บ่ายวันฤดูหนาว แดดสวย ฟ้าใส ตราบเท่าที่ยังมีแรงลมโบกพัดให้กิ่งไม้ใบไม้บนเรือนยอดเคลื่อนเข้าหากัน นั่นยังมีเสียงลม เสียงใบไม้สีกันเป็นเพื่อน แต่เมื่อลมสงบ สวนเล็กๆ ริมบึงจึงกลับสู่ความเงียบงัน … “เงียบ จนได้ยินเสียงหญ้างอก” สำนวนของนักเขียนคนหนึ่ง แว้บเข้ามาในห้วงคิดของหญิงสาว
เธอไม่ได้เอ่ยปากพูดอะไรกับใครมาตั้งแต่เมื่อวานซืน ตอนค่ำๆ การไม่ส่งเสียงพูดใดๆ กลับทำให้สุ้มเสียงของความคิดอึงอลอยู่มากมาย และเธอก็รู้ว่าทุกอย่างที่ผ่านตาเข้ามา นำไปสู่ความคิด คิด คิด คิด เพียงชั่วแว้บเสี้ยววินาที ความคิดก็หลุดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างรวดเร็ว
ณ ที่แห่งนี้ ที่เรียกว่าศูนย์ปฏิบัติธรรม มีคนอยู่ราวๆ ร้อยคน หากแต่ไม่มีเสียงพูด เสียงคุย อย่างที่ควรจะเป็น นั่นเพราะทุกคนกำลังอยู่ในกฎของการรักษาความเงียบอย่างเคร่งครัด ตลอดคอร์สอบรมวิปัสสนา 10 วัน ไม่เพียงแต่ข้อตกลงที่จะไม่พูดคุยกันเท่านั้น โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสาร หนังสือ สมุด ปากกา ที่ใช้ในการสื่อสารได้ทั้งหมดจะถูกเก็บไว้
เชื่อว่าในชีวิตอันปกตินี้ ใครเลยจะเคยปิดปากเงียบ ไม่พูดไม่จา ไม่สื่อสารกับใครทั้งสิ้นในช่วงเวลา 10 วัน ..ใช่ ! เราจะทำเช่นนั้นเพื่อการใด
กฎการรักษาความเงียบ คือการไม่พูด ไม่สื่อสาร เป็นวิธีการให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติแต่ละคนได้อยู่กับความรู้สึกของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อปิดวาจา ไม่พูดกับใคร ก็เป็นการป้องกันการพูดในสิ่งไม่สมควรพูด เป็นการเอื้อต่อการรักษาศีลข้อ 3 ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการไม่พูด ก็ยิ่งทำให้เราได้ยินเสียงที่ดังอยู่ในใจได้ชัดขึ้น บ่อยครั้งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังความรู้สึกที่คุกรุ่นขึ้นมา บางทีเราก็ไม่ทันได้รู้ตัว หากเรายังคงพูดทุกอย่างที่อยากพูด
ในชีวิตปกติของเรา แม้มีบ้างบางวันที่เราพูดน้อยมาก หรือแทบไม่ได้พูดกับใครเลย แต่เราก็ได้สื่อสารบอกเล่าและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างอื้ออึง
ความเงียบ ทำให้รับรู้ถึงความอึกทึกครึกโครมที่อยู่ภายใน และทำให้สังเกตเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ใครบางคนเดินผ่านด้วยท่วงท่าบางอย่าง ก็เผลอคิดไปว่า ช่างเหมือนเดินมาหาเรื่องเสียจริง หรือเพียงแค่ห้องน้ำที่เข้าป็นประจำอยู่ 2-3 ครั้ง มาหนนี้มีคนอื่นเข้าไปก่อน ความรู้สึกกรุ่นๆ ก็ผุดขึ้น นี่เราแอบคิดจับจองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของห้องน้ำนี้แล้วหรือ ใครบางคนปิดเปิดประตูเสียงดัง หรือมีเสียงก๊อกแก๊ก ก็ให้รู้สึกขุ่นมัว รำคาญใจ
น่าแปลกที่ในยามปกติ เราไม่เคยสังเกตความรู้สึกเหล่านี้เลย เราจะพูด พูด พูด ไม่ว่าจะมีสาระหรือไม่ พูดแซว พูดว่ากล่าวแบบอ้อมๆ จิก กัด ประชด ตีสำนวน พูดด้วยความคะนองปาก พูดเพื่อให้ตัวเองดูดี และอีกสารพัดวิธีสื่อสาร จนเราไม่ทันล่วงรู้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่พูดออกไปนั้น มันกำลังบ่งบอกถึงภาวะเช่นใดในความรู้สึกของตัวเอง
ความเงียบ ทำให้เรารับรู้ถึงความอึกทึกครึกโครมที่อยู่ภายใน และสังเกตเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้เป็นอย่างดี
ในคำสอนของการฝึกวิปัสสนาที่ว่า การพูดคุยกันไม่เอื้อต่อการปฏิบัติวิปัสสนา ก็เห็นจะจริง เพราะวิปัสสนา คือการใช้สติเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสภาวะทางร่างกาย และภายในจิตใจตามความเป็นจริง เพื่อให้เห็นว่าทุกๆ สภาวะที่เกิดขึ้น อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป จะไม่เป็นเช่นนั้นตลอด ทุกอย่างเป็นอนิจจัง
การรักษาความเงียบด้วยการปิดวาจา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มีพลังของสติ นำพาให้เราส่องเข้าไปดู ไปรับรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ยังมิต้องพูดถึงการนั่งขัดสมาธิ หลับตา บนเบาะรองนั่งที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ในบรรยากาศห้องปฏิบัติวิปัสสนาที่เคร่งขรึม
เพียงแค่ไม่ต้องพูดอะไรกับใครเลย แล้วลองสำรวจความคิดอ่านของตัวเอง บางทีก็น่ากลัว และน่าตกใจในความรู้สึกนึกคิดของตัวเองยิ่งกว่า
การเผชิญหน้ากับตัวเองอย่างเปลือยเปล่า ตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความพร้อม ความกล้าหาญอยู่พอสมควร อาจมีบางเรื่องที่ถึงกับยอมรับตัวเองไม่ได้ก็เป็นได้ ความรู้สึกไม่พอใจในบางเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล ความรู้สึกอิจฉาริษยา ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดี ความรู้สึกละโมบโลภมาก อยากได้อยากครอบครองในบางสิ่ง
ความรู้สึกลึกๆ ที่เราไม่เคยบอกใคร หรือยอมให้ใครรับรู้ แต่เมื่อมีความเงียบเป็นเครื่องนำทาง ก็ทำให้เราสำรวจตัวเอง และพบว่าสิ่งที่เราเป็น ก็เป็นเช่นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ คนหนึ่ง
หลังจากจบการศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เข้าสู่อาชีพในสายสื่อสารมวลชนทำข่าวสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ นอกจากสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมแล้ว ยังสนใจแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแวดล้อม ระยะหลังสนใจแนวทางการเรียนรู้พัฒนาตัวเองในมิติของชีวิตจิตใจ