“ผมคุ้นเคยกับงานที่นี่แล้ว ไม่อยากเสี่ยง หรือเปลี่ยนงาน ดิ้นรนอะไรอีก ขอผมอยู่ที่เดิมนี่แหละ”
“โชคดีจังเลย ที่ตัวปัญหาไปเสียได้ โล่งเลย”
“มะเร็งกลับมาอีก มันเหมือนเราทำอะไรผิด โอกาสที่เราได้มา กำลังจะถูกเอาออกไป เครียด เหนื่อย แต่ก็ต้องตั้งสติ สู้ใหม่”
“ตอนเป็นแฟน พวกเราหวานชื่นกันมาก แต่พอมาแต่งงาน อะไรหลายอย่างต่างออกไป มันไม่เหมือนเดิม”
การเปลี่ยนแปลงเป็นกฎธรรมชาติที่อยู่ล้อมรอบตัวและอยู่ในชีวิต อยู่ในทุกสิ่งรอบตัว เราทุกคนเผชิญการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับว่าสิ่งนั้นเชื่อมโยงกับเรามากน้อยเพียงใด บางเรื่องส่งผลกระทบโดยอ้อมต้องใช้เวลานานกว่าผลกระทบจะส่งผลถึงตัวเรา หลายเหตุการณ์ไม่ได้ส่งผลกระทบทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มากระตุ้นหรือเป็นตัวเร่ง การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น
ข้อความข้างต้น คือ ตัวอย่างเรื่องราวในชีวิตที่เราเผชิญเรื่องการเปลี่ยนแปลง และเพราะเรื่องราวชีวิตที่ดำเนินไป ประกอบด้วยตัวเรา ผู้คนรอบข้าง และบริบทสภาพแวดล้อม เช่น วัฒนธรรม สถานการณ์ สังคม ธรรมชาติแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงบางเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงบางลักษณะไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา หลายๆ กรณีเป็นเรื่องที่เนื่องมาจากบุคคล สภาพแวดล้อม เงื่อนไขภายนอก สิ่งที่เราทำได้คือ การตอบสนอง การตั้งรับ การเตรียมพร้อม การตอบโต้
ความยินดีเกิดขึ้น หากว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นนำมาซึ่งสิ่งที่เราปรารถนา ชอบพอ รักใคร่ และปฏิกิริยาความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ รื่นรมย์ ชอบ สนุก ตื่นเต้น พอใจ ซึ่งจังหวะนั้นหลายคนพบประสบการณ์ความสุข ความพอใจ มันช่างเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่น่าชื่นชอบ และกลายเป็นประสบการณ์ที่เราพยายามยึดถือ เก็บรักษา ปกป้อง หวงแหน เพื่อให้สิ่งนี้อยู่กับเรา ในส่วนการให้ความหมาย เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเชิงบวก เราเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า โชคช่วย ดวงดี วาสนา
ส่วนปฏิกิริยาอีกลักษณะคือ ความยินร้าย เมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในเชิงลบ ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่างๆ เช่น กลัว ผิดหวัง เสียใจ เจ็บปวด เมื่อประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากมันนำมาซึ่งสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ต้องการ ต่อต้าน ปฏิเสธ ฯลฯ เราก็มีคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า โชคร้าย คราวเคราะห์ ซึ่งผลกระทบที่เราแสดงออกหรือตอบโต้ก็คือ การพยายามหนีห่าง ปฏิเสธ รังเกียจ
ภาวะยินดี-ยินร้าย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง ได้ทำให้เราสร้างแบบแผนชีวิต คือ “มุ่งแสวงหา เกาะกุมความยินดี และหนีห่าง ผลักไส ความยินร้าย”
เราทุกคนเผชิญการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผลกระทบขึ้นกับว่ามันเชื่อมโยงกับเรามากน้อยเพียงใด
นอกเหนือจากปฏิกิริยา “ยินดี ยินร้าย” ยามที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การตอบสนองที่เกิดขึ้นก็จะมี ๒ ความมุ่งหมาย คือ
ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงผลกระทบ หรือมุ่งให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดผลกระทบที่ต้องการแทน หรือลดทอนผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการให้น้อยลง ท่าทีเช่นนี้สะท้อนทัศนคติที่มองการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในฐานะศัตรู สิ่งคุกคาม ที่เราต้องพยายามกำจัด ต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อเอาชนะ หรือเพื่อหลีกหนี
ท่าทียอมรับก็ต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อสามารถตอบสนองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ท่าทีเช่นนี้สะท้อนทัศนคติที่มองการเปลี่ยนแปลงเป็นมิตรคนหนึ่ง ซึ่งมีบางอย่างที่เราต้องทำความเข้าใจ ยอมรับ ใส่ใจที่จะรับฟัง และเรียนรู้
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็เป็นศัตรูที่ต้องจัดการ บางอย่างก็เป็นมิตรที่ควรเปิดรับ สิ่งที่ยากลำบากคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นมักจะมาในหลายรูปแบบ หลายลักษณะ และต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้ ดังเช่นอุปนิสัยที่เราคุ้นเคย แง่หนึ่งก็มีประโยชน์ต่อเราในฐานะสิ่งคุ้นเคย ปลอดภัย แต่ในอีกแง่ ความคุ้นเคยเช่นนี้ก็ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือคำวิจารณ์ แนะนำที่ฟังดูอึดอัด ไม่ชวนใจ ก็อาจซ่อนเร้นสิ่งมีคุณค่า ที่ชวนเรียนรู้ ค้นหา
และเพราะเราพบเจอการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และฐานะผู้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้เพื่อเข้าใจการเปลื่ยนแปลง จึงเป็นงานสำคัญของชีวิตเราทุกคน
ปราศจากการเรียนรู้ในเรื่องนี้ ชีวิตก็ได้แต่ถูกกระทำ ถูกเหวี่ยงไปมาตามการตอบสนองความยินดี-ยินร้าย ไร้ทางเลือก ไร้อิสระ ขณะที่การเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เรามีความสามารถที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉลาด และรู้เท่าทัน มีทางเลือกได้
การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นศัตรูที่ต้องจัดการ บางอย่างก็เป็นมิตรที่ควรเปิดรับ
ความสามารถเช่นนี้ เราทำได้ก็ต่อเมื่อเรากลับมาเรียนรู้โลกภายใน นอกเหนือจากการเรียนรู้โลกภายนอก ซึ่งช่วยให้เราอยู่กับระบบความสัมพันธ์ของสังคมได้ การเรียนรู้โลกภายในผ่านศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะสร้างความสามารถในการอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉลาด รู้เท่าทัน และให้โอกาสการมีทางเลือกได้
เราอาจเริ่มต้นที่มุมมอง คนเรามักมองการเปลี่ยนแปลงในฐานะสิ่งคุกคาม สิ่งที่ผิดพลาด หากการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความยินร้าย และมองการเปลี่ยนแปลงในฐานะสิ่งพึงสนับสนุน เชิดชู หากนำมาซึ่งความยินดี
สิ่งที่คนเราหลงลืมคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นโลกภายนอก และส่วนที่เป็นโลกภายใน เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนักกับโลกภายนอก แต่กับโลกภายใน เราสามารถเรียนรู้และมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงได้
เนื่องเพราะการยึดติดกับภาวะยินดี-ยินร้าย ชีวิตจึงถูกกักขังกับการดิ้นรนระหว่างแรงเหวี่ยงต่อภาวะทั้งสอง การเป็นอิสระต้องอาศัยการเรียนรู้ฝึกฝนที่จิตใจ และสิ่งนี้มีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา
การเรียนรู้โลกภายในจะช่วยเราได้ โดยเฉพาะยามเมื่อการเปลี่ยนแปลงสุดท้ายมาถึง คือ การตาย จะเป็นบทสรุปทุกเรื่องของชีวิตที่ต้องอาศัยการเตรียมพร้อมเท่านั้น