ยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทย

เครือข่ายพุทธิกา 1 ตุลาคม 2003

ตัดทอนจากปาฐกถาในการสัมมนาประจำปีของ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย เรื่อง “อนาคตพุทธศาสนาไทย: เราจะฝ่าวิกฤตได้อย่างไร” เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร 

ปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี

 

คำว่า “ยุทธศาสตร์” แปลว่าการหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ ตรงนี้จะเข้าไปสู่มรรค  แต่ส่วนใหญ่เวลากล่าวอะไร จะกล่าวแต่ที่ทุกข์ ที่สมุทัยบ้าง บางครั้งไปถึงนิโรธ แต่เข้าใจผิดนึกว่านิโรธเป็นมรรค จึงไปไม่ถึงมรรค  มักคิดว่าเรื่องนั้นทำอย่างไรจะสำเร็จ แต่ไปไม่เคยถึง  นักวิชาการส่วนใหญ่ไปถึงการวิเคราะห์วิจัยแต่ไปไม่ถึงการสังเคราะห์และการจัดการ  การทำให้สำเร็จนั้นจะต้องสังเคราะห์และจัดการ ซึ่งการจัดการต้องคำนึงถึงความเป็นจริง อุปสรรคต่างๆ มากมาย ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ จึงนำคำว่า “ยุทธศาสตร์” มาใช้ในที่นี้

การตั้งหัวข้อว่า “ยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทย” นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายว่า ในการทำอะไรจะต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้งจะติดขัดและจะพลาดเสมอ เรื่องเศรษฐกิจถ้าเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งก็พลาด  สังคมคือการอยู่ร่วมกัน สังคมนั้นหมายถึงการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ต้องพยายามทำตรงนี้คือให้เกิดการอยู่ร่วมกันด้วยสันติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ใช่ไปเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง  แม้แต่คุณอมาตยา เซน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่เขามีความคิดเห็นถึงเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องคนจน เขาก็เอาการตลาดเป็นตัวตั้ง ซึ่งอาจจะพลาด

โลกทุกวันนี้เอาวิชาเป็นตัวตั้ง สร้างความรู้มากมายไปหมด แต่ไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันหรือสังคมเป็นตัวตั้ง  พุทธศาสนาก็เช่นเดียวกันถ้าแยกจากสังคมโดยไม่เอาสังคมเป็นตัวตั้ง การดำรงพุทธไว้นั้นจะยากมาก  ฉะนั้นหัวข้อที่ตั้งขึ้นต้องการให้เอาสังคมเป็นตัวตั้ง แล้วนำพุทธศาสนาเข้ามาประกอบกันและดูว่าสังคมกับพุทธศาสนาจะพัฒนาเกื้อกูลกันได้อย่างไร  สาเหตุที่ไม่ใช้คำว่าปฏิรูปพุทธศาสนา เพราะคำอย่างนี้ใช้กันมานาน และก่อให้เกิดเรื่องเกิดราวต่างๆ มากมายและสะดุดด้วย

ส่วนประเด็น “การพัฒนา” การพัฒนาประเทศส่วนใหญ่มักไปนึกถึงเป็นเรื่องทุน ทุนที่คิดถึงมักเป็นเงิน ซึ่งนับว่าเป็นความจำเป็นเพียงส่วนเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด  ทุนสำหรับการพัฒนานั้นมีอย่างอื่นๆ ด้วยอีกมากมาย เช่น ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุนที่เป็นมนุษย์ เป็นคนไทย

และผมคิดว่าพุทธศาสนานั้นเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย อาจจะพูดว่าเป็นสมบัติของชาติก็ได้ เพราะว่าพุทธศาสนานั้นเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเมืองพุทธ  ถึงจะเสื่อมจากวัตถุนิยมหรืออะไรก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ได้  ประเทศไทยมีฐานอะไรต่ออะไรมากมาย มีวัดมีพระ มีคำสอน มีถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้กัน และเข้าไปสู่ในส่วนที่เป็นวัฒนธรรมด้วย ฉะนั้นจึงไม่ยากที่จะสื่อกับคนในเรื่องพระพุทธศาสนา

ถ้าเรามาดูสังคมทั้งโลกที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ สังคมทั้งโลกขณะนี้ขับเคลื่อนด้วยโลภจริตอันแรงกล้า ใช้เงินเป็นตัวตั้งและเงินจำนวนมหึมาที่หมุนรอบโลกด้วยความเร็วของแสง เพียง ๐.๒ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ ที่เหลือหมุนเพื่อที่จะไปดูดเงินของคนอื่นเข้ามา  ฉะนั้นตัวความแรงที่หมุนทั้งโลกขณะนี้ก็มีผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโลกอย่างรุนแรง  โลกทั้งโลกมีความพยายามที่จะผลักดันโลกทั้งโลกให้มีอารยธรรมเดียวกันเหมือนกันทั้งโลก ซึ่งอันนี้จะเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าธรรมชาตินั้นคือความหลากหลาย

อยากให้เรามาสนใจเรื่องความหลากหลายเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมีชีวิตขึ้น ถ้าเรามีโมเลกุลชนิดเดียว มีสารชนิดเดียว จะไม่เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น ตัวความหลากหลายนี้สำคัญ  เดิมมนุษย์มีความหลายหลายทางวัฒนธรรม เพราะว่าวัฒนธรรมหมายถึงการมีวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง  สิ่งแวดล้อมมีไม่เหมือนกัน ฉะนั้นวิถีชีวิตของคนในสิ่งแวดล้อมแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน คนเอสกิโมอยู่ขั้วโลกก็จะมีวิถีชีวิตอย่างหนึ่งเพื่ออยู่ให้ได้ในอากาศหนาวเช่นนั้น คนในยุโรป คนในเชียงใหม่ คนที่ตรัง ที่สตูล หรือที่ไหนๆ ล้วนมีวิถีชีวิตที่ต่างกัน จึงเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เดิมโลกเป็นเช่นนั้น แต่ว่าขณะนี้มหาอำนาจพยายามจะให้ทั้งโลกมีอารยธรรมเดียว เป็นอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งและกำลังพาโลกทั้งโลกเข้าไปสู่วิกฤตการณ์อย่างรุนแรง

ท่านทะไลลามะซึ่งเป็นผู้นำชาวพุทธในทางตะวันตก โดยเฉพาะที่อเมริกาเขามีความศรัทธาท่านมาก ที่ไปสอนผู้คนต่างๆ นาๆ  สิ่งที่ท่านทะไลลามะบอกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษว่า ปัญหาของโลกขณะนี้คือมีวิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณเป็น spiritual crisis  สิ่งที่โลกต้องการคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (spiritual revolution)  นักปราชญ์ของฝรั่ง เช่น ลาสโล, กรอฟ, และ รัสเซล คุยกันที่ริมฝั่งแคลิฟอร์เนียก่อนเกิดเหตุวินาศกรรมที่ตึกเวิร์ลเทรดที่เรียกว่า ๙/๑๑ มีข้อความตอนหนึ่งบอกว่าอารยธรรมตะวันตก กำลังจะนำโลกทั้งโลกไปสู่วิกฤตการณ์ เพราะว่าอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยมนั้นไม่สามารถจะพามนุษย์ต่อไปได้อีกโดยไม่เกิดวิกฤตอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องการคือการปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ (consciousness revolution)

หันมาดูพุทธศาสนาที่มีคนบอกว่าเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์ พุทธศาสนามีโลกทัศน์และวิธีคิดที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการด้วยมัชฌิมาปฏิปทา โดยส่งเสริมคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ถือเรื่องความดีสูงสุดของมนุษย์ที่มนุษย์สามารถจะไปถึงได้  ทุกศาสนา หัวใจของศาสนาคือโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรมหมายถึงมิติทางจิตวิญญาณ เลยมิติทางวัตถุ ทุกศาสนาจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นส่วนที่เรียกว่า spiritual  spiritual ก็คือโลกุตตรธรรมที่เหนือโลกทางวัตถุ ฉะนั้นเรื่องศาสนาจึงจำเป็นสำหรับการพัฒนาสมัยใหม่ที่กำลังวิกฤตอยู่  ฉะนั้นจำเป็นต้องมามองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นทุนหรือว่าเป็นสมบัติของเราที่จะนำมาใช้เพื่อจะแก้วิกฤตในการพัฒนาในสมัยใหม่

ท่านอาจารย์พุทธทาสได้มอบมรดกไว้ให้สามข้อด้วยกัน ข้อที่หนึ่งอยากให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน หัวใจของศาสนาต้องไปถึงโลกุตตรธรรม ไปเหนือวัตถุ  ข้อที่สองขอให้มีความร่วมมือระหว่างศาสนา  ข้อที่สามขอให้ช่วยมนุษย์ได้ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม  ที่จริงทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่อง spiritual ซึ่งเป็นเรื่องโลกุตตรธรรมทั้งสิ้น  ฉะนั้นตรงนี้ผมอยากจะฝากท่านทั้งหลาย ให้ลองมามองว่าเราจะใช้พุทธศาสนาเป็นทุนสำหรับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไรเพื่อนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข เป็นการพัฒนาอย่างบูรณาการด้วยมัชฌิมาปฏิปทา

เรื่องวัตถุ เรื่องเงินทองมีความสำคัญ แต่เราจะไปคิดเรื่องเงินทองแบบแยกส่วนไม่ได้ ต้องคิดร่วมกับอย่างอื่น เรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ล้วนเชื่อมโยงกัน ถ้าไปแยกเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วพัฒนาไปอย่างเดียวก็นำไปสู่วิกฤตเสมอ  พุทธศาสนาเองมีแนวคิดที่เรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจะเกิดบูรณาการ เกิดความเชื่อสู่สมดุล ควรเข้าใจตรงนี้ แต่มีคนเข้าใจน้อย  แม้พูดถึงมัชฌิมาปฏิปทากันจนติดปาก แต่มีเพียงคนส่วนน้อยที่เข้าใจตรงนี้จริงๆ  จึงขอฝากตรงนี้ไว้

จะขอเสนอยุทธศาสตร์เป็นลำดับมีทั้งหมดเจ็ดข้อด้วยกันดังนี้

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๑ การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน 

ถ้าเราจะทำอะไรให้มีพลัง จะต้องสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน ซึ่งมีการพูดหลายแบบ แบบหนึ่งก็บอกว่าต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ถ้าทุกคนมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มันจะทำกันไปเอง เพราะเป็นงานร่วมกันทำ ใช้การบังคับไม่ได้ ใช้คำสั่งไม่ได้ ถ้าทำแล้วจะผิดพลาด  การสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ฉะนั้นตรงนี้เอง ผมคิดว่าทางราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนาจะต้องเข้ามา เพราะการจะสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งประเทศ ต้องร่วมกันทำ พระทั้งหมด ชาวพุทธทั้งหมด  แต่ว่าจำเป็นต้องอาศัยการเคลื่อนไหว ต้องใช้สื่อทุกประเภท สื่อทุกประเภทต้องเข้ามาเคลื่อนไหว รวมทั้งการใช้ศิลปะ ศิลปินจะมีความสำคัญมาก ใช้ศิลปะในการสื่อ เป็นนักสร้างสรรค์ที่จะสื่อกับสังคม มีการประชุมต่างๆ เคลื่อนไหวทั้งประเทศเพื่อสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันในการนำพุทธศาสนามาพัฒนาประเทศ

ตรงนี้เองลำพังเอ็นจีโอมีกำลังน้อยมาก อาจจะมีอุดมคติมีความตั้งใจ แต่พลังที่จะเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นร่วมกันทั้งประเทศต้องอาศัยร่วมกันทั้งหมด และต้องอาศัยกลไกทางรัฐ อาศัยทรัพยากรของรัฐซึ่งมีอยู่มากมาย มีสื่อมีอะไรมากมายหมดเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว  นี้เป็นประเด็นที่หนึ่งและเป็นหลักการทั่วไปในเรื่องของยุทธศาสตร์ว่าถ้าจะทำอะไรให้มีพลัง ต้องทำข้อนี้ก่อน  ค่อยสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๒ ส่งเสริมวิธีคิดแบบพุทธ  

วิธีคิดในพระไตรปิฎกไม่เหมือนวิธีคิดทั่วๆ ไป เรามักอ้างพระไตรปิฎกแต่เฉพาะเนื้อหา เราไม่ค่อยจับวิธีคิดขึ้นมาใช้  วิธีคิดที่มีอยู่ในโลกขณะนี้โดยทั่วไปเป็นวิธีคิดแบบแยกส่วน คิดแบบตายตัวและแยกส่วน และเข้าไปสู่ความสุดโต่งเกือบทั้งสิ้น เกือบทั้งโลกจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่ความวิกฤต นำไปสู่ความทุกข์ ขัดแย้งในตัวด้วย

วิธีคิดของคนเอเชียและคนยุโรปไม่เหมือนกัน  คนยุโรปจะคิดเป็นแบบดิจิตอล (digital) ถ้าไม่ใช่หนึ่งก็เป็นศูนย์ ถ้าไม่เป็นศูนย์ก็เป็นหนึ่ง เป็นอันหนึ่งก็ไม่ใช่อีกอันหนึ่ง  แต่คนเอเชียจะไม่ชัดเจน การที่คนยุโรปคิดแบบดิจิตอลนั้นจึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ของยุโรปซึ่งเต็มไปด้วยสงคราม  มีคนเคยศึกษาเรื่องสงครามในช่วงระยะเวลาเท่ากัน พบในยุโรปมีมากกว่าในเอเชีย เพราะการคิดแบบดิจิตอลก่อความขัดแย้งกัน คิดเป็นหนึ่งหรือเป็นศูนย์  ตัวอย่างที่ประธานาธิบดีบุชกล่าวว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็เป็นพวกผู้ก่อการร้าย” อันนั้นคือวิธีคิดแบบดิจิตอลที่ชัดเจน  ผมเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า ประเทศไทยเป็นมิตรกับมุสลิมและเป็นมิตรกับอเมริกัน คือมันเป็นทั้งคู่ได้  มันไม่จำเป็นว่าถ้าเป็นอันนี้ก็ไม่ใช่อันนั้น แต่คนส่วนใหญ่กลับคิดแบบนี้

เมื่อครั้งผมเคลื่อนไหวการปฏิรูปการเมือง มีนักข่าวถามว่าอาจารย์ท้อใจไหม ผมบอกว่าไม่  เขาสงสัยต่อว่าถ้าเช่นนั้นอาจารย์ก็เต็มไปด้วยความหวังสิครับ ผมบอกว่าเปล่า คือมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ตรงนี้คือมัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ตรงนี้ที่คนส่วนใหญ่จะคิดแบบตายตัว แยกส่วน และสุดโต่ง ตรงนี้เองเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  ทางพุทธศาสนาพูดไว้หลายลักษณะ ในปฐมเทศนาที่เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “เทวเม ภิกขเว อันตา”  เทวเม มาจากทวิ แปลว่าสอง  อันตา แปลว่าส่วนสุด หรือ extremes  อนันตาแปลว่าไม่มีที่สิ้นสุด อันตาแปลว่าสิ้นสุด  “เทวเม ภิกขเว อันตา” ส่วนสุดทั้งสองที่ภิกษุไม่ควรเสพ  ส่วนสุดทั้งสองอันในที่นั้นท่านหมายถึงเรื่องการทรมานตนเป็นส่วนสุดอันหนึ่ง การเสพกามหรือกามสุขัลลิกานุโยคเป็นส่วนสุดอีกอันหนึ่ง  อันนี้หมายถึงอย่างนี้ว่ามัชฌิมาปฏิปทาคือการไม่เข้าไปเสพส่วนสุดทั้งสอง

อีกลักษณะหนึ่ง มัชฌิมาปฏิปทาหมายถึงมรรคแปด มรรคมีองค์ ๘ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา  แต่อีกลักษณะหนึ่งจะพูดอย่างนี้ว่า คราวหนึ่งมีชานุโสณีพราหมณ์เข้ามาถามพระพุทธองค์ พระโคดมผู้เจริญ “สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือหนอ” เราก็บอกไม่รู้ว่าจะถามทำไมแบบนี้ คนไทยไม่สนใจ แต่จริงๆ ที่สำคัญสิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือไม่  พระพุทธเจ้าตอบว่า “ดูเถิดพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการหนึ่ง” เป็นที่สุดโต่ง  พราหมณ์ก็ถามซ้ำ “พระโคดมผู้เจริญ ก็สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริงหรือหนอ” ที่เราว่ามีจริงๆ มันไม่มีหรือ  พระพุทธเจ้าตอบว่า “ดูเถิดพราหมณ์ โวหารอย่างนี้เป็นที่สุดประการที่สอง ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง  ตถาคตจะสอนทางสายกลาง  เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี”  ไม่มีอะไรมีหรือไม่มีโดยตัวของมันเอง เป็นเอกเทศ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ทุกสิ่งล้วนเป็นกระแสของเหตุปัจจัยที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น ท่านเรียกตรงนี้ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ อิทัปปัจจยตา

อิทัปปัจจยตาเคยเป็นวิธีคิด วิธีคิดแบบทางสายกลางไม่เข้าไปคิดแบบตายตัวสุดโต่ง เข้าไปสู่ความขัดแย้ง  ขณะนี้ทั่วโลกล้วนคิดแบบตายตัว แยกส่วน สุดโต่ง ไม่ว่าจะคิด ทำอะไร จะคิดแบบแยกส่วน การพัฒนาก็คิดการพัฒนาแบบแยกส่วน เรื่องเศรษฐกิจก็เอาแต่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว แทนที่จะคิดแบบเชื่อมโยงกันทั้งหมด คิดเรื่องการศึกษาก็คิดแต่เรื่องการศึกษาแบบแยกส่วน การศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง  พระธรรมปิฎกจะพูดถึงในทางพุทธว่าชีวิตกับการศึกษาอยู่ด้วยกัน ว่าชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต  แต่การศึกษาทั้งโลกขณะนี้แยกส่วน ชีวิตนี่ถูกทิ้งขว้าง แต่การศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เรียนวิชานั้นวิชานี้ได้คะแนน จบวิชาอะไร  เหล่านี้ล้วนเป็นแยกส่วนทั้งสิ้น

ฉะนั้น ผมคิดว่ามีความจำเป็นถ้าจะนำพุทธศาสนามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนา คือพยายามทำความเข้าใจวิธีคิดแบบพุทธ ซึ่งมีน้อยคนที่เข้าใจ จริงๆ แล้วกระบวนการเรียนรู้กับธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน  กระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะใช้อำนาจ ถ้าใช้อำนาจแล้วไม่เกิดการเรียนรู้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ การเลี้ยงเด็กก็ดี การดูแลเด็กก็ดี การเรียนการสอนก็ดี ในชีวิตก็ดี ถ้าเข้าใจตรงนี้จะเข้าใจกระบวนการเรียนรู้กับธรรมว่ามันเป็นกระบวนการเดียวกัน  ยุทธศาสตร์ข้อสองนี้น่าจะมีคนเป็นกลุ่มๆ หลายกลุ่มมาทำงานส่งเสริมเรื่องวิธีคิด ตัวนี้จะเข้าไปสู่เรื่องการเรียนรู้ เรื่องการศึกษาทั้งหมด

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๓ พุทธศาสนากับการพัฒนาอย่างบูรณาการ 

ขณะนี้การพัฒนานั้นไม่ได้บูรณาการ เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน เอาเศรษฐกิจเอาเงินเป็นตัวตั้ง วัด GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)  เราก็รู้อยู่แล้วว่าการพัฒนาจำเป็นต้องเป็นแบบบูรณาการทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพพร้อมกันไปอย่างเชื่อมโยง ตรงนี้เองเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ตรัสเรื่องนี้มา ๒๗ ปี ไม่มีคนได้ยิน  อันนี้ก็น่าสนใจว่าคนรักพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่ในฐานะสูงเด่นรับสั่งอะไรคนก็จะได้ยิน คนถ่ายทอดไป แต่คนที่เชื่อเรื่องอะไรฝังหัวเข้าไปแล้วถึงคนพูดเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ยิน  เมื่อ ๓-๔ ปีมาแล้วผมไปแสดงปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่านราชเลขาธิการคนเก่า หม่อมหลวงพีระพงศ์มานั่งฟังอยู่ด้วย  พอผมพูดเสร็จท่านเข้ามาคุย ท่านบอกเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าฉันพูดมา ๒๗ ปีแล้วไม่มีคนได้ยิน  ถ้าไปดูตรงนั้นให้ดีตรงนั้นเป็นการพัฒนาอย่างบูรณาการ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เป็นเรื่องจิตใจ เรื่องสังคม เรื่องอะไรเข้ามาเชื่อมโยงกันหมด สิ่งแวดล้อมด้วย  แต่ว่าก็น่าดีใจที่ขณะนี้สภาพัฒน์ได้ตั้งเป็นโครงการมีงบประมาณด้วยว่าสี่ปีจากนี้ไปจะเคลื่อนไหวสร้างความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสังคมและมีทั้งกลุ่มคนที่ทำงาน  หัวหน้าชื่อ ดร.ปรียานุช ทำปริญญาเอกในหัวข้อ “พุทธเศรษฐศาสตร์” มีการเคลื่อนไหวในสังคมใช้เวลาสี่ปีเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไปดูในพื้นที่จะเห็นง่ายขึ้น

เรื่องการพระศาสนาถ้ามองจากข้างบนนี้จะค่อนข้างยาก มองไปที่มหาเถรสมาคมที่พระผู้ใหญ่ มันเป็นเรื่องยาก จะทำอย่างไร  แต่ว่าในพื้นที่จะง่าย ในแต่ละตำบลจะมีวัดอยู่ประมาณห้าวัด แล้วพระในพื้นที่กับชาวบ้านพัฒนาร่วมกัน ทำงานร่วมกันเราเห็นมาก  ยกตัวอย่างที่อำเภออุบลรัตน์ คุณหมออภิสิทธิ์ที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้ส่งเสริมชาวบ้านเรื่องการพัฒนาอย่างบูรณาการได้ผลมาก  ชาวบ้านหลุดจากหนี้สิน กินอิ่มมีเงินออม จิตใจดีขึ้น มีเมตตา มีต้นไม้เพิ่มขึ้นในชุมชน  พระในอำเภออุบลรัตน์ได้รวมตัวกันเรียกว่าสภาสงฆ์แห่งอำเภออุบลรัตน์ประมาณ ๘๐ รูป ร่วมกันทำงานส่งเสริมชาวบ้านเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องการมีสัมมาชีพ เรื่องสุขภาพ คนติดเชื้อเอดส์ทำอย่างไรให้เขามีอาชีพ  ผมเคยพบผู้หญิงคนหนึ่ง สามีตายจากเอดส์ ตัวเองติดเชื้อเอดส์ด้วย พระกับแพทย์ได้ช่วยกันส่งเสริมให้เขามีอาชีพให้เขามีที่รวมกลุ่มที่เรียกว่าชมรม คือมีสังคมที่พูดจา การได้ไปช่วยเหลือคนอื่น ทำให้มีจิตใจดี ผิวพรรณผ่องใส ผิวสวยจนมีคนอิจฉาว่าคนนี้ติดเชื้อเอดส์นะทำไมผิดสวยอย่างนี้  ก็เพราะว่าจิตใจเขาดีมีความสุข

ที่จังหวัดน่านเราไปเห็นพระที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ปลา ทำให้เป็นเขตอภัยทาน เริ่มต้นที่วัดแห่งหนึ่ง ขณะนี้ตลอดแม่น้ำน่านมีเขตอภัยทานมากมายกว่าร้อยจุด ทำให้มีปลามาก ชาวบ้านมีปลากินมากขึ้นเพราะเขาห้ามจับเฉพาะตรงจุดอภัยทาน แต่ว่าถ้าปลามันกระเซ็นกระสายออกไปข้างนอก ชาวบ้านก็จับกินได้ ถ้ากินหมดทุกตัวตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำก็ไม่เหลืออะไรจะกิน ฉะนั้น เรื่องการอนุรักษ์นี้สำคัญ พระต้องร่วมส่งเสริมตรงนี้และเรื่องอื่นๆ ด้วย

จะเห็นได้ชัดว่าในพื้นที่ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีพลัง ชาวบ้านรวมตัวกันทำการวิจัย เป็นเรื่องของตัวเขาเอง  เดิมการวิจัยจะเป็นการวิจัยที่มาจากมหาวิทยาลัย จากหน่วยงานวิจัยเข้าไปทำการวิจัย ได้ข้อมูลมาตีพิมพ์ ได้ตำแหน่งวิชาการ แต่ชาวบ้านเหมือนเดิม อันนั้นเป็นการวิจัยแบบเก่าที่ค่อนข้างล้าสมัย  การวิจัยแบบใหม่นี้คือชาวบ้านเป็นผู้วิจัยเอง ผู้ใหญ่โกเมศที่นครศรีธรรมราชประกาศว่าถ้าชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเอง ชาวบ้านจะใช้ข้อมูลนั้นไม่ได้ ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้วิจัย เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเอง  ขณะนี้กำลังเกิดกระบวนการตัวนี้ ชาวบ้านรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง รายจ่ายเขามีอะไรบ้าง ค่าน้ำปลาเท่าไร ค่าเครื่องดื่มเท่าไร ค่าขนมลูกเท่าไร เป็นหนี้ใครเท่าไร  โดยการวิจัยแบบนี้ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมการบริโภคและพฤติกรรมการผลิต  ที่เคยทำอย่างเดียวตามที่รัฐไปแนะนำ เช่นปลูกปออย่างเดียว ปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว ปลูกอ้อยอย่างเดียว ซึ่งทำให้ชีวิตเขาขาดทุนไปหมด ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสมดุลหมด  เมื่อชาวบ้านสามารถปรับตัว กลายเป็นทำได้ตั้ง ๔๐–๕๐ อย่าง

อาชีพที่เชื่อมโยงกันที่ภาษาพวกนักเศรษฐศาสตร์เขาเรียก cluster  เมื่อเร็วๆ นี้เขาไปเอานายไมเคิล พอร์เตอร์ มาแนะนำเรื่องความสามารถในการแข่งขัน สิ่งหนึ่งที่แนะนำคือ ทำให้เป็น cluster ให้มันเชื่อมโยงกัน ลดค่าใช้จ่ายลง เขาว่าอย่างนั้น ชาวบ้านกำลังทำตรงนี้ จากการทำอย่างเดียวมาเป็นการทำ cluster ๕๐ – ๖๐ อย่าง ก็มีอาชีพที่เชื่อมโยงกัน เช่น มีข้าวสีเอง ได้รำมา เอารำไปเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ มันเชื่อมโยงกันหมด เอาขี้ไก่ไปเลี้ยงปลาต่างๆ น้ำที่เลี้ยงปลามาเป็นปุ๋ย และก็แปรรูปอาหารต่างๆ เชื่อมโยงไปหมด ๕๐ – ๖๐ อย่าง เรียกว่าวิสาหกิจชุมชน ทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน  เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำได้ ชาวบ้านมารวมตัว ร่วมคิดร่วมทำแล้ว จะเกิดความสำเร็จ

เห็นได้ชัดเจนว่าแกนกลางคือศาสนธรรม ใครไปทำงานจะเห็นตรงนี้คือมีความเอื้ออาทรต่อกัน ลดความเห็นแก่ตัว มีการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้นแกนกลางมันตรงนี้เป็นจิตวิญญาณ เป็นศาสนธรรม  ฉะนั้นตรงนี้เองเรามีพระทั้งแผ่นดินมีวัด ๓๐,๐๐๐ กว่าแห่ง มีพระ ๒๕๐,๐๐๐ รูป ถ้ามีการวิจัยตรงนี้ว่าขณะนี้ว่ามีพระที่ไหนกำลังทำข้อมูลอยู่ก็เอาข้อมูลไปเผยแพร่ ก็จะมีคนเห็น มีตัวอย่าง มีธรรมะขึ้น  แล้วก็วิจัยว่าตรงไหนได้ผลดี ไม่ได้ผลดี อันนี้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีพลังมากคือเรื่องพุทธศาสนากับการพัฒนาอย่างบูรณาการในพื้นที่ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

ขณะนี้มีองค์กรมากที่กำลังเข้าไปทำงานที่ตรงนี้ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย เก็บภาษีสองเปอร์เซ็นต์ ภาษีบุหรี่กับภาษีสุรา ปีหนึ่งได้เงินประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านบาท คือแต่ละวันจะมีเงินไหลเข้ากองทุนนี้หลายล้านบาท และกองทุนนี้ก็จะไปส่งเสริมเรื่องต่างๆ  เรื่องหนึ่งที่ส่งเสริมก็คือเรื่องการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง มีความเป็นไปได้สูงมาก ถ้าเข้าใจตรงนี้และส่งเสริม นี่เป็นการพัฒนาทั้งศาสนาทั้งสังคม เอาเข้ามาเชื่อมโยงกันอย่างสำคัญ  และถ้ามีการพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่  คนก็จะหลุดพ้นจากความยากจน จิตใจดีขึ้น ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง รักษาสิ่งแวดล้อมได้ ขจัดปัญหายาเสพติด ขจัดปัญหาเอดส์ได้  อันนี้เป็นบูรณาการ ความร่มเย็นเป็นสุขจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองได้

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๔ ส่งเสริมวิปัสนากรรมฐาน

เราไม่ควรศึกษาเฉพาะทางทฤษฎี  ศึกษาทฤษฎีเท่าไรแต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ผล หรือว่าไปมีจิตใจกำเริบไปในเรื่องความรู้ เกิดอหังการ์ว่าฉันเก่งกว่าคนนั้นคนนี้ต่างๆ อันนั้นคือลักษณะที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง  ถ้าเอาชีวิตเป็นตัวตั้งคือการปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติจะทำให้เข้าใจทฤษฎีดีขึ้น  ขณะนี้มีความสนใจวิปัสนากรรมฐานไปทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกามีเต็มประเทศ ที่ไหนไม่มี meditation center ก็เชยแล้ว ที่สหรัฐอเมริกาได้ผลดี เมื่อมีวิปัสนากรรมฐานจะเกิดความสุข สมดุลในร่างกาย จิตใจ สังคมก็ดีขึ้น  ก็มีหลายรูปแบบที่ทำกันอยู่  มีคนหนึ่งชื่อมหาฤาษีกลายเป็นมหาเศรษฐีไปเลย ถ้าใครอยากรวยไปสอนสมาธิในอเมริกาจะรวย พระธิเบตไปสอนฝรั่งมากเพราะพระธิเบตมีกรรมฐานแข็งแรงมากไปสอน ฝรั่งได้ประโยชน์จากพระธิเบตมาก ขณะนี้มีการนำเอาวิปัสนากรรมฐานมารักษาโรคต่างๆ ขณะนี้หนังสือในอเมริกาเต็มไปหมดที่ใช้ meditation เข้ามาเพื่อให้สุขภาพดี ทำให้โรคหาย เราต้องส่งเสริมให้มีการสอนวิปัสนากรรมฐานเกิดขึ้นมากๆ

ทุกชุมชนน่าจะมีศูนย์สอนวิปัสนากรรมฐานและทำระบบข้อมูลว่าที่ไหนทำ มีลักษณะอย่างไร และนำข้อมูลไปให้สังคมรู้ ให้คนเลือกว่าชอบแบบไหน อยากลองแบบไหนเปิดใจกว้างให้ลองหลายๆ รูปแบบ ให้วิปัสนากรรมฐานเป็นวิถีชีวิต  ถ้าคนปฏิบัติแล้วก็รู้ ถ้าไม่เคยปฏิบัติแล้ว อธิบายยังไงก็ไม่รู้ เหมือนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าแกงอร่อย อธิบายยังไงๆ มันก็ไม่รู้นอกจากจะชิมมัน ชิมแล้วถึงจะรู้ว่ารสอร่อยมันเป็นยังไง  ธรรมนี่มีรส ถ้าใครปฏิบัติ จะพบความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนเป็นความสุขราคาถูก happiness at low cost ตรงนี้เป็นแรงจูงใจอย่างสำคัญ เราจะเจ็บป่วยอย่างไร หายง่าย ไม่ว่าจะเป็นแผล หรือประสบอุบัติเหตุ ถ้าได้เจริญสติเจริญสมาธิ

ขณะนี้ผมกำลังเขียนเรื่องการเดินทางไปสังเวชนียสถาน ตอนเส้นทางมหาปรินิพพานช่วงที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากเวสาลีไปยังชานเมืองที่เรียกว่าเวฬุคาม ท่านทรงประชวรหนักเกือบปรินิพพานแต่อาศัยพลังจิต จึงหายจากประชวรได้  จิตเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำก่อน  ฉะนั้น ถ้าเราส่งเสริมวิปัสนากรรมฐานให้เต็มประเทศ ค่าใช้จ่ายเรื่องความเจ็บป่วยจะลดลง ขณะนี้มันสูงเหลือเกิน ปีนี้ทั้งปีอาจจะใกล้ๆ สามแสนล้านบาท แต่ถ้าทำวิปัสนากรรมฐานกันมากๆ จะลด  ผมเองทำมานานทั้งออกกำลังทั้งทำสมาธิ มีความสุขสบาย ช่วงนอนไม่มีความทุกข์อะไรเลย สุขสบายในเนื้อในตัว บางทีหวัดก็ไม่ค่อยเป็น เรารู้ว่าถ้ามันได้สมดุลมันจะไม่เจ็บป่วย ตรงนี้ควรจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมวิปัสนากรรมฐาน ทำให้เป็นวิถีชีวิตของคน

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๕ ส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อลดความเห็นแก่ตัวในแบบต่าง ๆ

ผมมีตัวอย่างคนที่กำลังทำอยู่ พลตรีจำลองตั้งโรงเรียนผู้นำที่เมืองกาญจน์ คุณจำลองอธิบายแนวคิดนี้ว่า คนที่จะเป็นผู้นำต้องฝึกลดความเห็นแก่ตัวเพื่อรับใช้ผู้อื่น มีคนไปฝึกกันหลายหมื่นคนแล้ว เหตุที่นิยมเพราะว่าเวลานี้ทุกหนทุกแห่งล้วนเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว  การพัฒนาสมัยใหม่ คนยึดตัวตนของตัว เห็นแก่ตัว เดือดร้อนกันทั่วในหน่วยงานต่างๆ เกิดความระหองระแหง ขัดแย้งกัน จึงส่งคนไปอบรม  ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ส่งผู้จัดการสาขาทุกสาขาให้ไปอยู่บ้านชาวบ้าน ชาวบ้านไปขุดดิน ก็ไปกับชาวบ้านด้วย ทำอะไรก็ไปทำอย่างเขา จะได้เข้าใจเรื่องของชาวบ้าน ลดความเห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดความสุขขึ้นเพราะว่าจิตใจมนุษย์ได้เข้ามาเชื่อมโยงกัน น่าสนใจมาก  วิธีการแบบต่างๆ ของฝรั่งก็มีเต็มไปหมด กิจกรรม การฝึกอบรมต่างๆ ควรจะเปิด ไม่ควรจะไปติดกับลัทธิ สถาบันใด ให้มันมีรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น  ถ้าคนเราลดความเห็นแก่ตัวได้ มันจะดี  ฉะนั้นถ้ามีการลดความเห็นแก่ตัวกันได้มากๆ พุทธศาสนาจะดีขึ้นเรื่อยๆ  หัวใจของพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้คือ อรรถจริยา ลดอัตตาหรือลดความเห็นแก่ตัวลง

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๖ ยุทธศาสตร์พลังพระอรหันต์ 

ถ้าประเทศไทยมีพระอรหันต์มากจะเป็นพลังของพุทธศาสนา พระอรหันต์เหมือนหัวรถจักรที่จะดึงรถไฟทั้งขบวนไป  การศึกษาของสงฆ์ทั้งหมดที่มีในขณะนี้ ล้วนศึกษาเรื่องทางโลก  เรื่องทางโลกมีประโยชน์ในการขยับฐานะของคนยากจน มีประโยชน์ในด้านนั้น  แต่เราไปตัดโลกุตตรธรรมออก ในงานที่พระไพศาล วิสาโลวิจัยก็บอกอย่างชัดเจนว่า ในประวัติศาสตร์มีช่วงที่มีความพยายามตัดโลกุตตรธรรมออกให้เหลือแต่เรื่องทางโลก ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้พยายามนำโลกุตตรธรรมกลับมา แล้วให้กำลังใจว่าทำไม่ยาก

ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าเราเห็นแก่ตัวก็จริง แต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา  ตอนไหนที่เราไม่ได้เห็นแก่ตัว จิตใจเราก็เย็นสงบ สบาย นิพพาน ลองนิพพานชั่วคราว ทำอย่างไร ขยายตรงนั้นให้มันมีนานขึ้น บ่อยขึ้น นิพพานอยู่ตรงปลายจมูกของเรานั่นเอง  ลดตัวกูของกูลง

ผมคิดว่าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่จะให้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นมากๆ ในสังคมไทย  การศึกษาของสงฆ์คงไปเปลี่ยนแปลงได้ยากเพราะความเคยชินที่ทำอย่างนั้น ผมเสนอว่าเรื่องนี้น่าจะมี อาจจะไม่ได้ใช้ชื่ออย่างนี้ก็ได้ คือเป็นสถาบันที่จะทำเรื่องโดยเฉพาะสักสองแห่งคือ หนึ่งเป็นวิทยาลัยพุทธศาสนาภูริทัตโตในภาคอีสาน สองมีพุทธทาสวิทยาลัยที่สวนโมกข์  วัตถุประสงค์เพื่อศึกษา เพื่อการบรรลุธรรม ถ้าศึกษาทฤษฎีก็เป็นทฤษฎีเพื่อบรรลุธรรมและการปฏิบัติ คนที่เข้าใจควรมาส่งเสริมให้เกิด  ตรงนี้ราชการทำไม่ได้ คณะสงฆ์ทำก็ไม่ได้ เพราะคณะสงฆ์ใช้การปกครองแบบราชการ เราไปส่งเสริมให้เกิดพระอรหันต์ไม่ได้ ต้องมีการก่อตัวกันทำ ถ้าทางราชการจะทำ ก็ให้เป็นแบบสนับสนุน

อยากจะฝากเรื่องยุทธศาสตร์พลังพระอรหันต์ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เกิดพระอรหันต์ ยึดพระอรหันต์คือหัวรถจักร หัวรถจักรที่จะดึงขบวน ถ้าไม่มีพระอรหันต์ก็ป่วยการที่จะมีพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีวิมุตติธรรม  วิมุตติธรรมมีเสน่ห์มาก เห็นได้ชัดจากพระธิเบตซึ่งสามารถสอนฝรั่งได้อย่างประทับใจ มีคนติดใจพระธิเบตไปตามๆ กัน เพราะการฝึกของท่านไปถึงวิมุตติธรรม  แต่ของเราถึงแม้ไปอยู่ต่างประเทศ ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจมาก ทำพิธีกรรมโน่นนี่บ้างก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ แต่ไปไม่ถึงวิมุตติธรรม จึงจำเป็นต้องศึกษาหรือฝึกอบรม โดยวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุวิมุตติธรรมอย่างเข้มข้น

 

ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๗ การวิจัยและพัฒนาระบบพระพุทธศาสนา

เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การปฏิรูป ต้องทำให้เป็นระบบ เหมือนรถยนต์ต้องมีองค์ประกอบครบ ถึงจะวิ่งไปได้  บางทีขาดฟิวส์ไปตัวหนึ่ง ขาดน็อตไปตัวหนึ่ง มันวิ่งไม่ได้  โดยมากเราจะไม่คิดเชิงระบบ เรานึกถึงอะไรเราก็ทำไป แล้วมันก็ไปไม่ได้  เพราะจริงๆ มันเป็นระบบ ต้องดูส่วนประกอบให้ครบแล้วมาประกอบกันก็จะวิ่งไปเอง เหมือนรถยนต์เราไม่ต้องไปทำอะไรมาก พอเครื่องมันครบ เราสตาร์ทเครื่องมันก็วิ่งไปได้ พระพุทธศาสนาก็มีระบบอยู่

มีองค์ประกอบของระบบพระพุทธศาสนาอย่างน้อยแปดประการด้วยกัน คือ

๑) ความเข้าใจหลักธรรม

จะเป็นตัวนำ เพราะถ้าไม่เข้าใจหลักธรรมแล้วถึงทำอะไรต่ออะไรไป มันก็ผิดพลาดหรือผิดเพี้ยน  ผมคิดว่าขณะนี้เสื่อมไปมากทั้งในหมู่พระและฆราวาสคือความเข้าใจหลักธรรม ตัวนี้จะต้องเข้าใจ เอาหลักธรรมเป็นตัวตั้ง

๒) การรับคนเข้าบวช

เป็นเรื่องสำคัญ ควรมีด่านรับคนเข้ามาบวชเรียน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อดูทีวี ไม่ใช่มาสูบบุหรี่ มาสวดศพหาเงินหรือทำอะไรอย่างนั้น  ถ้าเราไม่เข้มงวดตรงนี้ ก็จะเกิดเรื่องเหลวไหลต่างๆ ขึ้น เพราะรับคนเข้ามาเป็นพระ ตรงนี้สำคัญมาก จำเป็นต้องมีการทบทวน มีความเข้มงวดเกิดขึ้น

๓) การรักษาพระวินัย

วินัยเป็นหัวใจของความเป็นสงฆ์ ความเป็นหมู่คณะ  ถ้าตรงนี้เสื่อม ก็จะเสื่อมศรัทธา กลไกที่จะสอบสวนลงโทษพระที่ผิดวินัยนั้นหย่อนยานไปมากจนคนไม่เชื่อถือ จำเป็นต้องมีการปฏิรูป

๔) การศึกษาของสงฆ์

๕) การปกครองคณะสงฆ์

เป็นเรื่องใหญ่ เรื้อรัง เป็นข้อขัดแย้ง มีการวิจารณ์กันมาเรื่อย เพราะว่าการปกครองคณะสงฆ์ใช้ระบบราชการเข้ามาจับ ซึ่งเป็นคนละระบบกัน ระบบราชการนี้เป็นระบบอำนาจ ระบบพระพุทธศาสนาเป็นระบบธรรม มันไม่เข้ากัน  แต่ของเราความที่ว่าไม่ได้คิดเรื่องนี้ พอมีอะไรเกิดขึ้นก็จะใช้ระบบราชการหมด มีเรื่องการศึกษาขึ้นก็ใช้ระบบราชการ ซึ่งเป็นคนละอันเพราะระบบราชการคือระบบควบคุม ระบบการศึกษาคือระบบความงอกงาม  มันไม่เข้ากันเมื่อเอาระบบราชการมาใส่ก็กลายเป็นบอนไซ เพราะเข้ามาควบคุม  สมัยจอมพลสฤษดิ์ปี ๒๕๐๒ให้มีสภาวิจัยฯ เพื่อเป็นสมองของชาติ แต่ไม่ได้คิดระบบ ใส่ระบบราชการเข้าไป ก็เลยเป็นสมองของชาติไม่ได้ เพราะระบบราชการเป็นระบบบอนไซ  เป็นเรื่องใหญ่ที่เรื้อรังมานานแล้ว แก้ไขได้ยาก เพราะเมื่อมีศาสนาต่างๆ แทบทุกศาสนา เมื่อพระศาสดาเป็นผู้บรรลุธรรม เกิดความเป็นสถาบันขึ้น มีคนเคารพนับถือ มีอะไรต่ออะไรทุกศาสนา สถาบันศาสนาจะกลายเป็นสถาบันอำนาจและเงิน อำนาจมากจนต่อต้านคนอื่นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก เราไปพูดง่ายๆ ไม่ได้ ทำยาก

๖) เรื่องการเงินและทรัพย์สมบัติ 

เงินและทรัพย์สมบัติเป็นของมีคม มันบาดพระ บาดการพระศาสนาได้มาก จำเป็นต้องมีการทบทวนมีการวิจัยว่าขณะนี้มันอยู่ในสภาพอะไร แล้วจะจับอย่างไรให้มันเหมาะมันควร  สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์สาวกไม่ได้บริหารวัด วัดเวฬุวันซึ่งเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาที่อยู่ชานเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ดูแล  วัดเชตวันที่กรุงสาวัตถี อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ดูแล  วัดบุปพารามที่กรุงสาวัตถี นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ดูแล  พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ไม่ได้บริหารวัด  วัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่เมื่อท่านปัญญาไปอยู่ท่านเล่าให้ฟังว่าอาตมาไม่ได้บริหารวัด เจ้าชื่น สิโรรสเป็นผู้บริหารวัด  แต่ก่อนไม่มีอะไรอยู่ในป่า อาจจะมีกุฏิสงฆ์เล็กๆ แต่สมัยนี้ทรัพย์สมบัติมีมาก หลวงพ่อต้องไปบริหารทรัพย์สมบัติแทนที่จะบริหารธรรม เสียเวลาไปหมด  บางองค์นอนไม่หลับเพราะกลัวขโมยมา  พระองค์หนึ่งที่ผมรู้จักและผมดูแลอยู่ หลวงปู่อายุ ๙๘ ปี ท่านเก่ง สุขภาพดี เราพยายามจะส่งเสริมให้ท่านอยู่ถึงร้อยปี คืนหนึ่งท่านลุกขึ้นมาปัสสาวะ โดนขโมยมาขโมยพระพุทธรูป ทำท่านล้ม หลังจากนั้นเลยมรณภาพ อยู่ไม่ถึงร้อยเพราะเรื่องทรัพย์สมบัติมันมากไป  เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเข้ามาดูและทำให้เหมาะสม ทำให้เป็นพระธรรมวินัย

๗) ความสัมพันธ์กับสังคมและรัฐ 

เมื่อครั้งพุทธกาลมีอยู่ ๑๖ รัฐ เช่น แคว้นมคธ แคว้นวัชชี แคว้นกาสี แคว้นมัลละต่างๆ แต่พระพุทธองค์กับพระสงฆ์สาวกไม่ได้ขึ้นกับรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่มีกฎหมายคณะสงฆ์ ท่านเป็นอิสระ สอนตั้งแต่คนจน เศรษฐีไปจนถึงพระราชา  ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่ามี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมเรียกว่าพุทธบริษัท ต้องทำงานร่วมกัน  แต่ตอนหลัง เรามาเห็นแยกกัน ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ เรื่องของวัด เรื่องของชาวบ้านวัดไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวกัน แยกกันไป  เราต้องกลับมาดูความสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์กับรัฐ  พุทธศาสนาที่เข้ามาสู่สังคมไทย เข้ามาโดยอาจจะเรียกว่ารัฐอุปถัมภ์  ขณะนี้แม้แต่ระบบรัฐก็ล้าสมัยแล้ว จำเป็นต้องปฏิรูปที่ตัวรัฐเอง  ฉะนั้นตัวความสัมพันธ์เองระหว่างสงฆ์กับรัฐ จำเป็นต้องดูว่าจะหยิบจับอย่างไรให้มีประโยชน์เกื้อกูลกัน เป็นเรื่องใหญ่

๘) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 

ที่เอาไว้เป็นข้อสุดท้ายด้วยความจงใจ เพราะถ้าเอามานำจะเกิดเรื่องเกิดราว  ถ้าเจ็ดข้อไม่ลงตัวแล้วมีพระราชบัญญัติขึ้นมา โดยพระราชบัญญัติไม่ได้ส่งเสริมเจ็ดข้อ ก็จะแก้ปัญหาไม่ตก  ถึงแม้จะมีสภาสงฆ์จากการเลือกตั้ง แต่ก็จะเหมือนกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  พระก็จะไปซื้อเสียงกัน

ผมจึงเสนอให้มีการวิจัยและพัฒนาระบบพระพุทธศาสนา มีพระองค์หนึ่งท่านทำวิจัยเรื่องนี้ แล้วร่างเป็นพระราชบัญญัติเลย บอกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใหม่ควรจะเป็นอย่างนี้ มีมาตราต่างๆ แล้วท่านก็จะให้ผมเขียนคำนำ ผมต้องขอโทษท่านว่าผมขอไม่เขียน ผมเขียนแล้วจะไปขัดแย้งกับคณะสงฆ์ เพราะมันตายตัวแล้ว พอเป็นกฎหมายออกมา มันจะติดขัด  สมมติเราบัญญัติโน่นบัญญัตินี่ บัญญัติองค์กรต่างๆ ก็จะไม่มีคนทำได้ แต่จะมีคนวิ่งเข้าสู่ตำแหน่ง

ถ้าเราใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือที่จะเดิน วิจัยให้ชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นยังไง ระหว่างการวิจัยก็ดึงคนเข้ามาร่วมหรือเอาผลวิจัยไปสู่การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้มีคนเข้าใจโดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคนและสถาบันมากมายซับซ้อน  คณะสงฆ์เอง ระบบราชการ สถาบันพระมหากษัตริย์ สังคมต่างๆ ทุกสถาบันไม่ได้เข้าใจตรงกัน ไม่ได้มีเจตนาร่วมกันที่จะทำ จึงติดขัด  ยากมากนอกจากใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นตัวเดิน เอาคนเข้ามาร่วมเรียนรู้จนถึงขนาดทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง  ฉะนั้นผมจึงไม่ได้ใช้หัวข้อปฏิรูปพุทธศาสนา หัวข้อตรงนี้ใช้คำว่าการวิจัยและพัฒนาระบบพระพุทธศาสนา คือให้เข้าใจองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมด และก็เคลื่อนไป  ตรงไหนพอทำได้ ก็ทำตรงนั้นก่อน  ตรงไหนยังไม่ชัดเจนก็ทำวิจัยให้ชัดเจนแล้วเอาคนเข้ามาเรียนรู้ให้ชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะเคลื่อนไป

ที่ผมพูด อาจจะคิดตัดทอนลง เพิ่มเติมหรือคิดเป็นอย่างอื่นก็ได้  แต่ขอให้ช่วยกันคิดว่าตัวหลักธรรมนั้นเป็นอย่างไร สถานการณ์ความเป็นจริงขณะนี้เป็นอย่างไร อุปสรรคขัดข้องเป็นอย่างไร  แล้วถ้าจะทำเรื่องให้ดีขึ้น มีวิธีการอย่างไรให้บรรลุความสำเร็จ  แม้เป็นเรื่องยากอย่างไร ความที่พระพุทธศาสนาเป็นของมีคุณค่าสูงสุด เราต้องนำมาเป็นประโยชน์ให้ได้  ฉะนั้นไม่ว่ายากอย่างไรขอให้เราฝ่าความยากนั้นไปโดยร่วมกัน  ขอให้ช่วยกันทำงานในเรื่องนี้ ขอบพระคุณครับ