เชื่อใจกันหน่อย

พระวิชิต ธมฺมชิโต 6 กรกฎาคม 2014

* บทความนี้ไม่ใช่การรีวิวภาพยนตร์ ภาพประกอบเป็นเพียงการสื่อถึงเนื้อหาบางส่วนของบทความ 


คิดไปแล้วน่าใจหาย ที่คนทุกวันนี้เชื่อใจและไว้วางใจกันน้อยลงทุกที อย่าว่าแต่ความรู้สึกไม่ไว้ใจต่อคนรอบข้างที่เราไม่รู้จักเลย ลองถามตัวเองดูซิว่า คุณเชื่อใจเพื่อนร่วมงาน หรือไว้วางใจใครได้อย่างสนิทใจจริงๆ สักกี่คน

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจคนรอบข้างเกิดขึ้นในแทบทุกวงการและทุกสถานการณ์ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้ยินเสียงเตือนว่า “แน่ใจหรือว่าเธอจะไม่โดนหลอก…” หรือ “ระวังตัวดีๆ นะ…” หรือแม้แต่ “อย่าคุยกับคนแปลกหน้านะลูก

คงไม่ต้องพูดถึงแวดวงการเมืองหรือวงการธุรกิจที่ไม่สามารถจะไว้ใจใครได้อยู่แล้ว จนพูดกันเป็นเรื่องธรรมดาว่าเป็นวงการที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ความไม่ไว้วางใจกันได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นโดยต้องจัดให้มีการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” กันอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจกันในปัจจุบันได้ซึมซาบลุกลามลงมาถึงส่วนย่อยที่สุดของสังคม นั่นคือในระดับครอบครัว สามีไม่ไว้ใจภรรยา ภรรยาไม่ไว้ใจสามี พ่อแม่ไม้ไว้ใจในตัวลูก พี่น้องก็ไม่ไว้ใจกันเอง หรือแม้แต่ลูกบางคนก็เริ่มไม่ไว้ใจพ่อแม่ของตัวเอง

ผลการสำรวจความเห็นของวัยรุ่นพบว่ามีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักพวกเขา

ความไม่ไว้วางใจกันได้ทำให้สิ่งที่ดีงามหลายอย่างของมนุษย์สูญหายไป

ความเมตตาเอื้ออาทรที่มนุษย์ควรมีต่อกันก็ถูกจำกัดขอบเขตลง หรืออาจสูญหายไปจากสังคมได้ไม่ยาก ถ้าหากไร้ซึ่งความไว้วางใจกัน

ท่านที่เคยไปเที่ยวประเทศทางตะวันตกไม่ว่ายุโรปหรืออเมริกา คงเคยได้ยินผู้ที่อยู่มาก่อนแนะนำว่าถ้าเห็นคนแก่ล้ม อย่าเข้าไปช่วยเด็ดขาด “ระวังนะ… เขาจะหาว่าเราเป็นคนไปทำเข้าล้ม แล้วเรียกร้องค่าเสียหายจากเรา

ในบ้านเรา เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการลดลงของความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย เช่นเมื่อมีคนเข้ามาขอเงินค่ารถกลับบ้านต่างจังหวัด ขอเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน หรือแม้แต่บางคนมีหลักฐานการแจ้งความจากโรงพักมาให้ดูว่ากระเป๋าเงินหาย พร้อมทั้งร้องไห้ฟูมฟายขอเงินหลักร้อยเพื่อเป็นค่ารถกลับบ้าน เรามักตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาทันทีว่าจะมาหลอกหาเงินกันง่ายๆ หรือเปล่า

หลายคนพร้อมที่จะให้แม้จะเป็นเงินหลักร้อยหลักพัน แต่สิ่งที่เราพบหรือได้ยินมาหลังจากนั้นก็คือเราถูกหลอก คนเหล่านั้นมักไม่ใช่ผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ แต่กลับเป็นคนปลิ้นปล้อนที่จ้องหากินอยู่กับความเชื่อใจและจิตใจที่เอื้ออาทรของผู้คนในสังคม

นอกเหนือจากจะทำให้ความเมตตาเอื้ออาทรต่อกันลดน้อยลงแล้ว ความไม่ไว้วางใจกันยังทำให้สังคมเต็มไปด้วยความเคร่งเครียด เหนื่อยล้า ไม่มีความสุข และเป็นตัวขัดขวางการสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย เพราะเราไม่แน่ใจว่า ความคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีคนมาเสนอนั้นมันจะ ‘มาไม้ไหน’ กันแน่

แล้วเราควรต้องทำอย่างไร จึงจะฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้นมาได้ใหม่ในสังคมยุคนี้

บางคนอาจบอกว่า ช่างมันเถอะ เราได้ช่วยเขาแล้วเราควรสบายใจ กุศลกรรมได้เกิดขึ้นแล้ว เขาจะเอาไปใช้อะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องสนใจว่าเขาจะหลอกเราหรือไม่ ถ้าเขาหลอกลวงผลกรรมก็จะติดตามเขาไปเอง

จริงอยู่แม้คิดอย่างนั้นจะช่วยให้เราสบายใจ แต่ก็เท่ากับว่าเรามีส่วนสนับสนุนให้คนหากินด้วยวิธีการนี้ต่อไป และเบียดเบียนคนอื่นต่อไปไม่สิ้นสุด เราก็มีส่วนสนับสนุนคนทำชั่วให้รบกวนคนอื่นๆ ต่อไปอีก

การเมินเฉยไม่สนใจต่อประเด็นนี้ มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

หากไร้ซึ่งความไว้วางใจ สิ่งที่ดีงามหลายอย่างในสังคม เช่น ความเมตตาเอื้ออาทรที่มนุษย์ควรมีต่อกัน ก็คงสูญหายไป

บางคนอาจโทษสื่อที่นำพฤติกรรมการหลอกลวงนี้มาเปิดเผยจนสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้าง จนคนขาดความเชื่อใจกัน

ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างกว้างขวางก็ได้ช่วยให้คนรู้ทันมิจฉาชีพมากขึ้นด้วย ทำให้ยุติกระบวนการหลอกลวงแบบนั้นลงไปได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม จะหวังให้สื่อหรือให้รัฐใช้กฎหมายมาจัดการกับคนทุจริตคดโกงอยู่ฝ่ายเดียว ไม่น่าจะทำให้การหลอกลวงหมดไป หรือทำให้คนเชื่อใจกันมากขึ้นได้

ปรากฏการณ์ความไม่ไว้ใจกันนี้มองไปลึกๆ แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลผลิตของสังคมปัจจุบันที่มีเงินเป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่ง เป็นสังคมที่เร่งรีบฉาบฉวย ไม่มีเวลาที่จะไปใส่ใจช่วยเหลือใครอย่างจริงจัง

การให้เศษเงินกับคนที่มาขอ หลายๆ ครั้งไม่ได้เกิดจากความเมตตา แต่เป็นการตัดความรำคาญ ไม่อยากเสียเวลาเข้าไปรับรู้หรือยุ่งเกี่ยวที่จะช่วยเหลือเหลือในรูปแบบอื่น

นอกจากนี้การโดนหลอกอีกเป็นจำนวนมาก ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความซื่อหรือความสงสาร แต่เป็นเพราะความโลภที่อยากได้เงินทองมาแบบง่ายๆ ของผู้ให้เสียมากกว่า

การจะแก้ปัญหานี้แบบชาวพุทธ ในด้านหนึ่งต้องอยู่ที่การทำความเข้าใจเรื่องความเมตตาหรือการทำบุญให้ชัดเจนก่อนว่าอะไรคือความเมตตา อะไรคือบุญ และอะไรที่ไม่ใช่ ส่วนทางแก้ไขก็ไม่ใช่เหมาลงไปที่อย่าไปติดไปยึดมั่นถือมั่นเพียงอย่างเดียว

การลดละความอยากลงบ้าง ไม่มองอะไรก็เห็นเป็นเรื่องเงินทองไปหมดจะช่วยลดจำนวนคนถูกหลอกไปได้ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องกฎหมายและการช่วยกันเฝ้าระวังหรือตีแผ่กลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ ก็ยังจำเป็น เพราะช่วยให้คนรู้เท่าทันมิจฉาชีพที่หากินอยู่กับความไว้วางใจกันและจะได้ตกเป็นเหยื่อน้อยลง

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า พวกเราในสังคมตอนนี้เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้แล้วหรือยัง  ถ้ายัง… โอกาสที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาก็คงยังไม่เกิด

การบ่นกันอยู่อย่างเดียว ความเมตตา ความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็คงเกิดขึ้นไม่ได้


หมายเหตุ