เข้าใจโลก รู้จักตัวเอง จากงานจิตอาสา

นุดา 23 พฤศจิกายน 2022

เป็นเวลา 10 กว่าครั้งแล้วที่ พันซ์-พิมพ์ลภัส ปุรณวัฒนกุลชัย, ข้าวกล้อง-ภควี พงศ์พลาดิศัย และโอมมี่-พรปวีณ์ ดวงบุญช่วย นักเรียนชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนหอวัง ปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่สถาบันประสาทวิทยา และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทั้งยังมาช่วยงานอบรมปฐมนิเทศอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ อีกเป็นประจำ ทั้ง 3 คนไม่เคยทำงานอาสาสมัครแบบต่อเนื่องมาก่อน งานอาสาสมัครที่โรงพยาบาลของมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา จึงเป็นงานแรกในชีวิต ที่ทำให้พวกเขารู้จักตัวเองมากขึ้นและพบทักษะใหม่ๆ ทั้งยังช่วยสร้างพลังและเป้าหมายให้กับชีวิตอีกด้วย


เคยทำงานจิตอาสากันมาก่อนหรือเปล่า และเหตุผลที่มาสมัครอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล

โอมมี่ : หนูเคยไปช่วยสร้างโรงเรียนกับแม่ตอนเด็กๆ แต่ถ้าเป็นงานอาสาสมัครจริงๆ ตั้งแต่โตมาที่นี่เป็นที่แรกค่ะ ความตั้งใจตอนแรกคือจะมาเก็บพอร์ตโฟลิโอ หนูสมัครตอนเรียน ม.4 เรียนออนไลน์ ตอนนั้นพอมีเวลา เลยมาเก็บพอร์ตฯ กัน แต่ที่ทำต่อมาเรื่อยๆ เพราะพี่อาสาขอให้มาช่วยต่อ พวกหนูก็มา และหนูก็ชอบด้วย มีความสบายใจด้วยเวลามาทำงานอาสา รู้สึกว่าหลายๆ อย่างที่เคยคิดฟุ้งซ่าน เราไม่คิดเลยเวลาทำงาน  เพราะได้โฟกัสกับงานที่ทำอยู่

พันซ์ : พวกหนูหาที่ทำงานจิตอาสาฝึกงานที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ก็เจอที่นี่เปิดรับสมัคร เลยสมัครกัน ตอนแรกตั้งใจมาเก็บพอร์ตโฟลิโอ  และตั้งใจจะมาทำจิตอาสาที่นี่ให้ดี  พอทำงานอาสาไป พี่ๆ ก็ชวนให้มาช่วยงานปฐมนิเทศในรุ่นต่อๆมา  พวกหนูก็มาเพราะรู้สึกสบายใจที่ได้เจอพี่ๆ บางทีมีเรื่องที่ทุกข์มา เรื่องเรียน หนูก็มาระบายกับพวกพี่ๆ ได้

ข้าวกล้อง : หนูก็มาเก็บพอร์ตโฟลิโอพร้อมโอมมี่ พันซ์ แต่หนูเคยทำจิตอาสามาบ้าง ตอนเด็กที่เคยทำคือไปทาสีโรงเรียนที่ต่างจังหวัด ไปบริจาคของให้น้องๆ ที่ต่างจังหวัด ไปกับครอบครัว ไปกับเพื่อนบ้าง แต่เป็นอาสาแบบเป็นครั้งๆ ไม่เคยทำแบบต่อเนื่อง มีที่นี่ค่ะ พวกเรา 3 คนทำมา 12-13 ครั้งแล้ว ไปเป็นอาสาทั้งที่สถาบันประสาท และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

มีความฝันอยากเรียนด้านไหนในระดับมหาวิทยาลัย

โอมมี่ : อยากเรียนอะไรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์  มาทำที่นี่ทำให้มีแพชชั่นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าหนูเห็นหมอแล้วอยากเป็นหมอ แต่กลายเป็นว่าเห็นคนป่วยที่มาโรงพยาบาล แล้วหนูอยากเข้าไปช่วยเหลือในจุดนี้ หนูคิดว่าถ้ามีหมอมากขึ้นในโรงพยาบาลรัฐ หรือมีหมอที่ดีในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เขาก็ไม่ต้องเดินทางไกลมารักษาที่กรุงเทพ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเดินทางมาถึงที่นี่ ก็รู้สึกอยากเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยเขาในจุดๆนั้น

พันซ์ : ของหนูคงคล้ายๆ กันกับโอมมี่ แต่ด้วยหนูมีความฝันอยากเป็นหมอตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และเหมือนเห็นระบบโรงพยาบาลรัฐหลายๆ ที่ ผู้ป่วยรอนาน และพอมาทำจิตอาสาที่นี่ ยิ่งได้เห็นหลายๆ ผู้ป่วยบางคนต้องมารอแต่เช้า มารอคิวเจาะเลือด  บางคนมาจากต่างจังหวัดที่ไกลมาก ถ้าคนที่มีเงิน เขาก็ไป รพ.เอกชน เขาไม่มา รพ.รัฐ  รพ.รัฐมีหมอที่ดี แต่ต้องรอคิวนาน ต้องจัดการเรื่องการใช้สิทธิ์นาน หนูเลยอยากให้มีแพทย์เยอะๆ ใน รพ.ต่างจังหวัด เพราะรู้สึกว่าบุคลากรแพทย์ขาดแคลนมาก บางจังหวัดมีหมอจริง แต่ไม่ใช่ รพ.ใหญ่ เครื่องมือไม่ครบ ก็ต้องเดินทางมา กทม. เลยอยากเป็นแพทย์ที่ไปต่างจังหวัดไปช่วยพวกเขา

ข้าวกล้อง : หนูอยากเข้าเรียนสายเกี่ยวกับวิทย์สุขภาพเหมือนกัน จริงๆ อยากเป็นเภสัชกร คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เป็นเภสัชด้วย พอหนูมาทำงานอาสาที่โรงพยาบาล เห็นพี่หมอ พี่พยาบาลทำงานก็เป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่ง ให้มีแพชชั่นในการสอบเข้ามากขึ้น ยิ่งเวลาไปช่วยงานอาสาที่ห้องยา ได้เห็นพื้นที่จริง เห็นพี่เภสัชกรทำงาน ก็เป็นแรงกระตุ้นหนูเหมือนกัน ว่าถ้าเข้าเรียนได้ วันหนึ่งจะมาทำแบบนี้นะ

พันซ์ : ส่วนหนูตอนนี้ยังไม่ได้เจาะจงว่าจะเรียนแพทย์ทางไหน แต่ที่เล็งๆ ไว้คือกุมารเวช หมอเกี่ยวกับกระดูก อีกอย่างหนึ่งคืออยากเรียนเกี่ยวกับมะเร็ง เพราะรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนเป็นมะเร็งเยอะมาก และวิธีการรักษา ก็มีแค่วิธีเดียวคือให้คีโม บางคนเขาให้คีโม ก็ไม่ได้หาย และตอนที่หนูไปทำงานอาสาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์  ได้เจอผู้ป่วยมะเร็งเยอะมาก ทำให้รู้สึกอยากเป็นคนๆ หนึ่งที่ได้ช่วยรักษาเขา ตอนหนูยืนอยู่ตรงหน้าตู้กดใบคิว แล้วมีผู้ป่วยมะเร็งเดินมา เขาพูดกับหนูว่า เนี่ยเป็นมะเร็ง ไม่หายหรอก เดี๋ยวก็ตายแล้ว แต่ต้องมาหาหมอ หนูเลยรู้สึกว่าอยากเป็นหมอช่วยรักษาเขาให้หาย หนูอยากจะหาวิธีที่ไม่ต้องทำคีโม เพราะคนมาทำคีโมมันเหนื่อยมาก

พันซ์-พิมพ์ลภัส

ทั้ง 3 คนเป็นอาสาสมัครที่สถาบันประสาทวิทยาและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ด้วย

โอมมี่ : ใช่ค่ะ ตอนสมัครรุ่นที่ 26 พวกหนูเป็นอาสาที่สถาบันประสาทวิทยาก่อน หลังจากนั้นพี่องุ่น (คณะทำงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล) ก็ชวนทำงานอาสาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นรุ่นทดลอง ก่อนจะเปิดเป็นรุ่นที่ 1 พวกเราก็ไปช่วยทำ 2 เดือน ทำให้ได้มีประสบการณ์ในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น

พันซ์ : อย่างที่สถาบันประสาทฯ เราได้เห็นโรคเกี่ยวกับสมอง พอไปโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เห็นเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็ง เราก็ได้ความรู้เพิ่มด้วย

แต่ละคนตอนไปทำอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ประจำจุดทำงานไหนกันบ้าง

โอมมี่ : หลักๆ หนูอยู่จุดกดใบนำทาง และมาช่วยตรงจุดวัดความดันต่อ  ถ้าหน้างานตรงจุดใบนำทางกับวัดความดัน ผู้ป่วยไม่ค่อยมีแล้ว ก็ไปช่วยตรงห้องยา

พันซ์ : ตอนแรกหนูอยู่ตรงห้องเจาะเลือด แล้วไปที่จุดวัดความดัน ก็สลับไปมา 2 จุดนี้เป็นหลักค่ะ ทำแล้วหนูสึกสบายใจ เพราะรู้สึกว่าเชี่ยวชาญว่าต้องทำยังไงต่อ

ข้าวกล้อง : หนูอยู่หลายจุดค่ะ ทั้งห้องยา จุดเจาะเลือด วัดความดัน เวชระเบียน ที่รู้สึกว่าตัวเองเชี่ยวชาญคือเวชระเบียนกับห้องยา แต่ถ้าเอาจริงๆ หนูชอบห้องยามาก รู้สึกสนุก ได้ชวนผู้ป่วยคุยตอนเขานั่งรอยาด้วย เขาชอบถามว่าเรียนที่ไหน ทำไมถึงมาทำงานอาสา ถามเกี่ยวกับองค์กรด้วย

ข้าวกล้อง-ภควี

ปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาหลายครั้ง พบความเปลี่ยนแปลงของตัวเองอย่างไร

ข้าวกล้อง : ก่อนทำอาสาหนูเป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ค่อยดี  รู้สึกยังไงจะแสดงออกทางสีหน้าเลย แต่พอมาทำอาสารู้สึกว่า เก็บสีหน้าตัวเองเก่งขึ้น แม้หนูจะไม่เข้าใจคนที่หนูเจอคนที่พูดคุยด้วยทั้งหมด  แต่ยังควบคุมสีหน้าให้ยิ้มแย้มได้ พูดแสดงน้ำเสียงดีๆ กับอีกฝ่ายได้ แล้วแต่ก่อนหนูเป็นคนเข้าหาคนไม่เก่ง จะไม่ค่อยเข้าไปพูดคุยกับใครก่อน ไม่ค่อยกล้าทัก แต่พอเป็นอาสารู้สึกว่าตัวเองกล้ามากขึ้น กล้าเข้าไปเปิดบทสนทนาก่อน คุณพ่อก็บอกว่าหนูเปลี่ยนไปเยอะเรื่องการสื่อสาร คือพูดรู้เรื่องขึ้น  และรู้สึกว่าเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจที่คนพูดว่า ทำงานมาเหนื่อยเป็นยังไง  หนูไปแค่ครึ่งวันยังเหนื่อยขนาดนี้เลย

โอมมี่ : เปลี่ยนเยอะมาก วิธีการพูดของหนูก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนคุยกัน จะพูดอะไรก็พูดไปเลย ไม่ค่อยคิด แต่พอเรามาทำตรงนี้  เหมือนคำพูดที่เราเคยพูดแรงๆ จะต้องซอฟท์ลง เพราะถ้าพูดกับคนไข้ เขาป่วย เขาก็เหนื่อยอยู่แล้ว ถ้ามารับฟังคำพูดเครียดๆ ของเรา เขาคงเหนื่อยขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองมีความอดทนมากขึ้น เพราะมาทำงานอาสาต้องยืนเกือบครึ่งวัน นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเข้าใจญาติผู้ใหญ่มากขึ้น คือแต่ก่อนเวลารวมญาติ หนูชอบบ่น ทำไมญาติถึงชอบถามอะไรเราจัง แต่พอมาทำงานอาสาที่โรงพยาบาล เจอผู้ป่วยสูงอายุเยอะ  หนูรู้สึกว่าเข้าใจความรู้สึกผู้ใหญ่มากขึ้น

พันซ์ : เปลี่ยนหลายอย่าง ความคิด มุมมอง เราจะกล้าพูดมากขึ้น บางทีถ้าเป็นคนไม่รู้จัก เราจะไม่กล้าแนะนำเขา แต่พอมาทำอาสาที่โรงพยาบาล เราเป็นเหมือนที่พึ่งเขา บางทีผู้ป่วยเขาไม่กล้าไปถามเจ้าหน้าที่ เขาก็มาถามเรา  ถ้าเราตอบเขาได้ จะรู้สึกภูมิใจมาก และมุมมองด้านการเรียน การสอบ พอได้มาทำอาสาที่โรงพยาบาล รู้สึกว่าบางทีชีวิตเราไม่ต้องเครียดขนาดนั้นก็ได้ ถ้าเครียดไป ชีวิตเราในระยะยาว ก็ต้องมาหาหมอที่โรงพยาบาล  อีกมุมมองหนึ่งคือ พอมาเป็นอาสาฯ หนูคิดถึงย่ากับยายที่เสียชีวิตไป รู้สึกว่าทำไมเราไม่ไปหาท่านไปเยี่ยมท่านให้มากกว่านั้น ตอนนี้เหลือคุณปู่ ก็คิดว่าเราต้องไปหา ดูแลท่านมากๆ

ทำงานอาสาด้วยกันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนเพิ่มมากขึ้นด้วยไหม

โอมมี่ : มากขึ้น เพราะว่า ถ้าอยู่ในห้องเรียน บางคาบที่เบื่อก็หลับไปเลย พอมาทำอาสา ทุกครั้งที่ทำเสร็จแล้ว พอขึ้นแท็กซี่ เราก็แลกเปลี่ยนความคิดกันจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานวันนั้น

ข้าวกล้อง : บทสนทนาของเราระหว่างกลับบ้านจะคุยเกี่ยวกับงานอาสา  ตอนทำอาสาเราจะแยกกันทำงานคนละจุด  เลยมีเรื่องเล่าในแต่ละจุดที่แต่ละคนอยู่ ได้คุยกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันขึ้น ถ้าเป็นเราจะทำอย่างนี้นะ ถ้าเป็นพันซ์จะทำแบบนี้นะ เลยได้เห็นมุมมองกันมากขึ้น ต่างจากที่ใช้ชีวิตอยู่โรงเรียนอย่างเดียว

พันซ์ : บางทีเราบอกว่า ไม่ชอบให้คนไข้วีนใส่เรา เราก็จะโยงไปเรื่องอื่น นิสัยของพวกเรา 3 คน เราไม่ชอบแบบนี้ คนนี้ไม่ชอบแบบนี้ ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น และปรับตัวเข้าหากัน

โอมมี่-พรปวีณ์

อยากบอกอะไรสำหรับคนที่สนใจอยากเป็นอาสาสมัคร

ข้าวกล้อง : เอาจริงหนูรู้สึกงานอาสาเป็นเซฟโซนหนูเหมือนกัน เวลาเรียนมาเหนื่อย ท้อ หมดแพชชั่นหนูรู้สึกอยากมาทำงานอาสา อยากมาเจอพี่ผิน พี่องุ่น พี่มิก (พี่ๆ ที่ดูแลอาสาสมัคร) มานั่งพูดคุยกัน ทำให้หนูลดความเครียดได้เหมือนกัน พอมาเจอเพื่อนในวัยเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ทำให้รู้สึกว่ามีคนที่เหมือนเรา และมีคนที่ให้กำลังใจเราเหมือนกัน อยากให้เพื่อนๆ ออกมาทำงานอาสาเถอะ เพราะนอกจากช่วยพัฒนาตัวเอง อาจจะเป็นเซฟโซนใหม่สำหรับพวกเขา เหมือนหนูก็ได้ และยังได้เพื่อนใหม่ด้วย

โอมมี่ : ณ วันนี้ไม่ว่าจะอยากเป็นอะไร หรือยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร หนูว่ามาลองทำจิตอาสา เราจะได้รู้ว่าเราชอบทำงานอาสาไหม ชอบจะพูดคุยไหม เราสามารถทำงานเป็นทีม หรือทำงานกับตัวเองดีกว่ากัน ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น  การเป็นอาสาเราต้องสละเวลาครึ่งวันตั้งแต่ 6 โมงถึงเที่ยง เป็น 6 ชั่วโมงที่ทำให้เราสามารถรู้ตัวตนเราได้ดีมากๆ  ได้เจอสังคมใหม่อีกสังคมหนึ่ง นอกจากโรงเรียนด้วย

พันช์ : หนูแนะนำมากๆ ให้ลองมาเป็นอาสาฯ บางคนไม่ต้องมาหาตัวเอง ไม่ต้องมาเก็บพอร์ตก็ได้ค่ะ มาเพื่อความสบายใจ มาทำเพื่อความสนุก พอมาทำแล้วเราจะได้เห็นหลายๆ อย่าง มุมมองต่างๆ  บางทีอาจต่อยอดถึงอนาคตว่าเราอยากทำอะไร อย่างพอมาเจอเพื่อนร่วมงาน เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับเพื่อนร่วมงานให้ได้ มันก็ต่อยอดในอนาคตที่เราต้องไปเจอผู้คนต่างๆ พอมาทำจิตอาสาเราได้เจอสังคมใหม่มากขึ้น ต่างโรงเรียน ต่างวัย ต่างพ่อแม่ มาพูดคุยกัน  คนที่มาเก็บพอร์ตถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเหมือนกัน ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากที่นี่เลย เป็นจิตอาสา ก็จะได้ทักษะ หนูรู้สึกว่า ถ้าคนที่จะมาทำจิตอาสาไม่ต้องหวังอะไรเลยก็ได้ แค่มาด้วยใจก็พอ

น้องๆ ทั้ง 3 คนบอกว่า ถ้าปิดเทอมอีกครั้ง พวกเธอจะมาช่วยงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลอีก เพราะรู้สึกว่าการทำงานที่นี่สนุก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้มา

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร