เสพติดความสด จาก Live สู่ Life

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 7 มกราคม 2018

เมื่อเฟสบุคเริ่มเผยแพร่โปรแกรมถ่ายทอดสดหรือ Live เมื่อสองปีที่แล้ว นักจิตวิทยาออกมาบอกว่าโปรแกรมนี้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการของผู้ดู 3 ประการคือ ระทึกใจ กลัวพลาดช็อตเด็ด และทันทีทันใด (Suspense, FOMO, Instantaneousness)

แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ การถ่ายทอดสดกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ และเป็นเครื่องมือบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตและตัวตนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีผู้ดูที่สามารถตอบสนองด้วยการกดไลค์หรือคอมเม้นต็ได้ทันทีทันใด ที่นิยมกันมากก็คือการถ่ายทอดสดสถานที่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นในหรือต่างประเทศ ตอนผู้เขียนไปเดินป่าและเมื่อขึ้นสู่ยอดเขาสูงสุด ก็มักมีนักท่องเที่ยว (ผู้เขียนด้วย) เดินหาตำแหน่งที่มีสัญญาณโทรศัพท์เพื่อถ่ายทอดสดบรรยากาศลมแรงๆ และเมฆสีขาวที่ลอยผ่านร่างกาย เพื่อให้เพื่อนๆ ร่วมชื่นชมบรรยากาศบนยอดเขาและอยากอวดอยู่ในที

ยิ่งเราดูการไลฟ์ทางโซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งอยากเห็นสิ่งที่ใหม่สด ตื่นเต้นระทึกขวัญมากขึ้นๆ ล่าสุดละครหลังข่าวบ้างเปิดโอกาสให้ผู้ดูสามารถโหวตว่า อยากให้ตอนจบของละครเป็นอย่างไร แล้วนักแสดงจะแสดงตอนจบแบบสดๆ ให้ดู ตอบโจทย์เรื่องการมีส่วนร่วมและความสดใหม่ได้ จากเดิมที่ละครหลังข่าวมักมีการถ่ายทำล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือบางเรื่องเป็นปี และมีคนกำหนดทิศทางของเรื่องเพียงไม่กี่คน

การไลฟ์บอกเล่าเรื่องอาหารการกินหรือการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ อาจมีผลเสียอยู่บ้างก็คือสร้างความหมั่นไส้ให้ผู้ดูบางคน แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราและทั่วโลกคือ มีการใช้การถ่ายทอดสดเพื่อถ่ายทอดอารมณ์สุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นรัก โกรธ หรือแค้น ผ่านการร่วมเพศ หรือการฆ่าผู้อื่น หรือการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดีย

การ Live ฆ่าตัวตายผ่านโซเชียลมีเดียถือเป็นประเด็นระดับโลก กรณีฮับราฮัม บิกก์ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีถือเป็นการฆ่าตัวตายถ่ายทอดสดกรณีแรกๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2551 หรือ 10 ปีที่แล้ว เขาโพสต์ผ่านเว็บบอร์ดออนไลน์ว่าวางแผนจะฆ่าตัวตาย จากนั้นก็ลิงก์เข้าไปในเว็บไซต์ทีวีถ่ายทอดสด แล้วการฆ่าตัวตายด้วยการกินยาเกินขนาด โดยมีบล็อกเกอร์บางคนเชียร์ว่า “ทำเลยๆ” ซึ่งต่อมาบล็อกเกอร์รายนั้นบอกกับสื่อว่าไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ ….เช่นเดียวกับคำกล่าวของจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ทำหน้าที่ถือโทรศัพท์มือถือไลฟ์สดหญิงสาวที่กระโดดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บอกว่า “ไม่คิดว่าจะทำจริง”

ดร.แคทลิน แรมสแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านนิติจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเดอเซลส์ สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายมากว่า 13  ปีบอกว่า ปัญหาร่วมในยุคเรียลิตี้ทีวีคือคนไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง มิหนำซ้ำในโลกโซเชียลมีเดียยังมีคนไม่น้อยมีพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งหรือทำร้ายผู้อื่น ด้วยการเยาะเย้ยเหยียดหยามหรือกระตุ้น

ในกรณีฮับราฮัมการเลือกวิธีการฆ่าตัวตายแบบไม่เด็ดขาดรุนแรง เช่น กินยาเกินขนาดถือเป็นการส่งสารขอความช่วยเหลือ ผู้ทำไม่ได้ต้องการฆ่าตัวตายจริง และหวังว่าจะมีคนมาช่วยเหลือทัน แต่ในทางจิตวิทยามีคำที่เรียกว่า Bystanders effect ที่ยิ่งอยู่ในคนหมู่มาก โอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือยิ่งน้อยลง เพราะคนเหล่านั้นคิดว่าเดี๋ยวคนอื่นก็มาช่วย เช่นเดียวกับกรณีเด็กหญิงวัย 14 ในจอร์เจีย สหรัฐอเมริกาถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายทางเฟสบุคตลอดทั้งคืน มีคนหลายพันคนเฝ้าดูเธอเตรียมแขวนคอตัวเองซึ่งใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีใครเข้าไปช่วย

ยิ่งอยู่ในคนหมู่มาก โอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือยิ่งน้อยลง เพราะคนเหล่านั้นคิดว่าเดี๋ยวคนอื่นก็มาช่วย

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องยากหากที่จะให้ความช่วยเหลือหากเราเห็นการไลฟ์ฆ่าตัวตายของคนที่ไม่รู้จัก และไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ที่ใด ในกรณีเฟสบุคไลฟ์ วิธีหนึ่งที่พอจะช่วยได้คือ เมื่อเห็นแล้วติดต่อไปที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแจ้งเหตุฆ่าตัวตายของเฟสบุค (Suicide Prevention | Facebook Help Center)

เมื่อการช่วยเหลือ ป้องกัน หรือแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายในโซเชียลมีเดียเป็นทั้งเรื่องยากและเรื่องปลายเหตุ นักจิตวิทยาแนะนำว่าวิธีการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายถ่ายทอดสดในโซเชียลมีเดียคือ การลดการฆ่าตัวตายทั่วไป ซึ่งจิตวิทยาเบื้องหลังการฆ่าตัวตายในที่สาธารณะคือ ผู้กระทำการบางรายอยากถูกมองเห็น อยากได้รับความสนใจ บางคนต้องการลงโทษใครสักคนผ่านการฆ่าตัวตายของตัวเอง บางคนรู้สึกโดดเดี่ยวจึงอยากเชื่อมโยงกับคนในโซเชียล ดังนั้นการดูแลคนใกล้ตัวหรือตัวเองคือ การให้ความรู้และตระหนักรู้ว่า เมื่อมีปัญหาเราสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้ ไม่ใช่เก็บความทุกข์ไว้คนเดียว

ผู้เขียนเห็นว่า การดูการถ่ายทอดสดทางโซเชียลที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น การตบตีทำร้าย การฆาตกรรม หรือการฆ่าตัวตาย ล้วนเป็นการเปิดโอกาสให้จิตใจเราสัมผัสกับความโหดร้ายที่มีการทดลองเชิงจิตวิทยาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เด็กๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมจากสิ่งที่มองเห็น  ถึงแม้จะอ้างว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจที่แข็งแกร่งพอที่จะไม่เลียนแบบสิ่งที่มองเห็น แต่การดูบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกชาชินกับความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งหากเราชาชินกับความเจ็บปวดและตายของมนุษย์ด้วยกันเสียแล้ว เราจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่แท้ได้อย่างไร

มิเพียงเท่านั้น หากคุณเผลอไปเชียร์หรือกระตุ้นให้เรื่องราวเลยเถิด ก็เท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของความโหดร้ายนั้นไปโดยปริยาย


ข้อมูลอ้างอิง

ภาพประกอบ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง