แปรเปลี่ยนพลังแห่งความทุกข์ให้เป็นชีวิตที่เบิกบานและงดงาม

ปรีดา เรืองวิชาธร 8 ธันวาคม 2002

หากเราหวนระลึกถึงสภาพจิตใจที่ถูกบีบคั้นกดดันหรือเจ็บปวดเป็นแผลฉกรรจ์  เราต่างตระหนักดีถึงรสชาติของมัน และพร้อมเสมอที่จะผลักไสหรือหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกดังกล่าว  สภาพความทุกข์ทางจิตใจที่เราแต่ละคนประสบนั้น ย่อมมีทั้งความคล้ายคลึงเป็นประสบการณ์ร่วมและมีทั้งที่แตกต่าง  เหตุปัจจัยแห่งความทุกข์นั้นก็เช่นเดียวกัน มีทั้งที่คล้ายคลึงและที่แตกต่างกัน  หลายคนมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องเดียวกันเช่น ถูกกระทำจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ถูกกระทำหรือถูกทารุณกรรมในเรื่องเพศ ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจากคนในองค์กรเดียวกัน เป็นต้น  ในขณะที่อีกหลายคนกลับมีประสบการณ์อันเจ็บปวดในเรื่องอื่น เช่น ถูกกระทำย่ำยีจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตและครอบครัวของเขาแทบสิ้นไร้ไม้ตอก เป็นต้น

สภาพความเจ็บปวดทุกข์ทนดังที่กล่าวมานี้ ย่อมทำให้เรารู้สึกเกลียดชังต่อผู้ที่กระทำต่อเรา รู้สึกชิงชังและแขยงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นสถานการณ์ที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อน  และหลายต่อหลายขณะของชีวิตเราก็กลับรู้สึกรังเกียจอารมณ์ความรู้สึกด้านร้ายของเรา เวลามันปรากฏตัวออกมาให้ใจเราได้รับรู้ พร้อมกลับแสดงพฤติกรรมอันก้าวร้าวรุนแรงออกไปโดยที่เราเองก็ไม่คาดฝันว่า เราแสดงออกไปได้อย่างไร  หลายครั้งเราได้แต่นั่งสำนึกเสียใจในการกระทำของเรา แต่ผ่านไปสักช่วงหนึ่ง เราก็แสดงอย่างนั้นอีก เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และดูเหมือนว่ามันจะมีพลังเข้มข้นและเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยกระมัง  ใช่ไหมว่าตอนนี้พลังที่ว่านี้ มันมีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจของเราอย่างยากที่จะรู้เท่าทันแล้ว

อย่างไรก็ตาม อารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังมันเป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับความเมตตากรุณา ความเบิกบานอันเป็นด้านดีของจิตใจเรา  เราเองก็ไม่อยากให้ความเกลียดชังอันเนื่องมาจากความเจ็บปวด มันสำแดงพลังอำนาจเหนือจิตใจของเราอยู่เสมอ  แต่แล้วเราจะผลักไสอารมณ์ด้านร้ายของเราออกไป ทำดังกลับว่ามันเป็นศัตรูตัวฉกาจของเรากระนั้นหรือ  จริงๆ แล้วเราจะสามารถผลักไสอารมณ์ด้านร้ายดังที่ว่ามาได้จริงหรือ กระทำเยี่ยงนี้แล้วมันจะให้ผลดีขึ้นจริงหรือ

ในทางพุทธศาสนานั้นอธิบายว่า ความทุกข์ทางจิตใจของมนุษย์เกิดจากรากเหง้าแห่งความไม่รู้จริงในสัจภาวะของสรรพสิ่งทั้งปวง ว่ามันไม่ได้ดำรงตนอยู่อย่างโดดๆ  หากแต่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เป็นอยู่ในสภาพที่ไม่มีตัวตนแท้ถาวร  แต่เพราะเรารับรู้อย่างผิดพลาดอยู่เกือบตลอดเวลา จนทำให้ยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีตัวตนแท้ดำรงอยู่อย่างอิสระ  มองว่าตัวเราเองเป็นอิสระเอกเทศจากสิ่งอื่น คนอื่น แยกตัวเราออกจากสิ่งอื่นรอบตัวอย่างเด็ดขาด  มองไม่เห็นว่าตัวเรานั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไรกับสิ่งอื่น คนอื่น  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราหลงยึดว่า มีตัวเราและของเรา อันเป็นความเห็นความรู้สึกที่นำไปสู่จิตใจที่ทุกข์ทน

ท่านติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนามได้อธิบายกระบวนการเกิดทุกข์ และการแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นชีวิตที่เบิกบานและงดงาม ไว้ในหนังสือวิญญาณวาทของท่าน (เป็นหนังสือที่ให้อรรถาธิบายคำสอนของนิกายวิญญาณวาทซึ่งเป็นนิกายที่สำคัญของพุทธศาสนามหายาน) ดังนี้

จิตใจของเรานี้เปรียบไปก็คล้ายกับผืนนาอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่พร้อมจะรองรับเมล็ดพันธ์ทุกชนิด  ดังนั้นแต่ละขณะของชีวิต จิตใจของเราจะทำหน้าที่รับรู้ และเก็บเอาทุกสิ่งทั้งดี ร้าย และไม่ดีไม่ร้ายไว้  และหากเราหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ชนิดใดไว้ เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะเติบโตงอกงามขึ้นมามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา  ด้วยเหตุนี้จิตใจที่ถูกกระทำให้เกิดความทุกข์ความเจ็บปวดดังกล่าวในข้างต้นแล้วนั้น จิตใจของเราก็จะรับรู้และเก็บเอาเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นไว้  และหากเราไม่มีสติรู้เท่าทันสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง ปล่อยให้เกิดการรับรู้อย่างผิดพลาดเสมอๆ ก็เท่ากับเราได้รดน้ำพรวนดินหล่อเลี้ยงให้เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นเติบโต ซึ่งมันจะออกโรงปรากฏให้เราเห็นดังที่กล่าวมา

ไม่เฉพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือความเคียดแค้นชิงชังเท่านั้น  เมล็ดพันธุ์แห่งความละโมบ ความทะยานอยากทั้งหลาย  เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้สึกเปรียบเทียบแล้วถือตนว่า เหนือหรือต่ำกว่าคนอื่น ฯลฯ  ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

การพลิกเปลี่ยนจากพลังด้านร้ายของชีวิตให้เป็นพลังด้านดีนั้น กุญแจสำคัญอยู่ที่การหมั่นฝึกฝนสติให้แหลมคมมีพลังเพียงพอที่จะให้รู้เท่าทันจิตใจ ทำให้เกิดการรับรู้อย่างตรงไปตรงมา  ไม่รับรู้อย่างผิดพลาดหรือหลงติดในภาพสัญลักษณ์ที่เราสมมุติกันขึ้น โดยหลงเข้าใจว่าสรรพสิ่งเป็นอิสระ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ตัวเราเป็นอิสระดำรงอยู่อย่างไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น คนอื่น

สติที่ถูกฝึกมาดีแล้วย่อมเป็นเสมือนอุปกรณ์สำคัญสำหรับการแปรเปลี่ยนรากเหง้าแห่งอกุศลให้เป็นกุศล ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ชีวิตเกิดความเบิกบานและงดงาม  แม้อุปนิสัยใจคอด้านร้ายของเราจะเป็นความเคยชินที่สั่งสมติดย้อมใจมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม  สติที่ได้รับการฝึกฝนอยู่เสมอก็จะมีพลังเติบกล้าเข้มแข็งจนสามารถแปรเปลี่ยนห้วงอารมณ์แห่งความทุกข์ไปสู่ห้วงอารมณ์แห่งความเบิกบานได้อย่างน่าอัศจรรย์  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราได้ริเริ่มฝึกฝนสติและให้เวลาเพื่อพากเพียรกระทำอย่างต่อเนื่องหรือยัง

หากเราหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ชนิดใดไว้ เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะเติบโตงอกงามขึ้นมามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา

ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า มีอยู่ 3 ทางที่เราจะแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ให้ชีวิตพบกับความเบิกบานและงดงาม ดังนี้

1. พยายามใช้พลังแห่งสติสาดแสงเข้าไปในจิตใจ เพื่อหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบานและงดงามที่มีอยู่ในตัวเรา ให้เติบโตงอกงามอยู่เสมอ ปล่อยให้เมล็ดพันธุ์ที่ว่านี้ได้แปรสภาพเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์โดยทางอ้อม  นับเป็นการแปรสภาพความทุกข์ให้อ่อนพลังลงเรื่อยๆ โดยเราไม่จำต้องจัดการโดยตรงกับเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์  วิธีการนี้เหมาะควรกับบางคนที่มีปมแห่งความทุกข์ความเจ็บปวดลึกซึ้ง และทนได้ยากที่จะเผชิญหน้าตรงๆ กับความทุกข์  การใช้สติหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งความเบิกบานและงดงาม จึงเป็นวิธีการทางอ้อมที่จะลดความเข้มข้นของเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ให้เจือจางบรรเทาลงได้บ้าง  จากนั้นจึงขยับไปใช้วิธีการในข้อต่อไป

2. วันคืนแห่งการเจริญสติปัฏฐาน หากช่วงใดขณะใดที่เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ปรากฏตัวขึ้นมา ให้เราใช้พลังแห่งสติลูบไล้สัมผัสกับเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้น  เมื่อถูกสัมผัสด้วยพลังแห่งสติแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นย่อมอ่อนกำลังความเข้มข้นลง  เพียงเราใช้สติเพื่อรู้เท่าทันเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์อย่างกล้าหาญเท่านั้น ความทุกข์ที่มีอำนาจเหนือจิตใจเรามาโดยตลอดก็ย่อมอ่อนกำลังแปรเปลี่ยนสภาพไปในที่สุด

3. เชื้อเชิญเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์นั้นให้ปรากฏอยู่ในการรับรู้ของจิตใจเราไปเลย  วิธีการนี้เหมาะกับบางคนที่มีสติเข้มแข็งระดับหนึ่งแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรอให้เมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์มาปรากฏตัวอย่างมิได้คาดฝัน แต่เรากลับเชื้อเชิญมันมาสู่การรับรู้ของเรา  ทำดังกับว่า เราพบกับเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานานแล้วเชื้อเชิญเขามาสู่การพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง  สติที่ถูกฝึกมาดีระดับหนึ่งแล้ว ย่อมทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความทุกข์ได้อย่างกล้าหาญ ซึ่งจะนำไปสู่การประจักษ์แจ้งถึงสัจภาวะหรือความจริงสูงสุดของสรรพสิ่ง  อันจะเป็นการบั่นทอนห่วงโซ่แห่งความยึดมั่นถือมั่นให้ขาดลง แล้วเข้าถึงสภาวะแห่งความเบิกบานและงดงามในที่สุด  เป็นการประจักษ์แจ้งในขณะที่เรายังเวียนว่ายในสังสาระนี้แล

วิธีการทั้ง 3 ที่กล่าวมานี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเรา  หากเราริเริ่มใส่ใจฝึกฝนนับแต่บัดนี้ ความเบิกบานและงดงามแห่งชีวิตก็พลันจะปรากฏขึ้นในทุกขณะแห่งชีวิต  ยิ่งอำนาจแห่งสติครอบครองจิตใจได้นานและบ่อยครั้งเพียงใด ความเบิกบานและงดงามในชีวิตยิ่งจะมั่นคงยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แม้จะให้ความสำคัญกับการแปรเปลี่ยนด้านในของชีวิตเป็นเรื่องหลัก (เพราะเราสามารถทำได้เลย) แต่ก็มิได้ละเลยหรือปฏิเสธการแปรเปลี่ยนปรับปรุงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมทุกระดับที่เป็นปัจจัยภายนอก อันเป็นเหตุก่อให้เกิดความทุกข์ความเจ็บปวดกับคนในสังคม  เรากลับต้องพยายามสร้างเหตุปัจจัยเพื่อให้โครงสร้างความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์นั้น เปลี่ยนแปลงเป็นโครงสร้างที่เกื้อกูลความเบิกบานของมนุษย์มากขึ้น โดยกระทำควบคู่กับการแปรเปลี่ยนจิตใจอันเป็นปัจจัยภายใน  โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีนั้นย่อมเกื้อกูลให้การแปรเปลี่ยนด้านในของปัจเจกบุคคลเป็นไปอย่างได้ผล  ในทางกลับกัน หากปัจเจกบุคคลหลายๆ คนต่างพยายามแปรเปลี่ยนจิตใจไปในทางเบิกบานและงดงาม โครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมโดยรวมก็ย่อมมีความสงบร่มเย็นเช่นเดียวกัน


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน