หลังเกษียณอายุราชการเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน พี่ช่อหรือคุณครูช่อทิพย์ ผู้สอนวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็สมัครมาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน
พี่ช่อเป็นหนึ่งในอาสาวัยเกษียณที่เลือกใช้เวลาว่างของตนทำงานเพื่อยังประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย ความตั้งใจนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งยังทำงานรับราชการ และมีโอกาสไปรับบริการในโรงพยาบาลรัฐบาลประจำจังหวัด ได้เห็นว่าแต่ละวันมีผู้ป่วยและญาติเดินทางมารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บุคลากรและสถานที่มีจำกัด
“ตอนนั้นถามพยาบาลไปว่า ที่นี่มีอาสาไหม เดี๋ยวครูเกษียณแล้วจะมาเป็นอาสา ช่วยงานหนู เพราะเราเห็นความวุ่นวาย ความไม่รู้ว่าจะไปตรงไหนของคนไข้ ประกอบกับได้เจอพยาบาลที่น่ารัก มีลักษณะความเอื้ออาทร เราเห็นแล้วรู้สึกว่า ตัวเองน่าจะพอช่วยได้ อย่างน้อยเรื่องจัดระบบคนไข้ เรื่องการอำนวยความสะดวก พยาบาลก็น่ารัก บอกว่า มีค่ะ อาจารย์มาได้เลย พอเกษียณไปถามอีกครั้ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลยกเลิกโครงการ ตั้งแต่โควิดระบาดไม่ได้รับอาสาสมัครแล้ว ก็มาเจอประกาศรับสมัครของพุทธิกา ตรงกับใจเราพอดี เพราะเขียนชัดเจนว่า อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล”
ทุกวันอังคารและวันพุธ พี่ช่อจะเดินทางออกจากบ้านที่จังหวัดสมุทรปราการแต่ตีห้าครึ่ง โดยมีคนในครอบครัวอาสาขับรถมาส่งที่สถานีรถไฟฟ้า จากนั้นก็นั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมาปฏิบัติงานอาสาที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเริ่มเวลา 7 โมงเช้า
ที่โรงพยาบาลราชวิถี อาสาสมัครจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามชั้นต่างๆ อาทิ ชั้น 1 จุดคัดกรอง เวชระเบียน อาสาจะช่วยตรวจทานใบนัดว่าต้องยื่นที่ชั้นใดบ้างแก่ผู้ป่วย ให้ข้อมูลจุดบริการต่างๆ ภายในโรงพยาบาล ช่วยเหลือในการนำส่งตามจุดต่างๆ ตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ หรือผู้สูงอายุ สำหรับพี่ช่อนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่มาแทบทุกชั้น ไม่ว่าจะชั้น 2 ชั้น 5 หรือชั้น 7
“ตอนนี้อยู่ประจำที่ชั้น 7 แผนกออร์โธปิดิกส์ คนไข้ชั้น 7 ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระดูก เราก็ช่วยจัดระบบคนไข้ในการเข้าคิว จัดระบบในเรื่องการเข้าตรวจรักษาเป็นสำคัญ และคอยตอบคำถามเกี่ยวกับการนัดหมายต่างๆ ส่วนชั้น 2 คือการอำนวยความสะดวกให้คนไข้ เพราะราชวิถีเอกสารเยอะ และระบบในแต่ละชั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป”
หลังจากปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน พี่ช่อบอกว่างานนี้ตอบโจทย์เรื่อง “ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน” ตรงใจกับความมุ่งหมายของตนเองอย่างยิ่ง
“วันปฐมนิเทศที่ฉายคลิปวิดีโอของพระไพศาล มันตรงใจเรา ท่านพูดเรื่องประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เราก็คิดว่าเริ่มแรกไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ทุกอย่างมาจากตัวเองก่อน คือถ้าเป็นประโยชน์กับเรา มันก็ตอบโจทย์ตัวเราเองแล้ว และผลพลอยได้ อานิสงส์ที่ตามมา ในกรณีนี้ก็กลายเป็นประโยชน์ท่าน
อย่างประโยชน์ตนของพี่ คือเรามีเวลาเยอะ อยากใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า ได้ออกจากบ้าน ได้พบผู้คน เพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง และตอบโจทย์ใจเราว่า อยากทำงานแบบนี้ ส่วนผลพลอยได้ที่ตามมาก็เกิดกับคนไข้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง มีอาการใจฟู อย่างเราได้รับรอยยิ้ม คำขอบคุณจากคนไข้หลายคน แสดงว่าสิ่งที่อาสาทำไป ส่งผลให้การติดต่อต่างๆ ของเขาคล่องตัวขึ้น ก็ไปส่งผลกับเจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็วขึ้นด้วย หรืออย่างน้อยอาสาก็เป็นที่พักใจได้ เป็นคนที่ทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น และเป็นตัวประสานระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ได้”
ในฐานะของผู้ที่เคยเป็นคุณครูมาก่อน และได้มาทำงานร่วมกับอาสาวัยนักเรียน พี่ช่อให้ความเห็นว่า อาสาสมัครวัยรุ่นนั้นช่วยสร้างบรรยากาศความสดชื่น แจ่มใส ให้กับการทำงานในโรงพยาบาล ทั้งคนไข้ที่มารับบริการหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าการได้เจออาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่า การที่เด็กๆเยาวชนมาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล พวกเขาได้รับสิ่งที่สำคัญกลับไป นั่นคือการพัฒนาใจของตนเอง จากช่วงเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการปฏิบัติในแต่ละวัน
“ขอชื่นชมทีมงานพี่เลี้ยงอาสาทุกคนค่ะ สิ่งที่ดีของโครงการนี้คือทำให้เด็กๆ หรือคนที่มาเป็นอาสาได้พัฒนาใจของตนเอง แม้แต่คนแก่ๆอย่างเราก็เถอะ ก็ได้พัฒนาใจด้วย เช่น เวลาที่กระทบกับอะไรที่ไม่พึงปรารถนา ก็ต้องมีบ้างที่รู้สึกไม่ดี หงุดหงิด แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่มันต้องเกิดเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องปกติได้ ความสงบ ความสบายก็จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นเรื่องแบบฝึกเรื่องใจ พี่ว่างานอาสาลักษณะนี้ใช่ และยังได้ฝึกเรื่องการเอื้ออำนวยได้ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ การที่เด็กๆอาสาได้รับคำขอบคุณ หรือได้รับรอยยิ้มจากคนอื่นมา ทำให้หัวใจของเด็ก หรือความคิดของเขาเป็นบวกขึ้น”
ซึ่งก็คือประโยชน์ตนนั่นเอง