ท่าทีของพวกเรากับความรุนแรงในสังคม: กรณีตากใบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 27 พฤศจิกายน 2004

วิกฤติความรุนแรงและโศกนาฏกรรมภาคใต้ นับแต่กรณีกรือเซะ จนถึงตากใบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นและต้องจารึกไว้คือ

๑) หลายครอบครัวต้องขาดผู้นำครอบครัว สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก และเมื่อบุคคลที่เหลือในครอบครัวรำลึกถึงผู้สูญเสียและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความขมขื่น ปวดร้าวและคับแค้นก็จะตามหลอกหลอน  วันเวลาข้างหน้า คือ การเยียวยา ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ด้วยศาสนธรรมหรือ การแก้แค้นก็ได้

๒) หลายครอบครัวเหลือเพียงหญิงม่ายและเด็กน้อยที่กำพร้าพ่อ พี่ชาย หรือญาติผู้ใหญ่ที่จะอุ้มชู พวกเขาต้องตกอยู่ในอนาคตที่มืดมน

๓) ประเทศไทยซึ่งเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่สุขสงบ รักสันติ ขณะนี้กลับกลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อท้ายประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่ค้าสำคัญ

๔) การใช้ความรุนแรงทางตรงนับแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันดำรงอยู่ได้ (แม้ว่าจะถูกประณามรุนแรงก็ตาม) เพราะส่วนหนึ่งของสังคมไทยสนับสนุนท่าทีและการตัดสินใจใช้ความรุนแรงเช่นนี้ของรัฐบาล รวมไปถึงการไม่ได้กระทำอะไรเพื่อประณามหรือคัดค้านการใช้ความรุนแรงของพวกเราบางคน เหล่านี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนใช้ความรุนแรง

๕) ความเห็นเชิงสนับสนุนการใช้ความรุนแรงที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ต บ่งบอกถึงสถานะของความเห็นนั้นว่าเป็นของกลุ่มบุคคลที่มีฐานความรู้ระดับสูง สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคม นั่นหมายถึงว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้นำพาพื้นฐานศีลธรรม มโนธรรมและจริยธรรมให้สูงตามความรู้ทางวิชาชีพ หรือถูกครอบคลุมด้วยกระแสรักชาติ จนมองไม่เห็นชีวิตเลือดเนื้อ อารมณ์ และจิตใจของผู้ถูกกระทำ

ความเห็นเชิงสนับสนุนการใช้ความรุนแรงที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ต บ่งบอกว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้นำพาพื้นฐานศีลธรรม มโนธรรม และจริยธรรมให้สูงตามความรู้ทางวิชาชีพ

พวกเราส่วนใหญ่มีท่าทีอย่างไรบ้างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่าทีเหล่านี้นำไปสู่อะไร เราอาจจัดแบ่งท่าทีการเกี่ยวข้องได้ใน ๓ ลักษณะ คือ

๑) ไม่สนใจ

จะโดยเงื่อนไขชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวยก็ตาม หรือด้วยทัศนะที่คับแคบมองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันสิ่งที่เกิดขึ้น  ท่าทีเช่นนี้คือ ท่าทีของความประมาท ง่ายต่อการถูกชักจูงหรือหลงเชื่อต่อกระแสสังคมส่วนใหญ่จากกระแสข่าวสารด้านเดียวไร้วิจารณญาณที่จะวิเคราะห์แยกแยะ ตั้งคำถามกับข่าวสารข้อเท็จจริงที่ได้ยินได้ฟัง นอกจากการหลงเชื่อตามกระแสข่าวสารของสื่อมวลชนที่ทำได้เพียงเป็นกระบอกเสียงให้รัฐ

๒) การสนับสนุนการใช้ความรุนแรง

ดังเช่น กระทู้การสนับสนุนท่าทีและการดำเนินการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล ผลของท่าทีเช่นนี้ก็คือ การราดน้ำมันบนกองเพลิงที่ช่วยเติมเชื้อฟืนความรุนแรงให้ขยายใหญ่โต เพิ่มพูนกระแสความเกลียดชังและคับแค้น นำไปสู่การต่อสู้ โต้ตอบจนนำไปสู่มิคสัญญี และไม่ว่าเจตนาเบื้องลึกของผู้ไม่หวังดี หรือของผู้ก่อการร้ายตัวจริงจะเป็นเช่นใด พวกเขาก็ได้บรรลุผลจากฐานเสียงของฝ่ายนี้แล้ว

๓) ท่าทีการช่วยดับไฟ

เบื้องต้นของท่าทีนี้คือ เพียงความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ยากของอีกฝ่าย ประเพณีการขออโหสิกรรม การให้อภัยและการละเว้นโทษ

สังคมไทยมีความงดงามด้วยประเพณีนี้ในระดับบุคคล คงจำเป็นและสำคัญยิ่งที่จะต้องสร้างประเพณีนี้ในระดับสังคม กลุ่มชน  เหตุการณ์กรือเซะและตากใบ สังคมส่วนใหญ่ได้ทำร้ายจิตใจเพื่อนมุสลิม จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เราล้วนเกี่ยวข้องในฐานะเพื่อนร่วมสังคม ซึ่งเราหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ในความสัมพันธ์ที่ต้องมีความขัดแย้ง มีการกระทบกระทั่งและบาดหมางกัน เรากับเพื่อนอาจมีความคุมแค้น ถือโทษ จะโดยเหตุใดๆ ก็ตาม แต่เมื่ออีกฝ่ายประสบความทุกข์ บาดเจ็บหรือล้มตาย ก็ถือว่าขอให้เป็นอันสิ้นสุดด้วยการขออโหสิกรรม การขออภัย และการละเว้นโทษ

แต่สิ่งนี้กระทำได้ ต่อเมื่ออยู่บนฐานของการไม่หลงลืมต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีวิกฤติภาคใต้ล่าสุดนี้มีความซับซ้อน มีข้อมูลที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจนโปร่งใสในเรื่องราวที่เกิดขึ้น  การติดตามค้นหาความจริง ด้วยการวิเคราะห์แยกแยะและใช้วิจารณญาณเพื่อให้ฝ่ายใช้ความรุนแรงรู้ว่าส่วนหนึ่งของสังคมเป็นประจักษ์พยานต่อข้อเท็จจริง ไม่โง่ตามคำพูดที่หลอกลวง นี่ก็คือหนทางของการช่วยดับไฟความรุนแรง

ความซับซ้อนประการต่อมาคือ ความรุนแรงนี้สร้างบาดแผลทางความรู้สึกและจิตใจของผู้ถูกกระทำ  บทบาทที่จำเป็นและสำคัญยิ่งคือ การร่วมมีบทบาทเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ จะโดยกำลังทรัพย์ กำลังกาย สติปัญญาหรือด้วยความเห็นอกเห็นใจก็ตาม  พื้นฐานสำคัญ คือ การกระทำที่เคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีและมีความหมายต่ออีกฝ่าย การพับและโปรยปรายนกกระดาษทั่ว ๓ จังหวัดภาคใต้ จึงต้องตอบคำถามข้างต้นนี้ให้ได้ด้วย  ทุกสังคมต่างมุ่งแสวงหาสังคมที่มีความสงบสุข มีระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่มั่นคง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่ต่างจากสภาพนิพพานที่เป็นอุดมคติชาวพุทธ และหนทางแห่งการไปสู่นิพพานก็คือ มรรคมีองค์แปด อันประกอบด้วย การมีความถูกต้องในความเห็น การคิดนึก การกระทำ การใช้คำพูด การประกอบอาชีพ การมีความมุ่งมั่น การมีสติ และสมาธิในทางที่ถูกต้อง สะท้อนถึงวิถีทางที่จะได้มาซึ่งสันติสุขต้องดำเนินไปบนเส้นทางของสันติสุขเท่านั้น

ในระดับสังคมก็ไม่ต่างจากระดับบุคคล ที่การก้าวไปของสังคมต้องดำเนินไปบนความสันติสุข ไม่เบียดเบียนใครหรือกลุ่มชนใด  และถ้าเราในฐานะสมาชิกสังคมไม่ได้กระทำอะไรเพื่อดับไฟความรุนแรง ก็ขอให้พวกเราทุกคนพร้อมรับกับวงเวียนแห่งผลกรรม เหมือนกับก้อนหินที่โยนลงน้ำ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงวงน้ำที่กระเพื่อมตามมาได้


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน