ผู้ใหม่

นาม ไร้นาม 29 มีนาคม 2017

ยามที่เราเป็นผู้ใหม่ในสถานที่ใดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาใหม่ ชุมชนใหม่ บ้านใหม่ ที่ทำงานใหม่ หรือกระทั่งกลุ่มคนใหม่ที่เราพบ ธรรมชาติของมนุษย์ เราจะวางตัวอย่างเป็นผู้ใหม่  เราอาจจะพูดน้อย ฟังมาก เราจะไม่กล้าทำสิ่งที่เรายังไม่มั่นใจ ไม่ทำตามใจตัวเอง เราจะอ่อนน้อมถ่อนตน เคร่งครัดในกฏระเบียบ ว่าง่าย เราจะมีความเพียรพยายามที่จะเรียนรู้ เราจะมีความอดทนมาก เราจะเป็นมิตรกับทุกคน  นั่นคงเป็นลักษณะที่ดี

สภาวะนี้จะดำรงอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง สั้นหรือยาวนานก็แล้วแต่องค์ประกอบแวดล้อม แต่มันก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่ง แล้วมันก็จะถึงคราวที่เรากลายเป็นผู้เก่า ยิ่งนานมากก็ยิ่งเป็นคนเก่าแก่ นั่นก็ว่ากันไป  นั่นเองที่หลายอย่างจะเปลี่ยนไป เราพูดมากขึ้น ฟังคนอื่นน้อยลง มั่นอกมั่นใจ แข็งตัว เริ่มหยาบคายกับบางคน อาจเลยไปถึงผยองลำพองตน ไม่ต้องเรียนรู้มากนัก หรืออาจไม่เรียนรู้เลย อดทนได้น้อย และเริ่มมีศัตรู ยุ่งยากมากขึ้น เรียกร้อง  ทั้งหมดนี้อาจหนักหนาตามกาลเวลา ตามอัตราความเก่า และเก่าแก ก็เป็นได้

นี่ก็คงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์หรือเปล่า ถ้าว่ากันถึงกระบวนการเรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติ พัฒนาตน ก็เห็นจะหนีธรรมชาตินี้ไปไม่พ้น  เมื่อเราเริ่มฝึกฝนใหม่ เราจะใส่ใจ พยายาม อดทน ขยัน  มีวินัย  ต่อเมื่อยิ่งนานวัน ร่างกายและจิตใจก็เริ่มผ่อนคลายลงไป วินัยเริ่มน้อย กิจวัตรเริ่มหย่อนยาน ผลัดวันประกันพรุ่ง  ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายเหตุผล บางครั้งอาจด้วยความท้อ เหนื่อยที่ผลยังไม่เกิดจากเหตุที่พากเพียร หรือก็ด้วยมีความมั่นใจมากว่าตนเป็นผู้ฝึกฝนแล้ว  อันหลังนี้ดูจะน่ากลัวกว่ามากนัก

องค์ประกอบ ปัจจัยแวดล้อม รูปแบบ เครื่องแบบ อาจสร้างบุคลิกภาพของเราขึ้นมา และสร้างความมั่นใจ  ยิ่งเก่ามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้น หรือยิ่งตำแหน่งแห่งที่สูงขึ้นเท่าใด ตัวเราก็ใหญ่ขึ้น เมื่อนั้นหลายอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป  ว่าก็อาจจะไม่ไช่ทั้งหมด หรือทุกคน แต่นี่คือสภาวะทั่วไปที่เราพบเห็น  ด้วยภาวะเช่นนี้ ที่การฝึกฝนของเรา กระบวนการเรียนรู้ของเราจะหยุดนิ่ง หรือกระทั่งถอยหลังสำหรับบางคน หรือเราก็ขยับไปข้างหน้าได้น้อย และเฉื่อย  ถึงที่สุด กระบวนการฝึกฝน เรียนรู้ของเราก็อาจจบสิ้นไป จากนั้นเราก็จะเหลือแต่รูปแบบภายนอก เหลือเครื่องแบบ หรือบุคลิก แต่ไม่เหลือการเรียนรู้

ยามที่เราเป็นผู้ใหม่ในสถานที่ใดก็ตาม เราจะอ่อนน้อมถ่อนตน แต่เมื่อถึงคราวที่เรากลายเป็นผู้เก่า หลายอย่างก็จะเปลี่ยนไป

นี่คือภาพที่ก่อให้เกิดความฉงนอยู่หลายคราวในชีวิตว่า ทำไมกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่านักปฏิบัติ จึงมีการกระทำที่สวนทางกับสิ่งที่ตนเองพร่ำพูดกับผู้คน อย่างที่ว่า นั่นคงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกมากมายก้าวหน้าไปอย่างงอกงาม งดงาม ตามวิถีแห่งการปฏิบัตินั้น

หากย้อนกลับไปมองภาพเมื่อแรกเริ่ม เราเห็นความตั้งใจ ความมุ่งมั่น เราจัดวางวิถีชีวิตของเราให้เป็นไปอย่างมีวินัยอย่างยิ่ง เราทำมันอย่างสม่ำเสมอ และนั่นเมื่อมันนานพอ ผลมันย่อมปรากฏ ตรงรอยต่อนี้เองที่มักก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันเป็นทางสองแพร่งที่เราจะเลือกเดิน

ทางหนึ่งคือ สำเร็จแล้ว และเราก็สร้างชุดคำอธิบายสภาวะนั้นของตนอย่างสวยงาม และวินัยของเราก็จะเริ่มลดลง เราจะเริ่มขาดการเรียนรู้หรือฝึกฝนได้บ้าง เราจะเหลวไหลได้บ้าง เพราะเราได้ความมั่นใจมาแล้ว จากผลที่เกิดจากการฝึกฝนของเรา มีเรื่องเล่ามากมายผุดขึ้นมา

อีกทางหนึ่ง คือ พบทางแล้ว เราจะเริ่มเห็นว่าทางของเรานั้นถูกต้องแล้ว ให้ผลแล้ว และเราต้องมุ่งมั่นเดินทางต่อไป  และมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อเราเดินทางสายนี้ มันก็จะมีทางเล็กทางน้อยที่อาจพาเราเลี้ยวออกไปสู่ทาง ‘สำเร็จแล้ว’  ถ้าเราตั้งมั่นกับทางได้ เราก็อาจจะต้องนั่งพักบ่อยขึ้น เพื่อการสำรวจตรวจสอบตัวเอง เฝ้าดู หรือต่อสู้ที่จะไม่เลี้ยวกลับไป  แน่นอนว่า บางครั้ง บางคน เราก็ต้านทานการยั่วยวนของความสำเร็จไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่จะยึดเราไว้ ก็คือความเป็น ‘ผู้ใหม่’  ทุกครั้งที่เรามองกลับไป เราจะพบกับการฝึกฝนที่จริงจัง ตั้งใจ ทุ่มเท อ่อนน้อม และเป็นมิตร เรามีวินัย และซื่อตรง เราย่อมรู้สึกดีกับความทรงจำนั้น  เราเห็นความสำเร็จบางอย่างที่เคยเกิดขึ้น แม้มันเป็นสิ่งเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับเป้าหมายสูงสุด แต่นั่นมันก็คือการบ่มเพาะพลัง เพื่อให้เราเข็มแข็ง มั่นคงในหนทางแห่งการเรียนรู้  เรารู้สึกอบอุ่น และขอบคุณถ้อยคำมากมายของครูบาอาจารย์ ที่นำพาชีวิตเราเข้าสู่หนทางอันมีความหมาย

นั่นจะเป็นภาพที่เราเก็บไว้เพียงในความทรงจำ หรือจะสร้างมันขึ้นมาอีกครั้ง คำตอบมันย่อมชัดเจนอยู่ในคำถามนั้นแล้วกระมัง


ภาพประกอบ