ในหนังสือเรื่อง “ปัญญาเหนือทุกข์” ของ แจ๊ค คอร์นฟิลด์ (กำธร เก่งสกุล แปล) ผู้เขียนเล่าถึงการวิจัยที่ทำในย่านพักอาศัยของคนจนในกรุงลอนดอน ถนนสองสายถูกเลือกขึ้นมาเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งสองสายมีสภาพคล้ายกันและอยู่ห่างกันไม่ถึง ๒ กม. ที่สำคัญคือมีสถิติอาชญากรรมในระดับสูงพอๆ กัน แต่นักวิจัยได้เลือกถนนสายหนึ่งให้มีการเอาใจใส่อย่างดี เช่น ทำความสะอาดทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี เก็บขยะถูกชิ้น ลบรอยขีดเขียนบนกำแพงในที่สาธารณะ ปลูกไม้ดอกตรงขอบทางเดินและรดน้ำต่อเนื่อง ไฟริมถนนตลอดจนป้ายที่แตกหักได้รับการซ่อมแซมและทาสีใหม่
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการประกาศต่อสาธารณชน หลังจากนั้นหนึ่งปีได้มีการนำถนนทั้งสองสายมาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าสถิติอาชญากรรมบนถนนสายที่สะอาดและงดงามลดลงเกือบ ๕๐%
ผู้เขียนไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ เมื่อชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยอาชญากรรมก็ลดลง สิ่งที่น่าคิดก็คือทั้งสองอย่างเกี่ยวพันกันอย่างไร คำตอบก็คือ ชุมชนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นแสดงว่าผู้คนใส่ใจส่วนรวม คนที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้ย่อมเกิดตระหนักว่าตนจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ จึงเกิดความยับยั้งชั่งใจเมื่อนึกอยากทำผิดกฎระเบียบ
คำอธิบายดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความคิดที่ว่า อาชญากรรมตามชุมชนต่างๆ มักเริ่มจากการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากระจกหน้าต่างแตก หรือขีดเขียนในที่สาธารณะแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้คนจึงได้ใจและกล้าทำสิ่งที่อุกอาจมากขึ้น เช่น ลักขโมย และลุกลามไปสู่อาชญากรรมที่รุนแรง แนวความคิดนี้มองว่า การปล่อยให้มีกระจกหน้าต่างแตกหรือสีขีดเขียนเปรอะเปื้อนในที่สาธารณะเป็นเวลานานๆ คือการส่งสัญญาณว่า ชุมชนนี้ไม่มีใครเอาเป็นธุระ อยู่อย่างตัวใครตัวมัน เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นๆ ทำตามอำเภอใจ ไม่สนใจกฎเกณฑ์หรือกติกา เกิดความรู้สึกอยากทำสิ่งแย่ๆ อย่างเดียวกันบ้าง หรือทำยิ่งกว่า (แกทำได้ ฉันก็ต้องทำได้สิ)
ฟิลิป ซิมบาร์โด นักจิตวิทยาชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทดลองเอารถคันหนึ่งซึ่งไม่มีป้ายทะเบียนมาจอดโดยเปิดฝากระโปรงทิ้งไว้ในเมืองบรองซ์ กรุงนิวยอร์ค อันเป็นย่านคนจนและเต็มไปด้วยอาชญากรรม ส่วนรถอีกคันหนึ่งเอาไปจอดทิ้งไว้ที่เมืองพาโลอัลโต แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นย่านคนมีฐานะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีรถคันแรกก็ถูกถอดแบตเตอรี่และหม้อน้ำ แล้วชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ถูกถอดตามมา ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง ก็ไม่เหลือของมีค่าอยู่เลย ในที่สุดก็มีคนทุบกระจกเข้าไปขโมยชิ้นส่วนภายในรถ
ตรงข้ามกับรถคันที่สอง ไม่มีใครแตะต้องรถคันนั้นนานเป็นอาทิตย์ แต่เมื่อซิมบาร์โดลงมือทุบกระจกรถคันนั้นเสียเอง ไม่นานก็มีคนไปรื้อถอดชิ้นส่วนรถไม่ต่างจากที่บรองซ์ ซิมบาร์โดชี้ว่าสาเหตุที่การรื้อถอดชิ้นส่วนรถเกิดขึ้นเร็วมากในบรองซ์ ก็เพราะคนที่นั่นรู้สึกว่าจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ พฤติกรรมแบบเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในถิ่นคนมีฐานะ หากมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ”
ในกรณีดังกล่าว สิ่งที่เป็นสัญญาณว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ” ก็คือ กระจกรถที่ถูกทุบแตกนั่นเอง นี้เป็นที่มาของทฤษฎี “หน้าต่างแตก” ของเจมส์ วิลสัน และยอร์จ เคลลิ่ง ทั้งสองอธิบายดังนี้ว่า “สมมติว่ามีอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีหน้าต่างแตกหลายบาน หากหน้าต่างไม่ได้รับการซ่อม ก็มีแนวโน้มว่าอันธพาลจะทุบหน้าต่างแตกเพิ่มขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็จะแอบเข้าไปในอาคารนั้น และหากอาคารนั้นไม่มีคนอยู่ มันก็อาจกลายเป็นที่อาศัยของคนเหล่านั้นหรือจุดไฟข้างใน”
แนวความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายของสำนักงานตำรวจกรุงนิวยอร์คเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีที่แล้ว มีการขจัดรอยขีดเขียนในที่สาธารณะ ดูแลสถานีรถไฟใต้ดินให้สะอาดสะอ้าน รวมทั้งใส่ใจกับการทำผิดกฎเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่จ่ายค่าตั๋วรถไฟใต้ดิน หรือทำลายทรัพย์สินสาธารณะ สิ่งที่ตามมาก็คือ อาชญากรรมในกรุงนิวยอร์คซึ่งเคยพุ่งสูงได้ลดลงไปมาก ความสำเร็จดังกล่าวมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่เชื่อว่าการทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมของผู้คนนั้นเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นระเบียบนั้นสามารถลดทอนพฤติกรรมด้านลบของผู้คน ทำให้อาชญากรรมลดลงได้ ในทางตรงข้ามสภาพแวดล้อมที่ถูกปล่อยปละละเลยสามารถส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมในทางลบจนกระทำอาชญากรรมต่างๆ ได้ไม่ยาก
การส่งสัญญาณว่า ชุมชนนี้ไม่มีใครเอาเป็นธุระ อยู่อย่างตัวใครตัวมัน เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นๆ เกิดความรู้สึกอยากทำสิ่งแย่ๆ อย่างเดียวกันหรือยิ่งกว่า
อันที่จริงสภาพแวดล้อมยังสามารถมีอิทธิพลในลักษณะอื่นๆ ต่อพฤติกรรมของผู้คน ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การทดลองในสำนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ พนักงานสามารถหาชาหรือกาแฟได้จากครัวรวม แต่ต้องชงเองและหยอดเงินใส่กล่องเองด้วย โดยมีป้ายบอกราคาติดไว้ที่ข้างฝา วันหนึ่งมีคนเอาภาพโปสเตอร์มาติดเหนือป้ายนั้น ภาพนั้นเปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ ถ้าไม่ใช่ภาพดอกไม้ ก็เป็นภาพตาที่กำลังมองมายังผู้ดู ที่น่าแปลกก็คือ จำนวนเงินในกล่องจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคืออาทิตย์ใดที่เป็นภาพดอกไม้ จำนวนเงินที่ได้ (ต่อนม ๑ ลิตร) จะลดลง แต่อาทิตย์ใดเป็นภาพตาจ้องมอง จำนวนเงินที่ได้จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วอาทิตย์ใดที่มีตาจ้องมองพนักงานจะหยอดเงินมากกว่าอาทิตย์ที่มีดอกไม้ เกือบ ๓ เท่า
กล่าวอีกนัยหนึ่งภาพโปสเตอร์นั้นมีผลต่อความซื่อสัตย์ของพนักงานด้วย ภาพตานั้นทำให้ผู้คนรู้สึกลึกๆ ว่าถูกจ้องมอง จึงมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินตามราคา แต่หากเป็นภาพอื่น ก็อาจจะจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง หรือจ่ายไม่ครบ
ทั้งหมดนี้ชี้ว่าความดีหรือศีลธรรมของผู้คนนั้น ไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึกล้วนๆ แต่ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมมีผลต่อจิตสำนึก และนำไปสู่พฤติกรรมที่สอดคล้องกัน ดังนั้นการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้มีศีลธรรม จึงไม่ควรเน้นที่การเทศน์การสอนหรือการรณรงค์ด้วยคำขวัญเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงการสร้างเหตุปัจจัยภายนอกที่เกื้อกูลด้วย อาทิ การกระจายโภคทรัพย์ไม่ให้เกิดความยากไร้
เรื่องทำนองนี้อันที่จริงก็มีกล่าวในพระไตรปิฎก หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของพระราชาที่ต้องการปราบโจรผู้ร้ายซึ่งมีอยู่ชุกชุม ความคิดของพระราชาก็คือ เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น แต่พราหมณ์ปุโรหิตทักท้วงเพราะเห็นว่าจะทำให้ปัญหาหนักขึ้น พราหมณ์เสนอให้มีการกระจายทรัพย์หรือส่งเสริมอาชีพ ไม่ว่าเกษตรกร พ่อค้า และขุนนาง พระราชาคล้อยตาม ปรากฏว่าเมื่อประชาชนอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีรายได้พอแก่อัตภาพ โจรผู้ร้ายก็หายไป ชาวเมืองอยู่อย่างผาสุก “รื่นเริงบันเทิงใจ อุ้มลูกฟ้อนรำไปมา สนุกสนาน บ้านช่องไม่ต้องปิดประตูลั่นกุญแจ”
น่าสังเกตว่า พราหมณ์ (ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดของพระพุทธเจ้า) ไม่ได้เสนอให้มีการเทศนาสั่งสอนประชาชนหรือรณรงค์ให้ประชาชนมีศีลธรรมแต่อย่างใด เพียงแค่จัดระบบเศรษฐกิจให้ดี อาชญากรรมก็ลดลง ศีลธรรมก็กลับมา
เรื่องนี้ชี้ว่าในการเสริมสร้างศีลธรรมของผู้คน สิ่งหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้เลยก็คือการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลต่อจิตสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนด้วย