ทางเลือก: ที่เป็นอยู่กับที่ควรจะเป็น

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ 29 กรกฎาคม 2012

“พวกเธอจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร ?”

อยู่ๆ ผมก็ผุดนึกถึงคำถามของครูคนหนึ่งในหนัง Pay It Forward แทรกเข้ามาในหัว ขณะที่กำลังอ่านจดหมายจากเพื่อนเก่าคนหนึ่ง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เขาเล่าว่าชีวิตของเขากำลังประสบกับความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน ระหว่างตัวเขาที่เป็นอยู่จริงๆ กับตัวเขาที่ควรจะเป็น  ผมรีบขีดเส้นใต้ประโยคนี้ทันทีที่อ่านเจอ เพราะผมรู้สึกว่าผมเองก็เคยประสบกับความรู้สึกเช่นนั้นและคิดไปถึงว่าคนอื่นๆ อีกหลายคน ก็คงจะมีประสบการณ์ความรู้สึกเช่นนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมหรือกำลังจะเริ่มต้นก้าวเดินเข้าสู่เส้นทางสายนี้

สำหรับเรื่องราวของเพื่อนคนนี้ เรารู้จักกันมานานตั้งแต่ครั้งตอนเป็นนักศึกษา เขาเป็นคนหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิด ความฝัน และอุดมคติที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่น พวกเราเคยตะลอนไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วภาคอีสาน เพื่อเรียนรู้ปัญหาของพี่น้องชาวบ้าน ทั้งยังเคยฝันไว้ว่าจะเขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอไปสู่ผู้คนอื่นๆ ให้ได้รับรู้ หรือแม้แต่เคยร่วมกันทำโครงการต่างๆ มากมาย

จนถึงเรียนจบ เราต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีทางของแต่ละคน โดยที่เขายังเลือกที่จะทำงานเป็นนักพัฒนา นักเคลื่อนไหวหรือเป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคมอยู่เหมือนเดิมดั่งที่เคยตั้งใจไว้  ผมเองยังแอบภูมิใจปนความรู้สึกอิจฉาเขาอยู่บ้าง ที่เขาได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด ในการทำงานมักจะมีอุปสรรคปัญหาต่างๆ เข้ามาให้แก้ไขหาทางออกอยู่เสมอ นำมาสู่ความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ผิดหวัง ท้อแท้ หมดกำลังใจ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เพื่อนของผมเริ่มรู้สึกสั่นคลอนกับความคิดที่มุ่งมั่นมาแต่เดิม

ธรรมดาของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะทำงานหรือประกอบกิจการอันใด ย่อมต้องเผชิญกับทางเลือกหลายๆ ด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว ด้านการเล่าเรียน หรือแม้แต่ความรัก ทางเลือกกลายเป็นความขัดแย้งในที่สุด และความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะต้องเจอแทบทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น อายุที่มากขึ้น นำพาไปสู่การต้องการความมั่นคงหรือหลักประกันในชีวิตมากยิ่งขึ้น ในที่สุดเพื่อนของผมก็ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้า เปิดร้านกาแฟและอาหารตามสั่ง ซึ่งเขาคิดว่าจะตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจการครองชีพได้ดีกว่า

ชีวิตการค้าการขาย ถึงแม้จะเริ่มต้นอย่างขลุกขลักบ้างจากการไม่คุ้นชิน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและหมั่นฝึกฝนฝีมือการปรุงอาหารอย่างสม่ำเสมอ ก็ทำให้ฝีมือเริ่มเข้าที่เข้าทางและทำให้ลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปี ชีวิตก็ดูจะมีความสุขดี ยิ่งได้เห็นเงินเพิ่มขึ้นในกระเป๋าของตัวเองและมีวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตเพิ่มขึ้นตามมา

นี่คือความสุขที่เขาโหยหา แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความเหน็ดเหนื่อย การสูญเสียเวลาส่วนตัว การที่ต้องตื่นแต่เช้า นอนดึก ชีวิตเป็นอย่างนี้วันแล้ว วันเล่า จนความรู้สึกเบื่อหน่ายกลับเข้ามาอีกครั้ง  เขาคิดถึงคุณค่าที่เขาเคยมีเมื่อครั้งก่อน คุณค่าจากการคิดถึงคนอื่น ได้ช่วยเหลือคนอื่น หรือแม้แต่การได้รับคำชื่นชม ยินดี จากสิ่งที่เขาทำ ซึ่งหาไม่ได้จากงานชงกาแฟ การทำข้าวผัด ผัดกระเพราสักจาน นอกจากค่าตอบแทนเป็นที่เป็นเงินและวัตถุสิ่งของเหล่านั้น

ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งในชีวิตใหม่ เป็นความขัดแย้ง ระหว่างตัวเราที่เป็นอยู่ กับตัวเราที่ควรจะเป็น

มีข้อความในจดหมายท่อนหนึ่งเขาบอกกับผมว่า

“…การที่นำเรื่องนี้มาเล่าให้นายฟัง นอกจากแบ่งปันเรื่องราวความเป็นไปของชีวิตแล้ว เราเห็นว่านายเป็นคนที่สนใจเรื่องศาสนาหรือธรรมะอยู่บ้าง เราจึงขอเล่าข้อคิดเรื่องนี้มาให้ฟัง เพราะเรารู้สึกว่าสภาวะอารมณ์แบบนี้ เราควรจะสนใจเรื่องทางธรรมนั่นแหละถึงจะเข้าใจจริงๆ

ความขัดแย้งภายในที่เราเล่าให้นายฟังนั้น มันรบกวนจิตใจของเรามากทีเดียว ตอนนั้นครั้นจะหวนกลับไปทางเก่าก็เกรงว่าจะยิ่งสับสน วุ่นวายกันไปใหญ่ สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแต่เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเท่านั้นเอง

มีเหตุการณ์อยู่เรื่องหนึ่งที่เราอยากจะเล่าสู่นายฟัง ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญว่า ขณะที่เรากำลังสับสนกับจุดยืนของตัวเองอยู่นั้น เราก็เริ่มมีความคิดที่จะตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด นั่นคือการทำอาหารให้คนอื่นกิน การบริการให้ลูกค้าที่เข้ามาในร้านมีความพึงพอใจ  แล้ววันหนึ่ง เราสังเกตเห็นว่าในร้านมีลูกค้าที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งหญิง ทั้งชาย และต่างหน้าที่การงาน บางคนเป็นกรรมกรก่อสร้าง เป็นพนักงานบริษัท เป็นนักเรียน นักศึกษา ฯลฯ

พวกเขาต่างสั่งอาหาร พูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตตัวเอง พูดถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องทำ พูดถึงปัญหาของตัวเอง ปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ แล้วแต่ความสนใจใคร่รู้ของแต่ละคน  แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็กินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย สังเกตได้จากสีหน้าท่าทาง ประกอบกับคำชมเชยในรสฝีมือ รวมไปถึงการบริการของเรา เท่านั้นเองที่เราเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า มันคุ้มค่าแล้วกับความเหน็ดเหนื่อยในแต่ละวัน เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว หน้าที่อันเต็มเปี่ยมด้วยความหมาย คุณค่านี้มันเกิดขึ้นตอนที่เราได้เห็นลูกค้ามีความสุข จากการได้กินอาหารที่มีประโยชน์ รสชาติอร่อย และการบริการที่เป็นมิตร มีบางครั้งที่เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ กับพวกเขาบ้าง เราเองก็พลอยมีความสุขไปกับพวกเขาด้วย

เราไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้ในทางธรรมอย่างไร แต่เราคิดว่านายคงเข้าใจ….”

“ขณะที่กำลังสับสนกับจุดยืนของตัวเองอยู่นั้น เราก็เริ่มมีความคิดที่จะตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”

ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้ทางธรรมอย่างไร แต่คิดไปถึงคำพูด คำถามของคุณครูในหนัง Pay It Forward ตอนที่ครูถามเด็กนักเรียนในห้องว่า “พวกเธอคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร?”  เด็กๆ หลายคนตอบคำถามตามความคิดของตัวเอง ว่าอย่างนั้น อย่างนี้ แต่มีเด็กอยู่คนหนึ่ง ถามครูกลับว่า

“…แล้วครูล่ะ ครูทำอะไรเพื่อโลกนี้บ้าง?” ครูตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “ครูก็ตื่นตอนเช้า ล้างหน้าแปรงฟัน กินอาหาร แล้วก็มาสอนพวกเธอตามปกติทุกวัน”  ช่างเป็นคำตอบที่ดูไม่ดึงดูดหรือเร้าพลังให้เด็กๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกเอาเสียเลย แต่ผมคิดว่าผมเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนผมเล่าแล้วว่า การทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ นั่นแหละ คือการได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นแล้ว คุณค่าคงอยู่ตรงนั้น

เพื่อนของผมเขาลงท้ายข้อความจดหมายของเขาว่า

“สุดท้ายเราหวังว่านายจะมีความสุขกับงานที่นายทำอยู่ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อย ลังเล ท้อถอย และสับสนจากการทำงานกับผู้คน แน่นอนว่าความขัดแย้งทั้งกับตนเอง คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมงาน ย่อมอาจเกิดขึ้น เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันสั่งสมอยู่ในเราทุกคน การยอมรับตนเองตามที่เป็นจริงเท่านั้นจึงจะทำให้เรารู้จักตัวเองตามที่เราเป็นอยู่ นี่แหละคือเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี…”


ภาพประกอบ

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

ผู้เขียน: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

การเขียนหนังสือทำให้ผมอยากอ่านหนังสือ แต่ในที่สุดผมก็ได้อ่านมากกว่าได้เขียน อ่านเพื่อจะเขียนให้ได้มากกว่านี้