ช่วงเช้าของวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ ข่าวการละสังขารของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณก็เข้ามาถึงพวกเราขณะกำลังเริ่มกระบวนการงานอบรม หลวงพ่อเป็นครูบาอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักของเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนผู้คนจำนวนมากที่ได้มีโอกาสพบปะและรู้จักท่าน ข่าวนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจนัก ในช่วงบั้นปลาย หลวงพ่อถูกโรคภัยเบียดเบียนแต่ก็เพียงด้านร่างกายเท่านั้น ข่าวนี้ทำให้พวกเรารู้สึกสั่นสะเทือนในจิตใจ รู้สึกและเข้าใจได้ถึงความรู้สึกอาลัยรัก พร้อมกับบางวูบของความรู้สึกกำพร้าก็เข้ามา พวกเราพร้อมใจกันนั่งภาวนาให้กับหลวงพ่อ
ตลอดช่วงการล้มป่วยด้วยมะเร็งในคราวนี้ หลวงพ่อเตรียมพร้อมรับความตายมาตลอด และยังใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสสอนธรรมแก่พวกเรา “ขอสั่งลาทุกๆ ท่าน ธาตุขันธ์คงอยู่อีกได้ไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรยังอยู่ตลอดไป” “สั่งลามิตรสหายทุกท่าน ธาตุขันธ์ไม่มีวันที่จะอยู่ได้นาน ขอให้เน้น สติ ปัญญา แทน เป็นปากเป็นเสียงแทน ตามที่หลวงพ่อเทียนสอน พวกเราถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง เวลานี้มีแต่ปล่อยวาง ไม่เป็นอะไรกับอะไร”
หลวงพ่อมีลูกศิษย์ รวมถึงผู้ที่เคารพรักท่านมากมาย แน่นอนว่าความเคารพรักนี้ แต่ละคนก็มีมุมมองและการแสดงออกที่แตกต่างกันทั้งความคิดและการกระทำ ประสบการณ์ธรรมะและชีวิตทำให้หลวงพ่อเลือกที่จะสั่งเสียและกำชับให้การจัดงานศพของหลวงพ่อเป็นไปอย่างเรียบง่ายที่สุด
“ในงานศพให้จัดแบบพระที่จน อย่าฟุ่มเฟือย” “เผาที่เมรุวัดภูเขาทอง ห้ามตั้งเมรุลอย ให้พระเป็นเจ้าภาพ เผาเสร็จแล้วเก็บขี้เถ้าไปฝังตรงใต้ต้นจาน หน้าศาลาน้ำใสก่อนจะสว่าง อย่าทันให้โยมเห็น ถ้าจะเป็นการสวดศพก็ให้เป็นการแสดงธรรมแทนการสวดอภิธรรม โดยมีพระไพศาลเป็นประธาน แต่จะขอตายที่ สุคะโต นำไปเผาที่ภูเขาทอง ก็ได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าแล้ว ไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ชั่วไม่ทำเด็ดขาด ดีทำไปใจบริสุทธิ์ ความดีที่ทำขอให้เป็นของป่าไม้ แม่น้ำ แผ่นดิน อากาศ อย่าทำบุญ ขอให้ทุกคนทำบุญเอง ไม่มีแรงเขียนหนังสือ ขอจบไว้ก่อน มีแรงก็จะขอเขียนต่ออีก”
จริยาวัตรของหลวงพ่อที่หลายคนทราบดี คือ ความเรียบง่าย ความใส่ใจ เกรงใจและเมตตาต่อผู้อื่น หลวงพ่อมีเมตตาและเกรงใจผู้อื่นเสมอ และหลวงพ่อคงทราบดีกระมังว่าหากหลวงพ่อไม่สั่งเสียอะไร การจัดงานศพคงเป็นประเด็นใหญ่โต ถกเถียงมากมายว่าจะจัดอย่างไร และสิ่งสำคัญคือ จริยาวัตรที่ไม่อยากให้คนอื่นลำบากเพราะตน
ความรัก ความเมตตาของหลวงพ่อเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อตัวและการดำเนินชีวิตของท่านมาโดยตลอด ผู้เขียนสมัยเป็นพระที่จำพรรษากับหลวงพ่อ กิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดจนทุกวันนี้คือ การปลูกป่า นอกเหนือจากการสอนธรรมะ เจริญสติ แม้ผู้เขียนจะลาสิกขาและรวมถึงหลายคนที่ได้ไปเยี่ยมเยือน พลังความรัก ความเมตตาของหลวงพ่อก็ไม่เคยแปรเปลี่ยน ราวกับธารน้ำที่ช่วยเติมเต็มพลังชีวิตให้กับทุกคนที่ได้มีโอกาสพบปะ สนทนา ฟังธรรม และกราบเคารพท่าน
บทเรียนเรื่องความรัก ความเมตตาที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ประสบและเรียนรู้จากหลวงพ่อ จากความเป็นหลวงพ่อและยังเป็นสติข้อเตือนใจให้ผู้เขียนรู้ตื่นในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา จำได้ว่าวันสุดท้ายของการเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่วัดป่ามหาวัน ในวันสุดท้าย เครือข่ายพุทธิกามีโอกาสได้ฟังธรรม และช่วงการกราบลาก็ได้มีโอกาสถ่ายรูปหมู่ ผู้เขียนได้รับโอกาสที่ดีโดยได้มีโอกาสนั่งใกล้ๆ หลวงพ่อ สิ่งที่ประสบและสร้างความประทับซาบซึ้งใจก็คือ หลวงพ่อลูบแผ่นหลังของผู้เขียนไปมา การได้มีโอกาสได้รับสัมผัสความรักจากครูบาอาจารย์ครั้งนี้ สำหรับผู้เขียนถือเป็นของขวัญความรัก ความเมตตาอย่างสุดวิเศษ สิ่งสำคัญคือ การได้พลิกเปลี่ยนมุมมองต่อความรักแบบไม่มีเงื่อนไขชนิดกลับหลังหัน
หลายคนมีความเข้าใจว่า ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข คือ ความรักที่ฝ่ายหนึ่ง อาจมาจากพ่อแม่ คนรัก หรือครูอาจารย์ มีความรักอย่างเต็มที่ เสียสละเพื่อลูก เพื่อคนรัก เพื่อลูกศิษย์อย่างเต็มที่ และไร้เงื่อนไข โดยไม่ใส่ใจว่าอีกฝ่ายจะเป็นอะไรหรืออย่างไร หลายคนจึงมักรอคอยและคาดหวังความรักชนิดนี้จากพ่อแม่ คนรัก หรือครูอาจารย์ด้วยการเรียกร้อง แต่เหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้รับสัมผัสจากหลวงพ่อ ทำให้ผู้เขียนเกิดความตระหนักรู้ใหม่ขึ้นมาว่า
ความรัก ความเมตตาแบบไม่มีเงื่อนไขนั้น แท้จริงมีอยู่และดำรงอยู่แล้ว และความรักชนิดนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเลือกให้กับใคร มากน้อย หรืออย่างไร เราเป็นแค่ชีวิต ส่วนเสี้ยวของระบบความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ ผ่านมาและก็ผ่านไป ผู้เขียนพบว่าความรัก ความเมตตาจากหลวงพ่อที่ส่งผ่านสัมผัสแผ่นหลังขณะนั้น แท้จริงหลวงพ่อก็มีความรัก ความเมตตาให้กับทุกคน หาก ณ จังหวะเวลาขณะนั้น คนอื่นมาอยู่ก็จะได้รับสัมผัสความรักนั้นจากหลวงพ่อเช่นกัน
ประสบการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนพบว่า ความรักแบบไม่มีเงื่อนไขแท้จริงมีอยู่และดำรงอยู่ ต้นกำเนิดอาจไม่ได้มาจากบุคคล แต่มาจากคุณความดีที่ดำรงอยู่ในตัวบุคคล ในระบบความสัมพันธ์ ในธรรมชาติ และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่าผู้รับจะเป็นใคร หรืออะไร อย่างไร แต่เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์ ธรรมจัดสรรที่เป็นไปตามเหตุ และปัจจัยโดยไม่มีการบังคับกฎเกณท์ บทเรียนล้ำค่าทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจถ่องแท้ถึงธรรมชาติจริยาวัตรของหลวงพ่อที่สำคัญอีกประการด้วย คือ คุณงามความดีที่เรียกว่า “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” เราแต่ละคนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้นในระบบความสัมพันธ์
กราบระลึกถึงหลวงพ่อ ผ่านบทเรียนชีวิต คำสอน แบบอย่างคุณงามความดีของการดำเนินชีวิตของ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ และการมีความรู้สึกตัว เป็นเครื่องดำรงและอยู่รอดของชีวิต