ความรู้สึกตัวหายไปไหน: ตัวกู ของกู

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 27 พฤษภาคม 2012

คุณแม่สมัยใหม่ท่านหนึ่ง มีการศึกษาดี มีความรู้ และตั้งใจที่จะเลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อยทั้งสองคนอย่างดีที่สุด  ครั้งหนึ่งเมื่อเธอและครอบครัวไปเยี่ยมญาติฝ่ายสามี  ป้าของเด็กทั้งสองทักหลานสาวตัวน้อยว่า คนโตน่ารักกว่าคนน้อง  สำหรับคำพูดนี้โดยแนวทางเลี้ยงดูเด็ก เราไม่ควรเปรียบเทียบ  คุณแม่ของเธอรู้ดีมากในข้อนี้ ดังนั้นเธอจึงโกรธมาก เก็บสะสมและต่อว่ากับสามีเรื่องคำพูดของป้า และบอกกล่าวเชิงไม่พอใจทันทีที่พบป้าคนนี้ว่าไม่ควรพูดคำพูดนี้  ขณะที่ป้าก็พอเข้าใจแต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายเด็กแต่อย่างใด  สำหรับคุณป้า เธอมองว่านี่คือคำพูดธรรมดาๆ เท่านั้น  แต่สำหรับคุณแม่ เธอมองว่าคำพูดนี้จะส่งผลเสียกับลูกสาวของเธอ  แน่นอนว่าเธอรู้สึกโกรธ โมโห เมื่อสิ่งที่เธอรัก สิ่งที่เป็นของเธอ ถูกตีความว่าได้รับการกระทบ ว่าร้าย

ไม่มากก็น้อย หลายคนคงมีประสบการณ์ไม่ต่างจากคุณแม่คนนี้ เมื่อตัวตนหรือสิ่งที่เป็นของตนถูกกระทบ สำนึก ตัวกู ของกก็ทำงานทันที  เรื่อง ตัวกู ของกู เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของชีวิตและความเป็นไปที่สร้างผลกระทบต่อเราทุกคน  สำนึก “ฉันเป็นฉัน” ทำงานตลอดเวลาทั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านการแสวงหาการยอมรับ ความรัก การแสวงหาชื่อเสียง ความสำเร็จ อำนาจ

สำนึกเรื่องการแสวงหาการยอมรับ เช่น ความสนใจในเรื่องภาพลักษณ์ การแต่งกาย สำนึกนี้ทำให้เราต้องทุ่มเทพลังงาน ความใส่ใจ เพื่อการเอาตัวรอด เพื่อมุ่งแสวงหาปัจจัย ๔  สำนึกที่ใส่ใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัย นำไปสู่เรื่องของการสะสม การบริโภค  พร้อมกับ สำนึกแสวงหาความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่ต้องการแสวงหาคู่ครอง รวมไปถึงการแสวงหาความสุขจากเพศรส  พลังงานชีวิตแทบทั้งหมดในตัวเราถูกใช้เพื่อทำงานกับสำนึกความเป็นเรา

และเพราะสำนึกตัวเราเชื่อมโยงกับผู้อื่น สำนึกตัวเราจึงมีการเปรียบเทียบลำดับชั้นทางสังคมหรือสถานะกับผู้อื่นอยู่ด้วย  เช่น เราพร้อมที่จะรู้สึกว่าเรา “เหนือกว่า” กับผู้อื่นที่มีฐานความรู้ สถานภาพ บทบาทสังคม วัย ประสบการณ์ที่อ่อนด้อยกว่า  ในอีกทางเราก็พร้อมมีสำนึกตัวตนว่าเรา “ด้อยกว่า” ยามเมื่อเราเปรียบเทียบกับผู้อื่นที่มีองค์ประกอบชีวิตข้างต้นที่เหนือกว่า

สำนึกความเป็นตัวเราที่มุ่งมองว่าตัวเราเหนือกว่า หรือด้อยกว่า ก่อเกิดปฏิกิริยาอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการบางอย่างเพื่อสื่อสารความเป็นตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้  ท่าทีสำนึกตัวตนว่า ตนเหนือกว่า ทำให้เรามักมุ่งประกาศความเหนือกว่า คือท่าทีการสื่อสารที่ใช้น้ำเสียงดัง สั่งการ ข่มขู่ ท่าทีการพูดจาที่ไม่มีหางเสียง เน้นหลักการ เหตุผล วางตัวอยู่เหนืออารมณ์ความรู้สึก  สิ่งรบกวนจิตใจและความหมกหมุ่นกังวลในสำนึกตัวตน คือ การเรียกร้องและต้องการให้ผู้อื่นแสดงท่าทีการยอมรับในความเหนือกว่าของตนเองเพื่อถนอมรักษาสำนึกตัวตนเช่นนี้

กระนั้น สำนึกตัวตนก็อาจพอใจการยึดถือมุมมองตัวตนว่า ตนด้อยกว่า ตนถูกกระทำ ความรู้สึกนึกคิดอันเนื่องจากตัวตนเช่นนี้ คือ การมุ่งเรียกร้องความเห็นใจ ความรัก ความสงสาร  บุคลิกภาพที่แสดงออกผ่านสำนึกตัวตนเช่นนี้คือ การไม่ค่อยเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มั่นใจ เชื่อฟัง  การสื่อสารที่ประหม่า กังวล น้ำเสียงเบา หรืออาจมีลักษณะตลกโปกฮา  สิ่งรบกวนจิตใจที่มักสร้างความหมกหมุ่นในใจเสมอ คือ อาการคร่ำครวญ ตัดพ้อต่อว่า ต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น ประสานกับความรู้สึกหล่อเลี้ยงสำนึกตัวตนผานความเศร้า เสียใจ

คู่ชีวิต หรือ คู่ความสัมพันธ์หลายลักษณะ เช่น พ่อ แม่ ลูก หัวหน้ากับลูกน้อง พี่กับน้อง ฝ่ายหนึ่งมีท่าทีความสัมพันธ์ที่วางตนเหนือกว่า และอีกฝ่ายยอมรับที่จะวางบทบาทด้อยกว่า  โดยบางช่วง บางจังหวะ ที่สองฝ่ายอาจสลับบทบาทเหนือกว่า ด้อยกว่า ไปตามบริบท เรื่องราว เงื่อนไขชีวิตขณะนั้นๆ  สำนึกตัวตนว่า ตนเหนือกว่าหรือด้อยกว่าผู้อื่นก็ตาม กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาโทสะได้ง่ายและบ่อย  โทสะต่อคนอื่น คือ โกรธ เกลียด กลัว อิจฉา น้อยใจ เสียใจ  โมหะที่มีต่อคนอื่น คือ หลง อคติ ขาดการคิดนึก ตรึกตรอง  โลภะที่มีต่อคนอื่น คือ ชอบ ปรารถนา หึงหวง

ยามใดที่ตัวเราหลุดลอยไปจากภาวะปัจจุบัน  การหลุดลอย หลงลืมเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ตัวเราสามารถคืนความรู้สึกตัวกลับมาสู่ปัจจุบันขณะ  สิ่งที่บั่นทอนและทำลายพลังชีวิตมาก คือการไม่สามารถคืนกลับสู่ปัจจุบันขณะได้  การไม่รู้ตัวว่าหลงอยู่ในความคิดนึก หลงติดอยู่กับเรื่องในอดีต อนาคต เรื่องของตนเอง เรื่องของคนอื่น  จิตใจกระโดดไปมากับเรื่องราวต่างๆ ข้างต้น พร้อมปฏิกิริยาโทสะ โมหะ หรือโลภะ

 

เรื่อง ตัวกู ของกู เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของชีวิตและความเป็นไปที่สร้างผลกระทบต่อเราทุกคน

หนทางใดบ้างที่ทำให้เราสามารถสานสัมพันธ์และเป็นมิตรกับตนเอง กับผู้อื่นได้ สามารถอยู่ร่วมอย่างมีสันติสุขในตัวเราและผู้อื่น  เส้นทางเริ่มต้นคือ การรู้จักตนเอง เรียนรู้และเข้าใจในความคิด ความรู้สึกของตนเองว่ามันทำงานอย่างไร  มองเห็นกระบวนการความคิด และความรู้สึก รวมถึงการกระทำว่าถูกความรู้สึกนึกคิดชักนำเราไปอย่างไร  พร้อมกันนี้การฝึกฝนจิตใจผ่านการภาวนา การเจริญสติ สมาธิ ก็เป็นหนทางสำคัญของการเรียนรู้และเข้าใจความจริงในตัวเรา  และในชีวิตประจำวันก็ยังเป็นโอกาสอันดีได้ของการเรียนรู้ตนเองผ่านการภาวนาในชีวิตประจำวัน เช่น การฝึกรับฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง การสำรวจตรึกตรอง สังเกตอารมณ์ความรู้สึกขณะทำกิจกรรมต่างๆ การทำกิจต่างๆ โดยไม่รีบร้อน

และเพราะในความเป็นตัวเราที่มีธรรมชาติของความเป็นสากลที่เชื่อมโยงกับผู้อื่น ดังนั้นยามเมื่อเราประสบความทุกข์ ความสุขใดๆ เราก็สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์นี้ได้ว่า คนอื่นต่างต้องการความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์ไม่ต่างจากเรา  หนทางของความมีเมตตากรุณาต่อคนอื่น ต่อตนเอง จึงเริ่มต้นจากการกระหนักรู้ถึงธรรมชาติความเป็นสากลนี้  การฝึกฝนในเรื่องการให้อภัย การไม่ถือโทษโกรธเคือง การมีน้ำใจกับผู้อื่น จึงมีคุณค่าในฐานะกิจที่เราทำเพื่อตนเองด้วยเช่นกัน  แต่หนทางการภาวนานี้ก็ไม่ใช่กิจง่ายดาย  ความเผลอ นิสัยความเคยชินซึ่งมีอำนาจรุนแรง มักคอยชักจูงเราให้ออกนอกวิถีการภาวนา คอยชักพาให้ ตัวกู ของกู ทำงาน

ยามว่างของหลายๆ คน มักเลือกที่จะมีกิจกรรมหรือการงาน  หลายคนมักมีคำอธิบายว่าไม่ค่อยมีเวลาว่าง งานยุ่งตลอด  จากเหตุปัจจัยภายนอกที่กดดัน หรือเหตุปัจจัยภายในตนเองที่ไม่ชอบ ไม่ต้องการให้ตนอยู่ว่าง เนื่องเพราะยามว่างเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้อยู่กับตนเองมากที่สุด จิตใจมีสภาพไม่ต่างจากลิงน้อยซุกซนที่มักแสวงหาสิ่งเพลิดเพลิน คือ การหยิบฉวย คิดนึกเรื่องราวต่างๆ  ทั้งหมดทั้งปวงของเรื่องราวที่คิดนึก ก็คือ เรื่องตัวเรา  และเรื่องราวสิ่งอื่น คนอื่น ที่เชื่อมโยงกับความเป็นของเรา: ตัวกู ของกู

ความตระหนักรู้ สติ จึงเป็นกิจที่เราต้องสร้างให้กับตนเองจริงๆ ไม่มีใครช่วยใครได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน