ความตายกับสิทธิส่วนตัว

ปองกมล สุรัตน์ 24 มกราคม 2016

เมื่อเราได้สังเกตเวลาอรุณรุ่ง แดดพยับฉายแสงเมื่อกลางวัน แล้วหรี่แสงยามสนธยาจนลับตาที่เส้นขอบฟ้า จะพบความงามอย่างหนึ่งที่สะท้อนสัจธรรมอันเป็นธรรมชาติ นั่นคือกฎความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง เช่นเดียวกับชีวิตของคนเรา แสงแห่งชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อแรกเกิด สว่างยามโลดแล่น และมอดดับเมื่อถึงกาลต้องตาย

ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบดีแก่ใจ แต่ไม่ใช่เสมอไปที่จะตระหนักและน้อมนำมาเป็นบทเรียนให้กับชีวิต คนส่วนใหญ่มักอยากหนีที่จะพูดคุยหรือนึกถึงเรื่องนี้ อาจเพราะความกลัว ประหวั่น หดหู่เหี่ยวใจ แต่เมื่อปรากฏข่าวการเสียชีวิตของคนดัง ความตายถูกนำมาพูดถึงอย่างล้นหลามในทุกแง่มุม เลยไปถึงเรื่องราวในครอบครัว

การเสียชีวิตของคุณปอ ทฤษฎี เป็นข่าวพาดหัวของสังคมและหัวข้อสนทนาที่แพร่หลาย ด้วยความที่เขาเป็นคนดัง เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ อีกทั้งมีข่าวความประพฤติในกรอบศีลธรรม ทำให้ความตายครานี้เป็นเรื่องสะเทือนใจของคนส่วนใหญ่ สำนักข่าวต่างๆ ต่างกรูกราวรายงานความเคลื่อนไหวตอบสนองความใคร่รู้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จนบางครั้งก้าวล่วงไปในพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว ทำให้สิทธิส่วนตัวของผู้ตายและญาติถูกทำให้พร่าเลือน

สิทธิส่วนตัวของผู้ตายและญาติ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนแวดล้อม ประชาชน (หากเป็นคนดัง ก็รวมถึงแฟนคลับด้วย) ต้องใส่ใจกันมากขึ้น แม้ว่าผู้ตายจะเสียชีวิตไปแล้วและไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีก แต่ความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีในเนื้อตัวร่างกายก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความเคารพ เปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้เก็บความทรงจำเกี่ยวกับคนที่พวกเขารักและได้บอกลากันเป็นครั้งสุดท้าย  สิ่งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ญาติสามารถปรับตัวและยืนหยัดกับสิ่งที่ต้องเผชิญได้ ภายใต้ความเปราะบางของจิตใจ ที่สำคัญคือ จุดนี้เองที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของจิตใจของมนุษย์ที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และปฏิบัติต่อกันด้วยความอ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

เมื่อปรากฏข่าวการเสียชีวิตของคนดัง ความตายก็ถูกนำมาพูดถึงในทุกแง่มุม จนเลยไปถึงเรื่องราวในครอบครัว

ประเด็นการรุกล้ำสิทธิส่วนตัวของผู้ตายและญาติ ในกรณีของคุณปอนั้น ฝ่ายที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นสื่อมวลชน หากสื่อมวลชนปรับการให้คุณค่าของการนำเสนอข่าวเรื่องความตายของใครสักคน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความรวดเร็วฉับไว เข้าถึงภาพข่าวที่ขับเน้นเค้นอารมณ์ผู้เสพเป็นหลัก หากแต่อยู่ที่การนำเสนอเนื้อหาและภาพข่าวตามข้อเท็จจริงอย่างเหมาะสมภายใต้ขอบเขตความเป็นส่วนตัว ถามคำถามที่ไม่ทำให้ญาติกดดันหรือสะเทือนใจ และอาจเพิ่มเติมการมุ่งเน้นเสนอเนื้อหาด้านคุณงามความดีผู้ตาย หรือบทเรียนชีวิตของพวกเขาในทางสร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การไว้อาลัยอย่างให้เกียรติ

ส่วนคนทั่วๆ ไปเมื่อรับรู้ข่าวสารความตายของคนรอบข้างหรือคนดัง ก็ควรมีสติ ไตร่ตรองความสงสัยใคร่รู้ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เป็น “เรื่องส่วนตัว” ของผู้ตายและครอบครัว เสพข่าวอย่างรู้ตัว ไม่กลายเป็นกลไกอุปสงค์ที่ผลิตซ้ำการทำงานของสื่อในทางผิดจรรยาบรรณ รวมทั้งรู้กาลเทศะของตน ซึ่งมักเห็นชัดในงานศพ เช่น เลี่ยงการคุยหรือถามในสิ่งที่ญาติไม่อยากตอบหรือกระทบจิตใจ การแสดงความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจในระดับพอดี ไม่ทำให้ญาติรู้สึกยิ่งจมจ่อมกับความหดหู่ ลดอากัปกิริยาไม่สำรวม เช่น พูดคุยเสียงดัง หรือขอถ่ายภาพเจ้าภาพเสมอเหมือนงานรื่นเริงในขณะที่เจ้าของงานยังอยู่ในช่วงเวลาทำใจ ดังที่กล่าวมาจะเห็นว่าความยากนั้นอยู่ที่การรักษาจิตใจให้ต่อสู้กับความใคร่รู้ใคร่เห็น ความต้องการมีตัวตนในพื้นที่สำคัญ และความต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตนเองต้องการโดยที่เผลอลืมนึกถึงผู้อื่น

มองอีกแง่หนึ่ง โอกาสนี้เหมาะยิ่งที่จะเกลาใจของตนเอง

จะว่าไป เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ต่างมีส่วนในการรักษาหรือริดรอนสิทธิดังกล่าว ทั้งโดยตรงด้วยการกระทำของตัวเราเอง และโดยอ้อมผ่านการเสพสื่อ แม้แต่ครอบครัวของผู้ตายเองก็ควรตระหนักและรักษาพื้นที่ รวมทั้งสิทธิอันพึงได้รับของตน

“ความตาย” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดรอบตัวเรา ก็ไม่จำเป็นต้องสลดหดหู่แง่เดียวเสมอ และหาใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราวที่วูบดับหายไป หากหยิบยกขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อการพิจารณาตนเองและเกื้อกูลผู้อื่น


ภาพประกอบ