ใครจะรู้ว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขนั้น พี่น้อยชายแดนใต้ ที่อยู่ห่างจากเราเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร กลับเผชิญกับความโศกเศร้าสูญเสีย หวาดผวา ในทุกๆ วันตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเองเคยได้ยินข่าวในจอทีวีบ้าง แต่มันช่างแตกต่างจากสิ่งที่ผมได้ยินจากประสบการณ์ของพี่เมอะ
“วันนั้นเป็นวันปิดเทอม ลูกของดิฉันจึงตามไปขายของที่ตลาดในเมืองด้วย ตอนกลางวันดิฉันกับลูกข้ามถนนไปซื้อข้าวที่ร้านใกล้สหกรณ์ตำรวจ ขาออกจากร้านข้าวมีเสียงระเบิดดัง เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ยืนงงอยู่ รู้ตัวอีกทีก็เห็นขาของดิฉันแตกเละเห็นกระดูก จึงรู้ว่าเป็นระเบิด หันไปที่ลูกก็เห็นเขานอนหงายแน่นิ่งอยู่กับที่ ไม่รู้ว่าลูกยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า
เราเรียกให้คนมาช่วย แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามา สิบนาทีต่อมาเพื่อนจึงมาลากตัวของดิฉันและลูกไปโรงพยาบาล หมอก็ช่วยกันเต็มที่ ดิฉันถามถึงลูก แต่ทุกคนก็ปิดบัง มารู้ภายหลังจากหน่วยงานราชการที่มาเยี่ยมว่า ลูกเสียชีวิตตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว
แกอายุเก้าขวบ เรียนอยู่ ป.สาม จนบัดนี้ดิฉันยังไม่ลืมแก ดิฉันมีลูกคนเดียว แกเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องเกิดเรื่องนี้ขึ้น เด็กไม่รู้อะไร เด็กเขาบริสุทธิ์ แต่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ตอนนั้นเราอยากตามลูกไปอยู่ด้วยเลย เราหมดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตแล้ว ตอนนี้เรามีพ่อแม่ น้อง หลานๆ เป็นกำลังใจให้ แต่ลึกๆ ก็หมดหวังนะ ไม่รู้จะสู้ไปเพื่อใคร”
นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของพี่เมอะ ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ ในงาน “10 ปี ชายแดนใต้กับความตายที่เงียบงัน” วันที่ 14 สิงหาคม 2557 จัดโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยมูลนิธิเอเชีย
การเผชิญความสูญเสียในชายแดนใต้เป็นความจริงที่ยากจะรับมือ คงไม่อาจใช้คำว่า “ปล่อยวางเถอะนะ” ในการแก้ปัญหา ทว่าต้องใช้สติปัญญาและความพยายามอย่างที่สุดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และใช้ความกรุณาอย่างเหลือประมาณในการบรรเทาเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสีย
ลำพังการตายอย่างฉับพลันเพียงอย่างเดียว ก็ได้ชื่อว่าตายไม่ดีแล้ว แต่ผู้ได้รับผลกระทบในชายแดนยังต้องพบกับการตายก่อนวัยอันควร การตายของคนในครอบครัวครั้งละหลายๆ คน การตายท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม การตายที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ฯลฯ การตายอย่างโหดร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างหวาดกลัว หมดหวัง ท้อแท้กับชีวิต
สำหรับคนที่มีชีวิตที่ปกติสุขเช่นผมและอีกหลายๆ คน ประสบการณ์ข้างต้นย่อมเป็นความจริงที่น่าสลดหดหู่ ทว่าก็ควรค่าควรแก่การรับรู้ เพราะเป็นที่แน่นอนว่า ความจริงที่โหดร้ายก็ยังคงจะดำรงอยู่ของมันอย่างนั้น หากมันยังคงเงียบงันไปเรื่อยๆ
ไม่น่าตกใจหรอกหรือ ที่ว่าคนนับหมื่นต้องบาดเจ็บ คนกว่าหกพันต้องเสียชีวิตตลอดสิบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ต้องสังเวยให้กับความขัดแย้งและความรุนแรงที่พวกเขาอาจไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือก่อการ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ
ขอพวกเราได้รำลึกนึกถึงผู้คนที่สูญเสีย ส่งต่อให้กำลังใจ เพื่อตระหนักถึงความเบาหวิวและแสนสั้นของชีวิต ที่เราควรใช้อย่างมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด และหากเป็นไปได้ ก็ขอเชิญชวนพวกเราเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้ บรรเทา เยียวยาแก้ปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ ในทางใดทางหนึ่ง