พุทธศาสนาไม่เพียงมองว่าสรรพชีวิตในโลกล้วนเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น หากยังเห็นว่าสรรพชีวิตล้วนมีความเกี่ยวดองกันในฐานะญาติมิตร อย่างน้อยก็ในอดีต ดังมีพุทธพจน์ตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ แทบไม่มีเลยที่ไม่เคยเป็นมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ของกันและกันมาก่อน
ความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันของสรรพชีวิตตลอดจนสรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นแนวคิดที่กำลังขยายตัวเข้าสู่แวดวงวิทยาศาสตร์มากขึ้น อาทิเช่น ควอนตัมฟิสิกส์ ซึ่งศึกษาถึงความจริงในระดับที่เล็กกว่าอนุภาค ก็พบว่าคุณสมบัติของอนุภาคใดอนุภาคอื่นนั้นไม่แยกจากอนุภาคอื่น รวมทั้งไม่แยกจากวิธีการหรือความคิดของบุคคลที่เป็นผู้สังเกตด้วย ทำนองเดียวกับที่สสารและพลังงานไม่อาจแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
มีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อีกหลายสาขาที่กำลังมาถึงข้อสรุปดังกล่าว อาทิเช่นชีววิทยา ความรู้ด้านพันธุกรรมช่วยให้พบว่า มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน แม้ไม่ต้องถึงกับตรวจยีน วิชาการด้านชาติวงศ์วิทยา (geneology) ก็สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ เมื่อสองปีที่แล้วมีบทความชื่อ “Royal We” ตีพิมพ์ในหนังสือ The Atlantic Monthly ผู้เขียนคือสตีฟ ออลสันได้สรุปจากการค้นคว้าด้านชาติวงศ์วิทยาว่า คนยุโรปทั้งหลายที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันล้วนมีบรรพบุรุษเป็นคนคนเดียวกัน โดยสามารถย้อนกลับไปหาบุคคลผู้นั้นได้เพียงแค่ ๖๐๐ ปีเท่านั้น คือเมื่อราวค.ศ.๑๔๐๐ โดยไม่ต้องย้อนไปไกลถึงสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ถ้ำ หรือเพิ่งหัดเดิน ๒ ขาที่ทวีปอาฟริกาเมื่อล้านกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ
เขายังบอกต่อไปด้วยว่าเมื่อใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาประกอบจะพบว่า ทุกคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรปล้วนสืบสายมาจากศาสดามะหะหมัด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าในอดีตมีการอพยพข้ามประเทศและข้ามทวีป อันเป็นผลจากสงคราม ลัทธิอาณานิคม และความผันผวนทางการเมืองสังคมในประเทศต่างๆ ก็พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ประชากรโลกทั้ง ๖,๐๐๐ ล้านคนเวลานี้สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าขงจื๊อ และบุคคลในประวัติศาสตร์อีกหลายคน (ซึ่งย่อมรวมถึงพระพุทธเจ้าและโสกราตีส) ก็เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทุกคนในเวลานี้ด้วย แม้จะต่างสีผิว ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่เราทุกคนเป็นญาติพี่น้องกันโดยสายเลือด ไม่เว้นแม้กระทั่งยิวกับอาหรับที่กำลังรบกันอยู่ในเวลานี้
ที่จริงถ้าเราใช้หลักคณิตศาสตร์พื้นฐานก็พอมองเห็นเค้าอยู่ เพราะว่าบรรพบุรุษของเราแต่ละรุ่นจะมีจำนวนเพิ่มเป็น ๒ เท่าเมื่อย้อนขึ้นไปแต่ละรุ่น เช่น เรามีพ่อแม่รวม ๒ คน มีปู่ย่าตายายรวม ๔ คน ถ้าย้อนขึ้นไปอีกรุ่นก็เพิ่มเป็น ๘ คน แล้วก็ ๑๖ คน จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแบบที่เรียกว่า exponential ทีนี้ถ้าย้อนขึ้นไปถึง ๔๐ รุ่น หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปี บรรพบุรุษของเราถึงตอนนั้นจะมากมายอย่างคาดไม่ถึง คือมีมากกว่า ๑ ล้านล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนคนทั้งหมดเท่าที่เคยเกิดมาในโลกนี้ทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าทุกคนที่มีชีวิตเมื่อพันปีที่แล้ว (ซึ่งมีไม่ถึงพันล้านคน) ล้วนเป็นบรรพบุรุษของเราแต่ละคนในเวลานี้ทั้งนั้น
พุทธศาสนาไม่เพียงมองว่าสรรพชีวิตในโลกล้วนเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย หากยังเห็นว่าสรรพชีวิตล้วนมีความเกี่ยวดองกันในฐานะญาติมิตร อย่างน้อยก็ในอดีต
นอกจากวิชาการสมัยใหม่เช่น ชาติวงศ์วิทยาจะทำให้เราเห็นว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ต่างมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันโดยสายเลือดแล้ว พันธุศาสตร์ยังช่วยให้เราเห็นว่า แม้กระทั่งกับสรรพสัตว์ในธรรมชาติ เราก็โยงถึงกันได้ในทางพันธุกรรม เช่น รู้กันมานานแล้วว่าในเซลล์ของเราทุกเซลล์มีชีวิตอื่นเข้ามาปะปนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เรา ที่เห็นชัดคือไมโตคอนเดรีย (mitochondria)
ไมโตคอนเดรียเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่เกิดมาเมื่อ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ล้านปีที่แล้ว มีลักษณะคล้ายแบคทีเรียโบราณ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม มันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์เรา และมีบทบาทสำคัญมากในการผลิตพลังงานให้แก่เซลล์ทุกเซลล์ในตัวเรา มันมีธรรมชาติที่เป็นของมันเอง แต่ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว
ยิ่งกว่านั้นเป็นไปได้มากว่าในเซลล์ของเราจะมียีนของสัตว์อื่นเข้ามาปะปนมากมาย เช่นเดียวกับที่พบว่าในเซลล์ของแมวนั้นมียีนของหนูและลิงบาบูนเข้ามาผสมด้วย ยีนของหนูยังพบได้ในเซลล์ของหมู แม้แต่ปลาเทร้าท์ก็ยังมียีนของนกมาปะปน การที่ยีน “กระโดด” ข้ามสายพันธุ์นี้มิใช่ข้อยกเว้น หากเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ จนน่าจะกล่าวได้ว่าสัตว์ทุกชนิดในโลก (รวมทั้งมนุษย์) ล้วนเป็นญาติหรือมีความเกี่ยวดองกันทางพันธุกรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ศาสตร์สมัยใหม่ ถ้าศึกษาอย่างจริงจัง สามารถช่วยให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสรรพชีวิตและสรรพสิ่งได้ พูดอีกอย่างคือทำให้เราตระหนักว่า เราทั้งหมดล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ความรู้อย่างนี้แหละที่จะช่วยให้เราลดความอหังการลงไป อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น และรักกันมากขึ้นด้วย แทนที่จะรังเกียจเดียดฉันท์เพราะความต่างทางด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา ความต่างเหล่านั้นแม้จะมีอยู่จริง แต่ก็เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเหมือนและความคล้ายคลึง ที่สำคัญก็คือความต่างนั้นเป็นสิ่งที่เราประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สิ่งที่เรามีเหมือนกันนั้นฝังลึกอยู่ในสายเลือดอันมิอาจแปรเป็นอื่นได้
การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นโดยไม่เลือกสีผิว เชื้อชาติ ภาษาและประเทศ จึงมิใช่แค่จริยธรรมแบบพุทธเท่านั้น หากยังเป็นจริยธรรมสากลสำหรับโลกทุกยุคสมัยด้วย