ในหลายกรณีการฆ่ากันหรือประทุษร้ายต่อกัน เกิดขึ้นจากความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ เช่น เราจัดการกับงู ตะขาบ สัตว์มีพิษอื่นๆ ที่พบเห็นด้วยการฆ่า เพราะกลัวว่าสัตว์ดังกล่าวจะทำร้ายเรา ยิ่งถ้าพบเห็นอยู่ในอาณาบริเวณ “ของเรา” เราก็มักจะนึกถึงการ “ขจัด” มันให้พ้นไปแบบถาวร เพื่อที่เราจะอยู่อย่างสงบวางใจได้ ไม่ต้องกระสับกระส่ายหวาดระแวงเพราะความกลัวสิ่งนั้นอีกต่อไป
การฆาตกรรมหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่สุดในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นอกจากจะเกิดจากความโกรธ เกลียด เคียดแค้นชิงชังดังที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากอากัปกริยาอันบ้าคลั่งของฝูงชนแล้ว เบื้องหลังยังเกิดจากความกลัวนานัปการของกลุ่มคนต่างๆ ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ กลัวว่าบ้านเมืองจะถูกยึดครอง กลัวสถาบันสำคัญของชาติถูกทำลาย กลัวผลประโยชน์และความมั่นคงของตนเองต้องสูญเสีย จึงพร้อมที่จะทำลายสิ่งที่ตนเองกลัว เพื่อขจัดความกลัวนั้นให้ “สิ้นซาก” ไป (ตามความเข้าใจของตนเอง)
ความกลัว เป็นความหลง (โมหะ) อย่างหนึ่ง เป็นเหมือนความมืดซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นความจริงที่เป็นอยู่ จึงเกิดความสงสัย ลังเล วิตกกังวล คิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานาตามแต่ข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ ยิ่งถูกบีบคั้นจากความกลัวมากเท่าไร การมองให้เห็นและเข้าถึงความจริงก็ยิ่งพร่ามัว มีแต่ความกลัวและความคิดปรุงแต่งในทางลบที่เลวร้าย ทำให้เกิดความผิดพลาดในการเลือกวิธีจัดการกับสิ่งที่ตนเองกลัว นั่นคือมักขจัดความกลัวโดยใช้สัญชาติญาณดั้งเดิม ถ้าไม่ใช่การใช้กำลังต่อสู้เพื่อขจัดความกลัวให้พ้นไป ก็ใช้วิธีการหนีไปให้พ้นจากสิ่งที่กลัวนั้น การที่บุคคลหรือสังคมจัดการกับปัญหาใดด้วยความกลัว นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังมักนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันในทางต่างๆ ได้โดยง่าย เนื่องจากความกลัวทำให้ใช้สติปัญญาน้อยในการคิดวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกอย่างหลากหลาย แต่มุ่งจัดการให้เร็วที่สุดเพื่อไปให้พ้นภาวะความกลัวนั้น เราจึงตีตะขาบตายเมื่อกลัวมันกัด ชนชั้นปกครองขจัดความกลัวคอมมิวนิสต์ด้วยความทารุณโหดร้ายเกินพรรณนาในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คอมมิวนิสต์หมดราบคาบ ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป (ซึ่งผลกลับออกมาในทางตรงข้าม)
แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ไม่อาจขจัดความกลัวได้อย่างถาวร มิหนำซ้ำวิธีการที่เลือกใช้ยังนำมาซึ่งปัญหาใหม่ และซ้ำเติมปัญหาเก่าให้หนักหน่วงมากขึ้นด้วย เพราะความหลงผิดหรือความไม่รู้ (อวิชชา) ในความจริงยังคงอยู่ เหมือนคนกลัวผีไปตกอยู่ในที่มืดหรือสลัว มองเห็นลูกมะพร้าวเป็นหัวคน ก็กลัวจนขนหัวลุก พอเพ่งจนเห็นว่าเป็นมะพร้าว ก็หันไปกลัวต้นกล้วยเพราะฟังมาว่ามีนางตานี จนแม้จะเพ่งมองเห็นทุกอย่างหมดแล้ว ก็ยังกลัวว่าผีอาจจะมาข้างหลัง ฯลฯ ความกลัวจึงยังไม่หมดไปอยู่ดี แต่ระงับไว้ชั่วคราว ความสุขสงบจึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างถาวร
เมื่อบุคคลหรือสังคมจัดการกับปัญหาใดด้วยความกลัว นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันโดยง่าย
การจะไปให้พ้นจากการถูกบีบคั้นเพราะความกลัว จะต้องอาศัยความรู้เท่าทันทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ทำให้เรากลัว คือ รู้ทันทั้งตัวเรา และรู้ทันสภาพแวดล้อม คือรู้ว่าความกลัวและการป้องกันตนเองเป็นสัญชาติญาณเพื่อความอยู่รอดอย่างหนึ่งของสัตว์โลกโดยทั่วไป แต่สัตว์ทั่วไปนั้นการป้องกันตนเองก็คือการป้องกันตนเองจริงๆ เหมือนที่เราสังเกตได้ว่า งูจะไม่กัดคนถ้าคนไม่เผลอไปเหยียบมันก่อน หรือผึ้ง แตน ต่อจะไม่ต่อยสัตว์อื่นหากที่อยู่ของมันไม่ถูกคุกคามก่อน ฯลฯ แต่คนเรานั้น มีความคิดปรุงแต่งที่เพิ่มเติมไปจากสัญชาติญาณ ทำให้มีความรับรู้ต่างๆ มากมายซึ่งจะต้องใช้สติ ความเข้มแข็งของจิต (สมาธิ) ยับยั้งความคิดปรุงแต่ง เพื่อให้เรา “นิ่ง” สงบ สามารถจะคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบ กระทั่งมองและประเมินสิ่งต่างๆ ภายนอกตัวได้อย่างถูกต้องตามจริง ไม่บิดเบี้ยว พร่ามัว จนกระทั่งเกิดความกลัวที่เกินจริง และใช้สัญชาติญาณดิบเข้าตอบโต้หรือจัดการ เหมือนการปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนส่วนหนึ่งกลัวคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งมองข้ามความจริงว่า คอมมิวนิสต์เกิดและขยายตัวจากความอยุติธรรมของสังคม การกำจัดรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ (หนังสือ นักศึกษา พคท. ฯลฯ) มิใช่หนทางของการสร้างความมั่นคงหรือสงบสุขให้กับสังคมแต่อย่างไร เพราะความเอารัดเอาเปรียบ ไร้ความเป็นธรรมยังคงอยู่ หรือการตีตะขาบตายก็ไม่ทำให้ตะขาบหมดไปจากโลก เรายังจะต้องเจอและกลัวอีกเมื่อพบ
การหลุดพ้นจากความกลัวจึงต้องอาศัยความรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนเอง สัมพันธ์กับความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยและความเป็นไปต่างๆ ภายนอกตัวเราประกอบกัน ประเด็นที่ต้องศึกษาและขบคิดให้เป็นพิเศษ คือ ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เรากลัวและหลงผิดนั้น มาในหลายรูปแบบ วิธีการ เช่น เรากำลังถูกกระตุ้นให้กลัวการแก่ การตายอันเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต จนต้องหาทางชลอความแก่ ความตายอย่างเกินพอดี จนใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยไร้สาระ หรือความกลัวเอดส์อย่างหลงผิดทำให้สังคมขาดความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ จึงขจัดความกลัวด้วยการขับไล่ กีดกันผู้ติดเชื้อให้ออกไปจากการอยู่ร่วมกันในสังคม และปัจจุบันโลกกำลังถูกกระตุ้นให้กลัวและระแวงคนบางชาติบางศาสนาอย่างเกินจริง ว่าเป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก โดยมองข้ามเหตุปัจจัยอันแท้จริงของปัญหาหรือวิกฤตการณ์
ความสุขสงบและสันติภาพของบุคคลก็ดี ของสังคมและโลกก็ดี มิอาจเกิดขึ้นจากการโจมตีและการตอบโต้กันด้วยความกลัวตามสัญชาติญาณ เพราะความกลัวทำให้เราห่างไกลออกจาก “ความจริง” อันเป็นฐานสำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาทั้งหลายทั้งปวงอย่างยั่งยืน