างความชอบธรรมกับความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม  ตรงนี้ถ้าจะผ่านวิกฤตดิฉันคิดว่าพุทธศาสนาน่าจะเป็นพลังที่จะวิพากษ์ความคิดเหล่านี้ได้และวิพากษ์ตัวเองได้ด้วย เป็นการนำไปปรับใช้อย่างที่อาจารย์นิธิว่า ตรงนี้ก็เป็นวิกฤตอีกแบบหนึ่ง

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ ในฐานะของพุทธศาสนาเป็นสถาบันศาสนา ตรงนี้ดิฉันคิดว่าหนังสือของพระไพศาลเขียนชัดเจนแล้วว่า ที่มีวิกฤตของสถาบันศาสนานั้นมีมาอย่างไรในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทย  ดิฉันอยากจะฝากประเด็นนิดเดียวคือมองโดยเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ ศาสนาพุทธในประเทศเอเชียอื่นๆ  พุทธศาสนาของไทยไม่เคยถูกท้าทายทางปัญญาอย่างแท้จริง ในขณะที่พระพุทธศาสนาอย่างในจีน ญี่ปุ่นถูกท้าทายทั้งโดยอำนาจรัฐในบางยุคสมัยและถูกท้าทายทางปัญญาอย่างค่อนข้างถึงรากถึงโคน  ฉะนั้น ดิฉันคิดว่าความแข็งแกร่งและการที่ยังสามารถแน่ใจได้ว่าชื่อที่ตัวเองยึดไว้ยังใช้ได้อยู่นั้น จะทำได้ทางหนึ่งคือการสามารถถูกท้าทายทางปัญญาและตอบสนองต่อเหตุการณ์หรือปรากกฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้

เราจะฝ่าวิกฤตอย่างไร ?

 

สุวรรณา สถาอานันท์

ดิฉันอยากจะพูดเรื่องอนาคตพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะผสมกับเรื่องการฝ่าวิกฤต  มีข้อสังเกตเกี่ยวกับในสังคมไทย มีคนหนึ่งเขาบอกกับเด็กกลุ่มหนึ่งว่า ถ้าใครอยากได้เงินห้าบาทวันนี้ ให้ไปเลย  ถ้าใครอยากได้เงินวันนี้จะให้ห้าบาท แต่ถ้าใครกลับมาพรุ่งนี้จะให้สิบบาท  ผลปรากฏว่าเด็กที่มาเอาเงินวันนี้ทันทีส่วนใหญ่เป็นเด็กไทย แต่เด็กซึ่งรอพรุ่งนี้แล้วได้สิบบาท เป็นเด็กเชื้อสายจีน อันนี้อันที่หนึ่ง  เรื่องที่สอง คือเมื่อคืนมีเพื่อนชาวพุทธมาที่บ้าน จึงบอกเขาว่าวันนี้จะมาพูดเรื่องนี้ และจะพูดเรื่องอนาคตพุทธศาสนาจะฝ่าวิกฤตอย่างไร  เขาพูดว่าชาวพุทธต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอาลัยกับอดีต และอนาคตยังมาไม่ถึง

ฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงอนาคตของพุทธศาสนาและจะฝ่าวิกฤต ดิฉันจึงมาคิดว่าเราน่าจะคิดว่าศาสนาพุทธมีความรู้สึกเกี่ยวกับอนาคตยังไง  เวลาเราพูดถึงอนาคตในบริบทพุทธศาสนา บ่อยครั้งเราจะได้ยินคำเกี่ยวกับโลกพระศรีอาริย์ หรือนิพพาน  ในกรณีโลกพระศรีอาริย์ ดิฉันมองว่าจะเป็นลักษณะของการรอผู้มีบุญมาโปรดสัตว์ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เน้นไปที่ว่าเราจะทำอย่างไรในฐานะภาคประชาชนที่จะทำให้ภาพอุดมคตินั้นเกิดขึ้นได้จริง  ส่วนถ้าเรามองอนาคตในแง่นิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติของพุทธศาสนา ดิฉันคิดว่าถ้าตรงนี้คืออนาคต ก็แปลว่าอนาคตที่ดีที่สุดคืออนาคตที่ไม่มี หมายความว่าพ้นจากวัฏสงสาร  ในส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของเรา ถ้าเราคิดถึงอนาคตในแง่ชาติภพหน้า ในแง่สวรรค์ก็เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง ซึ่งสวรรค์ในทางพุทธกับทางศาสนาแบบเอกเทวนิยมจะต่างกัน

จากข้อที่ยกมาดิฉันอยากจะพูดในแง่ที่ว่า แนวคิดเกี่ยวกับอนาคตในพุทธศาสนามีนัยเชิงบวกไม่มากนัก  แต่ถ้าเห็นว่าสังคมจะมีอนาคต ดิฉันคิดว่าเราต้องไว้ใจเวลา ต้องสร้างความไว้ใจในเวลา  ถ้าเราไว้ใจในเวลาเราจะลงทุนกับเวลา  ถ้าเราลงทุนกับเวลาในอนาคตเราจะมีอนาคตที่ดีขึ้น  ในกรอบของเอกเทวนิยม ภาพที่เกี่ยวกับอนาคตจะมีภาพที่ดีที่ชัดเจน คือสวรรค์นิรันดร์ ชีวิตนิรันดร์  ถ้าเป็นภาพลบก็จะเป็นนรกที่นิรันดร์เหมือนกัน  ดิฉันเข้าใจว่าในการพัฒนาเป็นโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ ๑๖, ๑๗ ในยุโรป การพูดถึงความก้าวหน้าในโลกสมัยใหม่ เป็นการสร้างภาวะโลกียวิสัยให้กับอุดมคติคริสตศาสนา  หมายความว่าสิ่งซึ่งเคยเป็นอุดมคติในคริสตศาสนาถูกทำให้กลายเป็นความก้าวหน้าในโลกนี้ ถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความรู้สึกเกี่ยวกับอนาคตไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า  วิธีคิดถึงอนาคตของพุทธดิฉันคิดว่าโดยหลักเชื่อเรื่องอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ทำให้เรามีความไว้วางใจในเวลาอนาคตค่อนข้างน้อย เมื่อเราไม่ไว้ใจเวลาร่วมกันเราจะลงทุนกับอนาคตร่วมกันได้น้อย  อย่างที่ท่านอาจารย์ประเวศพูดเมื่อสักครู่นี้ว่าเราต้องมุ่งมั่นร่วมกัน  ข้อที่หนึ่งของอาจารย์ประเวศ ดิฉันคิดว่าคือการแสดงมิติความวางใจในเวลาในอนาคตร่วมกัน ดิฉันคิดว่านั่นคือเงื่อนไขเบื้องต้นของการฝ่าวิกฤต

 

อุทัย ดุลยเกษม

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่อาจารย์สุวรรณาแบ่งมิติพุทธศาสนาออกเป็นสามมิติใหญ่ๆ  มิติเบื้องต้น เป็น social paradise ที่สำคัญ สังคมสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความจริงให้ปรากฏ  มิติที่สอง ที่ว่าพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดระบบความสัมพันธ์ที่อยู่ในลักษณะสมดุล โดยใช้ระบบศีลธรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะเป็นเรื่องของ social valuation  มิติที่สาม ถ้าเรามองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็น social institute สถาบันทางสังคม ซึ่งคงจะมีบทบาท ไม่ว่าสถาบันใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีบทบาทในทางสังคมที่เรียกว่า social relevance ก็อยู่ไม่ได้

ถ้าเราเอากรอบเหล่านี้มาดู บางทีอาจจะช่วยให้เราเห็นทั้งส่วนที่เป็นปัญหาหรือจะเรียกวิกฤตก็ได้  ในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้เราพอจะมีทางออกให้กับพุทธศาสนาได้ และมีบทบาทที่สำคัญสามประการดังที่กล่าวมาแล้ว  ฉะนั้นทางออกก็คือจะทำอย่างไรเพื่อให้พุทธศาสนาในฐานะที่เป็น social paradise ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจริงจังเพื่อที่จะทำความจริงทั้งหลายให้ปรากฏ  ขณะนี้ทุกอย่างเหมือนที่เราพูดกันมา ความจริงทั้งหลายไม่ปรากฏ  แต่เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นโดยวิธีการต่างๆ นานา ไม่ว่าจะฝ่ายธุรกิจหรือฝ่ายการเมืองก็แล้วแต่  เหตุที่ทำให้เสื่อมเพราะเราอยู่ในสังคมท่ามกลางที่เราไม่รู้ว่าอะไรมันจริง อะไรไม่จริง  ทั้งๆ ที่เรามีเครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งในการที่จะช่วยให้เราได้สามารถทำความจริงหลายอย่างให้ปรากฏขึ้นมาได้

ทางออกที่ผมคิดว่าไม่มีทางอื่น เราจะต้องปรับในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้อย่างจริงจังใหม่ในหมู่พุทธบริษัททั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาสำหรับของพระสงฆ์อย่างเดียว แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายทั้งหมดที่พูดไปแล้ว  ในพุทธบริษัททั้งสี่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการการเรียนรู้อย่างใหม่เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงความสำคัญ และมีทักษะที่จะนำเอาพุทธศาสนาในฐานะที่เป็น social paradise มาใช้ในการทำความจริงในทุกเรื่องที่เผชิญอยู่ให้ปรากฏได้  อย่างนี้ผมคิดว่าเป็นทางออกที่จะทำให้การฟื้นฟูพุทธศาสนาในเมืองไทยกลับเข้ามามีบทบาทได้ในสังคมไทย

ในแง่ที่เป็น social institute หรือสถาบันทางสังคม พระไพศาลพูดไว้มากพอสมควรว่า พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายไม่ควรเดินอยู่บนเส้นทางปริยัติอย่างเดียว หากยังต้องกลับมาเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้อย่างที่อาจารย์ประเวศเคยพูดว่า กระบวนการเรียนรู้แบบร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้ที่มีทุกข์  เราต้องมีกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงานกับคนยากไร้และคนชายขอบให้ได้  ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการเรียนปริยัติไม่สำคัญ กระบวนการเรียนรู้เรื่องปริยัติก็จำเป็น แต่ก็ต้องเปลี่ยนจากวิธีการที่เป็นทางเดียว (one way communication) ที่เป็นอยู่ขณะนี้ มาเป็นรูปแบบของ dialogue (เสวนาวิสาสะ) มากขึ้น  วิธีการอย่างนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เห็นว่า พุทธศาสนาที่เป็น social paradise สามารถเอาไปใช้ได้จริง ให้ผลเป็นที่ประจักษ์ได้  ถ้าสมมติว่าเราเรียนผ่านกระบวนการศึกษาโดยบูรณาการกับส่วนที่เป็น social institute กัน ไม่ได้แยกส่วนว่าให้พระพุทธศาสนาต้องออกไปทำงานชุมชนอย่างเดียว  แต่มองว่ากระบวนการทำงานกับชุมชนว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เพราะในแง่ที่เป็น social institute และ social paradise และ social valuation ที่อาจารย์สุวรรณากล่าวถึง จะกระทำผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นบูรณาการได้  ผมคิดว่าต้องมาคิดใหม่  ตัวที่จะชี้นำทั้งหมดคือเรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ผมว่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราสามารถจะฟื้นฟูบทบาททั้งสามมิติของพุทธศาสนามาได้

ในแง่หนึ่งเราจำเป็นต้องปรับบางเรื่อง ในแง่ของตัวบทกฎหมาย ถ้าเอากรอบวิธีคิดที่อาจารย์ประเวศพูดเสมอว่าการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปรับปรุงเรื่องใดๆ ที่ยากและซับซ้อน ต้องใช้กรอบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา การศึกษาก็เป็นตัวยอดของสามเหลี่ยมอยู่แล้ว  กระบวนการเรียนแบบบูรณาการจะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ในเรื่องพวกนี้ชัดเจนขึ้น

ในขณะเดียวกันก็จะได้อีกแง่มุมหนึ่งที่อาจารย์ประเวศพูดถึงคือ เรื่องของการมีส่วนร่วมที่อาจารย์ใช้คำว่าการเคลื่อนตัวของสังคมเข้ามาช่วยผลักดันในสิ่งเหล่านี้ หรือพุทธบริษัททั้งปวงที่ต้องเข้ามา  และส่วนสุดท้ายที่เป็นเรื่องที่อาจารย์ประเวศได้พูดเอาไว้ ความเชื่อมโยงกับฝ่ายตัวบทกฎหมายในทางรัฐของทางการเมืองก็จำเป็น  แต่ผมคิดว่าถ้าอยากจะฟื้นฟูพุทธศาสนาให้มีบทบาทตามที่เรากล่าวมา  หากเราพยายามไปตั้งกรมหรือกระทรวงพุทธศาสนา ผมคิดว่าบางทีอาจให้ผลตรงกันข้าม  เราน่าจะต้องถอยออกมาจากระบบราชการ  ผมว่าขณะนี้แนวคิดทั้งหมดไม่ใช่กลับไปสู่ระบบราชการ  ถ้าอยู่ในระบบราชการอย่างในระบบสมณศักดิ์ ไม่ว่า ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นสมเด็จอะไรก็แล้วแต่ ยากมากที่เราจะทำให้มีบทบาทแบบนี้ได้  ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นร่วมช่วยให้ฝ่าทางออกนี้ได้

สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือพุทธศาสนามีความสำคัญ แต่ถ้ามองเห็นพุทธศาสนาสำคัญเฉพาะตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลุดพ้น หนีไปอยู่ป่าหรือว่าดูแลพุทธศาสนาในฐานะเป็นช่องทางถีบตัวให้สูงขึ้นในสังคม  เช่นนี้เราก็ไม่มีทางที่จะฝ่าวิกฤตของพุทธศาสนาไปได้

 

วีระ สมบูรณ์

ในเรื่องทางออกจากวิกฤตนั้น ผมอยากจะพูดถึงสองประการ แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นควรจะเป็นคำตอบ  คำตอบที่หนึ่งก็คือคำตอบในแบบที่อิงอาศัยโลกุตตรธรรมหรือปรมัตถธรรมล้วนๆ คำตอบนี้คงไม่ใช่ทางออก เพราะว่าเรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาที่อยู่ในกระบวนการทางสังคม สภาพแวดล้อมทางสังคมด้วย ถ้าเราเอาสิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจ์มาตอบ จะเป็นการตอบคำถามคนละชุดกัน  เวลาเกิดวิกฤตแล้วไปใช้ปรวัตถ์เป็นคำตอบ ก็อาจได้คำตอบว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ก็แปลว่าไม่ได้ตอบอะไร  คำตอบแบบปรมัตถ์นำมาตอบคำถามชุดนี้ไม่ได้แน่นอน

คำตอบที่สองคืออำนาจรัฐ  อำนาจรัฐตอบคำถามนี้ไม่ได้ ทางออกของพุทธศาสนาจะไปอิงอยู่กับอำนาจรัฐหรือใช้เป็นคำตอบหลักนั้นไม่ได้  ไม่มีทางเลย เพราะว่าจริงๆ แล้ววิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้ไปแฝงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างเต็มที่  ยังไม่ต้องไปพูดถึงอำนาจใหญ่ๆ เอาแค่รัฐบาลก็พอ อย่าไปตั้งความหวังมากนัก ท่านไม่เข้ามายุ่งได้ก็ดีแล้ว  ถ้าท่านมายุ่งเดี๋ยวจะเกิดเจ้าอาวาสซีอีโอ เจ้าคณะจังหวัดซีอีโอ อะไรขึ้นมาอีก ก็จะยุ่งกันไปใหญ่ ฉะนั้นท่านไม่ยุ่งก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว  เราไม่เคยคาดหวังว่าอำนาจรัฐจะมาแก้ปัญหานี้ได้

สองอย่างนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นตัวคำตอบหรือทางออกได้  ในช่วงแรกผมพูดไปเพียงประเด็นเดียว อีกประเด็นหนึ่งที่พูดเชื่อมโยงถึงทางออกด้วยก็คือ เมื่อใดที่เราพูดถึงศาสนา ประเด็นทางศาสนาที่สำคัญที่สุดคือจุดมุ่งหมาย  จุดมุ่งหมายนั้นคือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ ตัวตนของคนเรา  ถ้าเราจะบอกว่าศาสนามีวิกฤตหรือพุทธศาสนามีวิกฤต นั่นก็เป็นเพราะว่าคนในสังคมหรือสังคมไม่ได้ถือเอาจุดมุ่งหมาย หรือไม่ได้มีความเข้าใจตัวตน หรือผูกตัวตนของตัวเองไว้กับจุดมุ่งหมายแบบพุทธศาสนา  จุดมุ่งหมายถูกอย่างอื่นเข้ามาแทนเข้ามาผูกขาดไป ซึ่งตัวสำคัญในเวลานี้ที่เข้ามาดึงเอาจุดมุ่งหมายไป และเป็นตัวที่เข้ามานิยามตัวตนของคนในสังคมมีอยู่สองตัวหลักเท่านั้น ซึ่งท่านอาจารย์หลายท่านก็ได้พูดถึงไปแล้ว  อย่างแรกก็คือรัฐ  รัฐได้เข้าเป็นองค์กรในการจัดตัวตนของคนขึ้นมาแล้วก็เข้ามาเป็นจุดมุ่งหมาย ความเป็นชาติกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ความยิ่งใหญ่ของชาติหรือการที่ทุกๆ คนต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างไปเพื่อความเป็นชาติหรืออำนาจอะไรบางอย่างที่มีร่วมกันในรัฐเข้ามาแทน

อันที่สองก็คือตลาด  ตลาดเข้ามาแทนเพราะว่าจุดมุ่งหมายของการตลาดเข้ามาแทนทุกอย่างหมด  ตัวตนของมนุษย์ก็เข้าไปอยู่ในระบบของตลาด จุดมุ่งหมายของชีวิตก็เป็นไปตามกลไกตลาดทุกอย่าง ที่ต้องวัดและต้องคำนวณกัน รวมทั้งจัดระบบ ตั้งตัวชี้วัดอะไรก็ตาม เป็นไปด้วยลักษณะของระบบตลาด  ถามว่าวิกฤตตรงนั้นอยู่ตรงไหน วิกฤตก็คือพุทธศาสนาในเวลานี้ไม่ได้มีบทบาทในการนิยามจุดมุ่งหมาย นิยามเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวตน  ทุกอย่างถูกดึงเข้าไปอยู่ในคำนิยามและการจัดองค์กรโดยรัฐและตลาดหมด  รวมทั้งตัวพุทธศาสนาเองด้วยก็ถูกดึงเข้าไปให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดด้วย  เพราะฉะนั้นทางออกก็คือต้องหลุดออกจากตัวโครงสร้างสองอย่างนี้ให้ได้

ท่านไพศาลได้วิเคราะห์และเสนอประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก เป็นทางออกที่เราเรียกในปัจจุบันว่าประชาสังคม (civil society)  เรื่องประชาสังคมนั้นมีความสำคัญ และน่าสนใจมาก  ท่านได้มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า ความอยู่รอดของพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  คำว่าสังคม มีจุดมุ่งหมาย มีคำนิยามชีวิตตัวเอง มีโครงสร้างของตัวเองที่ไม่ต้องถูกรัฐและตลาดกลืนไปหมด  ในสังคมเรามีการรวมตัวกันหลายๆ แบบ และมีการตั้งจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งจุดมุ่งหมายชีวิตที่รวมตัวกัน สร้างประโยชน์ร่วมกัน อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีความหลากหลายและหลุดออกการครอบงำของรัฐและตลาดได้  ถ้ามองในแง่นี้พุทธศาสนาก็จะเป็นส่วนสำคัญมากในการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่จะทำให้คนในสังคมสามารถมองข้าม หรือว่าอย่างน้อยที่สุดหลุดออกจากการครอบงำของจุดมุ่งหมายแบบรัฐและจุดมุ่งหมายแบบตลาดได้ และมีกำลังเพียงพอที่จะมารวมตัวกันได้

ฉะนั้นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน จะทำให้พุทธศาสนาสามารถหลุดออกจากวิกฤตได้  การที่สังคมจะมีการรวมตัวกันในลักษณะต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกที่สำคัญ มากว่าที่เราจะไปคาดหวังอำนาจรัฐ หรือแม้กระทั่งจะคาดหวังกระบวนการอะไรต่างๆ ที่เป็นอยู่ในสังคมว่าจะช่วยเราได้  แม้กระทั่งสื่อสารมวลชน ระบบสื่อต่างๆ ผมคิดว่าใหญ่เกินกว่าที่จะเข้ามาทำประโยชน์อะไรได้  สื่อต่างๆ ตกอยู่ภายใต้ระบบกลไกตลาด กลไกของธุรกิจ จนกระทั่งสื่อสารมวลชนระดับใหญ่นั้นก็คงจะไม่ใช่ทางออก

ในประเด็นสุดท้ายผมอยากจะพูดถึงประเด็นที่ดูเหมือนเล็กๆ แต่ผมคิดว่าสำคัญมาก ก็คือประเด็นเรื่องการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ การสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม หรือจะเรียกรวมๆ ว่าการสร้างสรรค์เชิงศิลปวัฒนธรรมก็ได้  ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาไม่ว่าในประเทศไทย หรือในที่ต่างๆ ก็ตาม สิ่งที่พุทธศาสนาสร้างขึ้น มีความงอกงามและเข้าถึงผู้คนได้มา  และสามารถปรับใช้ได้ดีพอสมควร  ผมคิดว่าสิ่งนั้นคืองานสร้างสรรค์เชิงศิลปวัฒนธรรม งานเนรมิตรสร้างสรรค์สำคัญมาก  ถ้าจะบอกว่าพุทธศาสนาในปัจจุบันมีวิกฤต ผมคิดว่าตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤต  เพราะปัจจุบันพุทธศาสนาไม่สามารถที่จะสร้างศิลปวัฒนธรรมโดยอาศัยนวัตกรรมหรือสื่อใหม่ๆ ได้ ไม่สามารถทำได้  เวลาเรานึกถึงศิลปะแบบพุทธเราก็มักนึกถึงแบบเดิมตลอด ต้องเป็นเจดีย์บ้าง เป็นช่อฟ้าใบระกาหางหงส์บ้าง ต้องเป็นตู้ลายรดน้ำ ฯลฯ

ทำไมเราถึงไม่สามารถนึกถึงศิลปะทางพุทธแบบใหม่ที่เป็นการ์ตูน ผมไม่ทราบว่าจะดีหรือไม่ดี  ทำไมเราไม่สามารถนึกถึงนวนิยายที่จะสามารถเข้าถึงความทุกข์ของมนุษย์ในปัจจุบัน ทำไมจะต้องกลับไปหาชาดกในสมัยก่อนตลอดเวลา  ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ทำไมต้องกลับไปหาของเดิมตลอดเวลา ทำไมจึงไม่มีงานสร้างสรรค์แม้กระทั่งในงานดนตรี อาจจะมีบ้างแต่น้อย ผมคิดว่าน่าจะต้องมีมากขึ้น ในทางดนตรี ในทางภาพยนตร์ อะไรต่างๆ  สิ่งเหล่านี้น่าจะต้องเกิดขึ้น และต้องได้รับการสนับสนุน แต่เวลานี้เราไม่มีอะไรจะไปสนับสนุน  ผมคิดว่าคนที่สนใจจะทำและมีกำลังพอที่จะทำนั้นมีอยู่ แต่เราน่าจะต้องสนับสนุนการสร้างสรรค์แบบนี้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยรัฐและไม่ต้องอิงอาศัยตลาด  จะทำได้อย่างไร เราก็ทำเหมือนกับที่เราทอดผ้าป่าสร้างอุโบสถ ทอดผ้าป่าสร้างเจดีย์ สร้างสถานวัตถุต่างๆ เราก็ทำได้  ผมคิดว่าเราสามารถตั้งกองทุน หาทุนขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นทุนอุดหนุนให้กับการสร้างศิลปะวัฒนธรรมจากการบริจาคร่วมกันได้  เพื่อที่จะให้คนที่ต้องการสร้างงานทางศิลปะออกมา สามารถที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์ได้ และก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องของผลกำไร ไม่ต้องมาคิดถึงเรื่องการค้าขายเป็นเป้าหมายจนกระทั่งบีบรัดจนเกินไป

ถึงแม้ว่างานศิลปะดูจะเป็นงานแบบอ่อนๆ ผมเชื่อว่าถ้ามีการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนและสร้างสรรค์ในทางด้านนี้มากยิ่งขึ้นก็จะทำให้ทางออกหรือว่าความเกี่ยวข้องพุทธศาสนากับสังคมนั้น เป็นไปโดยที่คนส่วนใหญ่ก็มีส่วนร่วมได้  แล้วก็ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นเรื่องเคร่งเครียดจนเกินไป แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจับประเด็นร้อนกันอยู่เรื่อยไป  ประเด็นร้อนที่นี้หมายถึงประเด็นต่อต้าน ประเด็นประท้วง ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป  ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ แต่ก็ควรจะมีเรื่องที่เป็นนฤมิตรกรรมที่พุทธบริษัทช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้น

“พุทธศาสนาในเวลานี้ไม่ได้มีบทบาทในการนิยามจุดมุ่งหมาย นิยามเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวตน  ทุกอย่างถูกดึงเข้าไปอยู่ในคำนิยามและการจัดองค์กรโดยรัฐและตลาดหมด รวมทั้งตัวพุทธศาสนาเองก็ถูกดึงเข้าไปด้วย”

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พุทธศาสนาจะฝ่าวิกฤตไปได้อย่างไร เป็นคำถามที่ผมคิดว่าตอบได้ง่ายมาก คือผมไม่รู้  ที่มาก็เพราะอยากฟังความเห็นที่ดีๆ ของคนอื่น

ขออธิบายความไม่รู้ของผม  ผมเห็นด้วยกับส่วนใหญ่ที่อยู่บนเวทีนี้ที่ไม่ได้คิดอาศัยจะใช้รัฐ ในขณะที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติในสังคมไทยที่เวลามีปัญหาแล้วจะมองไปที่รัฐเป็นตัวแก้ปัญหา  เหตุผลของผมไม่ได้ลึกซึ้งอะไรหรอก ผมยังไม่ไว้วางใจรัฐ  เพราะว่าผมคิดว่ารัฐเป็นตัวทำให้เกิดปัญหากับพุทธศาสนาในประเทศไทย ผมว่ามากทีเดียว  แล้วจริงๆ ก็ไม่มีรัฐอะไรในโลกนี้ที่อุปถัมภ์ศาสนาโดยไม่เข้าไปควบคุมและใช้ประโยชน์ศาสนา  ทุกศาสนาในโลกนี้ผมว่าที่รัฐเข้าไปอุปถัมภ์ ที่อุปถัมภ์เพื่อจะเอาไปควบคุมและใช้ประโยชน์ด้วย  และในที่สุดแล้ว ผมคิดว่าคนในองค์กรพุทธศาสนา จะเคยชินกับการอุปถัมภ์จนกระทั่งไม่คิดทำอะไรอีกเลย  คือพอใจในการที่จะให้รัฐควบคุมตัวเอง ยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่าจะได้ปลอดภัยจากการอุปถัมภ์ว่าไม่มีวันขาดแน่ๆ  และด้วยเหตุดังนั้นผมคิดว่าการอุปถัมภ์ของรัฐไทยที่มีต่อพระพุทธศาสนา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือทำให้องค์กรศาสนาพุทธในประเทศไทยมีการประกันการท้าทาย

วิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในเวลานี้ ถ้าไม่ถูกท้าทายอย่างเต็มรูปแบบ ผมไม่ได้แปลว่าไม่ถูกท้าทายเลย  ถ้าไม่ถูกท้าทายอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐไม่มีอำนาจเข้ามาปราบปรามผู้ท้าทาย เมื่อนั้นผมคิดว่ายากมากเลยที่องค์กรพุทธศาสนาในประเทศไทยจะสามารถปรับตัวได้  ไม่ว่าจะเป็นสันติอโศกไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่  เมื่อกี้มีคนพูดถึงเรื่องท่านพุทธทาสบ้าง ท่านพระธรรมปิฎกบ้าง ใครต่อใครแล้วแต่ที่พยายามปรับพระพุทธศาสนาซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ามีการพยายามปรับตัวจริง  ศาสนาพุทธไม่ได้นอนนิ่งๆ อยู่เฉย มีความพยายามจะปรับตัว แต่ขอให้สังเกต เมื่อไรที่คุณปรับแรงเกินไป ผิดหรือถูกก็ตาม เช่นสันติอโศก เมื่อนั้นก็จะมีการดึงอำนาจรัฐเข้ามาปรามการท้าทายอันนั้นทันที

ไม่มีระบบอะไรในโลกนี้ที่ถูกท้าทายแล้วไม่ขยับเลย  วิธีขยับที่ง่ายที่สุดของทุกระบบ ถ้าใช้คำของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็คือ ไกล่เกลี่ย  ใครที่เป็นศัตรูเราก็ไปไกล่เกลี่ยซะ เดี๋ยวก็มาเป็นพวกเดียวกันกับเราเอง หรือพิษสงน้อยลง  ลองย้อนกลับไปดูในศาสนาพุทธไทยหลังจากปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ใครก็แล้วแต่ที่ท้าทายแรงเกินไปรัฐจะเขี่ยออกไป ถ้าใครท้าทายอะไรที่ไม่แรงเกินไป แม้ไม่ใช่รัฐ องค์กรคณะสงฆ์ก็ตาม องค์กรชาวพุทธทั้งหลายก็ตามแต่  รัฐเองซึ่งอยู่เบื้องหลังองค์กรเหล่านี้ก็ตามก็จะไกล่เกลี่ยคนเหล่านี้เข้ามา ตกลงกันไปได้โดยไม่ต้องรับการท้าทายที่แท้จริง  เคยมีการปฏิรูปพุทธศาสนาที่ไหนในโลกที่หลีกเลี่ยงการท้าทาย ผมว่าไม่มีหรอก  เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์วีระบอกว่ารัฐถอยไปก็จะดี จะทำให้องค์กรพุทธศาสนาได้เผชิญกับการท้าทายอย่างแท้จริงขึ้นมาได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ  ผมเห็นด้วยกับคนส่วนใหญ่ รวมทั้งท่านอาจารย์ประเวศด้วยถึงเรื่องที่ว่าถ้าจะมีการฝ่าวิกฤตของพระพุทธศาสนาไทยแล้ว สังคมเป็นตัวสำคัญที่สุด จะเรียกประชาสังคมอะไรก็แล้วแต่ ผมขอเรียกว่าสังคมเฉยๆ ก็แล้วกัน สังคมจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด

แต่ที่ผมเองตอบไม่ได้และไม่กล้าที่จะจำคำอาจารย์ประเวศมาตอบ ก็คือว่าสังคมขับเคลื่อนตัวเองอย่างไร เพราะเรื่องที่เราเผชิญนั้นใหญ่มาก  ผมไม่ได้หมายความว่าสังคมขับเคลื่อนตัวเองไม่ได้ จะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาอะไรก็แล้วแต่ สังคมขับเคลื่อนได้ในบางเรื่อง  แต่บางเรื่อง ผมนึกไม่ออกว่าสังคมจะขับเคลื่อนตัวเองยังไงอย่างเป็นรูปธรรม

ยกตัวอย่างเช่น มีโอกาสไหมที่จะทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งรับเอาพระพุทธศาสนาไปเป็นหลักในการศึกษาวิชาเคมีหรือชีววิทยา เป็นต้น  ประเด็นก็คือ ไม่ใช่ว่าเราศึกษาวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่เราควรศึกษาวิทยาศาสตร์จากมุมมองของพระพุทธศาสนา  มีเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธได้ ก็ต้องมีเคมีชาวพุทธได้ ไม่แปลกอะไร  ถ้างลองเปรียบเทียบกับศาสนาอิสลาม ในหลายมหาวิทยาลัยในโลกตะวันออกกลาง ที่เขาสอนแพทย์สอนอะไรก็แล้วแต่ จะต้องยืนบนหลักของศาสนาอิสลามตลอด  ทำไมศาสนาอิสลามถึงสามารถที่จะเผชิญกับวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกได้  ผมไม่แน่ใจว่าพุทธศาสนาจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะว่าในทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐเป็นผู้ดูดเอาไม่ใช่แค่ทรัพย์อย่างเดียว แต่ยังดูดคน ดูดการริเริ่ม ดูดสื่อ ดูดทุกอย่าง ไปอยู่ในกำมือของตัวเองหมด  ผมไม่ไว้ใจรัฐ แต่พอบอกให้สังคมขยับเขยื้อนบ้างสิ ผมก็ยังนึกเป็นรูปธรรมไม่ออกว่ากับเรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้ จะให้สังคมขยับเขยื้อนยังไง  นอกจากว่าทำยังไงให้พลังของสังคมถูกจัดตั้งขึ้นมา พลังของสังคมที่ไม่ใช่รัฐเป็นคนจัด  ให้รัฐเข้ามาช่วยจัดได้ แต่จัดแล้วให้เป็นองค์กรของสังคมอยู่ เช่นองค์กรมหาชนซึ่งกำลังพังลงไปทีละองค์กรสององค์กร เช่นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แทนที่จะเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นองค์กรมหาชนได้ไหม อย่างนี้เป็นต้น  เพระว่าถึงยังไงๆ ผมคิดว่าองค์กรของสังคม ที่สังคมจะทำให้แก่ตัวเอง โดยไม่มีใครที่ใหญ่พอควรมาช่วยในการจัดองค์กร ผมว่าคงยาก  แต่ถ้าให้ช่วยทำก็จะเข้ามาครอบงำเสียเอง ทำให้แล้วคืนกลับมาเป็นของสังคมอย่างเก่า อันนี้ค่อนข้างจะยาก  ฉะนั้นผมก็มองไม่ออกเหมือนกัน  พูดตรงๆ ก็คือว่าพยายามจะอธิบายว่า ที่ผมบอกไม่รู้ เพราะมีสติปัญญาคิดออกได้เพียงแค่นี้เอง  คิดอะไรก็ตันไปหมดทุกทาง