สัญญาณเตือนภัย… สัญญาณเตือนใจ

วิชิต เปานิล 8 มกราคม 2005

หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ๖ จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยและรวมทั้งประเทศต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไม่ว่าชาวบ้าน นักวิชาการ รัฐบาล รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายที่ผู้คนเขาต้องมาร่วมสังเวยชีวิตด้วยไม่น้อย ต่างพากันพูดถึงระบบที่เป็นสัญญาณเตือนภัยการเกิดคลื่นยักษ์นี้ โดยกล่าวในทำนองเดียวกันว่าถ้าเรามีเทคโนโลยีที่ให้เตือนภัยล่วงหน้า เราคงสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินกันน้อยกว่านี้

โดยเฉพาะในขณะที่เรายังไม่สามารถป้องกันหรือยับยั้งภัยธรรมชาตินี้ได้ ระบบสัญญาณเตือนภัยที่ทันสมัยจึงดูเหมือนเป็นที่พึ่งหรือคำตอบสุดท้ายที่จะป้องกันไม่ให้ภัยธรรมชาติแบบนี้มาทำอันตรายให้กับผู้คนจำนวนมากเหมือนเช่นครั้งนี้อีก

ในสถานการณ์เช่นนี้ หากใครออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการจัดหาติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยคลื่นยักษ์ ก็คงถูกประนามว่าล้าหลัง อาจจะถูกกล่าวหาว่าจิตใจด้านชาไม่รับรู้ถึงความทุกข์ ความสูญเสีย ความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ หรือข้อกล่าวหาอีกมากมายที่จะสรรหามาตำหนิกันได้

แต่เมื่อมองในภาพรวมของสังคม ในสถานการณ์เช่นนี้ สถานการณ์ที่ดูเหมือนว่ามีทางออกอยู่เพียงทางเดียว หรือมีเพียงแนวทางที่ถูกต้องเพียงแบบเดียวที่สามารถพูดถึงได้ในสังคม ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

มีเหตุปัจจัยหลายประการที่ทำให้การติดตั้งเทคโนโลยีระบบเตือนภัยเป็นเพียงคำตอบเดียวที่ถูกทุกคนพูดถึงเหมือนๆ กัน เช่น เป็นระบบที่มีพร้อมอยู่แล้วสามารถนำมาใช้ได้ทันที เคยใช้ได้ผลดีในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นข้อเสนอจากนักวิชาการต่างประเทศ เป็นต้น

ตัวเสริมที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้เหตุผลเหล่านี้ดูน่าฟังมีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อมั่นศรัทธาในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนในยุคนี้ บวกด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญาของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และความรู้สึกดูถูกความรู้ความสามารถของตนเอง หรือบางทีอาจจะมองเลยไปได้ถึงผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดซื้อเทคโนโลยีนำสมัยเหล่านี้

ด้วยความเชื่อมั่นเหล่านี้ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าออกมาถามถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีระบบเตือนภัยนี้ เรายังไม่ทราบถึงราคาและค่าบำรุงรักษาระบบนี้ รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดตามมา

ว่าเฉพาะส่วนของการจัดทำระบบเตือนภัยการเกิดคลื่นยักษ์นี้ ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าเราจะต้องทำหรือต้องพัฒนาให้มีขึ้น แต่ระบบเตือนภัยที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องมาว่ากัน

ภาพเหตุการณ์ประชาชนกำลังวิ่งหนีคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่จังหวัดภูเก็ต

เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมันได้พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่มีต่อมวลมนุษย์เรามานานมากแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรหลงใหลศรัทธาจนคิดว่าเป็นคำตอบเดียวในการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะผลกระทบทางลบที่เกิดจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีให้เราเห็นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน การเลือกใช้อย่างมีวิจารณญาณน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า

การหันกลับมาดูเรื่องราวทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเตือนภัยที่เราเคยมี หรือแม้แต่การหันมาพิจารณาเรื่องของจิตใจ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เปิดโอกาสให้มีการพูดถึงเรื่องระบบเตือนภัยที่หลากหลายมากขึ้นในสังคม พร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นด้วย

เท่าที่ได้ยินจากคำให้สัมภาษณ์ของคุณอ้น (สราวุฒิ) บอกว่าชาวมอแกนแถบนั้นปลอดภัยกันทุกคน เพราะเขาเห็นว่าน้ำทะเลที่ลดไปมากและรวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่แสดงถึงความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นจนนำให้พวกเขาหนีขึ้นเขากันทันเวลา

เท่าที่อ่านพบข่าวเล็กๆ ที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมสัตว์ป่าแห่งชาติศรีลังกาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกแปลกใจที่ภายหลังจากเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย พวกเขายังไม่มีตัวเลขของสัตว์ที่ตายเลย ทั้งๆ ที่เจ้าคลื่นยักษ์นี้ได้ซัดเข้าหาอุทยานแห่งชาติยาลาซึ่งเป็นเขตป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกาด้วย “ไม่มีช้างตายสักตัว หรือแม้แต่ซากของกระต่ายสักตัวก็ไม่เห็น” เขากล่าวกับนักข่าว

แผนที่แสดงประเทศที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ

สถานการณ์ที่ดูเหมือนว่ามีทางออกอยู่เพียงทางเดียว หรือมีแนวทางที่ถูกต้องเพียงแบบเดียวที่สามารถพูดถึงได้ในสังคม ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

คนเราถ้าสัมผัสอยู่กับธรรมชาติอยู่เป็นประจำ เราจะละเอียดอ่อนจนรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ทั้งผ่านสภาพแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ จากสัตว์ซึ่งมีประสาทสัมผัสบางด้านเหนือมนุษย์ หรือแม้แต่จากจิตใจของเราเองที่อาจ “รู้สึกแปลกๆ” จนทำให้เราตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างได้ สัมผัสที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้จะเป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยที่บอกเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

การที่เราห่างเหินจากธรรมชาติกันมากขึ้น การที่อาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ได้ทำให้เราเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากขึ้น พร้อมๆ กับประมาทต่อธรรมชาติยิ่งขึ้น หลงคิดว่าเราจะสามารถควบคุมธรรมชาติได้ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราไม่สนใจและไวต่อความเปลี่ยนแปลงหรือรับรู้ต่อสัญญาณเตือนภัยที่มีในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและในจิตใจของเราได้น้อยลง

การตอบรับเทคโนโลยีระบบเตือนภัยอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของทุกฝ่าย พอจะเป็นตัวบ่งชี้สภาพสังคมของพวกเราได้อย่างดีว่า เราพร้อมที่จะก้าวห่างการพึ่งทางวัฒนธรรมและการพึ่งจิตใจของตนไปพึ่งพิงเทคโนโลยีกันมากยิ่งขึ้น และยิ่งเรามั่นใจและพึ่งพิงอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้นก็จะยิ่งให้เราดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความประมาทยิ่งขึ้น และมีความละเอียดอ่อนต่อธรรมชาติ ชีวิต และจิตใจลดลง

แต่หากเราใช้กระแสตอบรับระบบเทคโนโลยีสัญญาณเตือนภัย มาเป็นสัญญาณเตือนใจให้เรากลับมาสนใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความรู้สึกในจิตใจของเรามากขึ้น ก็จะเป็นตัวช่วยให้ชีวิตเราไม่ดำเนินไปด้วยความประมาท

พร้อมๆ ไปกับการเฟ้นหาเทคโนโลยีเตือนภัยคลื่นยักษ์ที่เหมาะสม หากเราได้ศึกษาวิจัยภูมิปัญญาพื้นบ้านของการเตือนภัยในชีวิต และฟื้นฟูระบบการเตือนภัยทางจิตด้วยการดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนวิกฤตการณ์ที่เกิดจากมหันตภัยครั้งนี้ให้เป็นบทเรียนแก่สังคมไทยให้กลับมาสนใจภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตของเราอีกครั้งหนึ่ง


ภาพประกอบ