“ตอนเราทำครัวกลางปันกันอิ่ม ขายอาหารอิ่มละ 10 บาท คนในชุมชนตอบรับดีมาก ดังไปนอกชุมชนด้วย เพราะราคาถูก และช่วยคนได้เยอะ เขาบอกขอบคุณมากที่ขายราคานี้”
จากการแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้หลายชุมชนได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต หลายครอบครัวขาดรายได้ เพราะต้องหยุดงาน หลายคนตกงาน ไม่มีใครจ้าง รวมทั้งยังมีผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ที่เสี่ยงต้องกักตัวดูอาการอยู่ที่บ้านอีกจำนวนไม่น้อย
‘ชุมชนบุญร่มไทร’ ชุมชนริมทางรถไฟ ซอยเพชรบุรี 5 เขตราชเทวี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2564 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น หลังจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง คนในชุมชนที่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างรายวัน เป็นรปภ. เป็นแม่บ้าน ขับวินมอเตอร์ไซค์ ขายอาหารตามสั่ง เข็นรถขายของ ไม่มีใครรับราชการ ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท พวกเขาต่างได้รับผลกระทบ ไม่มีงานทำ รายได้ไม่มี บางครอบครัวต้องนำเงินสะสมที่มีอยู่ออกมาใช้
ช่วงเวลานั้นมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาและองค์กรภาคี ได้สนับสนุนให้มีโครงการ “ครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม” เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยมอบเงินทุนตั้งต้นให้แต่ละชุมชน รวมทั้งช่วยสนับสนุนวัตถุดิบในการทำอาหาร เพื่อให้ครัวกลางผลิตอาหารปรุงสุก ขายราคาถูกให้คนในชุมชนได้อิ่มท้อง และแจกฟรีให้กับผู้เดือดร้อนลำบาก คนตกงาน ขาดรายได้ ผู้ป่วย ผู้ที่ต้องกักตัว ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ เงินจากการขายก็นำมาเป็นทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้
ชุมชนบุญร่มไทร เป็นชุมชนแรกๆ ที่จัดตั้งครัวกลางชุมชนปันกันอิ่ม โดยมีคุณเชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เป็นผู้ประสานงานหลัก และบางวันยังรับบทบาทเป็นพ่อครัวช่วยทำอาหารอร่อยๆ ให้ชาวชุมชนอีกด้วย
ตอนนั้นคณะกรรมการชุมชนได้ประชุมร่วมกับชาวบ้าน เห็นพ้องต้องกันว่าจะตั้งราคาอิ่มละ 10 บาท เพราะราคานี้ทุกคนสามารถจ่ายได้ และอิ่มได้ทุกวัน เงิน 10 บาทที่ได้มาในแต่ละอิ่ม จะเป็นทุนซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารให้กับชาวบ้านในมื้อต่อๆ ไป โดยมีจิตอาสาในชุมชนผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยทำอาหาร
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แต่ละคนไม่มีงาน หยุดอยู่บ้านกันหมด เลยมาทำครัวกลาง ตอนทำครัวกลางได้รับผลสำเร็จเยอะเลย เพราะแต่ละครอบครัวประหยัดเรื่องวัตถุดิบ เรื่องค่าใช้จ่าย และทุกคนอิ่มแน่นอน เพราะเราให้เยอะ และไม่ได้มีแค่อาหารอย่างเดียว เรามีแมสก์ เจลแอลกอฮอล์ น้ำ ก็มีให้ด้วย พูดง่ายๆ ว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เยอะ”
คุณเชาว์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากคนในชุมชนบุญร่มไทรที่มาซื้ออาหารราคา 10 บาทแล้ว คนในละแวกชุมชนใกล้เคียงก็มาอุดหนุนอาหารจากครัวกลางชุมชนปันกันอิ่มด้วย และใครที่พอมีก็จะช่วยสนับสนุนค่าอาหาร บางคนซื้ออาหารราคา 10 บาท แต่จ่าย 100 บาท เพราะอยากช่วยเหลือกันในช่วงเวลายากลำบาก เพราะต่างรู้กันดีว่าอาหารเหล่านี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้หลายครอบครัว และยังแจกให้ฟรีกับคนที่ตกงาน คนที่ขัดสน รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
“เดิมคนในชุมชนไม่ค่อยสนใจกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่พอเกิดโควิดระบาดขึ้นมา คนในชุมชนก็ร่วมใจกัน เราช่วยเขา เขาช่วยเรา ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี คนพอมีตังค์ ที่เดิมไม่เคยสนใจเรา พอมีโควิด เขาก็มาช่วย คนที่มีแรงก็อาสามาช่วยออกแรง คนมีฝีมือทำอาหารก็มาช่วยกันทำครัว”
เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย คนในชุมชนบุญร่มไทรเริ่มมีงานทำ คนที่ทำงานเป็นรปภ. เป็นแม่บ้าน ก็กลับไปทำงานได้ พ่อค้าแม่ขายกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็กลับมามีผู้โดยสาร พ่อครัวแม่ครัวอาสาที่มาช่วยงานครัวกลางชุมชนก็กลับไปทำงานของตัวเอง ครัวกลางชุมชนจึงต้องพักไปก่อน แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนยังคงมีอยู่ เพราะยังมีกลุ่มเปราะบางที่ยังคงต้องได้รับการช่วยเหลือ คณะกรรมการชุมชนบุญร่มไทรจึงชวนร้านขายอาหารในชุมชนเข้าร่วมโครงการปันกันอิ่ม
“เรามีการประชุมร่วมกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านออกความคิดเห็นว่าอยากให้ร้านไหนเป็นร้านปันกันอิ่มบ้าง และเราก็ถามความคิดเห็นของเจ้าของร้านแต่ละร้านว่าสนใจร่วมโครงการไหม ร้านขายอาหารตามสั่งคุณจะร่วมไหม ขายไก่ทอดจะร่วมไหม ขายผักจะร่วมไหม แต่ละร้านเคยมาช่วยครัวกลางอยู่แล้ว ก็มีใจช่วยเหลือแบ่งปัน”
โครงการปันกันอิ่ม โดยมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา เป็นช่องทางหนึ่งในการทำบุญ ในรูปแบบที่ง่าย สะดวก และทำได้ในชีวิตประจำวัน เหมาะกับยุคสมัย โดยมีร้านขายอาหารเป็น “สะพานบุญ” เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้สามารถฝากเงินจำนวน 30 หรือ 40 บาท หรือมากน้อยเท่าใดก็ได้ไว้กับร้านค้า เพื่อให้ผู้รับ ซึ่งเป็นใครก็ได้ มารับอาหารที่จ่ายฝากไว้ล่วงหน้าไปรับประทาน
มีหลายชุมชนที่เข้าร่วมโครงการปันกันอิ่ม แต่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะกับชุมชนนั้นๆ สำหรับร้านค้าปันกันอิ่มในชุมชนบุญร่มไทร คณะกรรมการชุมชนจะแจกคูปองให้กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ รวมทั้งคนที่อาสามาช่วยงานของชุมชน สัปดาห์ละ 3 วัน ให้พวกเขาได้ไปซื้ออาหารที่ร้านค้าปันกันอิ่ม มีข้อแม้ว่าไม่แจกฟรี แต่ให้จ่ายค่าอาหารเพียง 10 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกับเมื่อครั้งทำครัวกลางชุมชน ที่ขายอาหารราคา 10 บาท
ซึ่ง 10 บาท ของทุกการจ่ายจะสมทบเป็นทุนกองกลางปันกันอิ่ม ช่วยเหลือคนในชุมชนต่อไป
“เราให้คนมารับคูปองที่ที่ทำการของชุมชน อาทิตย์หนึ่งให้เขาทานอาหาร 3 วัน คือจันทร์ พุธ ศุกร์ ก็ให้มารับคูปองวันอังคาร พฤหัส เสาร์ รับก่อนหน้าจะไปทานอาหาร เราไม่ได้ให้ไปทีเดียว เพราะอยากให้เขามีส่วนร่วมกับโครงการ และก็จะได้พูดคุยกันด้วย ถามทุกข์สุข เราไม่อยากสงเคราะห์ เราอยากให้เขาตื่นตัวด้วย อย่างมีพี่คนหนึ่ง ตอนนี้มีงานทำแล้ว ลูกก็มีงานทำแล้ว เขาบอกเราว่า ไม่ขอรับคูปองแล้ว เพราะพอพึ่งตัวเองได้ ให้เอาไปให้คนอื่นแทน เราก็รู้สึกดีว่าเขาคืนกลับมาให้ชุมชน”
“เราเคยจนมาก่อน รู้ว่าเป็นยังไง ตอนนี้ก็ไม่ได้รวยหรอก แต่อยากให้คนอื่นบ้าง”
ป้าอ้อตามสั่ง เป็นเพิงขายอาหารเล็กๆ ในชุมชนบุญร่มไทร ซอยเพชรบุรี 5 เขตราชเทวี ร้านของป้าอ้อเป็นร้านประจำของคนในชุมชน ใครมาสั่งอาหารป้าอ้อเรียกชื่อได้หมด พอถึงเวลาทำเสร็จพร้อมเสิร์ฟ ป้าก็จะตะโกนบอก
“กินที่นี่คุ้ม” ลูกค้าคนหนึ่งที่เพิ่งมารับอาหารที่สั่งไว้ยืนยันว่าป้าอ้อให้เยอะจริงๆ ราคาอาหารตามสั่งร้านป้าอ้อเริ่มต้นที่ 35 บาท เป็น 35 บาทที่เกินอิ่มมาก นอกจากขายอาหารราคาไม่แพง ทั้งๆ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ป้าอ้อยังเป็นร้านค้าปันกันอิ่มนำร่องของชุมชนบุญร่มไทร ขายอาหารราคาเพียง 10 บาทเท่านั้นให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ทั้งผู้มีรายได้น้อย คนที่ตกงาน รวมถึงผู้สูงวัยที่ไร้ที่พึ่งด้วย ตอนที่ชุมชนทำครัวกลาง ป้าอ้อก็อาสาเป็นแม่ครัว เนื่องจากเป็นงานที่ถนัดอยู่แล้ว พอชุมชนขอพักการทำครัวกลาง แต่ยังต้องการช่วยเหลือผู้ที่ลำบากในชุมชนต่อด้วยการมีร้านค้าปันกันอิ่ม ป้าอ้อก็สมัครเป็นร้านแรก
ไม่เพียงแต่ร้านอาหารตามสั่งของป้าอ้อ ยังมีร้านขายไก่ทอดของพี่เล็ก และร้านขายผัก ที่เข้าร่วมโครงการปันกันอิ่ม คนในชุมชนที่ได้รับคูปองมูลค่า 40 บาท สามารถเลือกได้ว่าอยากซื้อของร้านไหน บางวันอาจอยากซื้อผักไปทำกับข้าว บางวันอยากกินข้าวผัดพริกแกงฝีมือป้าอ้อ หรืออยากจะกินไก่ทอดร้อนๆ ของพี่เล็กเสริมโปรตีนให้ร่างกาย ปันกันอิ่มในชุมชนบุญร่มไทรพร้อมแบ่งปันเสมอ
ในแต่ละวันที่เปิดให้ใช้คูปองปันกันอิ่ม จะพบว่าแต่ละร้านมีคนถือคูปองที่ประยุกต์จากคูปองที่จอดรถมาใช้ หลายครอบครัวจากที่เคยกินข้าววันละมื้อเพื่อประหยัดงบการใช้จ่าย พอได้รับคูปองปันกันอิ่มมาพวกเขาก็อิ่มท้องเพิ่มได้อีกมื้อ นอกจากนั้นร้านค้าปันกันอิ่มแต่ละร้านยังใจดีเพิ่มปริมาณอาหารให้ด้วย อย่างร้านพี่เล็กไก่ทอด ที่ขายไก่ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 15 บาท หากใครถือคูปองปันกันอิ่มมา พี่เล็กก็จะแถมข้าวเหนียวร้อนๆ ให้อีกถุง
ส่วนป้าอ้อ ขายอาหารตามสั่ง ปกติก็ให้เยอะกว่าที่อื่นอยู่แล้ว พอมีคนใช้คูปองปันกันอิ่ม ป้าจะเพิ่มปริมาณให้อีก และพอถึงช่วงเวลาปิดร้าน สิ่งที่ป้าอ้อทำเสมอคือหยอดเงินลงไปในกล่องปันกันอิ่มวันละ 40 บาท 50 บาทบ้าง เพราะรู้ดีว่าคนในชุมชนที่หาเช้ากินค่ำ น้อยคนนักจะมีเงินเหลือร่วมทำบุญ
กำไรจากการขายในแต่ละวันของป้าอ้อ จึงสะสมอยู่ในกล่องปันกันอิ่ม ซึ่งเงินที่อยู่ในนี้ก็จะนำไปให้คนที่ขัดสนในชุมชนได้อิ่มท้องต่อ
กำไรของป้าอ้อรวมทั้งร้านค้าอื่นที่ร่วมปันกันอิ่ม ไม่ใช่เงิน แต่คือความสุขที่ได้แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน