เด็กน้อยวัย 8 ขวบ แสดงเจตจำนงอย่างมาดมั่น
หลังจากปิดภาคการศึกษาไม่กี่วัน เด็กๆ รวมถึงวัยรุ่นในหมู่บ้าน ต่างพากันเปลี่ยนสีผม มีทั้งสีส้ม สีเหลือง สีแดง สีม่วง ราวกับใบไม้เปลี่ยนฤดู
ก่อนถึงวันสงกรานต์ 2 – 3 วัน ผู้ปกครองเด็กๆ เริ่มทยอยกลับบ้านตามแต่จังหวะและโอกาสของแต่ละคน ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้เริ่มมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เสียงเพลงจังหวะสามช่าเบสหนักๆ เริ่มดังมาจากรอบทิศทาง หน้าบ้านแทบทุกหลังจะมีรถยนต์ใหม่เอี่ยมจอดอยู่ บางบ้านมีมากกว่า 1 คัน!
แม้จะเป็นภาพที่ผู้เขียนพบเห็นมาจนชินตาแล้ว แต่ก็ยังอดตระหนกในใจไม่ได้ วันนี้คนหนุ่มสาวมากหน้าหลายตา แต่งเนื้อแต่งตัวสะสวย ช่างต่างจากวันประชุมผู้ปกครองเมื่อเดือนก่อนเสียเหลือเกิน วันนั้นในห้องโถงอาคารเอนกประสงค์ เด็กน้อยวัยประถมนั่งข้างหน้า ผู้ปกครองวัย 60 – 70 ปีขึ้นไป นั่งเก้าอี้ด้านหลัง สำหรับผู้เขียนแล้ว พื้นที่ตรงกลางช่างกว้างใหญ่ยิ่งนัก
วิถีที่คนหนุ่มสาววัยแรงงาน ต้องโยกย้ายไปทำงานตามหัวเมืองต่างๆ รวมถึงต่างประเทศ ค่อยๆ แผ่ขยายไปยังชุมชนนอกเขตเมืองแทบทุกหย่อมหญ้า บ้านหลังใหญ่จึงมักมีเพียงเด็กกับคนแก่ พวกเขาเหล่านั้นใช้เวลา 355 วันต่อปีอยู่กับหน้าที่การงานทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เก็บหอมรอมริบ รอคอยที่จะได้กลับบ้าน เพื่อจะได้ซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ซื้อของเล่นใหม่ๆ ซื้อรถคันใหม่ ซื้ออาหารดีๆ ราคาแพง ในช่วงวันหยุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่างได้เติมเต็มซึ่งกันและกัน
บรรดาคนหนุ่มคนสาว รอคอยที่จะได้ร่ายรำในท่วงทำนองของอิสรภาพ ชีวิตเหมือนโลดแล่นอยู่เหนือการควบคุมใดๆ การเต้น การกิน การดื่ม การสรวลเสเฮฮา ดำเนินไปอย่างไม่มีขีดจำกัด
ผู้เฒ่าและเด็กน้อยก็พลอยได้ปลื้มปริ่มยินดีกับการมาเยือนของคนที่แสนคิดถึง
พวกเขาเหล่านั้นใช้เวลา 355 วันต่อปีอยู่กับหน้าที่การงานทั้งที่ชอบและไม่ชอบ รอคอยที่จะได้กลับบ้าน
เราต่างตักตวงความสุขให้ได้มากที่สุด เวลาในช่วงวันหยุดจึงมักหมดไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่ว่ามา กระนั้น ธรรมเนียมปฏิบัติอันงดงามก็ยังคงมีให้เห็นไม่ขาด แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ ที่เราได้กล่าวขออโหสิกรรมต่อกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ให้ได้ศีลให้พรกับลูกหลาน กลิ่นน้ำอบแป้งร่ำหอมกำจาย นับเป็นช่วงเวลาที่ทั้งอบอุ่นและศักดิ์สิทธิ์ในคราวเดียวกัน
เด็กน้อยเตรียมน้ำใส่ถัง มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ลอยอยู่เต็มผิวหน้า ขันพลาสติกใบเขื่องถูกจ้วงตักครั้งแล้วครั้งเล่า เสียงหัวเราะร่าเริงดังไม่ขาดสาย คละเคล้ากับเสียงดนตรีจังหวะกระชั้น
“ครูขา หนูขอสาดน้ำหน่อยนะคะ” เธอตะโกนเสียงดัง ผู้เขียนหยุดรถและเดินไปหาเธอ
“ค่อยๆ รดก็ได้ลูก ตักทีละน้อย น้ำถึงจะเย็นชื่นใจ ถ้าหนูตักสาดแรงๆ ครูก็จะเจ็บ และน้ำในถังก็จะหมดไว” เธอหัวเราะและคงไม่เข้าใจความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ แต่ก็ยอมตักน้ำรดเบาๆ ตามคำขอ
คนหนุ่มคนสาวกลับเข้าสู่วังวน 355 เช่นเดียวกับเด็กน้อยและผู้เฒ่า หน้าบ้านแต่ละหลังจะว่างเปล่าอีกครั้ง ความเงียบจะค่อยๆ ปกคลุมพื้นที่ เสื้อผ้าข้าวของบางอย่างถูกพับเก็บ รอเวลา 355 วันจะผ่านไปอีกครั้ง
น่าเสียดายที่ช่วงเวลาอันมีค่านี้ จะถูกกลืนหายไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการบริโภคที่ไม่มีขอบเขต เพียงเพื่อตอบสนองความโหยหาคุณค่าบางอย่างในชีวิต แน่นอนว่า มันไม่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าเราจะบริโภคอาหารดีๆ ราคาแพงๆ เครื่องดื่มเมามาย หรือจับจ่ายข้าวของตามที่ปรารถนามากมายเพียงใดก็ตาม แต่ใจของเราก็ยังคงไม่เต็ม
อาจเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นและสัมผัสมาตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้ ในช่วงเวลา 355 วันที่ผู้เขียนได้โอบกอดเด็กน้อย รับฟังความกลัวที่เกิดจากฝันร้ายในคืนก่อน เป็นวันที่ผู้เขียนได้ปรบมือชื่นชม เวลาที่พวกเขาแสดงละครหุ่นมือได้อย่างสนุกสนาน เป็นวันที่ผู้เขียนชักชวนให้พวกเขาก้าวข้ามความไม่มั่นใจในตัวเอง กระโจนลงมาทำสิ่งแปลกใหม่ และเป็นวันที่ผู้เขียนปลอบประโลมเวลาที่ฟันน้ำนมเริ่มโยกคลอนและหลุดออกมาในที่สุด
ผู้เขียนไม่ใช่แม่ ไม่ใช่ผู้ปกครอง หากแต่เป็นเพียงครูอาสาตัวเล็กๆ ที่มีเวลาอยู่กับเด็กๆ แทบทุกวัน เป็นทุกๆ วันของวงจร 355 ที่เด็กๆ อยู่ห่างจากพ่อแม่
ผู้เขียนไม่อาจตัดสินการกระทำของใครก็ตาม ด้วยเข้าใจว่า ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองในการที่จะทำหรือไม่ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากอยากชวนขบคิด ในขณะที่เรายังมีเวลาและโอกาสอยู่ ใช้เวลานอกวงโคจร 355 อยู่กับคนที่รักด้วยสติรู้สึกตัว มีเวลาที่ได้พูดคุย รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของกันและกัน ได้ทำสิ่งดีๆ ที่เป็นมงคลกับชีวิตร่วมกัน
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธการมอบเงินหรือสิ่งของให้แก่กัน เพราะเงินหรือสิ่งของก็เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่ที่ผู้เขียนใส่ใจคือการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟื่อย เพื่อประกาศความมั่งมี หรือการดื่มกินที่ขาดสติ ขาดความรับผิดชอบ
ลองใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างมีสติรู้สึกตัว มีเวลาได้พูดคุยรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของกันและกัน และได้ทำสิ่งดีๆ ที่เป็นมงคลกับชีวิตร่วมกัน
คุณยายของนักเรียนคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนด้วยใบหน้าปลาบปลื้มว่า ลูกสาวลูกชายกำลังจะเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับบ้านช่วงสงกรานต์ คุณยายเตรียมสำรับคับค้อนรองรับอย่างเต็มที่ นั่นอาหารโปรดของลูกชาย นี่อาหารโปรดของลูกสาว ฟูกหมอน ที่หลับที่นอนถูกนำมาผึ่งตากล่วงหน้าหลายวันจนหอมกลิ่นแดด ‘พวกเขาเหนื่อยมาทั้งปีแล้ว กลับบ้านทีก็อยากให้สบาย อยากให้พักผ่อน’ คือกำลังของคุณยาย
เมื่อลูกสาวลูกชายกลับมาถึง เวลาส่วนใหญ่กลับถูกใช้ไปกับการอยู่กับหน้าจอมือถือ การออกไปตระเวนเที่ยวนอกบ้าน การดื่มกินกับเพื่อนพ้อง ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่คุณยายบอกเอาไว้ว่า อยากให้ลูกๆ ได้พักผ่อนอย่างสบายใจ แต่ใจของยายกับหลาน อาจจะไม่อิ่มเต็ม
จะดีไหมถ้าเราค่อยๆ เติมเต็มความรักความอบอุ่นให้แก่กัน โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 356 มอบของขวัญแก่กันด้วยการใส่ใจรับฟัง โอบกอดซึ่งกันและกันทุกครั้งที่มีโอกาส รินรดความรักความเห็นอกเห็นใจชโลมความทุกข์ยากที่ต่างต้องเผชิญในชีวิต แล้วช่วงเวลา 10 วันของเราจะเติมเต็มและมีคุณค่า เอ่อล้นไปจนถึง 355 วันที่ต้องห่างกัน แม้ในวันที่เราเหนื่อยล้าท้อถอยจากชีวิตการงาน ก็จะมีน้ำอบขันน้อย คอยรินรดให้เย็นชื่นใจอยู่เสมอ