คนเราย่อมปรารถนาความเปลี่ยนแปลง หากว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ในอำนาจของเรา หรือสอดคล้องกับความต้องการของเรา ไม่มีใครอยากขับรถคันเดิม ใช้โทรศัพท์เครื่องเดิม หรืออยู่กับที่ไปตลอด มิจำต้องพูดถึงการอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ เราต้องการสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เราไม่ต้องการแต่หนีไม่พ้น ความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้แหละที่ผู้คนประหวั่นพรั่นพรึง วิตกกังวลเมื่อนึกถึงมัน และเป็นทุกข์เมื่อมันมาถึง
แต่ยังมีความจริงอีกอย่างหนึ่งที่เราพึงตระหนักก็คือ สุขหรือทุกข์นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่า เรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้นต่างหาก แม้มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเราไม่รู้สึกย่ำแย่ไปกับมัน หรือวางใจให้เป็น มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้ กนกวรรณ ศิลป์สุข เป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด ทำให้เธอมีร่างกายแคระแกร็น กระดูกเปราะและเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนนานาชนิด ซึ่งมักทำให้อายุสั้น แต่เธอกับน้องสาวไม่มีสีหน้าอมทุกข์แต่อย่างใด กลับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เธอพูดจากประสบการณ์ของตัวเองว่า “มันไม่สำคัญหรอกว่าเราจะเป็นอย่างไรหรือมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต แต่สำคัญที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดกับมันยังไงต่างหาก สำหรับเราสองคน ความสุขเป็นเรื่องที่หาง่ายมาก ถ้าใจของเราคิดว่ามันเป็นความสุข”
โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ เกิดมาพิการ ไร้แขนไร้ขา แต่เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แทบทุกอย่าง ในหนังสือเรื่อง ไม่ครบห้า เขาพูดไว้ตอนหนึ่งว่า “ผมเกิดมาพิการแต่ผมมีความสุขและสนุกทุกวัน” ใครที่ได้รู้จักเขาคงยอมรับเต็มปากว่าเขาเป็นคนที่มีความสุขคนหนึ่ง อาจจะสุขมากกว่าคนที่มีอวัยวะครบ (แต่กลับเป็นทุกข์เพราะหน้ามีสิว ผิวตกกระ หุ่นไม่กระชับ)
ในโลกที่ซับซ้อนและผันผวนปรวนแปรอยู่เสมอ เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา แต่เราเลือกได้ว่าจะมีปฏิกิริยากับสิ่งนั้นอย่างไร รวมทั้งเลือกได้ว่าจะยอมให้มันมีอิทธิพลต่อเราอย่างไรและแค่ไหน
ในวันที่แดดจ้าอากาศร้อนอ้าว บุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งยืนรอส่งเอกสารหน้าบ้านหลังใหญ่ หลังจากเรียกหาเจ้าของบ้านแต่ไม่มีวี่แววว่าจะมีคนมารับ เขาก็ร้องเพลงไปพลางๆ เสียงดังชัดเจนไปทั้งซอย ในที่สุดเจ้าของบ้านก็ออกจากห้องแอร์มารับเอกสาร เธอมีสีหน้าหงุดหงิด เมื่อรับเอกสารเสร็จเธอก็ถามบุรุษไปรษณีย์ว่า “ร้อนแบบนี้ยังมีอารมณ์ร้องเพลงอีกเหรอ” เขายิ้มแล้วตอบว่า “ถ้าโลกร้อนแต่ใจเราเย็น มันก็เย็นครับ ร้องเพลงเป็นความสุขของผมอย่างหนึ่ง ส่งไปร้องไป” ว่าแล้วเขาก็ขับรถจากไป
เราสั่งให้อากาศเย็นตลอดเวลาไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะยอมให้อากาศร้อนมีอิทธิพลต่อจิตใจของเราได้แค่ไหน นี้คือเสรีภาพอย่างหนึ่งที่เรามีกันทุกคน อยู่ที่ว่าเราจะใช้เสรีภาพชนิดนี้หรือไม่ พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าเราหงุดหงิดเพราะอากาศร้อน นั่นแสดงว่าเราเลือกแล้วที่จะยอมให้มันยัดเยียดความทุกข์แก่ใจเรา
ถึงที่สุดแล้ว สุขหรือทุกข์อยู่ที่เราเลือก มิใช่มีใครมาทำให้ ถึงแม้จะป่วยด้วยโรคร้าย เราก็ยังสามารถมีความสุขได้ โจว ต้า กวน เด็กชายวัย ๑๐ ขวบ เป็นโรคมะเร็งที่ขา จนต้องผ่าตัดถึง ๓ ครั้ง เขาได้เขียนบทกวีเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า เมื่อพ่อแม่จูงมือเขาเข้าห้องผ่าตัด เขาเลือก “น้องสงบ” เป็นเพื่อน (แทนที่จะเป็น “น้องกังวล”) เมื่อเขาห้องผ่าตัดครั้งที่สอง เขาเลือก “ลุงมั่นคง” เป็นเพื่อน (แทนที่จะเป็น “ป้ากลัว”) เมื่อพ่ออุ้มเขาเข้าห้องผ่าตัดครั้งที่สาม เขาเลือก “ชีวิต” (แทนที่จะเป็น “ความตาย”) ด้วยการเลือกเช่นนี้มะเร็งจึงบั่นทอนได้แต่ร่างกายของเขา แต่ทำอะไรจิตใจเขาไม่ได้
สุขหรือทุกข์นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่า เรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้นต่างหาก
เมื่อใดก็ตามที่ความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น หากเราไม่สามารถสกัดกั้นหรือบรรเทาลงได้ ในยามนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการหันมาจัดการกับใจของเราเอง เพื่อให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุด หรือใช้มันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยวิธีการต่อไปนี้
การยอมรับความจริงที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เราเลิกบ่น ตีโพยตีพาย หรือมัวแต่ตีอกชกหัว ซึ่งมีแต่จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตนเอง คนเรามักซ้ำเติมตัวเองด้วยการบ่นโวยวายในสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้
เรามักทำใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ เพราะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่น่าเกิด ไม่ยุติธรรม (“ทำไมต้องเป็นฉัน ?”) แต่ยิ่งไปยึดติดหรือหมกมุ่นกับเหตุผลเหล่านั้น เราก็ยิ่งเป็นทุกข์ แทนที่จะเสียเวลาและพลังงานไปกับการบ่นโวยวาย ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะเอาเวลาและพลังงานเหล่านั้นไปใช้ในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
เด็ก ๓ คนได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ แต่ระหว่างที่กำลังขนของ เด็กชาย ๒ คนก็ผละไปดูโทรทัศน์ซึ่งกำลังถ่ายทอดสดการชกมวยของสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิค เมื่อมีคนถามเด็กหญิงซึ่งกำลังขนของอยู่คนเดียวว่า เธอไม่โกรธหรือคิดจะด่าว่าเพื่อน ๒ คนนั้นหรือ เธอตอบว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูเหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูโกรธหรือไปด่าว่าเขา หนูก็ต้องเหนื่อยสองอย่าง”
ทุกครั้งที่ทำงาน เราสามารถเลือกได้ว่าจะเหนื่อยอย่างเดียว หรือเหนื่อยสองอย่าง คำถามคือทุกวันนี้เราเลือกเหนื่อยกี่อย่าง นอกจากเหนื่อยกายแล้ว เรายังเหนื่อยใจด้วยหรือไม่
การยอมรับความจริง ไม่ได้แปลว่ายอมจำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกที่จะไม่ยอมทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังทำให้สามารถตั้งหลักหรือปรับตัวปรับใจพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างดีที่สุด
นอกจากบ่นโวยวายกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เรามักทุกข์เพราะอาลัยอดีตอันงดงาม หรือกังวลกับสิ่งเลวร้ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต สุดท้ายก็เลยไม่เป็นอันทำอะไร
ไม่ว่าจะอาลัยอดีตหรือกังวลกับอนาคตเพียงใด ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น กลับทำให้เราย่ำแย่กว่าเดิม สิ่งเดียวที่จะทำให้อะไรดีขึ้นก็คือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ทางข้างหน้าแม้จะยาวไกลและลำบากเพียงใด แต่เราไม่มีวันถึงจุดหมายเลยหากไม่ลงมือก้าวเสียแต่เดี๋ยวนี้ รวมทั้งใส่ใจกับแต่ละก้าวให้ดี ถ้าก้าวไม่หยุดในที่สุดก็ต้องถึงที่หมายเอง
บรู๊ซ เคอร์บี นักไต่เขา พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกอย่างมักจะดูเลวร้ายกว่าความจริงเสมอเมื่อเรามองจากที่ไกลๆ เช่น หนทางขึ้นเขาดูน่ากลัว….บางเส้นทางอาจดูเลวร้ายจนคุณระย่อและอยากหันหลังกลับ นานมาแล้วผมได้บทเรียนสำคัญคือ แทนที่จะมองขึ้นไปข้างบนและสูญเสียกำลังใจกับการจินตนาการถึงอันตรายข้างหน้า ผมจับจ้องอยู่ที่พื้นใต้ฝ่าเท้าแล้วก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว”
ไม่ว่าจะอาลัยอดีตหรือกังวลกับอนาคตเพียงใด ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น สิ่งเดียวที่จะทำให้อะไรดีขึ้นก็คือการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
มองแง่บวกไม่ได้หมายถึงการฝันหวานว่าอนาคตจะต้องดีแน่ แต่หมายถึงการมองเห็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าเจ็บป่วย ตกงาน หรืออกหัก ก็ยังมีสิ่งดีๆ อยู่รอบตัวและในตัวเรา รวมทั้งมองเห็นสิ่งดีๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วย
แม้กนกวรรณ ศิลป์สุข จะป่วยด้วยโรคร้าย แต่เธอก็มีความสุขทุกวัน เพราะ “เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวยๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอมๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อยๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข” ส่วนจารุวรรณ ศิลป์สุข น้องสาวของเธอ ซึ่งขาหักถึง ๑๔ ครั้งด้วยโรคเดียวกัน ก็พูดว่า “ขาหักก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องไปโรงเรียน ได้อยู่กับบ้าน ฟังยายเล่านิทาน หรือไม่ก็อ่านหนังสือ อยู่กับดอกไม้ กับธรรมชาติ กับสิ่งที่เราชอบ ก็ถือว่ามีความสุขไปอีกแบบ”
โจว ต้า กวน แม้จะถูกตัดขา แต่แทนที่จะเศร้าเสียใจกับขาที่ถูกตัด เขากลับรู้สึกดีที่ยังมีขาอีกข้างหนึ่ง ดังตั้งชื่อหนังสือรวมบทกวีของเขาว่า “ฉันยังมีขาอีกข้างหนึ่ง”
หลายคนพบว่าการที่เป็นมะเร็งทำให้ตนเองได้มาพบธรรมะและความสุขที่ลึกซึ้ง จึงอดไม่ได้ที่จะอุทานว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” ขณะที่บางคนบอกว่า “โชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง” เพราะหากเป็นมะเร็งปากมดลูกเธอจะต้องเจ็บปวดยิ่งกว่านี้
ถึงที่สุด ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็ล้วนดีเสมอ อย่างน้อยก็ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้
เมื่อความเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เรามักมองออกนอกตัว และอดไม่ได้ที่จะโทษคนโน้นต่อว่าคนนี้ และเรียกหาใครต่อใครมาช่วย แต่เรามักลืมดูใจตนเอง ว่ากำลังปล่อยให้ความโกรธแค้น ความกังวล และความท้อแท้ครอบงำใจไปแล้วมากน้อยเพียงใด เราลืมไปว่าเป็นตัวเราเองต่างหากที่ยอมให้เหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวยัดเยียดความทุกข์ให้แก่ใจเรา ไม่ใช่เราดอกหรือที่เลือกทุกข์มากกว่าสุข การมีสติ ระลึกรู้ใจที่กำลังจมอยู่กับความทุกข์ จะช่วยพาใจกลับสู่ความปกติ เห็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่ไปข้องเกี่ยว จ่อมจม หรือยึดติดถือมั่นมัน อีกทั้งยังเปิดช่องและบ่มเพาะปัญญาให้ทำงานได้เต็มที่ สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือมองเห็นด้านดีของมันได้
สติและปัญญาทำให้เรามีเสรีภาพที่จะเลือกสุข และหันหลังให้กับความทุกข์ ใช่หรือไม่ว่าอิสรภาพที่แท้คือความสามารถในการอนุญาตให้สิ่งต่างๆ มีอิทธิพลต่อชีวิตของเราได้เพียงใด ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ของทรัพย์สิน ของผู้คนรอบตัว รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง ไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้ หากเราเข้าถึงอิสรภาพดังกล่าว แทนที่เราจะมัววิงวอนเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ถูกใจเรา ไม่ดีกว่าหรือหากเราพยายามพัฒนาตนบ่มเพาะจิตใจให้เข้าถึงอิสรภาพดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและสังคม