ในครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าถึงพระภิกษุรูปหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม จึงท้อใจขอลาสิกขากลับมาเป็นชาวนาดังเดิม แต่แม้การทำนา ก็ดูเหมือนเขาจะล้มเหลวเช่นกัน เขากลายเป็นคนที่ปลูกสิ่งใดก็ไม่ขึ้น ต้นกล้าไม่โผล่ยอดออกจากเมล็ดข้าว ต้นที่โตพอจะออกรวงให้ได้เก็บเกี่ยวก็ถูกแมลงรบกวนกินไปจนหมด
ขณะที่ผืนนาของมาณพแห้งแล้ง มีอุปสรรคมากมาย นาผืนใกล้เคียงกลับชอุ่ม ข้าวออกรวงเมล็ดโต เพื่อนบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีตามปกติ
ฤดูกาลต่อไปมาณพเปลี่ยนที่เพาะปลูก แต่เหตุการณ์ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม นาของมาณพแห้งแล้งปลูกสิ่งใดไม่ได้ ฐานะของเขายากจนลงจนกลายเป็นขอทาน
เพื่อนบ้านรู้สึกประหลาดใจกับเหตุการณ์ประหลาดและชะตากรรมของมาณพผู้นั้น จึงไปเฝ้าถามพระพุทธเจ้าว่าเพราะเหตุใดอดีตภิกษุจึงประสบวิบากกรรมเช่นนี้ พระพุทธเจ้าตอบว่า เมื่อครั้งที่มาณพบวชเป็นพระภิกษุ เคยกระทำผิดพระวินัย (ต้องอาบัติ) หมวดสังฆาทิเสส แล้วลาสิกขาโดยยังมิได้แก้ไขพฤติกรรมให้พ้นจากอาบัตินั้นเสียก่อน
พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะทำความผิดบางอย่าง เช่น การลงมือสร้างกุฏิให้มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ การถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงโดยมีจิตกำหนัด การช่วยตัวเอง เป็นต้น จะถือว่ามีความผิดร้ายแรง การจะชำระความผิดให้พ้นจากอาบัตินี้ได้ต้องถูกลงโทษโดยหมู่สงฆ์ เช่น การงดสิทธิ์บางอย่าง การถูกลดสถานภาพ การต้องประจานตน เป็นต้น จนกว่าสงฆ์จะมีมติให้พ้นจากอาบัติ
ด้วยเหตุที่มาณพผู้นั้นลาสิกขาโดยที่ยังต้องอาบัตินั้นอยู่ ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและต้องตกต่ำในที่สุด นี่คือการทำงานของกฎแห่งกรรม
เรื่องเล่าเกี่ยวกับภิกษุกระทำผิดแล้วถูกกฎแห่งกรรมลงโทษนี้ ได้ถูกเล่าสืบมาอย่างแข็งแรงมิเสื่อมคลาย เรื่องเล่าเพียงเรื่องเดียวนี้มีพลังมาก จนพระหลายรูปที่บวชนานหลายพรรษา เลือกที่จะไปเข้าปริวาสกรรม (กิจกรรมชำระตนเพื่อให้พ้นจากอาบัติสังฆาทิเสส) ก่อนจะลาสิกขา เพื่อให้แน่ใจว่า ตนปราศจากบาปที่อาจเคยทำไปโดยไม่รู้ตัวและไม่เจตนา
ผมได้ฟังเรื่องมาณพที่ปลูกสิ่งใดไม่ขึ้นครั้งแรกเมื่อครั้งบวชเป็นพระ ฟังแล้วก็เกิดความกริ่งเกรงว่า ตั้งแต่เราบวชเคยต้องสังฆาทิเสสหรือไม่หนอ ผมต้องคอยทบทวนตรวจสอบตนเองเสมอว่า เคยจับต้องกายหญิงโดยมีใจกำหนัดหรือไม่ เราเคยทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนหรือเปล่า ผมกลัวว่า หากผิดอาบัติข้อนี้แม้โดยไม่รู้ตัวหรือไม่เจตนาแล้ว ชีวิตในอนาคตอาจตกต่ำเคราะห์ร้ายเหมือนชีวิตของมาณพคนนี้ก็เป็นได้
ใช่หรือไม่ว่า มนุษย์เราไม่ได้มีจิตใจที่มั่นคงทนทานต่อกิเลสหรือสิ่งยั่วเย้ามากนัก หากเรามิได้ฝึกจิตใจมากพอ เราย่อมพ่ายแพ้ต่อความเพลิดเพลิน ความหรรษาชั่วครู่ชั่วยาม ความมั่งคั่งร่ำรวยทางลัดได้ง่ายดาย การจะประคองชีวิตให้ดำเนินอย่างถูกทำนองคลองธรรม จึงต้องอาศัยตัวช่วยที่หลากหลาย เรื่องเล่าเกี่ยวกับวิบากกรรมของมาณพผู้ปลูกสิ่งใดไม่ขึ้น เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้เราไม่ทำสิ่งที่ผิด แม้เราจะไม่ทำบาปด้วยความกลัวก็ตาม
ความเกรงกลัวต่อบาป กริ่งเกรงต่อภัยที่อาจเกิดขึ้นหากเราล่วงละเมิดศีลธรรม จึงเป็นตัวช่วยประคับประคองชีวิต ประคับประคองสังคมให้อยู่กันได้ด้วยความผาสุก ไม่เบียดเบียนหรือทำผิดต่อกันมากนัก ในทางพุทธเรียกคุณธรรมข้อนี้เรียกว่า โอตตัปปะ
เรื่องเล่าที่เชื่อมโยงการกระทำความผิด กับผลลัพธ์ร้ายแรงที่ตามมา จึงเป็นตัวช่วยทางวัฒนธรรมที่ปลุกเร้าโอตตัปปะให้เกิดขึ้นในใจ เช่น หากฆ่าบิดามารดาต้องตกนรกขุมที่ลึกและมืดที่สุด หากฆ่าตัวตายต้องกลับมาเกิดใหม่แล้วฆ่าตัวตายอีกห้าร้อยครั้ง หากเราทำร้ายเบียดเบียนสัตว์ ชาติหน้าจะต้องชดใช้โดยกรรมเกิดเป็นสัตว์แล้วถูกทำร้ายเบียดเบียน เป็นต้น
เรื่องเล่าเหล่านี้ แม้จะดูเหนือจริงและไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าใดนัก แต่ก็อาจได้ผลในทางจิตวิทยาต่อผู้ที่เชื่อในกฎแห่งกรรม ไม่ต่างกับพระที่ระวังตนไม่ให้ผิดพระวินัยเพราะกลัวว่าตนจะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานหลังจากลาสิกขาแล้ว
มนุษย์ไม่ได้มีจิตใจทนทานต่อสิ่งยั่วเย้ามากนัก การประคองชีวิตให้ดำเนินอย่างถูกทำนองคลองธรรม จึงต้องอาศัยตัวช่วยที่หลากหลาย
คำถามคือ ในยุคที่ผู้คนเชื่อในความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์อ่อนพลังลง เราจะมีวิธีการใดมาช่วยจัดระเบียบสังคมเป็นการทดแทน เราจะทำอย่างไรให้คนยังคงเกรงกลัวต่อบาป ระวังตนไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรม สำรวมตนไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น
ผมเชื่อว่าคำตอบคือ ระบบยุติธรรม เพราะระบบยุติธรรมสามารถผลิตความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำความผิดและผลลัพธ์แห่งการกระทำนั้นได้ เช่น เขาทำผิด ดังนั้นเขาจึงติดคุก ถ้าไม่อยากติดคุกต้องไม่ทำบาป หากทำความผิดเดี๋ยวตำรวจจะมาจับ ถ้าไม่อยากถูกจับต้องไม่ทำความผิด
ระบบยุติธรรมที่แข็งแรง แม่นตรง จึงมีส่วนช่วยบ่มเพาะโอตตัปปะ หรือความเกรงกลัวต่อบาปได้
แต่ถ้าระบบยุติธรรมถูกบิดเบือน เช่น คนบริสุทธิ์ถูกตัดสินลงโทษ คนทำผิดเล็กน้อยแต่ได้รับโทษรุนแรงเกินเหตุ ขณะที่ผู้กระทำความผิดกลับลอยนวล เมื่อนั้น ระบบยุติธรรมย่อมเสียความน่าเชื่อถือ มีประโยชน์น้อยในสายตาของประชาชน
กระทั่งถูกตั้งคำถามได้ว่า “แล้วเราจะมีระบบยุติธรรมไปทำไม”