ไปปฏิบัติธรรมที่ธรรมกมลา ปราจีนบุรี ของท่านโกเอ็นก้ามา ๑๐ วัน ไม่ได้เขียนอะไรเลย

กลับมาถึงก็อยากขอใช้พื้นที่ “มองย้อนศร” เขียนเล่าอะไรสักหน่อย

ตลอดช่วงเวลา ๑๐ วันของการปฏิบัตินั้น ไม่เพียงห้ามการเขียน แต่ยังถูกห้ามการอ่าน การพูด การสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกัน และห้ามการติดต่อสื่อสารไม่ว่าโดยทางใด ทั้งในหมู่ผู้ปฏิบัติด้วยกันและญาติมิตรภายนอก  ศูนย์ปฏิบัติธรรมกมลาตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี แต่การไปอยู่ที่นั่นให้ความรู้สึกห่างไกลยิ่งกว่าไปต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ไม่สามารถส่งข่าวหรือรับข่าวจากใครได้เลย

การฝึกปฏิบัติหนักหน่วงเหมือนฝึกทหาร  ตื่นนอนตอนตี ๔ เข้านอนอีกทีตอน ๔ ทุ่ม ช่วงเวลาระหว่างนั้นอยู่กับการฝึกปฏิบัติกับพักบ้างสลับกันไป ตามลำดับคำสอนของท่านโกเอ็นก้าที่เปิดจากเทปและวิดีโอ

ท่านโกเอ็นก้าเป็นฆราวาส เกิดในครอบครัวชาวฮินดูที่ประเทศพม่า เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่ป่วยเป็นไมเกรนรักษาไม่หาย  กระทั่งได้มาเจอท่านอุบาขิ่น อาจารย์สอนวิปัสสนาตามแนวพระพุทธศาสนา  ท่านแจ้งความประสงค์เรื่องการจะรักษาโรค แต่ท่านอุบาขิ่นบอกว่าคุณของการปฏิบัติมีมากกว่านั้น  ท่านจึงเข้าฝึกปฏิบัติ กระทั่งได้สืบทอดเป็นวิปัสสนาจารย์ต่อจากท่านอุบาขิ่น และเผยแผ่การปฏิบัติตามแนวทางนี้ออกไปทั่วโลก

ด้วยท่านเห็นว่า “ทุกข์” และ “ธรรม” เป็นสิ่งสากลที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับศาสนาหรือเชื้อชาติ  ทุกข์ไม่แบ่งแยกหรือจำเพาะว่านี่เป็นความทุกข์ของคนเอเชีย ยุโรป อเมริกา ทุกข์ของคนผิวดำ ผิวขาว ทุกข์แบบพุทธ มุสลิม คริสต์ชน ก็ไม่ต่างกัน  เช่นเดียวกับธรรมะ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติที่มีมาก่อนการเกิดของทุกศาสนา เป็นอยู่จนเดี๋ยวนี้ และจะยังเป็นอยู่ต่อไปในอนาคต  การปฏิบัติเพื่อรู้ซึ้งถึงธรรมจึงไม่ควรถูกกีดกันหรือแบ่งแยกด้วยความแตกต่างทางศาสนา

ในการฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านโกเอ็นก้าจึงไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ไม่มีการบูชารูปเคารพ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมปฏิบัติได้โดยไม่ติดข้องกับเรื่องศาสนาของตน

แต่คนไทยโดยทั่วไปที่เคยเรียนวิชาพุทธศาสนาในชั้นเรียนมาบ้าง คงพอเชื่อมโยงได้ว่าสิ่งที่ท่านโกเอ็นก้าสอนนั้นก็คือหลักพุทธธรรม ที่ว่าด้วยเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา

ด้านหน้าทางเข้าศูนย์ธรรมกมลา จ.ปราจีนบุรี

การอบรมปฏิบัติธรรมจะเริ่มจากการปฏิญาณตนในการรักษาศีล ๕ แล้วนั่งฝึกสมาธิด้วยการทำอานาปานสติในช่วง ๓ วันแรก  วันที่เหลือจากนั้นจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาที่จะนำไปสู่การเกิดปัญญา กระทั่งมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดแจ้งตามความเป็นจริง โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นอนิจจังของทุกสรรพสิ่ง รวมทั้งตัวเราเอง

แนวทางการสอนธรรมของท่านโกเอ็นก้า ดูจะตรงกับจริตของศาสนิกชนที่มุ่งเรื่องเหตุผลมากกว่าการบริกรรมพร่ำบ่นอ้อนวอน  พิสูจน์ให้เห็นจริงได้  เพราะท่านก็มุ่งที่จะให้แต่ละคนปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตัวเอง ตามความหมายของคำว่าวิปัสสนา ที่แปลว่า การเห็นแจ้งตามความเป็นจริง

ยิ่งหากเป็นคนที่เคยศึกษาธรรมของท่านพุทธทาสมาก่อน ก็คงพอมองเห็นว่าคำสอนของทั้งสองท่านดูจะมีสอดคล้องกันอยู่มาก  ทั้งแนวทางการสอนที่ไม่เอานรกมาขู่ ไม่เอาสวรรค์มาล่อ  เรื่องการปฏิบัติที่เห็นประโยชน์ได้ทันทีในชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า  ท่านโกเอ็นก้าเองก็พูดว่าต้อง “ที่นี่และเดี๋ยวนี้”

ที่แตกต่างจากธรรมสายอื่นเห็นจะได้แก่ คำสอนของท่านโกเอ็นก้าไม่ได้มีเผยแพร่โดยทั่วไป การจะเรียนรู้ธรรมคำสอนตามแนวทางของท่านต้องทำโดยการเข้ารับการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกันด้วย ในหลักสูตร ๑๐ วันดังกล่าว และต้องอยู่ร่วมตลอดหลักสูตร

ท่านเปรียบเปรยว่านี่เป็นเหมือนการผ่าตัดจิตใจ ที่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เมื่อเริ่มเปิดแผลออกแล้ว หากเลิกลาไปกลางคัน ก็เหมือนคนไข้ที่ลุกไปจากเตียงโดยที่ยังไม่ได้เย็บแผล

และการผ่าตัดนี้ไม่ได้ทำโดยศัลยแพทย์ที่ไหน แต่เป็นการผ่าตัดตัวเองของแต่ละคน ซึ่งต้องทำอย่างอดทนและไม่ย่อท้อ กับการนั่งปฏิบัติไปตามคำสอนจากเทปวันละ ๑๐ กว่าชั่วโมง และฟังธรรมบรรยายจากวิดีโอวันละชั่วโมงตอนหัวค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนรอคอยของแต่ละวัน

‘เจดีย์’ สถานที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ภายในศูนย์ธรรมกมลา

ตอนหนึ่งของการแสดงธรรมบรรยายในวันแรกๆ ของการอบรม  ท่านโกเอ็นก้ายกเอาบางเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติธรรมว่า

ตอนไปส่งคนที่เรารักสู่สุสาน เราจะระลึกได้ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยง  แต่พอหันหลังกลับมา เราก็มาสู่ความโลภ โกรธ หลง เช่นเดิม

เช่นเดียวกับเมื่อได้ฟังธรรมะ เราก็พยักหน้าเข้าใจว่า ไม่มีตัวเรา ของเรา

แต่พอเดินออกไปนอกห้องบรรยายธรรม…

“อ้าว…เอ้ย! รองเท้าฉันหายไปไหนเสียล่ะนี่  คู่นี้เพิ่งซื้อมาใหม่แพงเสียด้วย เสียดายจริง”

ทางเดียวที่เราจะมองเห็นธรรมได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงผิวเผิน  จึงอยู่ที่การลงมือปฏิบัติ

เขียนเล่ามายืดยาวนี้ ไม่ใช่แค่เพราะอัดอั้นกับการไม่ได้เขียนอะไรตลอด ๑๐ วันของการปฏิบัติ  แต่ในธรรมบรรยายตอนหนึ่งของท่านโกเอ็นก้าในวันท้ายๆ ท่านกล่าวฝากว่า

การปฏิบัติตามแนวทางนี้ ถ้าเห็นว่าดี คนที่เป็นนักเขียนก็ต้องเขียนบอกเล่าให้คนอื่นได้รู้ต่อไปด้วย

จึงพร้อมทำตามด้วยความเต็มใจ เพราะการนำธรรมไปบอกกล่าวเผื่อแผ่คนอื่นนี้ (ธรรมเทศนามัย) ยังถือเป็นหนึ่งใน ๑๐ วิธีฉลาดทำบุญ ตามหลักพระพุทธศาสนาด้วย

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ