ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 5 สิงหาคม 2018

คุณรู้สึกอย่างไร กับข่าวการกู้ชีวิตนักฟุตบอลทีมหมูป่าติดถ้ำ ที่สถานีโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ถ่ายทอดทอดสดต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน ข่าวภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตครั้งละจำนวนมาก ทั้งในบ้านเราและทั่วโลก เช่น เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต น้ำท่วมใหญ่และคลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่น เขื่อนแตกน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศลาว และไฟป่าที่ประเทศกรีซ

สื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในสิ่งท้าทายแห่งยุคสมัย ในการประคองจิตใจมิให้ไหลไปตามอารมณ์ของเรื่องราวที่ไหลเข้าสู่การรับรู้ของเราแบบนาทีต่อนาที ไม่ว่าจะอารมณ์เชิงบวกอย่างดีใจ ตื่นเต้น หรืออารมณ์เชิงลบอย่างเสียใจ เศร้าหมอง ห่อเหี่ยว ล้วนทำให้จิตใจไม่สงบสุข

ในเชิงหลักการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและจิตวิทยามักเตือนให้ผู้รับสื่อรู้เท่าทันตัวเองและไม่ตกเป็นเหยื่อ และเครื่องมือที่จะช่วยให้รู้เท่าทันได้ดีที่สุดคือ สติ

คำว่า “สติ” เป็นคำนามธรรมที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ในเชิงรูปธรรมน้อยคนจะรู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร บ้างคิดว่าการฝึกสติคือการไปนั่งปฏิบัติธรรมที่วัดครั้งละหลายๆ วัน ซึ่งดูขัดแย้งกับวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ ที่มีความรับผิดชอบเรื่องหน้าที่การงานและครอบครัว

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาได้จัดทำ โครงการปลุกสติออนไลน์ ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องลางาน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่สมัครเข้ากลุ่มเพจเฟสบุค และเข้ามารับฟังคำแนะนำวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลาง วันเย็น) ครั้งละ 5-10 นาที และรับโจทย์ไปฝึกปฏิบัติหว่างวัน รวมทั้งมีการตอบคำถามฝ่านเฟสบุคไลฟ์ช่วงค่ำของทุกวัน รวม 6 วัน มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 1,000 คน

จากการบรรยายของพระไพศาล วิสาโล ใน “ปลุกสติออนไลน์” หัวใจสำคัญของการฝึกสติคือ “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น”  ตัวอยู่ที่ห้องนอน ใจก็อยู่ที่ห้องนอน ไม่ใช่ที่ทำงาน ตัวอาบน้ำ ใจก็อยู่กับการอาบน้ำ ไม่ใช่อยู่ที่ห้องครัวเพื่อทำอาหารให้ลูกกิน รวมถึงตัวกินข้าว ใจก็อยู่กับการกินข้าว ไม่ใช่เล่นไลน์หรือเฟสบุค

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ทำทีละอย่าง” และ “ใจเต็มร้อย” กับสิ่งที่ทำ โดยไม่กังวลกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว และอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

“เห็นกายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรับมือกับคลื่นแห่งข่าวสาร ที่มาพร้อมคลื่นแห่งอารมณ์อันหลากหลายและถั่งโถม ทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบ

ทั้งนี้เพราะอารมณ์อกุศลมีลูกไม้มากมายที่จะครอบงำจิตใจเรา เช่น พาจิตเราออกไปจดจ่อกับสิ่งภายนอก เช่น ถ้าโกรธก็พาไปจดจ่อว่าคนนี้แหละเป็นเหตุให้เราทุกข์ จิตใจรุ่มร้อน  ส่วนอารมณ์กุศล เช่น ดีใจ เสียใจ นั้นทำให้จิตใจพองโต แต่ด้วยความไม่เที่ยง เมื่ออารมณ์นั้นดับ ใจเราก็แฟบ  การสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น โกรธ เศร้า เสียใจ ดีใจ พอใจ ทำให้เรารู้ทันว่าเผลอจมอยู่ในอำนาจของอารมณ์ใด เมื่อรู้อารมณ์นั้นก็จะดับไปเอง ไม่ต้องกดข่ม ผลักใส หรือห้ามจิตให้หยุดคิด

“อ่านข่าว ฟังข่าว อ่านข้อความแล้วมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็ลองสังเกตแล้วรู้เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ใจคิดนึกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หากตั้งใจคิดไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่เผลอคิด หน้าที่เราคือทำให้รู้ว่าเผลอคิดไปแล้ว ให้หมั่นสังเกตว่ามีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นไร แต่อย่าให้มาครองใจเรา ด้วยการรู้ทันว่ากำลังคิด ความคิดนั้นจะสะดุดหยุดไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องบังคับ การทำเช่นนี้นอกจากเป็นการฝึกความรู้สึกตัวแล้ว ยังทำให้จิตใจเราสงบได้ง่าย” พระไพศาลกล่าว

หัวใจสำคัญของการฝึกสติคือ “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น”

สำหรับผู้เขียน แม้จะรู้ว่าควรทำทีละอย่างและหมั่นสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงหลักการ บ่อยครั้งที่เผลอไปกับการท่องโลกออนไลน์ จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งที่ผุดขึ้นมา ตามการอัลกอริทึมของเจ้าของเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นๆ บางครั้งกว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง เวลาก็ล่วงเลยไปเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะหาสิ่งใดมาเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราตระหนักรู้ว่า กำลังเผลอ และกลับมาอยู่กับกิจกรรมที่ทำและสังเกตความรู้สึก

ในการรับมือกับคลื่นข่าวสารจากโลกออนไลน์ ก็ต้องใช้เครื่องมือประเภทเดียวกัน เครื่องมือหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ดึงสติให้กลับมารับรู้ว่ากำลังเผลอคิด คือ การตั้งแอพพลิเคชั่นเสียงระฆังเตือนสติในโทรศัพท์มือถือ  แอพพลิเคชั่นนี้สามารถกำหนดช่วงเวลาเสียงระฆังเตือนแบบแน่นอนหรือสุ่ม เมื่อได้ยินเสียงระฆังก็ดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ด้วยการตามลมหายใจเข้าออกชั่วครู่ และบางครั้งก็ให้ธรรมชาติเป็นผู้เรียกสติ เช่น สายลมเย็นๆ พัดมาต้องผิวกาย หรือเสียงนกร้อง

แต่ก็ใช่ว่าจะครองสติอยู่กับตัวเองได้ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นธรรมชาติจิตของมนุษย์ ดังนั้น การฝึกสติจึงมิใช่กิจกรรมที่ทำแค่เพียงช่วงไปนั่งปฏิบัติธรรมที่วัด หรือทำที่บ้านแบบเป็นครั้งคราว จะให้ดีที่สุดคือการทำในทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และทำตลอดชีวิต

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง