“เห็นทุกข์ ดูใจ จากงานจิตอาสา” อิชยา รุ่งรุจี

นุดา 28 กรกฎาคม 2024

1. เชื่อไหมคะว่า อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลายท่านมีอาชีพเป็นแอร์โฮสเตส

หนึ่งในนั้นคือขมิ้น อิชยา รุ่งรุจี หญิงสาววัย 20 กว่าๆ ที่สมัครมาเป็นอาสาช่วงที่ว่างจากการทำงาน เนื่องจากได้รับคำบอกเล่าจากคุณน้า ที่เป็นแอร์โฮสเตสเหมือนกัน และเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่สถาบันประสาทวิทยา ประกอบกับความชอบทำกิจกรรมอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ ในช่วงว่างเว้นจากการทำงาน จึงเลือกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการมาเป็นอาสา

“ขมิ้นรู้สึกว่างานแอร์โฮสเตสกับงานอาสาในโรงพยาบาล หลักๆ คือการได้ช่วยดูแลคนอื่นเหมือนกัน ทำให้คิดว่าน่าจะเอาสกิลการทำงานของเรามาใช้ได้ และช่วงก่อนหน้านี้ตอนเดือนพฤษภาคุณพ่อเป็นโควิด พอต้องพาไปโรงพยาบาลก็งงๆ เหมือนกัน ถึงแม้ที่บ้านคุณแม่เป็นหมอฟัน เราก็ไปโรงพยาบาลบ่อย คุ้นเคยกับโรงพยาบาล แต่อยู่แค่แผนกทันตกรรม ไม่รู้ว่าในฐานะคนป่วย เวลาเข้าไปต้องทำอะไรบ้าง เข้าไปแล้วเราก็งง ไม่มีคนแนะนำ แต่เราก็กล้าที่จะเดินเข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ พอทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี เลยรู้สึกว่าถ้าเราได้มาเป็นอาสาในโรงพยาบาล อย่างน้อยก็สร้างความสบายใจให้กับคนไข้ หรือญาติคนไข้ เข้ามาคุยกับเราได้นะ ถ้ามีอะไรที่พอช่วยได้ เราก็พอบอกได้ ไม่แน่ใจเรื่องอะไรเราประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้ได้ ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็ช่วยบรรเทาความกังวลใจของคนที่มาโรงพยาบาลได้บ้าง”

2.  แม้เป็นคนในวัยทำงานแล้ว แต่ขมิ้นบอกว่า เธอก็ยังรู้สึกกังวลก่อนจะมาทำงานอาสาไม่ต่างอะไรจากน้องๆ วัยเรียน

โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลระบบสิทธิ์การรักษาต่างๆ แต่ในเรื่องของการถามไถ่ทักทายเข้าไปให้ความช่วยเหลือคนไข้ ไม่เป็นปัญหาสำหรับเธอ เพราะได้นำทักษะจากงานแอร์โฮสเตสมาใช้ในการปฏิบัติงานอาสา

“ทักษะอย่างแรกคือความเฟรนด์ลี่ ความเข้าหาผู้ป่วย บางทีเขาอาจไม่กล้าถาม หรือไม่รู้ว่าเราเป็นใคร บางทีเราต้องเป็นคนที่เข้าไปหาเขาก่อน ถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหมคะ เรามีความกล้าส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปพูดคุยกับเขาเลย ก็จะคล้ายๆ กับตอนที่ทำงานเป็นแอร์ ฯ อีกอย่างคือเรื่องการควบคุมอารมณ์ เวลาที่เราเจอคนไข้ที่มีพลังงานลบๆ หรือผู้โดยสารที่มีพลังงานลบๆ ใส่เรา มันก็คล้ายกัน ขมิ้นเคยโดนคนไข้ขึ้นเสียงใส่ เราก็ทำได้แค่ยิ้ม และตอบว่าโอเคค่ะ ขอบคุณค่ะ เราควบคุมอารมณ์ ณ ตรงนั้น และพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางเราให้ดี คิดว่าเป็นแค่อารมณ์ชั่วครู่ของเขา เราอย่าไปซีเรียส เขาปล่อยอารมณ์มา เรารับมาแล้วก็ปล่อยไป ไม่ต้องเก็บเอาไว้ และก็พยายามเข้าใจเขา ดูแบคกราวด์เขา ซึ่งผู้ป่วยที่ขึ้นเสียงใส่เรา เขาเป็นผู้ป่วยที่ต้องฉีดโบท็อกซ์ เขาคงไม่ได้แฮปปี้กับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ อะไรนิดๆ หน่อยๆ อาจทำให้เขาปรี๊ดขึ้นมาได้ ก็รู้สึกว่าเห็นใจเขานะ สิ่งที่เขาพูดมา เราก็รับแต่สาระ แต่ไม่ต้องนำอารมณ์มาเป็นเรื่องส่วนตัว”

3. “เราแค่ต้องทำตอนนี้ให้ดีที่สุด ดูแลพ่อแม่ให้ดีตอนที่เรายังทำได้”

คือความรู้สึกส่วนหนึ่งของขมิ้น หลังจากที่ได้มาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยที่สถาบันประสาทวิทยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ความชราและความเจ็บป่วยได้สะท้อนไปยังหัวใจของเธอ

“มันทำให้เรานึกถึงพ่อแม่ที่บ้านด้วย เราไม่เคยจินตนาการว่าจะมีคนป่วยเยอะขนาดนี้ ถ้าเป็นพ่อแม่เราจะเป็นยังไง คือส่วนหนึ่งที่เห็นผู้ป่วยบางทีลูกหลานก็พามาและช่วยดูแล ทำให้คิดว่า ถ้าถึงวันหนึ่งที่เราต้องมาดูแลพ่อแม่บ้าง เราจะทำได้แบบนี้ไหม และทำให้รู้สึกว่า พ่อแม่เราก็แก่ตัวได้แบบนี้ในวันหนึ่ง เขาอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้แบบนี้แหละ จากการที่เคยมองว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องห่างไกล จริงๆ มันใกล้ตัว และเกิดขึ้นได้เสมอ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เรื่องความป่วย ความแก่ สุดท้ายทุกคนก็เป็นอย่างนั้น ตอนนี้ขมิ้นยังไม่เจอสถานการณ์ที่พ่อแม่ป่วย เลยยากที่จะตอบว่าจะจัดการสถานการณ์นั้นได้ไหม แต่อย่างน้อยการที่เราได้มาเห็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตรงนี้ ก็ช่วยเตรียมให้เรารู้สึกว่า เป็นเรื่องปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เราแค่ต้องทำตอนนี้ให้ดีที่สุด ดูแลพ่อแม่ให้ดีตอนที่เรายังทำได้ ดีที่ได้มาเห็น เหมือนเตรียมจิตใจเราให้เข้มแข็งขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าถึง ณ จุดนั้นจริง เราจะเข้มแข็งจริงไหม ”

4. จากที่คิดแค่ว่า คงจะดีถ้า ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือคนอื่น แต่กลายเป็นว่า

งานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้เธอได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

“พอมาทำจริงๆ ทำให้เราได้เข้าใจตัวเองว่าคิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ และเรามีวิธีการจัดการกับอารมณ์หรือปัญหานั้นอย่างไร หลายๆ ครั้งตอนที่เราทำงาน มันเป็นเรื่องปกติมากที่เราเจอผู้โดยสารพลังลบใส่เรา หรือเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่ดี หรืออะไรก็ตาม เราก็แค่ ช่างมันเถอะ จบไป แต่การทำอาสาที่นี่มีช่วงที่มาคุยกันหลังการทำงาน ซึ่งตอนแรกเราก็รู้สึกว่า คุยอะไรกันตั้งชั่วโมงหนึ่ง แต่พอมาได้มาทำจริง มันดีนะคะ เหมือนเราได้มานั่งคิดทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เหมือนมาเรียนรู้วิธีว่า สิ่งที่เราจัดการกับอารมณ์นั้นมันดีไหม หรือมันมีวิธีอื่นไหม เพราะอย่างตอนที่เราแชร์วิธีการจัดการอารมณ์ของเรา ก็มีพี่เลี้ยงแนะนำว่า มันมีวิธีอื่นที่จัดการกับอารมณ์นั้นๆนะ ยูอาจจะลองแบบเขียนไดอารี แล้วฉีกมันทิ้งเลย เราก็รู้สึกว่าดีนะ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์บ้าง มันไม่ใช่การทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของตัวเราด้วย ในการที่เรียนรู้อารมณ์ตัวเอง ได้กลับมาโฟกัสกับตัวเราเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับอารมณ์ของเราบ้าง และสุดท้ายอารมณ์นั้นหายไปไหม มันอยู่กับเรานานไหม หรือแป๊บเดียวก็หาย มันแตกต่างจากตอนที่เราทำงานบนเครื่องบิน เราทำงานมาปีกว่า ไม่เคยคิดเรื่องแบบนี้เลย พอได้มาอยู่ตรงนี้ พบว่ามันดีเนอะ และเราสามารถเอาพอยต์นี้ไปใช้กับการที่เราทำงานต่อไปได้ เราเปลี่ยนมุมมองความคิดนิดเดียว มามองดูใจเราเองบ้าง ก็ช่วยทำให้ใจเราเบาขึ้นได้ ”

5. ตามเกณฑ์การเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลของแต่ละรุ่น

อาสาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ 4 ครั้งใน 1 เดือน แต่สำหรับขมิ้นในเดือนแรกนั้นเธอมาเป็นอาสาอาทิตย์ละ 2 วัน มากกว่ากำหนด และยังมาทำต่อเนื่องในเดือนต่อมา หากวันไหนที่พี่เลี้ยงอาสาขาดก็ยังอาสาเข้ามาช่วย

“ตอนนี้ขมิ้นไม่ได้ต่อสัญญาช่วงปลายปีแล้ว เลยว่างงานเต็มที่ แต่เป็นช่วงที่กึ่งๆ ต้องสมัครงานไปด้วย แต่ยังอยากทำจิตอาสาไปด้วยเรื่อยๆ และคิดว่าถ้ากลับไปเป็นแอร์ฯ ก็ยังสามารถที่จะทำได้ ขมิ้นว่าอาชีพแอร์ ฯ เหมาะกับการมาทำจิตอาสาสุดๆ เพราะจะว่างในช่วงที่คนอื่นไม่ว่างกัน วันธรรมดาน่าจะว่างแน่ๆ และงานอาสาก็มาแค่ 4 ชม. ไม่ได้ทำทั้งวัน ก็บอกเพื่อนๆเหมือนกันว่า เรามาทำจิตอาสาตรงนี้ เพื่อนก็สนใจกัน แต่บางคนอาจยังไม่ถึงพอยต์นั้นของชีวิตว่าอยากจะมาทำ ก็เข้าใจว่างานแอร์ ฯ เหนื่อย พอถึงวันพักก็อยากพัก แต่เรารู้สึกว่า ในวัยช่วงอายุ 20 กว่า ถ้ายังมีทั้งแรง ทั้งเวลา เราคิดว่า การทำจิตอาสามันไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องไกลตัว มาตัวเปล่าได้เลย มาเรียนรู้มาทำงานไปด้วยกัน”

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร