เดินไปตามถนน ขึ้นรถไฟฟ้า ท่องไปในห้างสรรพสินค้า เดินผ่านร้านโชห่วย คลิกดูทีวีออนไลน์และเฟซบุ๊ค ผมได้ยินเสียงร่ายมนต์ให้ซื้อสินค้า เสพใช้ข้าวของ
พวกเขาสัญญา – แล้วผมจะมีความสุข
“การบริโภค นำมาซึ่งความสุข” นี่คือความเชื่อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโลกทัศน์หลักในการออกแบบชีวิตสำหรับปุถุชน ดัชนีการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนและคล่องตัว ตัวเลขการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เติบโตบ่งชี้ว่าเรามีสังคมที่ดี
ผมเรียกสถานการณ์ของชีวิตและสังคมเช่นนี้ว่า บริโภคนิยม หรือระบบที่นิยมส่งเสริมการกิน ดื่ม ซื้อ เสพ ใช้สอย หรือแม้แต่การเก็บสะสม โดยเชื่อว่า หากมนุษย์ทำกิจกรรมเหล่านี้มากเท่าไหร่ ก็จะมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
บริโภคมาก สุขมาก
บริโภคน้อย สุขน้อย
พวกเราทุกคนถูกข่ายใยแห่งความเชื่อเช่นนี้ครอบคลุมแทบในทุกมิติของชีวิต ทั้งยังถูกทำให้คุ้นชินจนกระทั่งการบริโภคกลายเป็นเรื่องปกติสามัญประจำชีวิต ยากยิ่งที่เราจะตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงบริโภคมากถึงเพียงนี้ และเรามีทางเลือกอื่นที่จะอยู่อย่างผาสุกโดยไม่พึ่งพิงการบริโภคขนานใหญ่บ้างหรือไม่
พุทธศาสนาดูจะให้คำตอบแก่ผม
เคยได้ยินคำสอนจากพระหรือครูว่า เราควรประหยัด และไม่ฟุ่มเฟือยกับการบริโภค เราพอจะรู้ตัวบ้างว่าบริโภคนิยมเป็นของไม่ดี
ได้ยินคำสอนว่า เราควรจะพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ มีชีวิตสันโดษ ไม่พึ่งพาความสุขจากสิ่งนอกกาย ดูสิ เวลาเราเตรียมตัวเข้าป่า เข้าค่ายปฏิบัติธรรม เรายังไม่เห็นต้องพกอะไรติดตัวไปมากก็สามารถอยู่ได้ บางครั้งยังรู้สึกเป็นสุขและอิสระมากกว่าเสียอีก
จำได้ถึงคำชี้แนะว่า ความสุขจากการบริโภคนั้นไม่ยั่งยืน เสพหรือสะสมเพียงชั่วครู่ก็คลายความพึงพอใจ หิวกระหายความสุขจากการบริโภคครั้งแล้วครั้งเล่า
รู้ด้วยความคิด ว่าพระพุทธศาสนา เป็นหลักคำสอนที่รื้อถอนลัทธิบริโภคนิยม ท่านสอนให้พวกเราฝึกจิตทำใจ กระทั่งแม้ไม่ต้องซื้อ-เสพ เราก็มีความสุขได้ ถ้าเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิตและธรรมชาติ เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิต
ถึงกระนั้น ชาวพุทธเช่นผม ก็ยังคงถูกท้าทายจากระบบบริโภคนิยมอยู่นั่นเอง
…
เกิดและเติบโตในเมือง เดินไปไม่กี่ก้าวก็ถึงห้างสรรพสินค้า – ดินแดนแห่งความสุขและข้าวของอันปราณีตสวยงาม จ่ายเงินไม่กี่บาทก็ได้สินค้าดีๆ มาเสพและบริโภค มันง่ายมากที่เราจะติดกับดักและหลุมพรางของการตลาดและนักตกแต่งภายใน กลับเข้าสู่สภาพของนักบริโภคอีกครั้ง
ผมเองยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ระหว่างความคิดสองสำนัก ประเดี๋ยวก็ปฏิบัติเจริญสติอย่างขมีขมัน เย็นย่ำกำลังตกก็ไปตักความสุขในร้านไอศกรีมชื่อดัง บ่นกับตัวเองว่า “ไม่น่าเลย ไม่น่าเลย”
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างสำนักทั้งสองให้ดี ผมพบว่า สิ่งที่ลัทธิบริโภคนิยมได้เปรียบ คือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อประสบการณ์สุขนิยม ทั้งยังฉลาดในการสร้างกลุ่มสังฆะแห่งการเสพ มีสำนักสื่อสารมวลชนคอยสร้างบรรยากาศกระตุ้นความอยาก มีวิหารอันเป็นสาขาวิทยาเขตของลัทธิบริโภคนิยมมากมาย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ลานเบียร์ คอนเสิร์ต การแสดง ฯลฯ
เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างประสบการณ์ความสุขจากลัทธิบริโภคนิยมที่ต่อเนื่อง กลายเป็นวิธีเข้าถึงความสุขที่เราเชื่อว่าเป็นกระแสหลัก เป็นสิ่งคุ้นเคย จนยากที่จะเห็นความสุขจากทางเลือกอื่น
ในขณะที่สิ่งแวดล้อมแบบพระพุทธศาสนากลับมีข้อจำกัด สังฆะ ชุมชนปฏิบัติของพุทธศาสนาเองก็ดูจะมีจำนวนน้อย ประสบการณ์ความสุขอันเกิดจากการละเว้นมีลักษณะเป็นครั้งคราว (ปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว สมาทานศีลเป็นครั้งคราว เข้าวัดเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา คนที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็มีน้อย นานๆ จึงจะพบกันสักครั้งหนึ่ง) โบสถ์วิหารทางพุทธศาสนาดูน่าดึงดูดน้อยลงในสายตาของคนรุ่นใหม่และคนทำงาน ดังนั้น ประสบการณ์ความสุขของปัจเจกในวิถีพุทธศาสนา จึงมีลักษณะไม่ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอที่จะเอาชนะหรือคานพลังจากบริโภคนิยมได้
สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อประสบการณ์สุขนิยม คือความได้เปรียบของลัทธิบริโภค
ที่เขียนบทความชิ้นนี้ก็เพื่อแสดงความสำนึกผิด และเพื่อให้กำลังใจเพื่อนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน อยากปลุกปลอบกันและกันว่า เป็นไปได้ที่เราจะตกอยู่ในอำนาจของวัฒนธรรมการบริโภค ถูกกิเลสกามครอบงำ ถูกมนตร์มายาของสื่อโฆษณาชักจูงให้หลุดออกนอกเส้นทางที่เราเชื่อว่าดีงาม
ไม่มีทางอื่นนอกจากฝึกปฏิบัติภาวนาต่อไป ช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อความสุขที่เกิดจากการละเว้นตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยหวังว่าวันหนึ่ง ผมจะสามารถหลุดพ้นจากการครอบงำของสำนักบริโภคนิยมโดยถาวร