เราต่างเป็นผลของกันและกัน

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2010

มิใช่แต่โรคเท่านั้นที่ติดต่อกันได้  อารมณ์ความรู้สึกก็ยังสามารถถ่ายทอดถึงกันได้  เมื่อเราอยู่ใกล้คนเศร้า เราก็พลอยรู้สึกเศร้าไปด้วย  ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พูดคุยกันเลย เมื่อเขาร่ำไห้ เราก็พลอยน้ำตารื้นไปด้วย  ในทำนองเดียวกันหากอยู่ในห้องเดียวกับคนเครียด เราก็จะรู้สึกเครียดตามไปด้วย  นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นเพราะอิทธิพลของ mirror neuron หรือเซลล์สมองที่ทำงานคล้ายกระจกเงา กล่าวคือมันกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกหรือมีกิริยาท่าทางคล้ายผู้ที่เราสังเกต

อย่างไรก็ตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจบางครั้งก็เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ (หรือตอบสนอง) การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น หากใครบางคนต่อว่าเราด้วยความโกรธ เราก็จะรู้สึกโกรธขึ้นมา  ในทางตรงข้ามหากมีคนยิ้มให้เรา หรือดีใจที่เห็นเรา เราก็ยิ้มรับด้วยความดีใจเช่นกัน  พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกของคนเราสามารถกระตุ้นหรือดึงความรู้สึกอย่างเดียวกันให้เกิดขึ้นในใจของอีกฝ่ายหนึ่งได้

ความรู้สึกที่ถ่ายทอดหรือส่งผลถึงกันน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรมคล้ายกันหรือเลียนแบบกันโดยไม่รู้ตัว  น่าแปลกก็ตรงที่การเลียนแบบดังกล่าวเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับคนที่เราไม่ชอบหรือรู้สึกเป็นลบกับเขา  ลูกที่เกลียดพ่อเพราะชอบทุบตีแม่ แต่เมื่อมีภรรยาก็ชอบใช้ความรุนแรงกับเธอ และความรุนแรงนั้นก็ส่งต่อไปให้ลูก  ลูกรับความรุนแรงของพ่อไปเต็มที่ทั้งๆ ที่ไม่ชอบความรุนแรงของพ่อที่ทำต่อแม่

“ปูเป้” เป็นคนหนึ่งที่ถูกสามีทำร้ายเป็นประจำ วันหนึ่งเธอตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าเพื่อหนีเขาไป  แม่สามีเห็นจึงเข้ามาห้าม และเล่าว่า “เอก” ลูกของเธอนั้นเป็นคนมีปม  เมื่อเขายังเล็กเห็นพ่อตบตีแม่เป็นประจำ ภาพดังกล่าวฝังลึกในใจเขา และทำให้เขากลายเป็นเช่นนั้นเมื่อโตขึ้น เธออยากให้ปูเป้เข้าใจเขา

พอได้ฟังเช่นนั้น เธอก็หวนนึกถึงลูก เพราะลูกเธอมีอาการไม่ต่างจากสามีในวัยเด็ก  เวลาเธอถูกสามีซ้อม ลูกทั้งสองคนจะหวีดร้องด้วยความหวาดกลัว พอเข้านอนก็จะละเมอร้องไห้แทบทุกครั้ง ยิ่งกว่านั้นระยะหลังลูกคนโตของเธอเริ่มแสดงอาการก้าวร้าว ชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน  เห็นได้ชัดเลยว่าความรุนแรงของปู่ถ่ายทอดมายังพ่อ และบัดนี้กำลังฟูมฟักในตัวลูก  เธอไม่เพียงเข้าใจพฤติกรรมของลูกเท่านั้น แต่ยังเข้าใจสามีดีขึ้นว่า แท้ที่จริงเขาก็เป็น “เหยื่อ” ที่น่าเห็นใจ

การซึมซับรับความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สังเกตการณ์อย่างลูกของปูเป้ (หรือลูกหลานของเราที่ติดโทรทัศน์หรือวีดีโอเกมรุนแรง) เท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำโดยตรง  คนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง มักเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น  ลูกที่ถูกพ่อตบตี แม้จะเกลียดพ่อ แต่กลับเลียนแบบพ่อด้วยการทำร้ายผู้อื่นเป็นอาจิณ  ในทำนองเดียวกันคนที่ถูกกระทำมิดีมิร้าย เมื่อโตขึ้นกลับทำเช่นนั้นกับผู้อื่น  เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน มีคนไทยผู้หนึ่งถูกจับกุมที่สหรัฐอเมริกาเนื่องจากล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กหลายราย รวมทั้งถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าเด็กคนหนึ่งด้วย เมื่อสอบประวัติก็พบว่าตอนเด็กเขาเคยถูกพี่ชายกระทำชำเราอยู่เป็นประจำ  ภูมิหลังทำนองนี้มักจะพบในอาชญากรจำนวนมากที่กระทำผิดเป็นอาจิณหรือมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมทารุณ

เราไม่ชอบที่มีคนใช้ความรุนแรงกับเรา แต่เหตุใดเราจึงกลับชอบใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น  เราเกลียดคนที่ทุบตีเรา แต่เหตุใดเราจึงทำตัวเลียนแบบเขา  คำอธิบายในเรื่องนี้คงเป็นอะไรที่มากไปกว่าความต้องการแก้แค้นหรือสนองความสะใจ  มองให้ลึกลงไปใช่หรือไม่ว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น ความโกรธเกลียดของผู้กระทำ ได้กระตุ้นเร้าความโกรธเกลียดของผู้ถูกกระทำให้ขยายตัวและลุกลามจนท่วมท้นจิตใจของเขา  ยิ่งเจ็บปวดจากการกระทำดังกล่าวมากเท่าไร ความรู้สึกดังกล่าวก็ยิ่งรุนแรงและฝังลึกมากขึ้น  หากเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือครุ่นคิดถึงมันไม่หยุดหย่อน (แม้จะพยายามกดข่มมันเอาไว้) ความโกรธเกลียดก็ยิ่งอัดแน่นกลายเป็นเปลือกหนาทึบที่ครอบงำจิต ทำให้จิตดำมืด ไม่เปิดโอกาสให้คุณสมบัติฝ่ายดี เช่น เมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจเจริญงอกงามได้เลย  สภาพจิตเช่นนี้มีแต่ผลักดันให้เกิดความรุนแรงเพื่อความสะใจของตนเอง โดยไม่อนาทรต่อความทุกข์ของผู้อื่น

ความรุนแรงนั้นเป็นผลของความโกรธเกลียด  ดังนั้นยิ่งโกรธเกลียดผู้ที่ทำร้ายเรา ก็มีแนวโน้มที่เราจะทำร้ายผู้อื่น (หากไม่สามารถตอบโต้คนที่ทำร้ายเราได้)  ถึงจะไม่ใช่อาชญากรที่ทำร้ายกันจนเลือดตกยางออก แต่เราอาจทำร้ายกันด้วยคำพูดก็ได้  เช่น คนที่เกลียดเจ้านาย ย่อมอดไม่ได้ที่จะเล่นงานลูกน้อง  ส่วนลูกน้องก็หันไประบายใส่ภรรยา  ภรรยาก็หันไปดุด่าลูก  ส่วนลูกก็ไปทำร้ายหมา  หมาก็ไปไล่กัดแมว  ส่วนแมวก็หาทางระบายกับอะไรสักอย่างจนได้

การถ่ายทอดความรู้สึกหรือพฤติกรรมต่อไปเป็นทอดๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะความโกรธเกลียดหรือความรุนแรงเท่านั้น ความรู้สึกประเภทอื่นๆ ก็สามารถติดต่อกันได้ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ความรู้สึกเหงา

เมื่อเร็วๆ นี้มีการวิจัยพบว่าเมื่อใครสักคนรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวอ้างว้าง คนอื่นที่อยู่ในแวดวงของเขา (หรือที่เรียกว่า “เครือข่ายทางสังคม”) ก็จะเริ่มรู้สึกอย่างเดียวกัน  ผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า ความเหงานี้สามารถกระจายไปได้ ๓ ต่อ กล่าวคือผู้ที่อยู่ใกล้คนเหงาจะมีโอกาสเหงามากกว่าคนทั่วไปร้อยละ ๕๐ ส่วนผู้ที่รู้จักกับคนที่ใกล้ชิดคนเหงา โอกาสที่จะเหงามีถึงร้อยละ ๒๕ (ปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเห็นได้ชัดในหมู่เพื่อนมากกว่าคนในครอบครัว และชัดเจนในหมู่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย)

คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ ความรู้สึกเหงามักทำให้คนเราใส่ใจผู้อื่นน้อยลง ไม่ค่อยอยากโอภาปราศรัยด้วย  ดังนั้นเมื่อคนหนึ่ง (ก.) รู้สึกเหงา เขามักจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ (ข.) ในทางลบ จึงทำให้เพื่อนๆ ถอยห่าง ไม่อยากเข้าใกล้ ทำให้เขารู้สึกเหงายิ่งขึ้น ข้อนี้เห็นได้ไม่ยาก  แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เพื่อนๆ (ข.) เมื่อได้รับปฏิสัมพันธ์ทางลบจาก ก. แล้ว ก็เกิดความรู้สึกทางลบตามมา ทำให้แสดงออกกับเพื่อนๆ ของตน (ค.) ในทางลบ  เพื่อนๆ จึงถอยห่างจาก ข. ทำให้ ข. รู้สึกเหงาตาม ก. ไปด้วย  ในทำนองเดียวกัน ค. มีแนวโน้มที่จะทำอย่างเดียวกันกับเพื่อนๆ ของตน ทำให้ฝ่ายหลังตีตัวออกห่าง ทำให้ ค. รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

คำอธิบายดังกล่าวตอกย้ำว่า ปฏิสัมพันธ์ในทางลบของคนคนหนึ่งสามารถดึงเอาความรู้สึกในทางลบของอีกคนหนึ่งออกมา และทำให้มีพฤติกรรมในทางลบต่อบุคคลที่สาม  จะเรียกว่า “ลบ” ดึงดูด “ลบ” ก็คงไม่ผิด

น่าสนใจก็ตรงที่ระยะหลังมีการค้นพบหลายอย่างที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า พฤติกรรมของผู้คนนั้นติดต่อหรือถ่ายทอดกันได้ ไม่ใช่แค่ระหว่างคนที่เห็นหน้ากันเท่านั้น แต่สามารถไปไกลกว่านั้น  เมื่อ ๓ ปีก่อนมีการวิจัยพบว่า คนเรามีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ ๓๗-๕๗ หากมีคู่ครอง พี่น้อง หรือเพื่อนเป็นคนอ้วน  และหากเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิด โอกาสที่จะอ้วนตามเพื่อนก็จะเพิ่มเป็น ร้อยละ ๗๑ ทีเดียว  เขายังพบว่าแม้เป็นเพื่อนที่อยู่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตรก็อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการกินของเราได้ไม่น้อยกว่าเพื่อนที่อยู่ใกล้กัน  อิทธิพลดังกล่าวคงไม่ใช่การชวนไปกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน แต่เป็นอิทธิพลต่อความคิดของเราเกี่ยวกับความอ้วนและพฤติกรรมการบริโภค เช่น  มองว่าหนัก ๘๐ กิโลฯ ก็ไม่ถือว่าอ้วน หรือเห็นว่าการกินแฮมเบอร์เกอร์ทุกวันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นต้น

ล่าสุดปีนี้ก็มีการพบว่าการเลิกบุหรี่นั้นสามารถติดต่อกันได้  การศึกษาของคณะแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งซานดิเอโก โดยอาศัยข้อมูลของคน ๕,๐๐๐ คนที่เก็บสะสมมานาน ๓๒ ปีพบว่า เมื่อคนหนึ่งเลิกบุหรี่ คนที่อยู่ใกล้ชิดเขามากที่สุด เช่น เพื่อนและครอบครัว มีแนวโน้มจะเลิกบุหรี่ร้อยละ ๓๖  ขณะเดียวกันเมื่อคนกลุ่มหลังเลิกบุหรี่ ก็จะส่งผลให้คนในแวดวงหรือเครือข่ายของเขาเลิกบุหรี่ตามไปด้วย  ผู้วิจัยพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นหลายทอด และเกิดขึ้นในเวลาไล่ๆ กัน “เหมือนฝูงนกเปลี่ยนทิศทาง”  เขาจึงสรุปว่า การเลิกบุหรี่นั้นเป็นพฤติกรรมที่ติดต่อถึงกันได้ มันมิใช่เป็นแค่พฤติกรรมส่วนตัว แต่เป็น “กระบวนการของทั้งกลุ่ม” (เขายังพบว่าคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่จะค่อยๆ เขยิบออกห่างจนอยู่วงนอกของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่)

ตัวอย่างข้างต้นชี้ว่า มิใช่แต่พฤติกรรมที่ไม่ดีเท่านั้น  พฤติกรรมดีๆ ก็สามารถติดต่อถึงกันได้ด้วย  เหตุปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอาจมีหลายอย่างเช่น มีความเห็นสอดคล้องกัน เลียนแบบกัน หรือต้องการการยอมรับ  แต่มีปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญมากนั่นก็คือ พฤติกรรมที่ดีของคนคนหนึ่งนั้นสามารถดึงเอาคุณสมบัติด้านดีของอีกคนหนึ่งออกมา เช่น ความพากเพียรพยายาม ความตั้งใจมั่น ตลอดจนความเมตตากรุณาและความใฝ่ดี

เมื่อใครคนหนึ่งแสดงความเอื้ออารีต่อเรา เราก็อยากมีน้ำใจไมตรีกับเขา  เมื่อใครชื่นชมเรา เราก็อยากทำความดีมากขึ้น  เมื่อใครเอ่ยปากขอโทษเรา ความโกรธในใจเราก็ลดลง และรู้สึกเป็นมิตรกับเขามากขึ้น  ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราช่วยเหลือคนที่เคยกลั่นแกล้งเรา น้ำใจของเราย่อมดึงความเป็นมิตรออกมาจากใจเขา จนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้

“ลบ” ย่อมดึงดูด “ลบ” ฉันใด “บวก” ย่อมดึงดูด “บวก” ฉันนั้น  เมื่อเรากราดเกรี้ยวกับใคร เขาย่อมกราดเกรี้ยวกับเราไม่แพ้กัน  แต่เมื่อเราหันมาเป็นมิตร เขาก็จะเป็นมิตรกับเราทันที

มีชายคนหนึ่งเล่าว่าขณะที่กำลังขับรถบนทางด่วน เขาไม่สังเกตว่ามีรถอีกคันหนึ่งพยายามแซง ในที่สุดรถคันนั้นก็แซงจนได้พร้อมกับบีบแตรด่าว่าเขา  เขาโมโหมากจึงแล่นตามหมายจะเอาคืน  ขณะที่รถกำลังจะแซง เขาก็ลดกระจก แล้วเตรียมตะโกนด่า  เขามองหน้าคนขับอีกคันหนึ่ง จู่ๆ เขาก็เอ่ยคำว่า “ผมขอโทษ”  คนขับรถคันนั้นซึ่งตั้งท่าจะด่าสวนเช่นกัน รู้สึกอึ้งทันที แล้วเขาก็เอ่ยปากว่า “ผมขอโทษ” เช่นกัน  หลังจากนั้น ต่างฝ่ายต่างก็บอกให้อีกฝ่ายนำไปก่อน แต่ก็ไม่มีใครยอมแซงไปก่อน คะยั้นคะยอกันอยู่พักหนึ่ง จึงแล่นจากกันไป

จากคนที่แย่งทางกันกลายเป็นคนที่ให้ทางกัน  ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งปฏิบัติดีกับอีกฝ่าย ทำให้ฝ่ายหลังเปลี่ยนจากอริกลายมาเป็นมิตร  พูดอีกอย่างหนึ่งคือความดีของคนหนึ่งสามารถดึงความดีของอีกคนหนึ่งขึ้นมาแม้ว่าก่อนหน้านี้จะโกรธเกลียดกันก็ตาม

มิใช่แต่ความโกรธเกลียดและความรุนแรงเท่านั้น  ความรักความเมตตาและความเป็นมิตรก็สามารถถ่ายทอดหรือติดต่อกันได้ด้วย  ความรักและความอ่อนโยนของคนคนหนึ่งสามารถกระตุ้นความรักและความอ่อนโยนของอีกคนหนึ่งให้เจริญงอกงาม จนสามารถเอาชนะความโกรธเกลียดแข็งกระด้างหรือความรุนแรงในใจเขาได้

“ลบ” ย่อมดึงดูด “ลบ” ฉันใด “บวก” ย่อมดึงดูด “บวก” ฉันนั้น

หลังจากที่ปูเป้เข้าใจภูมิหลังของเอกแล้วว่าเหตุใดเขาจึงรุนแรงก้าวร้าวกับภรรยา เธอก็เปลี่ยนใจไม่หนีเขาไป  เธอพยายามคุมสติเวลาเขาระบายอารมณ์ใส่เธอ  แทนที่จะเถียงหรือแสดงอาการไม่พอใจดังแต่ก่อน เธอนิ่งเฉย  บางครั้งก็ให้แม่ของเอกมานั่งด้วยเพื่อปลอบเขาให้เย็นลง  ความนิ่งของเธอทำให้เขาสงบได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเธอก็พยายามทำดีกับเขา อ่อนโยนและมีน้ำใจกับเขา  ในที่สุดความก้าวร้าวของเอกก็ลดลง เขาดื่มเหล้าน้อยลง ไม่กลับบ้านดึกแต่ก่อน มีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น กลายเป็นพ่อที่ดีของลูก สามีที่ดีของภรรยา

เอกนั้นไม่ได้มีแต่ความก้าวร้าวในจิตใจอย่างเดียว เขายังมีความอ่อนโยน ความเมตตากรุณา และความใฝ่ดี  สิ่งที่ปูเป้ทำมิใช่อะไรอื่น หากได้แก่การรดน้ำหล่อเลี้ยงคุณสมบัติฝ่ายดีในใจของเอกให้งอกงามจนสามารถเอาชนะความก้าวร้าวในใจได้  จะเรียกว่าความอ่อนโยนของปูเป้ถ่ายทอดไปยังเอกก็ไม่ผิด

เราแต่ละคนต่างเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกัน  อยากให้คนใกล้ชิดเป็นอย่างไร เราควรเป็นอย่างนั้นด้วย  อยากให้ใครทำดีกับเราอย่างไร ก็ควรทำดีกับเขาอย่างนั้นด้วย  ขอเพียงแต่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความดีที่ทำย่อมเผล็ดผลอย่างแน่นอน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา